เปิดประวัติ ‘ คาสโนวา ’ ชายนักรักผู้ฉาวโฉ่เรื่องราคะแห่งเมืองเวนิส

เปิดประวัติ ‘ คาสโนวา ’ ชายนักรักผู้ฉาวโฉ่เรื่องราคะแห่งเมืองเวนิส

เวนิสในศตวรรษที่ 18 คือเมืองที่อื้อฉาวและอันตราย เช่นเดียวกับ ‘ คาสโนวา ’ ชาวเมืองผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากบันทึกของเขาในเมืองหลวงแห่งความสำราญแห่งนี้

เมื่อปี ค.ศ. 1725 เด็กชายผู้หนึ่งลืมตาดูโลกในสาธารณรัฐเวนิส เด็กชายคนนี้จะเติบโตขึ้นเป็น ‘ คาสโนวา ’ ผู้เป็นที่รู้จักจากความหลงใหลในราคะตลอดทั้งชีวิตของเขา

เวนิสในศตวรรษที่ 18 เต็มไปด้วยความงดงาม หรูหรา อบอวลไปด้วยความมั่งคั่ง และความลึกลับ เมืองแห่งนี้ได้สร้างวิธีการมองโลกและทัศนคติของชายหนุ่มผู้นี้ บรรดางานเฉลิมฉลอง โรงละคร บ่อนการพนัน และซ่องค้ากามทำให้เขาโอบรับการใช้ชีวิตอย่างโลดโผน

จาโกโม จีโรลาโม คาสโนวา เป็นลูกของนักแสดงสองคนในย่าน San Samuele ของเมืองเวนิส เรื่องราวชีวิตที่ทราบกันเป็นส่วนใหญ่มาจากปลายปากกาของเขาเอง ในวัยกลางคน คาสโนวาได้เขียน Histoire de ma vie บันทึกเล่มโตซึ่งเล่าเรื่องราวช่วงชีวิต 50 ปีแรกของตน การระลึกถึงอดีตอย่างละเอียดและตรงไปตรงมาของเขานับตั้งแต่วัยเด็กได้เปิดเผยว่าเมืองแห่งสายน้ำแห่งนี้มอบประสบการณ์ใดกับเขาบ้าง

คาสโนวา
ภาพวาดคาสโนวาในวัยเยาว์ เขาชื่นชอบการเข้าสังคมและความน่าตื่นตาของเมืองเวนิส ภาพโดย BRIDGEMAN/ACI

บิดาของเขาย้ายมาที่เวนิสจากต่างเมืองและเริ่มทำงานกับคณะละครในทศวรรษที่ 1720 ก่อนจะพบรักกับนักแสดงสาวฝีมือดีที่อายุน้อยกว่าตนเอง 11 ปี และแต่งงานกันเมื่อปี 1724

ในศตวรรษที่ 18 การเป็นนักแสดงมักหมายถึงการไปทำงานต่างบ้านต่างเมือง ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องเดินทาง พวกเขาจึงฝากฝังคาสโนวาให้ยายของเขาดูแล ทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่รักใคร่กันแน่นแฟ้น ในยามที่เขาได้เริ่มซึมซับอิทธิพลของเวนิส

หนึ่งในความทรงจำแรกสุดที่คาสโนวามีต่อยายคือตอนที่เธอพาเขาไปหาแม่มดเพื่อรักษาเลือดกำเดาที่ไหลไม่หยุด และเตือนเขาว่าเลือดจะหยุดไหลก็ต่อเมื่อเขาเก็บพิธีรักษาครั้งนี้เป็นความลับ ในสมัยนั้น มนตราเป็นเรื่องต้องห้าม และผู้ทำพิธีอาจถูกลงโทษโดยศาสนจักรคาทอลิกหากมีผู้ล่วงรู้

คลาสโนวา, เวนิส
ภาพวาดจากปี 1760 ชื่อ “การสนทนาใต้หน้ากาก (Masked Conversation)” โดย Pietro Longhi เสื้อผ้าซึ่งเรียกว่า bauta ที่เห็นในภาพนี้ประกอบด้วยผ้าคลุม ชุดคลุมหัว และหน้ากาก ภาพโดย SCALA, FLORENCE

