หลายทศวรรษก่อนการกำเนิดโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องตอบรับข้อความ ผู้คนใช้ ‘ไปรษณีย์เสียง’ ซึ่งถูกบันทึกลงในแผ่นเสียงแบบพิเศษขนาดเล็กเพื่อส่งข้อความระยะไกลถึงคนที่ตนเองรัก
ไปรณีย์เสียง – “สวัสดีครับ พ่อ แม่ แล้วก็บลันช์” เสียงพูดเรียบๆ เสียงหนึ่งดังขึ้นเหนือเสียงเป๊าะแป๊ะและแตกพร่าของแผ่นเสียงเก่าๆ แผ่นหนึ่ง ชัดเจนว่าคงถูกหมุนมาหลายครั้งแล้ว “ที่บ้านเป็นอย่างไรกันบ้าง? ผมบันทึกข้อความนี้จากดัลลาส… ที่เล็กๆ แห่งนี้มีเครื่องพินบอลกับเครื่องเล่นอื่นๆ ที่คล้ายกันอยู่เต็มไปหมด…”
แผ่นเสียงเล็กๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเจ็ดนิ้วลงวันที่เดือนตุลาคม 1954 ฉลากกำกับสีเขียวซึ่งซีดจางลงระบุนามผู้บันทึกเสียงว่า “จีน” และข้อความถูกบันทึกแด่ “สมาชิกครอบครัว” จีนกล่าวในข้อความยาวหนึ่งนาทีว่าเขากำลังท่องเที่ยว —”ชมสหรัฐฯ” — และบอกครอบครัวว่าไม่ต้องเป็นห่วงตน
“ผมน่าจะท่องเที่ยวเสร็จในช่วงวันขอบคุณพระเจ้า” เขากล่าวต่อในบันทึกครั้งที่สองซึ่งอัดที่ฮ็อตสปริงส์ รัฐเท็กซัส หลังข้อความครั้งแรกไม่นาน “ผมหวังว่าพวกคุณจะได้รับจดหมายของผม และหวังว่าผมจะได้รับจดหมายที่พวกคุณส่งหาผม พวกเราไม่ได้ติดต่อกันมานานมากแล้ว ผมคาดหวังอย่างมากว่าจะได้รับข้อความจากพวกคุณ”
บันทึกเสียงที่แทบไม่มีผู้ใดจำได้แล้วนี้คือหนึ่งใน “ไปรษณีย์เสียง” ฉบับแรกสุดของโลก เมื่อช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 จดหมายเสียงเหล่านี้และข้อความอื่นๆ มักถูกบันทึกในห้องตู้และอัดลงบนแผ่นเสียง ก่อนจะถูกส่งทางไปรษณีย์จากที่ต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก ในครั้งนั้น เครื่องเล่นเสียง ซึ่งในทุกวันนี้เป็นที่รู้จักจากการใช้ฟังดนตรีในบ้านเคยเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารทางไกลมาก่อน
ส่งเสียงหาใครสักคน
ความคิดเรื่องการบันทึกและส่งทอดเสียงของคนคนหนึ่ง คือสิ่งที่มนุษย์จินตนาการมากว่าสามศตวรรษก่อนจะกลายเป็นความจริงจากการประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 เอกสารทางประวัติศาสตร์จากราชวงศ์ชิงในจีนเมื่อศตวรรษที่ 16 กล่าวถึงการมีอยู่ของเครื่องมือลึกลับนาม “เครื่องส่งเสียงพันลี้” หรือวัตถุทรงกรวยทำจากไม้ที่ผู้พูดสามารถส่งเสียงเข้าไปด้านในก่อนจะปิดผนึกมัน เพื่อให้ผู้รับยังสามารถได้ยินเสียงที่ถูกบันทึกไว้เมื่อเปิดผนึกมันได้
เมื่อโทมัส เอดิสันประดิษฐ์เครื่องเล่นจานเสียง (phonograph) ขึ้นใน ค.ศ. 1877 เขามีวิสัยทัศน์ถึงเครื่องมือที่สามารถเล่นดนตรีได้ซ้ำไปซ้ำมา หรือแม้แต่อนุรักษ์ภาษาให้คงอยู่ได้ สำหรับประโยชน์แรกเริ่ม เขามองเห็นถึงศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจ การศึกษา และการจับเวลา เขาแม้แต่จินตนาการถึง “ปูมบันทึกประจำครอบครัว (Family Record)” — หรือ “การรวบรวมคำพูด การย้อนความ คำสั่งเสียของผู้กำลังสิ้นชีวิต และสิ่งอื่นๆ ของสมาชิกในครอบครัวด้วยเสียงของคนเหล่านั้นเอง”
