เรื่องจริงในประวัติศาสตร์ของนักรบ สปาร์ตัน 300 คน ผู้ยันสู้ศัตรูจนตัวตาย

เรื่องจริงในประวัติศาสตร์ของนักรบ สปาร์ตัน 300 คน ผู้ยันสู้ศัตรูจนตัวตาย

แม้เหล่านักรบ สปาร์ตัน และนครรัฐอื่นๆ ของกรีกเสียเปรียบด้านจำนวน พวกเขาเหล่านี้ก็ละทิ้งความกลัว เพื่อยืนหยัดต่อสู้กับกองทัพอันแข็งแกร่งของเปอร์เซีย แต่การถูกหักหลังทำให้พวกเขาต้องพ่ายแพ้

เรื่องจริงในประวัติศาสตร์ของ นักรบ สปาร์ตัน 300 คน – เมื่อเดือนมิถุนายน 480 ปีก่อนคริสตกาล กองทัพอันทรงพลังของเปอร์เซียข้ามช่องแคบดาร์ดาแนลส์ด้วยสะพานแพสองสะพานเพื่อรุกรานกรีกอย่างโหดเหี้ยม นักรบซึ่งนำโดยเซอร์ซีส (Xerxes) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่กำลังมุ่งหน้าไปสู่เทอร์มอพิลี (Thermopylae) ช่องเขาแคบบนชายฝั่งตะวันออกของกรีกซึ่งห่างจากเอเธนส์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 136 กิโลเมตร ช่องเขานี้มีภูมิประเทศอันทรหด เต็มไปด้วยพุ่มไม้หนา หนามไม้ และไหล่เขาสูงชัน พร้อมทั้งสภาพภูมิอากาศอันทารุณซึ่งห่าฝนและแสงแดดแผดเผาคือเรื่องปกติ

ในไม่ช้า ช่องเขากันดารยาว 6.4 กิโลเมตรซึ่งเป็นเส้นทางที่รวดเร็วและง่ายดายที่สุดสำหรับการรุกจากที่ราบธีสซาลี (Thessaly) เข้าสู่ภาคกลางของกรีกแห่งนี้ จะกลายเป็นสมรภูมิของการศึกระดับมหากาพย์ซึ่งกินเวลาสามวัน และต่อมาจะกลายเป็นตำนานที่ถูกจดจำในวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ในฐานะตัวอย่างสำคัญของการยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรคอันสูงชันยิ่งด้วยความหาญกล้า

ข้อเท็จจริงและตัวเลข

ข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับการศึกที่เทอร์มอพิลี (และสงครามระหว่างกรีกและเปอร์เซียโดยทั่วไป) ซึ่งเป็นที่ทราบกันมาจากฮีโรโดทุส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกซึ่งเขียนผลงานเมื่อช่วงห้าศตวรรษก่อนคริสตกาล แหล่งที่มาอื่นๆ รวมถึง ไดโอโดรุส ซิคูลุส (Diodorus Siculus) นักประวัติศาสตร์ชาวซิซิลี (ซึ่งอ้างอิงบางส่วนของบันทึกของเขาจากศตวรรษที่หนึ่งร้อยก่อนค.ศ. จากอิโฟรุส (Ephorus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกจากยุคก่อนหน้า), ชาวกรีกโบราณพลูทาร์ช (Plutrach) และทีเซียสแห่งไนดุส (Ctesias of Cnidus), จอร์จ แบร์โด กรันดี (George Beardoe Grundy) นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ (ผู้สำรวจภูมิลักษณ์ของช่องเขาแห่งนี้) และ อีกบางส่วน จากเอชคิลุส (Aeschylus) นักเขียนโศกนาฏกรรม

เหรียญทองจากยุคห้าศตวรรษก่อนคริสตศักราช แสดงภาพกษัตริย์เปอร์เซีย (ซึ่งอาจเป็นเซอร์ซีสที่หนึ่ง) ที่ใช้หอกและธนูเป็นอาวุธ ภาพถ่ายโดย GRANGER/ACI

ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับมหาศึกครั้งนี้จากฝ่ายเปอร์เซียเหลือรอด อีกทั้งสถิติมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังคงคลุมเคลือ เช่นจำนวนทหารในกองทัพของเซอร์ซีสซึ่งยังเป็นประเด็นถกเถียงอย่างไม่รู้จบ ฮีโรโดทุสระบุว่ากษัตริย์เปอร์เซียผู้นี้บังคับบัญชานักรบทั้งหมด 2.6 ล้านนาย ด้านซิโมดินีส (Simodines) ผู้เป็นกวีและนักประวัติศาสตร์เช่นกันบันทึกว่ากองทัพฝ่ายรุกรานมีทั้งหมดสี่ล้านนาย ขณะเดียวกัน ทีเซียสระบุว่ากองกำลังดังกล่าวมีจำนวน 800,000 นาย ส่วนงานวิชาการสมัยใหม่ ซึ่งอ้างอิงจากศักยภาพและข้อจำกัดของการส่งกำลังบำรุงในสมัยนั้น ประมานว่าทัพของเปอร์เซียมีกำลังราว 120,000 ถึง 300,000 นาย

สิ่งหนึ่งที่แหล่งข้อมูลทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันคือ การรบครั้งนี้เกิดจากทั้งความแค้นและความทะเยอทะยาน เนื่องเพราะเมื่อสิบปีก่อนหน้า ดาริอุส (Darius) พระบิดาของเซอร์ซีส พ่ายแพ้ต่อฝ่ายกรีกที่สมรภูมิทุ่งราบมาราธอน ซึ่งหยุดยั้งการรุกรานกรีกโดยเปอร์เซียครั้งแรกได้โดยสำเร็จ

ในการรุกรานครั้งใหม่นี้ เซอร์ซีสมุ่งมั่นเอาคืนอย่างเต็มที่ด้วยการพิชิตอาณาบริเวณทั้งหมดของกรีกและขยายอาณาจักรของตนเองไปทางตะวันตก

เปอร์ซีโพลีส (Persepolis) ก่อตั้งโดยดาริอุสที่หนึ่งหรือดาริอุสมหาราช ผู้เริ่มสงครามกับกรีก อันเป็นสงครามที่เซอร์ซีส ราชบุตรของพระองค์เป็นผู้ดำเนินต่อในภายหลัง ภาพถ่ายโดย SHUTTERSTOCK

เซอร์ซีสบุกโจมตีนักรบ สปาร์ตัน ต่อต้าน

อุปสรรคที่ขัดขวางพระองค์ในฤดูร้อนปี 480 ก่อนคริสตกาล คือสันนิบาตพันธมิตรของเหล่านครรัฐของกรีกที่รวมตัวกันไม่บ่อยครั้งนักเนื่องจากมีความบาดหมางซึ่งกันและกันในยามปกติ บางสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรนี้จำต้องยอมยุติความขัดแย้งระหว่างกันเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงกว่าจากเปอร์เซีย เอเธนส์ ซึ่งสนับสนุนเมืองต่างๆ ของกรีกการเมื่อครั้งการลุกฮือของชาวไอโอเนียนต่อเปอร์เซีย (Ionian Revolt) และปราบดาริอุสลงได้เมื่อ 490 ปีก่อนคริสตกาล เป็นผู้นำเมืองพันธมิตรร่วมกับสปาร์ตา

ธีมิสโทเคลส (Themistocles) นักการเมืองและขุนพลชาวเอเธนส์เป็นผู้นำการต่อต้านทางน้ำ โดยการขวางทางกองเรือเปอร์เซียที่ช่องแคบอาร์ทีมิเซียม (Artemisium) ส่วนลิโอนิดัส (Leonidas) กษัตริย์แห่งสปาร์ตา เป็นผู้บัญชาการกองทัพภาคพื้นดินที่เทอร์มอพิลี ซึ่งประกอบด้วยองครักษ์หลวง 300 คนจากนครรัฐของพระองค์เอง (นักรบเหล่านี้กลายเป็นเรื่องราวของหนังสือ ภาพยนตร์ บทกวี และบทเพลงมากมายนับไม่ถ้วน เช่นภาพยนตร์เรื่อง 300) และทหารซึงไม่ได้รับการยกย่องเท่ากันอีกรวม 7,000 นาย ซึ่งรวมถึงชาวโฟเซียน (Phocian) 1,000 นาย, ชาวธีสเปียน (Thespian) 700 นาย, และชาวธีบัน (Theban) 400 นาย

