๘๙ พรรษา มหาราชในดวงใจ : ราชาแห่งราชัน

๘๙ พรรษา มหาราชในดวงใจ : ราชาแห่งราชัน

รอบนักษัตรที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๔๒ – ๒๕๕๔)

ตลอดระยะเวลา ๖๕ ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัตินับแต่พระชนมายุ ๑๙ พรรษา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ นั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประเทศชาติและปวงชนชาวไทยอย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อย และเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์ด้วยพระวิริยอุตสาหะและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า พระราชกรณียกิจตลอดจนโครงการทั้งหลายทั้งปวงที่มีพระราชดำริให้จัดทำขึ้น และมีผู้นำไปสานต่อจนสัมฤทธิผลเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนนั้น มีมากมายสุดจะพรรณนาได้หมดในที่นี้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเหล่านี้ หากจะจำแนกหมวดหมู่ออกเป็นสาขาใหญ่ ๆ ก็จะได้ดังนี้

    พระราชกรณียกิจบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร

    พระราชกรณียกิจด้านเกษตรกรรมและการพัฒนาชนบท

    พระราชกรณียกิจด้านการสาธารณสุข

    พระราชกรณียกิจด้านการพระศาสนาและศิลปวัฒนธรรม

    พระราชกรณียกิจด้านเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรม

    พระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศ     

นอกจากโครงการต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริอันเป็นหลักปรัชญาสำคัญที่เรียกว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหลักการดำรงชีวิตที่มีคุณค่ายิ่ง โดยเฉพาะในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบัน จึงมีผู้นำหลายชาติให้ความสนใจ และพิจารณานำไปเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนในชาติของตนประพฤติปฏิบัติตามหลักปรัชญาหรือทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ ในโอกาสเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เริ่มต้นจากแนวทางพออยู่พอกินก่อน ซึ่งปรากฏครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ดังปรากฏในพระราชดำรัสพระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ความตอนหนึ่งว่า

“คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งอธิษฐาน ตั้งปณิธานในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกินมีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้…”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ มุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อรับการถวายพระพรชัยมงคลในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

หลังจากนั้นก็เริ่มมีการพูดกันถึงแนวความคิด ”พออยู่พอกิน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกันอย่างกว้างขวาง แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่า แนวปรัชญาพออยู่พอกินของพระองค์ท่านนั้นลึกซึ้งเพียงไร นักปรัชญาและผู้รู้ต่างก็ตีความไปต่าง ๆ กัน จนเกิดความสับสนขึ้น ในปีรุ่งขึ้นและปีต่อ ๆ มา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถึงแนวพระราชดำริพอมีพอกินหรือเศรษฐกิจพอเพียงนี้ในอีกหลายโอกาส ทรงอธิบายจนเป็นที่เข้าใจกันได้

คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้ของเท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน… “พอมีพอกิน” นี้ก็แปลว่า ”เศรษฐกิจพอเพียง” นั่นเอง พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหรา ก็ได้ แต่ว่าพอแม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

 

เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกินนี้ ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกินก็ใช้ได้  ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

 

เศรษฐกิจพอเพียงนั้นเขาว่าเป็นเศรษฐกิจชุมชน หมายความว่าให้พอเพียงในหมู่บ้านหรือในท้องถิ่น… ถ้าพอมีพอกินคือพอมีพอกินของตัวเองนั้น ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมา พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

 

เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ย้ำแล้วย้ำอีก แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Sufficiency Economy… หมายความว่า ประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุด้วยผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แล้วทุกคนจะมีความสุขแต่พอเพียง พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓

 

พระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นหลักปรัชญาชีวิตที่จะนำความสุขมาให้ได้อย่างแท้จริง จึงเป็นที่ยอมรับและน้อมนำไปปฏิบัติกันโดยทั่วไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและพสกนิกรตลอดเวลา แม้ในยามที่ทรงพระประชวร ต้องประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชมาเป็นเวลานาน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงงานมิได้ว่างเว้น สมควรแล้วที่ราษฎรชาวไทยทุกคนต่างพากันแสดงความจงรักภักดีและเทิดทูนพระองค์ไว้เหนือสิ่งใด

ประเทศไทยผ่านพ้นภยันตรายจนมีความสุขสงบและราษฎรชาวไทยทุกหมู่เหล่ามีความสุขร่มเย็นกันอย่างพอเพียง ก็เพราะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมปวงเหล่าข้าพระพุทธเจ้าจึงขอเอามโนและศิระกราน

    ธประสงค์ใดจงสฤษฎิ์ดังหวังวรหฤทัย

    ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

 

อ่านเพิ่มเติม : ๘๘ พรรษา มหาราชในดวงใจ : พระบารมีแผ่ไพศาล๘๘ พรรษา มหาราชในดวงใจ : ชัยชนะของการพัฒนา

Recommend