แต่การสื่อสารโต้ตอบคือสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุด เอดิสันเชื่อว่าสิ่งประดิษฐ์ของเขาจะสามารถเป็นประโยชน์ต่อการเขียนความตามคำบอกและการเขียนจดหมายได้ ในปลายศตวรรษที่ 19 จดหมายที่เขียนด้วยมือคือวิธีสำหรับการสื่อสารทั่วไประหว่างบุคคลที่แพร่หลายที่สุด ในขณะที่โทรเลข ซึ่งต่อมาจะเป็นที่นิยมในช่วงต้นทศวรรษที่ 1900 ใช้สำหรับข้อความที่สั้น และเร่งด่วน และแม้ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ทำโทรศัพท์ข้ามทวีปจากนิวยอร์กไปซานฟรานซิสโกในปี 1915 แต่การโทรศัพท์ระยะไกลยังเป็นสิ่งราคาสูงและเข้าถึงไม่ได้สำหรับคนทั่วไปส่วนใหญ่จนกว่าจะถึงทศวรรษที่ 1950
เครื่องวอยซ์-โอ-กราฟ
หีบเสียง (gramophone) ซึ่งเป็นเครื่องเล่นจานเสียงอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งพัฒนาโดย เอมิล แบร์ลีเนอร์ (Emile Berliner) ในปี 1887 ทำให้มีการใช้เสียงที่บันทึกไว้เพื่อการสื่อสารระยะไกลขึ้นเป็นครั้งแรก มันทำให้การบันทึกและการเล่นซ้ำบนแผ่นเสียง ซึ่งเก็บรักษา ผลิตซ้ำ และส่งต่อได้ง่ายดายสามารถเป็นไปได้
บันทึกเสียงครั้งแรกสุดเท่าที่ทราบกันถูกส่งไปทางไปรษณีย์เพื่อใช้สื่อสารโต้ตอบเริ่มในต้นทศวรรษที่ 1920 แต่ในทางปฏิบัติ การส่งไปรษณีย์เสียงเริ่มเป็นที่แพร่หลายในทั่วทุกมุมโลกโดยแท้จริงในช่วงทศวรรษที่ 1930 และ 1940 วิธีการดังกล่าวให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวและจับต้องได้ ตราบเท่าที่ผู้บันทึกสามารถหาตู้สำหรับบันทึกเสียงหรือเครื่องมือสำหรับการใช้ในบ้าน
เมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 1940 มูโตสโคป (Mutoscope) ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกัน นำเครื่องวอยซ์-โอ-กราฟ (Voice-O-Graph) ออกจัดจำหน่าย ทำให้การส่งไปรษณีย์เสียงในสหรัฐฯ กลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เครื่องมือดังกล่าวคือตู้ไม้ทรงสูงลักษณะคล้ายตู้สำหรับถ่ายภาพในปัจจุบัน ที่ด้านหนึ่งของกล่องมีข้อความว่าบันทึกเสียงของคุณเอง! เขียนไว้
กล่องตู้บันทึกเสียงที่ประดิษฐ์โดย Alexander Lissiansky ได้รับการโฆษณาว่าเป็นของใหม่ และถูกติดตั้งไว้ตามสถานที่ที่ผู้คนมักรวมตัวกัน เช่นสวนสนุก ทางเดินริมทะเล แหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ศูนย์รวมการขนส่ง ฐานทัพ และงานบันเทิงซึ่งถูกจัดโดยยู.เอส.โอ (U.S.O.) ทั้งชั้นบนสุดของตึกเอมไพร์สเตต บรรดาท่าเรือในซานฟรานซิสโก และริมฝั่งแม่น้ำมิสซิสซิปปีล้วนมีอุปกรณ์เหล่านี้ติดตั้งอยู่
สำหรับการบันทึกเสียง ผู้พูดจะเข้าไปในตู้ของวอยซ์-โอ-กราฟ หยอดเหรียญราวสองสามเหรียญลงไปในตัวอุปกรณ์ และใช้เวลาไม่กี่นาทีสำหรับการบันทึกเสียง จากนั้น แผ่นเสียงซิงเกิลที่หมุน 45 รอบต่อนาทีก็เด้งออกมา นอกจากแผ่นเสียงดังกล่าวจะทนทานพอต่อการเล่นซ้ำไปซ้ำมาแล้ว มันยังบางและมีน้ำหนักเบาพอที่จะส่งทางไปรษณีย์ด้วยราคาที่มากกว่าจดหมายปกติเพียงเล็กน้อย และบ่อยครั้ง แผ่นเสียงเหล่านี้มักมาพร้อมซองจดหมาย
ข้อความแห่งรัก
