รอบนักษัตรที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๑๘)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในจิตรกรรมและดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งประทับอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครั้นเสด็จนิวัตประเทศไทยแล้ว ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๑๐ ทรงงานจิตรกรรมอย่างต่อเนื่องโดยทรงอาศัยเวลาในช่วงค่ำที่ว่างจากพระราชกิจต่าง ๆ ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีนับร้อยองค์ ซึ่งอาจจำแนกได้เป็น ๓ ลักษณะ คือ ภาพเหมือนจริงหรือแนวสัจนิยม ภาพที่สร้างสรรค์ตามคตินิยมแบบเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ และภาพแนวนามธรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชมผลงานของศิลปินท่านอื่น ๆ และทรงค้นคว้าสร้างสรรค์งานศิลปะรูปแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาจิตรกรรมแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทางด้านดนตรีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้รวมทั้งสิ้น ๔๘ เพลง ส่วนใหญ่จะทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นก่อน แล้วทรงมอบให้ผู้อื่นนิพนธ์หรือประพันธ์คำร้อง มีเพียงเพลง ”รัก” และเพลง ”เมนูไข่” ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นโดยมีบทประพันธ์คำร้องอยู่ก่อน เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ เพลงแสงเทียน และเพลงพระราชนิพนธ์หลังสุดคือ เพลงเมนูไข่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลงแสงเทียนเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ แต่ทรงแก้ไขปรับปรุงและนำออกบรรเลงในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เพลงพระราชนิพนธ์ที่นำออกบรรเลงเป็นเพลงแรกคือ เพลงยามเย็น เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เพลงพระราชนิพนธ์เพลงที่สามแต่ทรงนำออกบรรเลงเป็นเพลงที่สอง ในวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ และได้รับความนิยมสูงสุด คือ เพลงสายฝน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริทรงนิพนธ์คำร้อง และได้รับเกียรติจากองค์การยูเนสโกประกาศให้ใช้เป็นเพลงตัวแทนที่แสดงถึงชนชาติในเอเชียเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งถึงเพลงสายฝนว่า มีเรื่องที่เป็นความลับของเพลงนี้ว่า ”เมื่อแต่งเป็นเวลา ๖ เดือน หม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริได้เขียนจดหมายถึง บอกว่า มีความปลาบปลื้มอย่างหนึ่ง เพราะไปเชียงใหม่ เดินไปตามถนน ได้ยินเสียงคนผิวปากเพลงสายฝน ก็เดินตามเสียงเขาไปในตรอกซอยแห่งหนึ่ง ก็เห็นคนกำลังซักผ้าแล้วก็มีความร่าเริงใจ ผิวปากเพลงสายฝนและก็ซักผ้าไปด้วย ก็นับว่าสายฝนนี้มีประสิทธิภาพสูง ซักผ้าได้สะอาด…”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลงประจำมหาวิทยาลัย ๓ เพลง คือ เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๑ เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ พระราชทานเป็นเพลงประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๖ เพลงยูงทอง พระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๒ เพลงเกษตรศาสตร์ พระราชทานเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา ”อัครศิลปิน” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรม ทรงพระราชนิพนธ์ผลงานไว้หลายองค์ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ทรงแปลบทความจากข่าวไว้ ๙ เรื่อง และในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ อีก ๑ เรื่อง ส่วนหนังสือพระราชนิพนธ์ที่จัดพิมพ์เป็นเล่มนั้น เรื่องแรกทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ คือเรื่อง เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิสแลนด์, ๒๔๘๙ เรื่องต่อมาเป็นบทพระราชนิพนธ์แปล นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ ทรงเริ่มแปลเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ สำเร็จในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ บทพระราชนิพนธ์แปลอีกเรื่องหนึ่งคือ ติโต ตามมาด้วยพระราชนิพนธ์ เรื่อง ทองแดง และ เรื่อง ทองแดง ฉบับการ์ตูน ทรงเล่าถึงสุนัขทรงเลี้ยงที่ชื่อ ”ทองแดง”
หนังสือพระราชนิพนธ์สำคัญที่ทรงพระราชนิพนธ์ และโปรดเกล้าฯให้เหล่าศิลปินมีชื่อ ๘ ท่าน เขียนภาพจิตรกรรมประกอบคือ เรื่อง พระมหาชนก ที่โปรดเกล้าฯให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้าเฝ้าฯรับฟังพระราชดำรัสเรื่องพระราชนิพนธ์นี้ ในวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ นอกจากบทพระราชนิพนธ์และภาพจิตรกรรมอันทรงคุณค่ารวมทั้งการจัดพิมพ์อย่างประณีตสวยงามที่สุดแล้ว พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกยังแสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านอักษรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และโหราศาสตร์ไทย ต่อมาพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกนี้ยังได้รับการจัดพิมพ์เป็น พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน ด้วย
พระอัจฉริยภาพด้านการกีฬาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นไม่ด้อยไปกว่าด้านอื่น ๆ เลย กีฬาที่ทรงสนพระราชหฤทัยและมีความเชี่ยวชาญคือ เรือใบ แบดมินตัน เทนนิส และยิงปืน โดยเฉพาะกีฬาเรือใบนั้นทรงแสดงให้ปรากฏถึงพระอัจฉริยภาพอันสูงยิ่งเมื่อคราวมหกรรมกีฬาแหลมทองหรือ SEAP ames ครั้งที่ ๔ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปีพ.ศ. ๒๕๑๐ เมื่อทรงได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเรือใบ ทรงปฏิบัติพระองค์เสมือนนักกีฬาทีมชาติอย่างเคร่งครัดทรงเข้าค่ายฝึกซ้อมและรับเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาเช่นเดียวกับนักกีฬาไทยคนอื่น ๆ ซึ่งผลการแข่งขันก็ปรากฏว่าพระองค์ทรงชนะการแข่งขันได้รับรางวัลเหรียญทอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ ”เรือใบมด” ขึ้นและทรงจดสิทธิบัตรเป็นสากลที่ประเทศอังกฤษ ในประเภทเรือ International Moth Class คำว่า ”มด” ทรงแปลงจากคำว่า ”ม็อธ-Moth” ส่วนเหตุที่ใช้ชื่อมด ทรงมีรับสั่งว่า “ที่ชื่อมดนั้น เพราะมันกัดเจ็บ ๆ คัน ๆ ดี” เรือใบมดมีขนาดความยาว ๑๑ ฟุตกว้าง ๔ ฟุต ๑๑ นิ้ว เนื้อที่ใบเรือ ๗๒ ตารางฟุต เคยทรงนำลงแข่งทดลองที่ประเทศอังกฤษ และได้อันดับที่ ๑ ในบรรดาเรือขนาดเดียวกัน ต่อมาทรงประดิษฐ์ในรุ่นซูเปอร์มดและไมโครมด เพิ่มขึ้นมา มีการจัดแข่งขันเรือใบมดในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติอีกหลายครั้ง รวมทั้งกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ ๑๓ พ.ศ. ๒๕๒๘
จากการที่ทรงเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทองและทรงได้รับรางวัลเหรียญทอง โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นประธานในพิธีทูลเกล้าฯถวายเหรียญรางวัล ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ การกีฬาแห่งประเทศไทยจึงกำหนดเอาวันที่ ๑๖ ธันวาคม เป็น “วันกีฬาแห่งชาติ”
อ่านเพิ่มเติม : ๘๘ พรรษา มหาราชในดวงใจ : ปวงประชามหาปีติ, ๘๘ พรรษา มหาราชในดวงใจ : เสด็จฯเยี่ยมพสกนิกรทั่วหล้า