บิดาของคาสโนวาเสียชีวิตเมื่อเขาอายุแปดขวบ ในปีต่อมา เขาถูกส่งไปเรียนที่เมือง Padua แม้มารดาของเขาจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกสี่สิบปี ความสัมพันธ์ของทั้งสองก็ไม่ราบรื่น เธอไม่เคยแต่งงานใหม่ และย้ายไปอาศัยที่เมืองเดรสเดนตั้งแต่เขาอายุสิบขวบ

ชีวิตวัยเยาว์ของคาสโนวาห้อมล้อมไปด้วยละครและมายากล ทั้งสองสิ่งเล่นกับความเป็นจริงและภาพลวงตา อิทธิพลเหล่านี้พัฒนาความสามารถและความสนใจในวัยเยาว์ของเขา นอกจากนี้ เขายังมีความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ายามฉุกเฉิน อันเป็นความสามารถที่ช่วยเหลือเขามาตลอดชีวิต การทดลองมนต์ดำทำให้ความสงสัยในศาสนาก่อตัวอยู่ภายในใจของเขา และจุดประกายการหาคำตอบในศรัทธาและการตั้งคำถามต่อความเชื่อซึ่งเป็นที่เคารพบูชา อันเป็นจุดเริ่มต้นในการเลือกอาชีพอันน่าฉงนของเขา นั่นคือ ‘นักบวช’

คลาสโนวา, เวนิส, โรงละคร
โรงละคร La Fenice ซึ่งเปิดในปี 1792 แห่งนี้คือโรงละครหลักสำหรับการแสดงโอเปราในเวนิส หลังโรงละคร San Benedetto ซึ่งสร้างเมื่อปี 1755 ถูกไฟไหม้ ภาพถ่าย SHUTTERSTOCK

ชนชั้นสูงและสามัญชน

การจบศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมื่ออายุ 16 ปี ทำให้คนรอบตัวคาสโนวาประหลาดใจอย่างมาก เขากลับมาที่เวนิสในฐานะนักบวชหนุ่ม และได้ประจำอยู่ในโบสถ์ที่ San Samuele ซึ่งเป็นบ้านเกิด แม้เขาจะดูเป็นคนที่ไม่มีความสามารถในการเป็นนักบวชมากนัก แต่ชีวิตในโบสถ์กลับช่วยให้เขาได้เริ่มไต่เต้าบันไดทางสังคมในเวนิสได้ ด้วยความสามารถทางการแสดงที่ได้รับสืบทอดมาจากบิดามารดา การเทศนาซึ่งมีเสน่ห์เย้ายวนที่มิอาจเข้าใจ (incomprehensible) ของนักบวชวัยละอ่อนผู้นี้เริ่มดึงดูดความสนใจผู้คนในเวลาไม่นาน

ความชื่นชอบหลงใหลในวรรณคดีคลาสสิกในฐานะบาทหลวงและช่วยให้คาสโนวามีที่ยืนในสังคมชั้นสูงของเวนิสอยู่บ้าง คาสโนวามีปัญญาที่เฉียบแหลมและมารยาทที่งดงาม เขาคือตัวแทนของความย้อนแย้งของเมืองเวนิส สังคมที่ยกย่องชนชั้นสูงซึ่งต้องพึ่งพากำลังของชนชั้นแรงงานและความเฉลียวฉลาดของนายทุน

สิ่งที่ทำให้คาสโนวาก้าวหน้าในสังคมคือการแบ่งชนชั้นในเวนิส ขณะที่ชนชั้นสูงใช้ชีวิตปะปนกับนายทุนและสมาชิกของศาสนจักร แต่ชนชั้นสูงเหล่านี้ก็ยังมีความใกล้ชิดในบางแง่มุมกับชนชั้นแรงงาน เช่น การรับประทานอาหารแบบเดียวกัน

ภาพการแข่งเรือในเวนิส วาดโดย Canaletto เมื่อราวปี 1740 ภาพวาดโดย SCALA, FLORENCE

คาสโนวามองการแบ่งแยกระหว่างชนชั้นว่าเป็นสิ่งที่มีช่องโหว่ เขารอจังหวะเพื่อแทรกตัวและไต่เต้าเพื่อยกระดับตนเอง ในไม่ช้า ความเยาว์วัยและความใจร้อนทำให้เขาตัดสินใจเลิกเป็นนักบวช เขาเขียนบันทึกว่า “ความรัก [ฉันชู้สาว] ของข้าพเจ้าพิสูจน์ว่าเป็นอันตรายยิ่งต่อตัวข้าพเจ้าเอง จากจุดเริ่มต้นนี้ ความรักฉันชู้สาวได้เริ่มต้นอีกสองครั้ง และมีอีกหลายครั้งตามมา ทำให้ข้าพเจ้าละจากการเป็นนักบวชในท้ายที่สุด” เขาเข้าร่วมกองทัพเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนกลับมาที่เวนิสอีกครั้ง และเริ่มหาเงินด้วยการเป็นนักไวโอลิน