ลีโอนิดัส ผู้มีอายุราว 60 ชันษา ขึ้นครองราชย์เมื่อราวสิบปีก่อนหน้า หลังคลีโอมีนีส (Cleomenes) ผู้เป็นพระเชษฐาร่วมบิดาและกษัตริย์องค์ก่อนหน้าเสียชีวิตลงโดยไม่มีบุตร นักรบสปาร์ตัน ทั้ง 300 นายคือนักรบหัวกะทิซึ่งพระองค์ทรงคัดเลือกด้วยตนเอง ทหารเหล่านี้ทุกนายต้องเป็นผู้มีทายาทเท่านั้น เนื่องจากพระองค์ทรงทราบว่าโอกาสที่พวกเขาจะรอดชีวิตจากการศึกครั้งนี้มีเพียงน้อยนิดและต้องการมั่นใจว่าพวกเขาจะมีผู้สืบสกุลต่อไป พลูทาร์ชเขียนบันทึกว่าเมื่อมีผู้ถามกษัตริย์ผู้นี้ก่อนการรบว่า “ลิโอนิดัส เพราะเหตุใดท่านจึงต่อสู้กับศัตรูมากมายเช่นนี้ด้วยคนเพียงเท่านี้” พระองค์ทรงตอบกลับว่า “ข้ามีคนพอแล้ว เนื่องเพราะพวกเขาจะตาย”

กองกำลังของเซอร์ซีสรุกผ่านธราคี (Thrace) มาเซโดเนีย และธิสซาลีอย่างง่ายดาย เนื่องจากผู้คนในบริเวณเหล่านี้ต้องตื่นตระหนกและยอมจำนนโดยไม่ต่อสู้ แต่เมื่อพระองค์เดินทางมาถึงเทอร์โมพิลี ณ กลางเดือนสิงหาคม กษัตริย์เปอร์เซียผู้นี้กลับต้องพบกับการต่อต้านอย่างแข็งขันจากกองกำลังที่เตรียมพร้อม

ในภาพบนจานเซรามิกจากสมัยห้าศตวรรษก่อนค.ศ. นี้ นักรบกรีกซึ่งถือโล่ห์ กำลังสังหารนักรบเปอร์เซีย ภาพถ่ายโดย BRIDGEMAN/ACI

แผนที่วางมาอย่างดีที่สุดโดยนักรบ สปาร์ตัน 

ลีโอนิดัสวางแผนถ่วงกองกำลังเซอร์ซีสที่ช่องเขาแคบแห่งนี้ซึ่งภูมิประเทศที่ได้เปรียบสามารถเป็นตัวคูณกำลัง (force multiplier) ให้กับกองทัพกรีกที่มีจำนวนด้อยกว่า เนื่องจากหุบเขาแคบจะจำกัดไม่ให้กองทัพเปอร์เซียใช้ประโยชน์จากกองกำลังที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือใช้ทหารม้าได้ ในขณะเดียวกัน กองเรือกรีกจะมุ่งไปกับการกับการพิชิตกองกำลังเปอร์เซียที่ช่องแคบเหนือเกาะยูเบีย (Euboea) ที่อยู่ใกล้กันได้

นั้นคือแผน แต่ลีโอนิดัสต้องกังวลใจเมื่อพระองค์มาถึงเทอร์มอพิลีและพบว่าเส้นทางอโนเฟีย (Anopaia) ซึ่งเป็นเส้นทางภูเขา สามารถทำให้ฝ่ายรุกรานอ้อมผ่านตำแหน่งของเขาได้ แต่มันช้าเกินไปสำหรับการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เนื่องจากกองเรืออยู่ในตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงสั่งการให้นักรบชาวโฟเคียนคุ้มกันเส้นทางดังกล่าวในขณะที่ชาวสปาร์ตันซ่อมแซมกำแพงที่ป้องกันบริเวณที่โล่งตรงกลางช่องเขา

