กองเรือของ เจิ้งเหอ ไปไกลถึงแอฟริกาตะวันออก เขาสร้างชื่อเสียงให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเรือที่แข็งแกร่งที่สุดของเอเชียในช่วงทศวรรษที่ 1400
เจิ้งเหอ หรือ ซำปอกง คือนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ชาวจีนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งการเป็นขันทีที่นับถือศาสนาอิสลาม และยังเลื่อมใสในพุทธศาสนา ซึ่งวีรกรรมในการเดินเรือของเขา ทำให้ เจิ้งเหอ เป็นชาวจีนมุสลิมที่ชาวเรือในทวีปเอเชียให้ความนับถือกันมาก ในไทยมีศาลเจ้าซำปอกงอยู่หลายแห่ง เช่นเดียวกับที่ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย
ประวัติ เจิ้งเหอ นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชสำนักหมิง
เจิ้งเหอ มีชื่อเดิมว่า ซานเป่า มีแซ่หม่า เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1371 ที่มณฑลยูนนาน เมืองที่ไม่มีทางออกทะเล โดยเป็นเขตแดนของมองโกลทางตอนใต้ของประเทศจีน แม้ว่าภายหลังเขาจะเป็นนักเดินเรือที่เก่งกาจ แต่ เจิ้งเหอ ถูกเลี้ยงดูและเติบโตมาบนภูเขาในครอบครัวมุสลิมที่อาศัยอยู่แถบตะวันตกของจีน
ทั้งนี้ เจิ้งเหอ มีชื่อเป็นภาษาอาหรับว่า มูฮัมมัด อับดุลญับบาร เขาเกิดในตระกูลขุนนางมุสลิม เซมูร์ และเป็นลูกหลานชนชั้นที่หกของ ซัยยิด อัจญาล ชัมสุดดีน อุมัร ผู้ปกครองมณฑลยูนนานอันลือนามจากบุคอรอในอุซเบกิสถานปัจจุบัน แซ่หม่า มาจาก มาสูฮ บุตรคนที่ 5 ของ ซัยยิด อัจญาล ชัมสุดดีน อุมัร บิดาของเจิ้งเหอมีนามว่า มีร ตะกีน และปู่ชื่อว่า กะรอมุดดีน ซึ่งได้เดินทางไปทำพิธีฮัจญ์ถึงนครมักกะฮ์ จึงได้พบเห็นผู้คนจากทุกสารทิศ และปู่ของเขาได้มาเล่าเรื่องนี้ให้แก่ เจิ้งเหอ ฟัง ว่ากันว่าเรื่องเล่าของปู่ กลายมาเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาอยากล่องเรือสู่โลกกว้าง
เจิ้งเหอ มีพี่น้อง 5 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 4 คน เมื่ออายุได้ 12 ปี ตรงกับช่วงที่กองทัพของจักรพรรดิหงหวู่หรือจูหยวนจาง ปฐมราชวงศ์หมิงนำกำลังทัพเข้ามาขับไล่พวกมองโกลที่มาตั้งราชวงศ์หยวนออกจากประเทศจีน พร้อมยึดครองยูนนานเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรหมิงได้สำเร็จ ตอนนั้นพ่อเขาเขาถูกสังหารเสียชีวิต เจิ้งเหอ ถูกจับเป็นเชลย และโดนจับตอนเป็นขันที แต่ก็ยังโชคดีที่เขามีหน้าที่รับใช้เจ้าชายจูตี้ ซึ่ง เจิ้งเหอ ก็ทำหน้าที่ได้ดีจนต่อมาได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากราชสำนัก
ช่วงสงครามแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างเอี้ยนหวังจูตี้กับหมิงฮุ่ยตี้ กษัตริย์ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจาก หมิงไท่จู่ มีบันทึกว่า เจิ้งเหอ มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้จูตี้ได้รับชัยชนะขึ้นสู่บัลลังก์เป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ มีชื่อรัชกาลว่า หย่งเล่อ ดังนั้น เจิ้งเหอ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าขันที รวมถึงแม่ทัพเรือในเวลาต่อมา