แม้จะมีทั้งพรสวรรค์ เสน่ห์ และจิตใจที่ร่าเริง แต่คาสโนวาคงไม่เป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์หากไม่เกิดเรื่องราวในวันหนึ่งที่เขาเห็นสมาชิกวุฒิสภาผู้หนึ่งหัวใจวายอยู่กลางถนน เขารีบเข้าไปช่วยเหลือชายผู้นั้น พาไปส่งที่บ้าน และอยู่เคียงข้างแม้แต่ในยามที่แพทย์และเพื่อนของชายผู้นั้นมาถึง ชายผู้นั้นคือ Matteo Bragadin นักการเมืองและสมาชิกแห่งวงศ์สังคมที่สูงศักดิ์ที่สุดในชนชั้นปกครองของเวนิส

Bragadin หายป่วยในที่สุด และได้ประกาศว่าเขาติดหนี้ชีวิตชายหนุ่มที่มาช่วยเหลือเขาผู้นี้ คาสโนวาเริ่มใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้โดยนำ Bragadin และผองเพื่อนมาอยู่ใต้อิทธิพลของเขาโดยการสวมบทบาทเป็นแพทย์และนักมายากล ด้วยการเล่นกลที่เขาเรียนรู้มาจากยาย เขาเหล่าในบันทึกว่า “ข้าพเจ้าพูดเหมือนกับแพทย์ที่ได้ร่ำเรียนมา โกหกปลิ้นปล้อน และยกคำพูดของนักเขียนที่ข้าพเจ้าไม่เคยอ่าน”

ความสนใจในศาสนาและความรู้เรื่องคับบาลาห์ (cabala) ศาสตร์ซึ่งเป็นที่นิยมในเวนิสในยุคนั้น ทำให้บรรดาเพื่อนฝูงของ Bragadin สนใจในตัวเขา และคาสโนวาก็ใช้ทั้งความรอบรู้และเสน่ห์ของเขาไต่เต้าสู่ชนชั้นสูงในเวนิส เมืองที่เหตุผลและเวทมนตร์ผนวกเข้าด้วยกัน

สิงโตมีปีกในภาพคือตัวแทนของนักบุญมาระโก นักบุญผู้อุปถัมภ์ของเวนิส ที่ปรากฏอยู่บนหน้าปกของ “หนังสือทองคำ” จากช่วงศตวรรษที่ 17 หรือ 18 หนังสือดังกล่าวคือข้อมูลอย่างย่อของบรรดาครอบครัวชนชั้นสูงในเวนิส ภาพโดย GRANGER/ACI

ความประทับใจดังกล่าวทำให้ Bragadin อุปถัมภ์เขา นำเขามาอาศัยในบ้านของตนและให้เงินช่วยเหลือ ในยามนี้ คาซาโนวาซึ่งรักใคร่ Bragadin อย่างจริงใจพบว่าตำแหน่งในบรรดาชนชั้นสูงของตนมั่นคงยิ่งขึ้นและมองเห็นโอกาสในการขยับตัวเองขึ้นเป็นชนชั้นปกครอง นอกจากรูปร่างที่สูง น่าดึงดูด และมีรสนิยม เขายังเข้ากันได้ดีกับผู้คนจากทุกพื้นเพ ทั้งสามัญชน บาทหลวง และรวมถึงชนชั้นสูง สิ่งนี้เป็นลักษณะที่หาได้ยาก และเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเป็นบุคคลที่มีค่าอย่างสูงในเวนิส

อย่างไรก็ตาม เขายังอึดอัดใจกับความรู้สึกที่ว่าตนเองถูกกีดกันให้อยู่แต่เพียงชายขอบของวงสังคมที่ตนเองเป็นสมาชิก เหมือนดั่งตัวตลกที่ถูกหลอกใช้เพราะความเฉลียวฉลาด แต่ไม่เคยเป็นที่ยอมรับโดยสมบูรณ์ เขาเริ่มเหนื่อยหน่ายกับระบบชนชั้นที่ตั้งอยู่บนชาติกำเนิด สำหรับเขา ความสูงศักดิ์มิได้มาจากการสืบทอดจากบิดาสู่บุตร คาสโนวาเย้ยหยันระบบการสืบอำนาจผ่านสายเลือดอย่างมาก