ข้อความที่ผู้คนส่งนั้นมีหลากหลายอารมณ์ ตั้งแต่ความตื่นเต้น ความกังวลใจ ความสุข ไปจนถึงความเขินอาย เหล่านักเดินทางบันทึกเสียงของตนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวแก่ครอบครัวและมิตรสหายในยามเดินทางไกล โดยเฉพาะในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงเวลาที่ฐานทัพในสมรภูมิเกือบทุกแห่งมีห้องบันทึกเสียงเหล่านี้อยู่ เพื่อที่เหล่าทหารจะสามารถส่งไปรษณีย์เสียงไปหาผู้เป็นที่รักเพื่อปลอบโยนคนเหล่านั้นด้วยเสียงของตนเอง แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นบางคนจะไม่ได้กลับบ้านอีกตลอดไปก็ตาม
มี “ไปรษณีย์เสียงวาเลนไทน์” หรือจดหมายรักด้วยการบันทึกเสียงอย่างชื่นมื่นอยู่นับไม่ถ้วน หลายข้อความเหล่านี้ซึ่งส่งมาจากแดนไกล แสดงถึงความโหยหา “ขอให้คุณมีความหวังเข้าไว้” เสียงจากชายนาม ลีแลนด์ส่งข้อความถึงภรรยาของเขาจากนิวยอร์กซิตีในบันทึกเสียงครั้งหนึ่งเมื่อปี 1945 “ทุกคนจงมีความหวังเข้าไว้ ไมก์ พวกเราทุกคนจะได้กลับบ้าน กลับบ้านที่เราจะได้ใช้ชีวิตและดำเนินชีวิตต่อไปเหมือนที่เราเคยเป็น” ในข้อความหนึ่งที่บันทึกจากอาร์เจนตินาในช่วงปี 1940 ชายผู้หนึ่งเล่นไวโอลินก่อนจะร้องเพลงกล่อมนอน “หลับเถิด หลับเถิด สาวน้อยที่รักของผม” เขาพูด “ครานี้นั้นดึกดื่นแล้ว”
หอจดหมายเหตุจดหมายเสียง
ในสมัยนั้น บรรดาครอบครัวสามารถรวมตัวกันรอบเครื่องเล่นแผ่นเสียงและฟังข้อความอย่างซ้ำๆ ได้เมื่อแผ่นส่งมาถึง พวกเขาสามารถฟังมันได้อีกครั้งและอีกครั้งเมื่อใดก็ตามที่มีแขกมาเยี่ยมเยือน แต่ในการเปิดฟังแต่ละครั้ง เข็มเล่นเสียงจะขูดร่องเสียงบนแผ่นไปเรื่อยๆ จนความชัดของเสียงค่อยๆ ลดน้อยลงจนฟังแทบไม่ได้ยินในท้ายที่สุด
ในปัจจุบัน ที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน โทมัส เลอวิน ศาสตราจารย์และนักทฤษฎีด้านสื่ออุทิศตนต่อการรักษาเสียงแห่งอดีตเหล่านี้ไว้ เขาเก็บรักษาหอจดหมายเหตุเพียงแห่งเดียวในโลกที่อุทิศให้สิ่งที่เขียนเรียกว่า “จดหมายเสียง (Phono-Post) เมื่อยามที่มันเป็นที่นิยมถึงขีดสุด มันอาจมีเครื่องวอยซ์-โอ-กราฟ หลายพันเครื่องในสหรัฐฯ และสถานีบันทึกเสียงอีกมากมายในทุกส่วนของโลก “จดหมายเสียงเหล่านี้นับล้านถูกส่งไปทั่วทั้งสหรัฐฯ อเมริกาใต้ ยุโรป รัสเซีย และจีนครับ” เขากล่าว
ห้องทำงานของเลอวินอัดแน่นไปด้วยสิ่งของต่างๆ ที่เขารวบรวมสะสมมาตลอดหลายปี รวมถึงหนังสือ โปสเตอร์ และสิ่งของสำหรับการใช้งานชั่วคราวอื่นๆ — และแน่นอนว่าต้องมีบันทึกเสียง จนถึงขณะนี้ เขาแปลงบันทึกเสียงกว่า 3,000 ฉบับเป็นข้อมูลดิจิทัล และแผ่นบันทึกทั้งหมดนั้นถูกเก็บในแฟ้มพลาสติกใสและจำแนกอย่างจัดเจน เขาเก็บพวกมันในตู้และถังเก็บซึ่งวางเป็นชั้นได้ในห้องควบคุมอุณหภูมิ
บันทึกเสียงอีกหลายพันแผ่นซึ่งนับย้อนหลังไปเกือบเจ็ดปีและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จากการสะสมรวบรวมของเลอวินกำลังรอคอยการประมวลผลย้อนหลัง เขาใช้ปัญญาประดิษฐ์สำหรับช่วยค้นหาหน้าขายของบนอีเบย์และประมูลราคาให้เขา บางครั้ง เขาพบผู้ที่ขายเสียงที่บันทึกโดยญาติมิตรของตนเอง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม “ผมเขียนถึงคนเหล่านั้นและถามว่า คุณกำลังจะขายเสียงที่คุณปู่ของคุณบันทึกไว้อย่างนั้นหรือครับ?” เลอวินกล่าว “มันไม่มีความรู้สึกถึงคุณค่าของเสียงเหล่านั้น ผู้คนจึงเต็มใจโละวัตถุเหล่านี้” อย่างไรก็ตาม เขาเสนอการแบ่งปันไฟล์เอ็มพี 3 ให้กับคนเหล่านี้ ซึ่งหลายครั้งก็ทำให้พวกเขาและเธอตื้นตันใจอย่างมาก
