หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย เล่าประวัติศาสตร์ด้วยมิติใหม่

หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย เล่าประวัติศาสตร์ด้วยมิติใหม่

ตำนานพระอุ้มน้ำ ตำราพิชัยสงคราม สมรภูมิรบเขาค้อ เมืองโบราณศรีเทพ น้ำพริกขี้ปู แกงบอน รู้จักเพชรบูรณ์ให้มากขึ้นที่หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย

ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์

ปฐมบทความเป็นมาของ หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (Phetchabun Intrachai Archaeology Hall) เริ่มมาจากศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์หลังเก่าที่ใช้งานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนถึง พ.ศ. 2550 เป็นเวลา 45 ปีเต็ม เมื่อได้สร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นมาแทนหลังเก่า ทางเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ จึงได้ขอทางจังหวัดใช้อาคารหลังนี้ในลักษณะของหอโบราณคดี ซึ่งมีข้อบังคับ ข้อกำหนด และกฎเกณฑ์น้อยกว่าพิพิธภัณฑ์ เนื้อหาการจัดแสดงส่วนต่างๆ ได้นำจุดเด่นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์  โบราณคดี วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตผู้คนของจังหวัดเพชรบูรณ์ ในแต่ละช่วงเวลามาจัดแสดงไว้ เป็นหมวดหมู่ ไม่ปะปนกัน อาศัยเงื่อนเวลาเป็นรอยเชื่อมอย่างกลมกลืน

ชื่อว่า เพ็ชรบูรณ์อินทราชัย  คืออะไรมาจากไหน แท้จริงแล้วคือพระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสองค์ที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย มีพิธีเปิดให้ชมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2561 โดยพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี 

ต่อมาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมชมหอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2561 โครงการนี้เริ่มลงมือสร้าง เมื่อพ.ศ. 2554 เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2561 โดยการก่อสร้างแบ่งเป็น 7 ส่วน รวมเวลาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ใช้เวลาถึง 11 ปี เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว ที่ทรงคุณค่า สวยสดงดงาม และสมบูรณ์แบบ เป็นแหล่งบันทึกและจัดแสดง เหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี อันเป็นรากเหง้า ตัวตน ของคนเพชรบูรณ์ อย่างแท้จริง 

หากมีเวลาท่านไม่ควรพลาดการแวะชมส่วนต่างๆในหอโบราณคดีแห่งนี้ ที่แต่ละพื้นที่ล้วนจัดแสดง เรื่องราวที่แตกต่างกันไป แต่ครบครันทุกแง่มุม 

-2-

หุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ได้ถูกจัดแสดงไว้อย่างสง่างามสมพระเกียรติ และการอัญเชิญพระนามนี้มาเผยแพร่ เพื่อให้คนเพชรบูรณ์ได้ตระหนักว่าเพชรบูรณ์ของเราเคยเป็นหัวเมืองสำคัญมาแต่ในอดีต ถึงขนาดมีพระราชโอรส ของพระมหากษัตริย์ไทย เสด็จมาเยือนเมืองนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ทรงโปรดฯ การเล่นฮาร์ป (Harp) หรือพิณฝรั่งเป็นอย่างมาก และได้ทรงนำเข้ามาเล่นในเมืองไทยเป็นครั้งแรก ทางจังหวัดจึงได้นำพิณฮาร์ปมาเป็นตราสัญลักษณ์ของศูนย์โบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยด้วย

ความรักแผ่นดินเกิด และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวเพชรบูรณ์ สะท้อนจากบรรดาโบราณวัตถุ สิ่งของล้ำค่าต่าง ๆ ซึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวที่ประชาชนนำมามอบให้หอโบราณคดีแห่งนี้ นอกจากนั้น ยังมีการจำลองจารึกต่าง ๆ ที่พบในจังหวัดเพชรบูรณ์ สิ่งของสำคัญที่จัดแสดงไว้ เช่น รูปแกะสลักหินจากศรีเทพ นาฬิกาตั้งพื้นของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ตู้พระธรรมโบราณ แสตมป์ที่มีตราประทับชื่อเพชรบูรณ์และหล่มสักฯลฯ

ตำราพิชัยสงคราม

สำหรับตำราพิชัยสงครามในอดีตที่ค้นพบมี 2 เล่ม เป็นฉบับรูปภาพ และฉบับตัวอักษร โดยฉบับรูปภาพมีความสมบูรณ์มาก ถือเป็นเล่มล่าสุดที่เพิ่งถูกค้นพบ รูปเล่มเป็นสมุดข่อยไทดำ หรือสมุดข่อยลงฝุ่นสีดำ ส่วนอักขระเป็นอักษรไทยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนฉบับตัวอักษรคาดว่าเป็นฉบับคัดลอกในภายหลัง ความสมบูรณ์ของตำราพิชัยสงครามฉบับรูปภาพ สมบูรณ์ในเรื่องของการเก็บรักษา ความคมชัดของรูปภาพสมบูรณ์มากในเรื่องร่องรอยของการเคยถูกใช้งาน ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ค่อยจะเหลือร่องรอยพวกนี้ ที่ผ่านมาตำราพิชัยสงคราม ฉบับรูปภาพที่พบมี 4 ฉบับ แปลแล้วมี 3 ฉบับ เป็นศาสตร์แต่ละอย่างเพื่อรวบรวมไว้ใช้ในการทำสงคราม

หอโบราณคดี

ห้องตำราพิชัยสงคราม แสดงตำราพิชัยสงครามเมืองเพชรบูรณ์ ฉบับพรมบุญ ทั้ง 2 เล่ม คือ ฉบับผังภาพเป็นสมุดไทยดำและฉบับคำกลอนเป็นสมุดไทยขาว โดยได้อรรถาธิบายถึงการตั้งทัพ 35 พยุหะและ 21 กลศึก

และตำราฯ นี้ยังแสดงถึงการสู้ศึกในสมัยโบราณที่แม่ทัพนายกองทุกคนจะต้องเรียนรู้ โดยได้อรรถาธิบายถึงการตั้งทัพแบบ 35 พยุหะ และ 21 กลศึก ที่่บันทึกไว้อย่างงดงามทั้งตัวหนังสือและรูปภาพลงสีที่วาดด้วยฝีมือช่างชั้นสูง รวมทั้งแสดงให้เห็นว่า ตำราพิชัยสงครามเล่มนี้ตกมาอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์ได้อย่างไร ที่นี่มีคำตอบ  

จากมณฑลสู่นครบาล ส่วนนี้น่าสนใจ ไม่แพ้ส่วนอื่นๆ เพราะประกอบไปด้วยประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เกี่ยวโยงกับเมืองเพชรบูรณ์ ทั้งเรื่องศึกเจ้าอนุวงศ์  เรื่องการตั้งร่างสร้างมณฑลเพ็ชรบูรณ์และภาพถ่ายเก่า ทรงคุณค่า เรื่องการตั้งนครบาลเพชรบูรณ์ ที่มีจะมีการย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เพชรบูรณ์ ช่วง พ.ศ. 2486-2487 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลักฐานที่เชื่อว่า พระแก้วมรกตเคยมาประดิษฐานอยู่ที่เพชรบูรณ์ นั้นเป็นอย่างไร จริงหรือไม่ ต้องไปพิสูจน์ความจริงกันเอาเอง

-3-

ศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์

ศิลาจารึกที่ทรงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ ก็คือศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ แสดงประวัติความเป็นมาและความสำคัญของเสาหลักเมือง ซึ่งถูกจารึกขึ้นเมื่อปีมหาศักราช 948 มีอายุเก่าแก่ถึง 979 ปี มีทั้งจารึก ด้วยอักษรขอม ภาษาไทย และบาลี เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ เป็นแท่งเสาหินทรายสีเทา มีลักษณะปลายป้านโค้งมน 

ศิลาจารึก

กรมศิลปากรได้ทำการอ่านและแปลศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ โดยสรุปได้ความว่า เป็นการจารึกลงในเสาหินทรายสีเทาใน 2 ยุคด้วยกันคือ ครั้งแรกเป็นการจารึกในด้านที่ 1 เมื่อประมาณ 900 กว่าปีที่แล้ว ข้อความเป็นการสรรเสริญพระศิวะในศาสนาพราหมณ์ ส่วนครั้งที่ 2 เป็นการจารึกใหม่ในด้านที่เหลือ โดยจารึกหลังจากครั้งแรกประมาณ 500 กว่าปีและเป็นข้อความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา กระดาษลอกลายและสำเนาคำอ่าน 

จากเขาคณาถึงศรีเทพ

จัดแสดงประวัติศาสตร์ของพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ตามห้วงเวลาต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่ขุดค้นพบร่องรอยมนุษย์ยุคเหล็กก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหลายแห่ง ขุดค้นพบโครงกระดูก เครื่องประดับ เครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธต่างๆ ฯลฯ โดยมีหุ่นจำลอง วิถีการใช้ชีวิตของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ให้ชม ส่วนที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ แสดงให้เห็นถึงร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมา ที่มีอารยธรรมอินเดียโบราณและอารยธรรมทวารวดีอยู่รวมกัน จนกระทั่งมาถึงยุคของขอม โดยจัดแสดงเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว วัตถุสิ่งของ และรูปจำลองโบราณสถานต่าง ๆ ได้แก่ เขาคลังนอก ซึ่งเป็นโบราณสถานทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เขาคลังในที่มีคนแคระแบกสถูปถึง 5 หน้า ปรางค์ฤาษี ปราค์สองพี่น้องและปรางค์ศรีเทพ

ศรีเทพ

ศรีเทพ

ซึ่งเมืองศรีเทพนี้ประเทศไทยได้เสนอชื่อต่อองค์การยูเนสโกขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ปลายปี 2565 นี้จะทราบผลถ้าเมืองน้ได้เป็นมรดกโลกจริงๆ เพชรบูรณ์และเมืองศรีเทพจะมีชื่อเสียงดังกระหึ่มโลกอีกวาระ

วันวานที่เพชรบูรณ์

ใครอยากชมบรรยากาศเมื่อวันวานของเมืองเพชรบูรณ์ เมื่อสมัย 60-80 ปีที่แล้วที่นี่ก็มี จำลองมาให้ชมอย่างสมจริง เช่น วงเวียนน้ำพุ หอนาฬิกา โรงหนังเพชรรามา ร้านกาแฟโกเซ่ ร้านถ่ายรูปวิจิตรศิลป์ ร้านสังฆภัณฑ์สูงเฮงหลี ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อพิบูลย์โภชนา ร้านขายวัสดุก่อสร้างโค้วกั้งแซ  ร้านเพชรบูรณ์สโตร์ และร้านอึ้งเซ่งเฮง ซึ่งทุก ๆ ร้านยังเปิดดำเนินการอยู่ และการเล่าถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ตัวเมืองเพชรบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2511 อันน่าตื่นเต้นด้วย

เพชรบูรณ์

หล่มสัก

วิถีเพชรบูรณ์ จัดแสดงวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นเอกอุของพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ประกอบไปด้วย พิธีฮดสรง พิธีอัญเชิญพระอุปคุต รวมถึง ‘ไทหล่ม’ แสดงถึงเรื่องราวของไทหล่มหรือคนหล่มสัก ซึ่งเป็นกลุ่มคนสำคัญกลุ่มใหญ่ทางตอนเหนือของจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นกลุ่มคนที่มีเชื้อสายล้านช้างหลวงพระบาง ที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์อันงดงาม ที่เป็นวัฒนธรรมประเพณี ภาษา การแต่งกาย ของตนเองไว้ได้อย่างโดดเด่น