ระหว่างปี 726 ถึง 1797 หัวหน้าเสนาบดีของเวนิสอาศัยอยู่ในคฤหาสน์ในภาพนี้ ผู้นำซึ่งถูกเลือกจากบรรดาคณะผู้ปกครองสามารถดำรงตำแหน่งได้ตลอดชีพ (แม้จะมีบางคนที่ถูกปลด) ภาพถ่ายโดย FRANK LUKASSECK/FOTOTECA 9X12

เรื่องชู้สาว

คาสโนวามีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการยั่วสวาท เรื่องอื้อฉาวทางเพศ และบรรดาชู้รักของเขา ในบันทึก เขาอธิบายการพบปะกับหญิงสาวนับไม่ถ้วนอย่างละเอียดและรู้สึกภาคภูมิใจ เรื่องเหล่านี้คือสิ่งน่าตกใจสำหรับผู้อ่านสมัยใหม่

เมื่อไม่นานมานี้ Leo Damrosch ผู้ศึกษาชีวประวัติของเขา เขียนว่า “มีบ่อยครั้งที่ชีวิตในฐานะนักยั่วสวาทซึ่งเป็นเรื่องฉาวโฉ่ตั้งแต่เมื่อครั้งเขายังมีชีวิตคือเรื่องที่น่าขุ่นเคืองใจ และบางครั้ง เรื่องเหล่านั้นก็ช่างมืดมน” สำหรับบรรทัดฐานในปัจจุบัน

ในหลายครั้งการพบปะหญิงสาวของเขาคือสิ่งผิดศีลธรรม และบางครั้ง แย่ที่สุดคือเป็นอาชญากรรม จึงจำเป็นที่จะต้องอ่านบันทึกของเขาอย่างมีวิจารณญาณ และบันทึกเล่มนี้มีเสียงจากฝั่งผู้หญิงอยู่เพียงน้อยนิด ทำให้ผู้อ่านรับรู้ได้แต่เรื่องราวจากฝั่งของเขา

เครื่องเพชรอย่างดีเหล่านี้คือสิ่งจำเป็นสำหรับอิสตรีในเวนิส ชิ้นที่เห็นในภาพนี้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ correr ในเวนิส ภาพโดย V&A IMAGES/SCALA, FLORENCE
แก้วเครื่องดื่มแบบเวนิส ภาพโดย V&A IMAGES/SCALA, FLORENCE

ระบบศีลธรรมในเวนิสในสมัยนั้นแตกต่างจากที่อื่นๆ ในยุโรป เวนิสเป็นสาธารณรัฐอิสระมาหลายศตวรรษและมีมุมมองด้านความสำราญในกามารมณ์ในแบบของตัวเอง เมื่อถึงศตวรรษที่ 18 เวนิสก็มีชื่อเสียงในฐานะ ‘เมืองแห่งความสำราญ’ อันเป็นที่โปรดปรานของเหล่าชายหนุ่มทั่วยุโรป และแม้เวนิสจะถูกปกครองด้วยประเพณีทางคาทอลิกที่เข้มงวด แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมืองนี้เชื้อเชิญให้ผู้คนดำดิ่งสำรวจในเรื่องราคะ โดยเฉพาะผู้ชายที่ถือว่าการไม่มีชู้รักเป็นเรื่องที่น่าอับอาย แม้แต่สำหรับบรรดาพระราชาคณะในศาสนจักร ชายชนชั้นสูงในเวนิสเกือบทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับโสเภณีที่เริ่มให้บริการตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ในบรรดาโสเภณีเหล่านี้ต่างได้แต่งงานกับชนชั้นคนรวยใหม่ (nouveau riche) ในที่สุด

แม้แต่แม่ชีก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น หนึ่งในเรื่องชู้รักที่โด่งดังที่สุดของคาสโนวาคือเรื่องชู้รักกับแม่ชีที่เขาเรียกว่า “MM” ในบันทึก ซึ่งแท้จริงแล้ว แม่ชีผู้นี้มิได้เป็นชู้กับเขาแค่เพียงคนเดียว แต่ยังรวมถึงทูตฝรั่งเศสผู้เคร่งศาสนาอีกคน คาสโนวาได้จัดการนัดพบระหว่างเขาและหญิงสาวสามคน ซึ่งอีกคนเป็นอดีตอนุภรรยาของเขาเอง

