สโตนเฮนจ์ ไม่ใช่ปฏิทินโบราณ! นักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์แย้ง

สโตนเฮนจ์ ไม่ใช่ปฏิทินโบราณ! นักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์แย้ง

เกี่ยวกับ สโตนเฮนจ์ เมื่อปีที่แล้ว ทิม ดาร์วิลล์ (Tim Darvill) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยบอร์นมัท (Bournemouth University) ได้ตีพิมพ์รายงานที่ระบุว่า ‘สโตนเฮนจ์’ (Stonehenge) เสาหินโบราณขนาดยักษ์ในประเทศอังกฤษว่าคือ ‘ปฏิทินโบราณ’ โดยมันมีจำนวนตรงกับปีสุริยคติ 365.25 วันพอดิบพอดี

เขาอ้างถึงการดูเสาหินรอบนอกที่นอนวางตัวอยู่บนเสาหิน 2 ต้นโดยมีทั้งหมด 30 ก้อน จากนั้นก็คูณมันด้วยตัวเลข 12 ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็น 360 และบวกเพิ่มอีก 5 ที่มาจากหิน 10 ก้อนวางคู่กัน 5 คู่ รวมทั้งหมดเป็น 365

“นักวิชาการได้เห็นองค์ประกอบอันน่าเกรงขามของสโตนเฮนจ์สำหรับการคำนวณเวลาก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นปฏิทินยุคหินใหม่มานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ปฏิทินดังกล่าวทำงานอย่างไร เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน” ศ. ดาร์วิลล์กล่าวในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านักวิทยาศาสตร์อีก 2 คนคือ กิวลิโอ มากลิ (Giulio Magli) นักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งมิลาน ประเทศอิตาลี และ ฮวน อันโตนิโอ เบลมอนเต (Juan Antonio Belmonte) นักดาราศาสตร์ จากสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งหมู่เกาะคะเนรี ประเทศสเปน จะไม่เห็นด้วย

พวกเขาได้โต้แย้งว่ามีช่องโหว่บางประการในการให้เหตุผลของดาร์วิลล์ โดยเฉพาะกับตัวเลข ‘12’ ที่เขาได้นำมาคูณกับหิน 30 ก้อนนั้นไม่ได้สะท้อนถึงโครงสร้างของสโตนเฮนจ์เลย หรือกล่าวง่ายๆ เลข 12 นั้นเป็นสิ่งที่ดาร์วิลล์คิดขึ้นมาเอง ทั้งสองกล่าวว่าแนวคิดเหล่านี้ไม่มีหลักฐานยืนยันและการอ้างอิงใดๆ

“ข้อผิดพลาดทางดาราศาสตร์และการเปรียบเทียบที่ไม่ได้รับการสนับสนุน” มากลิและเบลมอนเตระบุ พร้อมเสริมว่า ในสโตนเฮนจ์นั้นมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายที่นำมาคิดเป็นตัวเลขได้ แต่ดาร์วิลล์ก็ละเลย และมุ่งความสนใจไปยังความคิดที่เขามีอยู่คือ ‘ปฏิทินโบราณ’

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนเชื่อว่า ผู้ที่สร้างสโตนเฮนจ์มีความสนใจในวัฏจักรสุริยะอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าเสาหินต่าง ๆ ถูกจัดตำแหน่งอย่างเรียบร้อยกับดวงอาทิตย์ ทั้งในเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นในวันครีษมายัน(วันที่มีกลางวันยาวนานที่สุด) และเวลาพระอาทิตย์ตกในฤดูหนาว(ช่วงที่มีกลางวันสั้นลง)

กระนั้น ทั้งคู่ระบุว่า เราไม่ควรตั้งใจมองว่าเสาหินเหล่านี้ถูกใช้เป็นปฏิทินขนาดยักษ์ แม้มีคนที่ชี้ว่าวัฒนธรรมโบราณส่วนใหญ่ใช้ปฏิทินที่ยึดตามวัฏจักรของดวงจันทร์หรือแบบจันทรคติ โดยยกเว้นอารยธรรมอียิปต์โบราณและชาวมายา แต่ทั้งสโตนเฮนจ์กับอียิปต์โบราณไม่มีอะไรเชื่อมโยงถึงกันเลย

รวมถึงเหตุผลที่ว่าการสร้างปฏิทินที่ยึดตามสุริยคตินั้นจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่แม่นยำมากในการวัดองศาของดวงอาทิตย์ “เห็นได้ชัดว่าสโตนเฮนจ์ไม่ใช่อุปกรณ์ดังกล่าว” รายงานระบุ

แต่ไม่ว่ามันจะเป็นไปในกรณีไหน ทั้งสองฝ่ายได้นำเสนอแนวคิดของตนเองและโต้แย้งกันด้วยหลักฐาน รวมถึงรับทราบถึงคำวิจารณ์อย่างอิสระ กระบวนการเหล่านี้คือหัวใจของวิทยาศาสตร์ และความลับของสโตนเฮนจ์จะยังคงต้องมีการศึกษากันต่อไป หลังจากยืนหยัดอดทนมานานหลายพันปี

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.cambridge.org/core/journals/antiquity/article/abs/archaeoastronomy-and-the-alleged-stonehenge-calendar/9C48576CAF5B1DBCEED2A0F5F868F34E

https://www.iflscience.com/was-stonehenge-a-giant-calendar-the-truth-is-perhaps-more-difficult-68141

https://www.sciencealert.com/nope-stonehenge-isnt-an-ancient-calendar-after-all-scientists-say

อ่านเพิ่มเติม พีระมิดซูดาน มีมากที่สุดในโลก แต่มีน้อยคนบนโลกที่ได้ชมความอลังการ

Recommend