ถึง เจิ้งเหอ จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่เขามีความยืดหยุ่น ไม่ได้เคร่งครัด จึงศรัทธาในเทพเจ้าหรือศาสดาของต่างศาสนา อย่างการที่เขามักจะสักการะ เจ้าแม่เทียนเฟย ในลัทธิเต๋าหรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ เจ้าแม่ทับทิม ก่อนออกเดินเรือทุกครั้ง นอกจากนี้ยังมีบันทึกว่า เจิ้งเหอ ฝากตัวเป็นศิษยานุศิษย์ของ พระอาจารย์เหยาก่วงเซี่ยว (เต้าเหยียน) โดยช่วยเหลืองานต่างๆในชื่อของ ฝูซ่าน
การเดินเรืออันน่าทึ่งของ เจิ้งเหอ
เจิ้งเหอ มีฝีมือดีในเรื่องศิลปะการต่อสู้ ฉลาดเรื่องกลยุทธ์ การทูต และมีรูปร่างสูงสง่า จึงทำให้ราชสำนักหมิงมองข้ามเรื่องที่เขานับถือศาสนาอิสลาม โดย เจิ้งเหอ สร้างชื่อเสียงครั้งแแรกในฐานะผู้บัญชาการทหารที่พากองทัพเรือชนะข้าศึกในสมรภูมิเจิ้งหลุนปาใกล้กรุงปักกิ่ง เมื่อ เจ้าชายจูตี้ กลายเป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ในปี 1402 จึงพระราชทานแซ่เจิ้งให้แก่เขา เพื่อเป็นเกียรติแก่การต่อสู้ครั้งนั้น ต่อมาผู้คนจึงพากันเรียกขานเขาว่า เจิ้งเหอ ทว่าชาวต่างชาติหลายคนรู้จักเขาในนาม ซันเป่ากง หรือ ซำปอกง
เจิ้งเหอ ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้บัญชาการกองเรือมหาสมบัติของราชสำนักหมิง พร้อมเดินทางไปปฏิบัติภารกิจน้อยใหญ่หลายประการตามพระราชประสงค์ขององค์จักรพรรดิ ในกองเรือของเขา เรือบรรทุกสินค้าเลื่องชื่อของจีน เพื่อประกาศศักดาอันเกรียงไกรแห่งราชวงศ์หมิงให้ชาวโลกขณะนั้นเป็นที่ประจักษ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนสินค้าจากต่างถิ่นนำกลับมายังประเทศ โดย เจิ้งเหอ ออกสมุทรยาตรา 7 ครั้ง ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 28 ปี เดินทางผ่านประเทศต่าง ๆ มากกว่า 30 ประเทศ ทั้งอุษาคเนย์ อินเดีย อาหรับ และแอฟริกา (บางบันทึกรวม ทวีปอเมริกา ด้วย) ในระหว่างปี ค.ศ. 1405-1433 เป็นระยะทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตร
วีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ของ เจิ้งเหอ คือการที่เขานำทัพเรือจีนเดินทางข้ามหาสมุทรไปทั่วโลก ไล่ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้ามมหาสมุทรอินเดียอ้อมแอฟริกาเข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติก จนได้รับการยอมรับว่าเป็นชนกลุ่มแรกที่ค้นพบดินแดนอเมริกาก่อน คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นอกจากนี้ เจิ้งเหอ ยังนำกองเรือบางเที่ยวไปทำฮัจย์ที่นครมักกะฮ์ และหลายครั้งเป็นภารกิจดะอฺวะฮ์หรือเผยแผ่ศาสนาอิสลาม โดยเชื่อกันว่าศาสนาอิสลามที่กระจายกันทางภาคใต้ของไทยและคาบสมุทรมลายูส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเผยแผ่ของ เจิ้งเหอ
เรือธงของเจิ้งเหอเป็นเรือไม้ขนาดใหญ่ กองเรือรุ่นแรกของเจิ้งเหอมีจำนวน 317 ลำ ในการเดินทางแต่ละครั้งมีลูกเรือเกือบ 28,000 คน ประกอบด้วยเรือบรรทุกม้า เรือเสบียง เรือกำลังพล และเรือรบ รวมแล้วมีจำนวนกว่า 300 ลำ บรรทุกทหารพลเรือ พ่อค้า แพทย์ นักพฤกษศาสตร์ พ่อครัว นายช่าง ล่ามภาษา เจ้าหน้าที่พิธีการทูต รวมทั้งนักสอนในศาสนาอิสลาม และพระภิกษุในพุทธศาสนา ในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีกองเรือชนชาติใดยิ่งใหญ่เท่านี้มาก่อน
ข้อสันนิษฐานและหลักฐานเกี่ยวกับการเดินทางถึงทวีปอเมริกาของ เจิ้งเหอ