เซอร์ซีสตั้งค่ายใกล้กับเทอร์มอพิลีและรออยู่สี่วัน พระองค์เชื่อว่ากองทัพกรีกจะถูกความกลัวครอบงำและถอยทัพเมื่อพวกเขาเห็นกองทัพอันทรงพลังของเปอร์เซีย ตามที่พลูทาร์ชบันทึกไว้ พระองค์ส่งพลนำสาส์นไปหาลีโอนิดัสเพื่อเกลี้ยกล่อมให้พระองค์ยอมวางอาวุธ แต่กษัตริย์แห่งสปาร์ตาผู้นี้ จากข้อมูลของพลูทาร์ช ทรงตอบกลับเพียงด้วยคำว่า “Molon labe!” หรือ “มายึดพวกมันไปเสียสิ”

เมื่อถึงวันที่ห้า กองกำลังเปอร์เซียเริ่มทำการโจมตี เป็นไปตามที่ลีโอนิดัสคาด ความได้เปรียบด้านจำนวนของพวกเขาไม่มีประโยชน์ในพื้นที่คับแคบเช่นนี้ แม้นักรบเหล่านี้มีทั้งความกล้าหาญและความทรหดมากเหลือ พวกเขาก็มิได้ฝึกมาเพื่อการต่อสู้ในสภาพภูมิประเทศดังกล่าวและยังไม่มีอาวุธหนัก ดาบของชาวเปอร์เซียสั้นกว่าดาบของกรีกและโล่ห์มีขนาดเล็กกว่า ส่วนธนูและลูกศรนั้นก็ไม่สามารถเจาะโล่ที่ทนทานของฝ่ายป้องกันได้

กลับกัน พื้นที่เช่นนี้เหมาะกับทหารกรีกซึ่งคุ้นชินกับการรบด้วยขบวนฟาลังซ์ (Phalanx) ซึ่งเหล่านักรบยืนชิดกันไล่ต่อไหล่และหันกำแพงโล่ห์เข้าหาข้าศึก สมรภูมิครั้งนี้คือโอกาสเหมาะเจาะเป็นพิเศษที่เหล่าชาวสปาร์ตาจะได้สาธิตฝีมือทางการรบของตนเอง อันเป็นผลที่ทั้งชีวิตอุทิศทั้งร่างกายและวิญญาณให้กับกองทัพ

รูปปั้นลีโอนิดัสซึ่งสลักจากหินอ่อน จากยุคห้าศตรววษก่อนคริสตกาล ภาพถ่ายโดย BRIDGEMAN/ACI

ถูกหักหลัง

นักรบกรีกดันทหารของเซอร์ซีสกลับไปครั้งแล้วครั้งเล่า และความสูญเสียของฝ่ายเปอร์เซียมีมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนการรบวันแรกจบลง เซอร์ซีสรวมพลทหารที่เก่งที่สุดของพระองค์จำนวนหนึ่งหมื่นนาย ชาวกรีกเรียกทหารหัวกะทิภายใต้ขุนนางนามฮีดาร์นีส (Hydarnes) เหล่านี้ว่า “อมุนษย์” เพราะดูเหมือนพวกเขาสามารถทดแทนความสูญเสียได้โดยทันที จนดูเหมือนว่าพวกเขามีจำนวนนับอนันต์

ในช่วงต้นของการรบที่เมอร์มอพิลี แม้แต่หน่วยพลธนูชั้นยอดอย่างนักรบอมนุษย์ในภาพบนกระเบื้องนี้ยังมิอาจกำราบกองทัพกรีกที่นำโดยสปาร์ตาได้ ภาพถ่ายโดย LOUVRE MUSEUM, PARIS AURIMAGES

ทว่า แม้แต่พวกเขาก็ยังไม่สามารถกำราบนักรบของกรีกลงได้ และจำต้องถอยทัพในไม่นานหลังจากนั้น มีคำร่ำลือว่าเซอร์ซีส ซึ่งทอดพระเนตรการรบจากบัลลังค์ทองคำที่ตีนเขาใกล้ๆ ต้องกระโดดลุกจากที่ประทับหลายครั้งเนื่องเพราะกริ้วโกรธต่อความล้มเหลวของฝ่ายตนเอง

