พบฟอสซิลอายุ 230 ล้านปี เป็นไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

พบฟอสซิลอายุ 230 ล้านปี เป็นไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

พบฟอสซิลอายุ 230 ล้านปี เป็นไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

ซากดึกดำบรรพ์ที่พึ่งค้นพบนี้อยู่ในประเทศซิมบับเว เชื่อกันว่ามันคือหนึ่งในบรรพบุรุษของไดโนเสาร์คอยาวที่รู้จักกันในชื่อซอโรพอด เช่น แบรคิโอซอรัสและบรอนโตซอรัส พวกมันเป็นสัตว์กินพืชบนบกที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา บางตัวหนักกว่า 60 ตัน แต่กระนั้น จุดเริ่มต้นของมันก็ค่อนข้างเรียบง่าย

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าเมื่อมันโตเต็มที่จะสูงไม่ถึง 0.6 เมตร (2 ฟุต) ด้วยหัวที่เล็ก ฟันรูปใบไม้ และคอที่ยาวพอประมาณ คริส กริฟฟิน (Chris Griffin) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยลซึ่งได้รับทุนการขุดค้นจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าวว่า “มันเกือบจะเหมือนกับไดโนเสาร์ทั่วไป ถ้าคุณให้เด็ก ๆ วาดรูปไดโนเสาร์และทำให้มันไม่ใช่สัตว์กินเนื้อ”

บรรพบุรุษตัวจิ๋วของซอโรพอดยักษ์นี้ถูกตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Mbiresaurus raathi” เพื่อเป็นเกียรติแก่อาณาจักร ‘Mbire’ อาณาจักรเก่าแก่ของชาวโชนาในซิบบับเวที่เคยตั้งอยู่พื้นที่ที่มีการค้นพบฟอสซิล ขณะที่ ‘raathi’ นั้นมาจากชื่อนักบรรพชีวินวิทยาชาวแอฟริกาใต้ ‘Michael Raath’ ซึ่งทำงานในพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่ปี 1990 และช่วยนำไปสู่การค้นพบ

การค้นพบนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลว่า ไดโนเสาร์เกิดขึ้นครั้งแรกและมันสามารถแพร่กระจายไปทั่วโลกในยุคโบราณได้อย่างไร ในช่วงยุคไทรแอสซิค (Triassic) หรือราว 252 ล้านถึง 205 ล้านปีก่อนเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของทั้งภูมิอากาศและสำหรับชีวิตบนโลก บรรพบุรษของกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานหลักหลายกลุ่มเริ่มแยกออกจากกัน ซึ่งต่อมาทำให้เกิด ‘ไดโนเสาร์’, ‘จระเข้’ และ ‘สัตว์เลื้อยคลายบินได้ที่เรียกว่าเทอโรซอร์ (pterosaurs)’ นักบรรพชีวินวิทยา คิมิ คาเปลเล (Kimi Chapelle) จากมหาวิทยาลัยวิทวอเตอร์รานด์ (University of Witwatersrand) แห่งแอฟริกาใต้กล่าวว่า “นี่คือช่วงเวลาที่เวทมนตร์เกิดขึ้น”

แม้แพนเจียจะเป็นผืนดินเดียว แต่ภูมิอากาศของมันก็แปรเปลี่ยนไปอย่างมาก ทางขั้วโลกเหนือของมหาทวีปนั้นเขียวขจีและเป็นมิตรมากขึ้น แต่แถบเขตร้อนทางเหนือและใต้ของเส้นศูนย์สูตรยังดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก ทั้งร้อน แห้งแล้งและมักเกิดไฟป่า ทีมของกริฟฟินใช้ฟอสซิลของ ‘Mbiresaurus’ วิเคราะห์ว่าไดโนเสาร์อาจเกิดขึ้นทางตอนใต้สุดของแพนเจียก่อน และเริ่มแพร่กระจายไปทางเหนือเมื่อ 230 ล้านปีก่อน

กลุ่มแรกที่ขยายตัวไปคือเทอโรพอด ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นไดโนเสาร์นักล่าสองขาที่ยิ่งใหญ่เช่น ไทแรนโรซอรัส จากนั้นเมื่อราว 220 ล้านปีก่อน ลูกพี่ลูกน้องของ ‘Mbiresaurus’ ก็ตามมา แม้จะมีอุปสรรคจากสภาพอากาศ แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าโลกมีฝนและความชื้นที่เพิ่มขึ้นยาวนานราว 2-3 ล้านปีในช่วงนั้น ซึ่งอาจทำให้ทะเลทรายเขตร้อนของแพนเจียหดตัวลง และอาจเปิดทางให้ไดโนเสาร์เดินไปยังที่ใหม่ ๆ

“ดูเหมือนว่าไดโนเสาร์ตัวแรกไม่ได้เริ่มเข้ายึดครองโลก แต่พวกมันถูกจำกัดอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น พวกมันอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แน่นอน และต่อมาค่อยวิวัฒนาการเพื่อแพร่ขยายไปทั่วโลก” กริฟฟินกล่าว ขณะที่สเตอร์ลิง เนสบิตต์ (Sterling Nesbitt) ผู้ร่วมวิจัยและนักบรรพชีวินวิทยาจากเวอร์จิเนียเทคกล่าวเสริมว่า “ในแพนเจีย คุณสามารถเดินจากขั้วโลกเหนือไปยังขั้วโลกใต้ได้ ไม่มีสิ่งกีดขวางทางกายภาพขนาดยักษ์เหมือนกับแนวภูเขายักษ์ที่เรามองเห็นได้ แต่ก็มีอุปสรรคทางภูมิอากาศอยู่บ้าง”

นักวิทยาศาสตร์หลายคนต่างตื่นเต้นกับการค้นพบที่เกิดขึ้น นอกจากกระดูกของ ‘Mbiresaurus’ แล้ว พวกเขายังพบกระดูกสัตว์เลื้อยคล้ายอีกมากมาย ซึ่งอาจเป็นตัวแทนของสายพันธุ์ใหม่ แสดงให้เห็นว่าแอฟริกานั้นมีฟอสซิลของไดโนเสาร์ในยุคแรก ๆ ทีมงานกำลังดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดในสถาบันโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย หรือ เวอร์จิเนียเทค สหรัฐอเมริกา และเมื่อพวกเขาทำทุกอย่างที่ต้องการศึกษาแล้ว ฟอสซิลเหล่านี้จะถูกส่งกลับไปยังพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งซิมบับเว และจะอยู่ที่นั่นตลอดไป

“แอฟริกาเป็นสถานที่ที่เรามักกลับไปหาสายเลือดที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ โฮมินิดส์ และสิ่งต่าง ๆ แต่กระนั้น ไดโนเสาร์ก็ไม่เคยได้เป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางนี้เพราะเราไม่เคยมีหลักฐานถึงช่วงเวลานั้น” เนสบิตต์กล่าว แต่การค้นพบนี้ “มันได้นำแอฟริกากลับมาสู่ต้นกำเนิดของไดโนเสาร์จริง ๆ”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://www.nationalgeographic.com/magazine/article/fabulous-230-million-year-old-fossil-is-africas-oldest-known-dinosaur

อ่านเพิ่มเติม โลกเคยเกิด “ฝนตกนาน 2 ล้านปี!” เป็นจุดเปลี่ยนให้ ไดโนเสาร์ ขึ้นครองโลก

Recommend