สาเหตุที่ เจิ้งเหอ มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์โลกน้อย เพราะชนชั้นนำในจีนยุคถัดมาไม่เห็นด้วยนโยบายประกาศศักดาทางทะเลของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ ประกอบกับการที่ เจิ้งเหอ เป็นคนมุสลิม ทำให้เขาถูกมองข้ามไป จนเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ได้มีการรื้อฟื้นวีรกรรมของ เจิ้งเหอ พร้อมๆกับการปลุกกระแสชาตินิยมของจีน อย่างการเป็นชาติที่ค้นพบ อเมริกา ก่อน คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ถึง 71 ปี
ดังนั้น นักประวัติศาสตร์หลายคนจึงออกมายอมรับว่า เจิ้งเหอ เป็นผู้นำกองเรือมหาสมบัติล่องเรือไปไกลถึงฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา เกือบถึงช่องแคบโมซัมบิก โดยการเดินเรือครั้งนั้นช่วยยกระดับอิทธิพลทางทะเลของจีนอย่างมาก ช่วยฟื้นฟูระบบบรรณาการ และการค้าของจีนให้กลับมามั่งคั่งและมั่นคง ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ
ขณะเดียวกัน กาวิน เมนซีส์ (Gavin Menzies) อดีตผู้บังคับบัญชาเรือดำน้ำแห่งราชนาวีอังกฤษ ยังได้เพิ่มเครดิตให้ เจิ้งเหอ ด้วยการออกมาระบุว่า เจิ้งเหอเป็นนักเดินทางที่ค้นพบทวีปอเมริกาก่อนหน้าโคลัมบัสในหนังสือของเขาที่เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2002 โดยอ้างอิงการเดินทางครั้งที่ 6 ของเจิ้งเหอช่วง ค.ศ. 1421-1423 ว่าไปไกลถึงแผ่นดินละตินอเมริกา ทะเลแคริบเบียน และทวีปออสเตรเลีย และเชื่อว่านักเดินเรือชื่อดังอย่าง โคลัมบัส คริสโตเฟอร์ , เฟอร์ดินันด์ แมกเจลเลน และเจมส์ คุก ต่างก็มีแผนที่เดินทะเลที่มีต้นแบบมาจากแผนที่ของจีน ซึ่งก็มาจากเส้นทางเดินเรือของ เจิ้งเหอ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์หลายคนโต้แย้งว่า ข้อสันนิษฐานของ กาวิน เมนซีส์ ขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือ เพราะเขาไม่รู้ภาษาจีน และ หลักฐานที่รอดพ้นการถูกทำลายของราชวงศ์หมิงอย่าง จดหมายเหตุรายวันกับบันทึกการเดินทางของ เจิ้งเหอ ไม่ได้กล่าวถึงทวีปอเมริกาเลย แม้ว่าภายหลังจะมี หลิว กัง นักกฎหมายชาวจีนออกมาเปิดเผยถึงแผนที่โบราณของ เจิ้งเหอ ที่มีรายละเอียดของทวีปอเมริกาซึ่งกลายเป็นหลักฐานสนับสนุนทฤษฎีของ เมนซีส์ แต่ก็มีผู้คนจำนวนมากไม่เชื่อว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นของจริง ประเด็นนี้จึงยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่จนถึงปัจจุบัน
อนึ่ง เจิ้งเหอ เสียชีวิตที่อินเดียในปี 1435 เรื่องราวของเขาถูกนำเสนออยู่ในพิพิธภัณฑ์หุย เมืองหยินชวน มณฑลหนิงเซียะ ประเทศจีน ร่วมกับเรื่องราวของชาวจีนมุสลิมในประวัติศาสตร์จีน ซึ่ง เจิ้งเหอ ถือเป็นอีกหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อคนจีนและชาวอาเซียน โดยเฉพาะในไทยมีการค้นพบว่า มัสยิดบ้านฮ่อ จังหวัดเชียงใหม่ กับ หลวงพ่อโตซำปอกง วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ล้วนมีที่มาจากการเดินทางเผยแพร่ศาสนาและวัฒนธรรมของ เจิ้งเหอ
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com/history/history-magazine/article/china-zheng-he-naval-explorer-sailed-treasure-fleet-east-africa
https://en.wikipedia.org/wiki/Zheng_He
https://www.nyhakkaconference.com/2019program/2019/10/6/zheng-he