ในวันต่อมา ฝ่ายเปอร์เซียทำการโจมตีอย่างล้มเหลวอีกครั้ง แต่เป็นในวันเดียวกันนั้นเองที่คนเลี้ยงแกะชาวกรีกในบริเวณนั้น (ผู้ซึ่งชื่อจะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการทรยศหักหลังในเวลาต่อมา) นามเอเฟลทีส (Ephialtes) บอกความลับของชัยชนะแก่เซอร์ซีส นั่นคือเส้นทางอโนเพีย (Anopaia) ซึ่งทอดไปตามสันเขาและอ้อมไปทางด้านหลังที่มั่นของฝ่ายกรีกข้างปลายส่วนตะวันออกของเทอร์มอพิลี เพื่อแลกกับรางวัลก้อนงาม เขาสัญญาว่าจะนำทางนักรบเปอร์เซียไปตามเส้นทางดังกล่าว จากคำของฮีโรโดทุส เซอร์ซีสทรงมอบหมายให้ให้ไฮดาร์นีสและเหล่าอมนุษย์ทำการจู่โจมครั้งนี้ พวกเขาออกเดินทางจากค่าย “ณ ราวยามที่ตะเกียงถูกจุด” และมุ่งหน้าเดินเท้าไปตามทางตลอดคืน

ลีโอนิดัสทรงเรียกประชุมเหล่าแม่ทัพนายกองเมื่อพระองค์ทรงทราบว่ากองกำลังของตนเองถูกล้อม ด้วยคำถามว่านักรบกรีกควรถอยทัพหรือปักหลักสู้ และแม้การป้องกันที่มั่นของฝ่ายตนเองจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พระองค์กลับตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่า นักรบสปาร์ตัน ทั้งสามร้อยคนและนักรบธีบันอีกจำนวนหนึ่งจะยืนหยัดสู้ต่อ เกียรติยศและวินัยทางการทหารของพระองค์ทำให้การยอมจำนนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ สำหรับชาวสปาร์ตัน ทางเลือกเพียงสองอย่างของพวกเขาคือชัยชนะหรือความตาย และจากคำเล่าของฮีโรโดทุส อีกหนึ่งสาเหตุเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนี้คือคำทำนายของธิดาพยากรณ์แห่งเดลฟี ซึ่งกล่าวว่าอนาคตสองทางของสปาร์ตาคือเมืองจะถูกทำลายโดยเปอร์เซีย หรือกษัตริย์ของนครรัฐแห่งนี้จะต้องสวรรคต ลีโอนิดัส ซึ่งทราบถึงคำทำนายดังกล่าว อาจเชื่อว่าการเสียสละตนเองจะช่วยเมืองของพระองค์ให้อยู่รอด

อนุสรณ์แด่ลีโอนิดัสในภาพนี้ถูกตั้งขึ้นที่เทอร์มอพิลีเมื่อปี 1955 ภาพถ่ายโดย JAMES T. CARNEHAN/AGE FOTOSTOCK

จุดจบของผู้นำ จุดเริ่มต้นของตำนาน

ลีโอนิดัสสั่งให้กองเรือกรีกที่ช่องแคบอาร์เทมิเซียมสละตำแหน่ง และให้กำลังพลบนภาคพื้นดินส่วนใหญ่ถอนทัพจากสนามรบ นักรบที่ยังหลงเหลืออยู่รับประทานอาหารเพื่อรวบรวมกำลัง จากประวัติศาสตร์ของดิโอโอรุส ซิคูลุส พระองค์ตรัสด้วยความตลกร้ายว่า “กินมื้อเช้ากันให้อิ่มหนำ เพราะคืนนี้เราจะกินมื้อเย็นกันในนรก” เอโฟรุสและดิโอโดรุส ซิคิรุส ย้อนความว่าจากนั้น กษัตริย์ผู้นี้บุกจู่โจมค่ายพักแรมของฝ่ายเปอร์เซียด้วยความหาญกล้าและรวดเร็ว แต่ข้อมูลจากฮีโรโดทุสกลับอธิบายการบุกเริ่มโดยฝ่ายเปอร์เซีย เซอร์ซีสมิได้เร่งรีบโจมตีเพราะไฮดรานีสต้องการเวลาเตรียมตัวให้พร้อม ขุนศึกผู้นี้เทเหล้าบวงสรวงให้ดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้น อันเป็นสิ่งที่ชาวเปอร์เซียบูชา และรอจนถึงกลางช่วงเช้าก่อนจะเริ่มจู่โจม