คลาสโนวา, เวนิส
ปกบันทึกของคาซาโนวาซึ่งแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสฉบับแรก ภาพโดย ALAMY/ACI

คาสโนวาเป็นผู้จัดเจนในเมืองแห่งกามราคะแห่งนี้ เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ตามบรรดาโรงละครในเวนิสซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาคุ้นเคยจากการเติบโตมาในครอบครัวนักแสดง โรงละครเป็นสถานที่ชั้นดีสำหรับการพบปะเหล่าอิสตรี โรงละครในเวนิสในช่วงเวลานั้นคือสถานที่แห่งความเสเพลซึ่งเหมาะกับการพบปะทางสังคมที่มีทั้งชนชั้นปกครองและสามัญชน

คาสโนวากล่าวถึงตัวเองในวัยหนุ่มว่า “ด้วยความไร้เดียงสา ข้าพเจ้าเองเริ่มมีความรู้สึกอยากออกห่างจากสตรีอยู่บ้าง แต่ข้าพเจ้าก็มีความอิจฉาสามีของสตรีเหล่านั้นเช่นกัน” ในไม่ช้า ความคิดนั้นถูกแทนที่ด้วยบุคลิกที่มั่นใจและหิวกระหาย ในขณะที่เขาเริงรมย์ไปกับการหาคู่ในโรงละคร เขาพบว่าตนเองถูกดึงรั้งระหว่างรากกำเนิดสามัญชนและสังคมชนชั้นสูงที่เขาพยายามเข้าหา เขายังคงรู้สึกสบายใจกับหญิงสาวสามัญชน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ยังเป็นสาวแรกรุ่น เขาสนใจเด็กสาวอายุระหว่าง 14 ถึง 18 ปี เป็นพิเศษ

คลาสโนวา, เวนิส
ภาพ คาสโนวา กับชู้รัก จากภาพวาดในช่วงศตวรรษที่ 20 โดย Auguste Leroux ภาพโดย MARY EVANS PICTURE LIBRARY/AGE FOTOSTOCK

งานรื่นเริงและการพนัน

งานรื่นเริง (Carnival) เป็นสิ่งที่ยึดโยงกับชีวิตในเวนิส งานรื่นเริงที่คือสิ่งที่ขับเคลื่อนสังคมและตัณหา การสวมหน้ากากทำให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถสวมรอยเป็นผู้ใดก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งยอดเยี่ยมสำหรับจอมหลอกลวงเช่นคาสโนวา ในบันทึกของเขาส่วนมากเกี่ยวข้องกับการปลอมตัวที่ทำให้เขาสามารถเตร็ดเตร่ไปรอบเมืองอย่างคนนิรนาม ชุดแต่งกายของเขาช่วยลดความรู้สึกที่ไม่รู้จักพอในหมู่ชนชั้นสูง และช่วยสร้างความรู้สึกลึกลับในหมู่สามัญชน การปลอมตัวนี้เป็นกุญแจสำหรับการผจญภัยหลายครั้งของเขา

คลาสโนวา, เวนิส
ภาพถ่ายทางอากาศของเวนิสแสดงถึงทางน้ำอันเงียบสงบที่โอบล้อมผืนดินรอบมหาวิหารนักบุญมาระโกและหอระฆังของมหาวิหาร ภาพถ่ายโดย MICHELE FALZONE/AWL IMAGES

เช่นเดียวกับชาวเวนิสอีกมากมายจากทุกชนชั้น คาสโนวาหมกมุ่นกับการพนันและต้องเผชิญกับผลลัพธ์ที่ร้ายแรง ในวงสังคมชั้นสูงของเวนิส คนส่วนใหญ่เล่นการพนัน ทรัพย์สินทั้งหมดอาจหายวับไปในพริบตาในค่ำคืนเดียว คาสโนวา ผู้ที่ไม่รู้จักความพอดี ติดหนี้การพนันมหาศาลจนแม้แต่ Bragodin ผู้ใจกว้างยังมิสามารถใช้คืนได้ เขาเริ่มมีหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจ่ายค่าเดิมพัน และเริ่มยืมเงินจากสตรีที่เขายั่วสวาท