โรงหนังไทยเพชรบูล เป็นการจำลองบรรยากาศ และกลิ่นไอของโรงหนังโรงแรกของจังหวัดเพชรบูรณ์สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มาไว้ให้ชม เริ่มตั้งแต่เก้าอี้ไม้ ที่ใช้นั่งดูหนังแบบดั้งเดิม และแสดงวิถีชีวิตหน้าโรงหนังด้วย เช่น ร้านอ้อยควั่น ร้านข้าวเกรียบว่าว ร้านน้ำแข็งกด ร้านถั่วคั่ว ฯลฯ มีการเปิดเพลงมาร์ชสามัคคี 4 เหล่าก่อนหนังจะฉายเหมือนสมัยก่อน หนังที่ฉายคือเรื่อง “ความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์” ที่สร้างขึ้นจากบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่ได้เสด็จมาตรวจราชการที่เมืองเพรชบูรณ์ หล่มสัก หล่มเก่า และเมืองโบราณศรีเทพ เมื่อ พ.ศ. 2447 ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารสำคัญชิ้นแรกที่ได้อธิบายสภาพบ้านเมืองไว้อย่างน่าชมเช่น วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญ และมีอายุยาวนาน ที่สุดของเพชรบูรณ์จัดแสดงสภาพ ตามยุคสมัยต่าง ๆ ตั้งแต่ สุโขทัย อยุธยา และธนบุรี โดยมีวัดมหาธาตุเป็นสื่อนำในการเล่าเรื่อง เพราะวัดมหาธาตุเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งมีเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์อยู่ด้านหลังโบสถ์ และได้ขุดพบพระเครื่องจำนวนมาก รวมทั้งจารึกลานทองที่เขียนชื่อเมืองเพชรบูรณ์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 1926 ว่า “เพชบูร”  

อุ้มพระดำน้ำ

ห้องอุ้มพระดำน้ำเรื่องราวความเป็นมาของพระพุทธมหาธรรมราชาและประเพณีอุ้มพระดำน้ำของเมืองเพชรบูรณ์ มีภาพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเคยเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรพิธีอุ้มพระดำน้ำ เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

อุ้มพระดำน้ำ ถือเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ของชาวเพชรบูณ์ ที่แปลกไม่เหมือนใคร แสดงถึงเรื่องราวความเป็นมาของพระพุทธมหาธรรมราชา ความจริงที่ว่า ทำไมผู้ที่เป็นเจ้าเมืองถึงต้องอุ้มพระดำน้ำด้วย มีกุศโลบาย แยบยลซ่อนเร้นไว้กันแน่ มีรูปภาพแผ่นพับและรูปการจัดงานในแต่ละยุคสมัยจัดแสดงไว้ และมีภาพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรพิธีอุ้มพระดำน้ำ เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2554 

วิถีวันวาน

เพชรบูรณ์เมื่อวันวาน จัดแสดงบ้านเมืองเพชรบูรณ์ในอดีต เช่น วงเวียนน้ำพุ หอนาฬิกา โรงหนังเพชรรามา ร้านกาแฟโกเซ่ ร้านถ่ายรูปวิจิตรศิลป์ ร้านสังฆภัณฑ์สูงเฮงหลีร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อพิบูลย์โภชนา ร้านเพชรบูรณ์สโตร์ ร้านอึ้งเซ่งเฮงฯลฯ

เขาค้อเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติงดงาม  แต่ในอดีตที่นี่เคยเป็นสมรภูมิสู้รบระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2511-2525 โดยมีเรื่องราวการสู้รบที่ดุเดือด มีภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวจากเหตุการณ์จริงให้ชม และยังได้บันทึกเรื่องเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขาค้อถึง 4 ครั้งและได้พระราชทานยุทธศาสตร์การพัฒนา จนสามารถเอาชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้อย่างเด็ดขาด

สมรภูมิเขาค้อบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์สู้รบบนเขาค้อระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2511-2525 พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชชกาลที่ 9 ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขาค้อถึง 4 ครั้ง

หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย  มีวิทยากรบริการนำชมเป็นหมู่คณะ ทุกวัน ในเวลา 9.00-16.00 น.  โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด โทรศัพท์จองเวลาล่วงหน้าที่ โทร056-721-523  

ถ้าผ่านไปเพชรบูรณ์ ครั้งต่อไปอย่าลืมบรรจุหอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยไว้ในหมุดหมายแรกๆ แห่งการเดินทาง เมื่อคุณได้รู้จักประวัติศาสตร์ ของดินแดนแห่งนี้ คุณจะหลงรักแผ่นดินแห่งนี้เพิ่มมากขึ้นอีกมากมาย

———

 

เรื่อง เจนจบ ยิ่งสุมล

ภาพ WHITE POST GALLERY

———

ขอบพระคุณเอื้อเฟื้อข้อมูล

ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์

บัณฑิต พันธุ์ฤทธิ์ 

สุรศักด์ คงควร

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องเล่าจากวงหวย

หวย

Recommend