ลีโอนิดัสสละช่องเขาแคบซึ่งสามารถเป็นที่กำบังและวางตำแหน่งในพื้นที่โล่ง ซึ่งแม้จะปราศจากที่กำบัง แต่มันก็ช่วงให้พระองค์สามารถจัดวางกำลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสังหารข้าศึกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นักรบชาวกรีกซึ่งรู้ถึงจุดจบของตนเองดีต่อสู้อย่างบ้าคลั่ง เมื่อหอกของพวกเขาหัก ทหารเหล่านี้ก็ชักดาบขึ้นสู้ต่อ

สุดท้าย พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ลง การปะทะครั้งย่อยเกิดขึ้นรอบๆ พระศพ เหล่านักรบแห่งสปาร์ตาโจมตีและยันกองทัพเปอร์เซียไว้นานพอที่จะกู้พระกายาที่ไร้ชีวิตของกษัตริย์ของพวกเขา และถอยไปรวมกำลังกันใหม่บนที่สูงหลังกำแพงป้องกันเมื่อเห็นว่าไฮดาร์นีสและนักรบอมุนษย์มาถึง ผู้ที่ยังมีดาบป้องกันตนเอง ส่วนนักรบที่ไร้อาวุธสู้ต่อด้วย “หมัดและฟัน” ในท้ายที่สุด ฝ่ายเปอร์เซียก็ทลายกำแพงลงได้สำเร็จและล้อมฝ่ายป้องกัน ก่อนจะใช้ธนูสังหารพวกเขาไปเรื่อยๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อสู้ในระยะประชิด

ภาพวาดโดย Massimo d’Azeglio ประมาณปี 1823 นี้ แสดงเหตุการณ์เมื่อลีโอนิดัสซึ่งอยู่หน้าขบวนฟาลังซ์ถูกสังหารโดยฝ่ายเปอร์เซีย ภาพวาดโดย BRIDGEMAN/ACI

เซอร์ซีสทรงบัญชาให้นักรบธีบันที่รอดชีวิตถูกตีตราที่หน้าผากเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของความเป็นทาส ฮีโรโดทุสย้อนความว่าลีโอนิดัสถูกบั่นพระเศียร และพระกายาของพระองค์ถูกเสียบตรึง พระศพของพระองค์และนักรบผู้วายชนม์ถูกฝังที่สมรภูมิแห่งนี้ ในกาลต่อมา อนุเสาวรีย์หินรูปราชสีห์ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก ไซโมนิดีส (Simonides) ผู้เป็นนักกวีเขียนคำจารึกสั้นๆ แด่ผู้พลีชีพว่า “ผู้ใดที่ผ่านมา จงบอกเหล่าสปาร์ตาเถิดว่า / พวกเขาทำตามคำสัตย์ของตนแล้ว”

สี่สิบปีต่อมา หรือเมื่อ 440 ปีก่อนคริสตกาล พระบรมอัฐิของลีโอนิดัสถูกส่งกลับไปที่สปาร์ตา สุสานของพระองค์ยังคงตั้งอยู่ใกล้กับเมืองสปาร์ตาในยุคปัจจุบัน หลังการปราชัยที่เทอร์มอพิลี ชาวกรีกได้รับชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่ซาลามิส (Salamis) และพลาเทีย (Plataea) ที่ซึ่งพวกเขากำราบกองทัพเปอร์เซียลงได้อย่างเบ็ดเสร็จ ราชาผู้นี้และนักรบสปาร์ตาของพระองค์ส่งเสริมเกียรติภูมิของนครรัฐแห่งนี้และสร้างขวัญกำลังใจให้ชาวกรีกทั้งมวลลุกขี้สู้กับผู้รุกราน และเป็นดั่งที่ดิโอโดรุส ซิคุลุส เขียน: “ดังนั้น พวกเขาคือเหล่าเดียวในประวัติศาสตร์ ผู้ในยามปราชัยกลับโด่งดังมากกว่าผู้ใดทั้งมวลที่กำชัยอย่างงดงามที่สุดเสียอีก”

นักรบชาวสปาร์ตาที่สมรภูมิพลาเทีย วาดโดย Edward Ollier LOOK AND LEARN/BRIDGEMAN/ACI

เรื่อง JAVIER MURCIA

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม กว่าจะมาเป็นสุดยอดนักรบสปาร์ตัน

Recommend