คลาสโนวา, เวนิส
การพนันคือการใช้เวลาว่างซึ่งชาวเวนิสโปรดปราน มีการเล่นพนันในห้องแบบพิเศษเรียกว่า ridotti เช่นที่เห็นในภาพวาดโดย Francesco Guardi จากปี 1746 นี้ ภาพโดย SCALA, FLORENCE

เรื่องอื้อฉาว คุก และการลี้ภัย

คาสโนวาใช้ชีวิตโลดโผนดังที่กล่าวมานานหลายปี แต่ก็เป็นความเสเพลในขอบเขตที่ยอมรับได้ แม้เขาจะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของ Bragadin แต่เวนิสที่ปกครองโดยคณะผู้ปกครองนาม ‘สภาสิบคน’ (Council of Ten) ที่ถูกเลือกตั้งเป็นประจำทุกปีและครองอำนาจแทบเบ็ดเสร็จ สามารถข่มขู่ผู้ใดก็ได้ แม้แต่ Bragadin ผู้มั่งคั่ง

แม้วุฒิสมาชิกผู้นี้จะเตือนคาสโนวาเรื่องคนเหล่านี้ที่สามารถลงโทษได้อย่างไร้ปราณี แต่เขาก็ละเลยคำเตือนดังกล่าว แม้เขาจะไม่ได้ทำเรื่องผิดกฎหมาย แต่คาสโนวาผิดพลาดที่ละเลยความจริงว่า เขาเป็นเพียงสามัญชนผู้สร้างความแค้นต่อชายชนชั้นสูงหลายคน

คลาสโนวา, เวนิส
คลอง Rio di Palazzo สะพานที่เห็นในภาพคือสะพานที่นักโทษทุกคนต้องข้ามเพื่อไปถึงคุกใต้คฤหาสน์ของหัวหน้าเสนาบดี คาสโนวาหนึ่งในนักโทษที่ต้องข้ามสะพานแห่งนี้ ภาพโดย GUIDO BAVIERA/FOTOTECA 9X12

ด้วยเหตุนี้เอง ในเช้าวันหนึ่ง เมื่อเขาอายุได้ 29 ปี เขาถูกจับและถูกขังที่คุก Piombi โดยไม่มีคำอธิบายใดๆ แต่เขายังโชคดีที่คุกแห่งนี้มีไว้ขังชนชั้นสูงเท่านั้น

คาสโนวาไม่เคยทราบข้อหาที่แน่ชัดของตนเอง ตลอดเวลาที่ถูกจองจำ เขาไม่เคยถูกไต่สวน เขาทราบแต่เพียงว่าผู้มีอำนาจกล่าวโทษเขาในคดีแปลกประหลาดหลายคดี และไม่มีโอกาสได้รับการปล่อยตัว ด้วยเหตุนี้ เขาจึงหลบหนีอย่างบ้าบิ่นด้วยการเจาะรูบนเพดานห้องขัง และเดินผ่านสายตาที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวของเหล่าผู้คุม

หลังการหลบหนี คาสโนวาอาศัยอยู่นอกเมืองเวนิสเป็นเวลา 18 ปี และเดินทางยั่วสวาทและต้มตุ๋นผู้คนไปทั่วยุโรป เมื่อเขากลับมาสู่เวนิสในวัยกลางคน เขาพบว่าเมืองแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเมืองบ้าคลั่งที่เขาเคยอาศัยอยู่ในช่วงวัย 20 ปี เขาต้องลี้ภัยอีกครั้งในปี 1783 และใช้เวลาบั้นปลายชีวิตเขียนบันทึกซึ่งเริ่มต้นด้วยการสารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่า “ข้าพเจ้าจะเริ่มต้นด้วยการสารภาพว่า สิ่งใดก็ตามที่ข้าพเจ้าทำในชีวิตนี้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งดีหรือชั่วร้าย ข้าพเจ้าทำไปโดยไร้ข้อผูกมัด ข้าพเจ้าเป็นเสรีชน” เขาเสียชีวิตในปี 1798 เมื่อมีอายุได้ 73 ปี

เรื่อง GIORGIO PIRAZZINI

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม จากมเหสีทั้ง 6 นี้ ใครคือราชินีที่แท้จริงของ กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ของอังกฤษ

Recommend