เสียงจากอดีต
ส่วนใหญ่แล้วมีเสียงของเหล่าคนดังไม่มากนักที่ถูกเก็บอยู่ที่จดหมายเสียง “ส่วนใหญ่ของบันทึกเสียงในหอจดหมายเหตุแห่งนี้คือเสียงของคนธรรมดาที่พูดถึงความต้องการ ความปรารถนา จินตนาการ ซึ่งเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันเอามากๆ เลยครับ” เขากล่าว เช่นเดียวกับจดหมายกระดาษ จดหมายเสียงเหล่านี้สามารถเปิดเผยเรื่องราวเชิงลึกของช่วงเหตุการณ์เจาะจงในประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวต่างๆ ของปัจเจกชนที่อาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้น
บรรดานักประวัติภาษาศาสตร์มีความสนใจเป็นพิเศษต่อ “ไปรษณีย์เสียง” เพราะมันคือหนึ่งในตัวอย่างแรกสุดที่มีการบันทึกไว้ว่าปถุชนคนธรรมดาพูดกันด้วยวิธีใด—ทั้งศัพท์แสงที่ใช้ในการสนทนา สำเนียงและการออกเสียง โครงสร้างประโยค และทำนอง “มันไม่มีการแก้ไข ไม่มีการปรุงแต่งให้สวยงามครับ” เลอวินกล่าว เมื่อการอัดเสียงเริ่มขึ้น มันจะดำเนินไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบ ไม่ว่าคุณมีอะไรจะพูดหรือไม่” เขายิ้ม “หากคุณไม่มีสิ่งใดจะพูด นั่นก็เป็นการพูดอย่างหนึ่งเช่นกัน”
การถือกำเนิดของตลับเทปในช่วงทศวรรษที่ 1960 หมายถึงบริการบันทึกเสียงเช่นวอยซ์-โอ-กราฟกลายเป็นสิ่งล้าสมัยอย่างรวดเร็ว (ในช่วงทศวรรษสั้นๆ ผู้คนส่งข้อความระยะไกลด้วยเทปตลับเช่นกัน โดยวิธีการดังกล่าวแพร่หลายเป็นพิเศษในหมู่ทหารสหรัฐฯ ที่ถูกส่งไปประจำการที่เวียดนามระหว่างสงคราม) แต่แม้ปรากฏการณ์ไปรษณีย์เสียงนี้จะอยู่แค่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็มีส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์ของการสื่อสารทางไกลทั่วโลก “สิ่งที่เรากำลังกอบกู้และรักษาอยู่นี้คือเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์สื่อ เป็นวัฒนธรรมปฏิบัติที่ใหญ่โตและปรากฏอยู่ทุกที่” เลอวินกล่าว “แต่ว่าตอนนี้มันถูกลืมเลือนไปครับ”
สำหรับหลายคน บันทึกเสียงเหล่านี้ทำให้พวกเขาและเธอได้บันทึกเสียงของตนเองเป็นครั้งแรก คนเหล่านี้กระวนกระวายหรือแม้แต่เคอะเขิน ขณะที่คนอื่นๆ ฟังดูเหมือนพวกเขากำลังอ่านข้อความจากแผ่นกระดาษ บางคนที่เผชิญหน้ากับการบันทึกเสียงของตนเองเป็นครั้งแรกต้องเผชิญกับความตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังทิ้งร่องรอยชีวิตอันเด่นชัดของตนที่เป็นไปได้ว่าจะมีอายุยืนยาวกว่าตัวของเขาและเธอเอง “การที่ผู้คนพูดถึงความตายมันเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด แต่ก็เกิดขึ้นอยู่เป็นนิจครับ” เลอวินกล่าว “คนเหล่านี้เขียนจดหมายถึงอนาคต” เอาหยุดพูดไปชั่วขณะ “และทราบว่าอนาคตคือสิ่งที่พวกเขาจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมัน”
เรื่อง JORDAN SALAMA
ภาพ REBECCA HALE
แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน