มิเรียม มาเคบา จาก นักร้องผิวสี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง สู่ไวรัลเพลง Makeba ในโซเชียลมีเดีย

มิเรียม มาเคบา จาก นักร้องผิวสี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง สู่ไวรัลเพลง Makeba ในโซเชียลมีเดีย

หากพูดชื่อ มิเรียม มาเคบา (Miriam Makeba) แน่นอนว่าผู้คนจำนวนมากคงไม่รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อนี้ แต่ถ้าเอ่ยถึงเพลง Makeba สุดไวรัลในโลกออนไลน์ที่มีท่อนฮุคน่าจดจำ หลายคนคงร้องอ๋อทันที

สำหรับเพลง Makeba มีท่อนติดหูซึ่งร้องว่า Ooh Wee Makeba, Makeba ma che bella Can I get a “ooh wee”? Makeba Makes my body dance for you ซึ่งหลายคนฟังคำว่า มาเคบา เป็นคำอื่นๆ แตกต่างกันไป ตามสำเนียงของ Jain นักร้องและนักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศส ที่ปล่อยเพลงนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2015 ทว่าเพิ่งจะมาได้รับความนิยมไปทั่วโลกเมื่อช่วงกลางปีนี้

แน่นอนว่าเพลงไวรัลสนุกๆ เพลงนี้มีที่มาที่ไปในการนำชื่อของ มาเคบา มาใส่ในเนื้อเพลง เพราะเธอคือหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลก โดยในช่วงวันเกิดของ มาเคบา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม Doodle ของ Google ถึงขนาดขึ้นโลโก้รำลึกครบรอบวันเกิดให้กับเธอ

มิเรียม มาเคบา คือใคร

ในส่วนของประวัติ มิเรียม มาเคบา เธอเกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 1932 ที่ย่าน Prospect Township ใน นครโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ มาเคบา มีชื่อเต็มว่า Zenzile Miriam Makeba ซึ่งต่อมาได้รับการขนานนามว่าเป็น Mama Africa จากความสามารถในการเป็น นักร้อง นักประพันธ์เพลง นักแสดง รวมถึงบทบาททางการเมืองกับการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในประเทศ

ทั้งนี้ ผลงานของเธออย่าง เพลง Pata Pata โดดเด่นจนได้รับรางวัล Grammy Award นอกเหนือจากนั้น มาเคบา ยังเป็นนักสิทธิมนุษยชนและสนใจกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเธอมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมของประชาชนทุกเชื้อชาติ

การยึดครองแอฟริกาในช่วงล่าอาณานิคมทำให้หลายประเทศต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก โดยแม้ว่าจะได้รับเอกราชแล้วก็ตาม แต่การกีดกันมนุษย์จากสีผิวที่ต่างกันกลับยังคงดำเนินอยู่ แอฟริกาใต้คือตัวอย่างที่ชัดเจน ประเทศที่มีคนขาวจำนวนน้อย แต่กลับมีอำนาจในการบริหารประเทศ และกดขี่คนผิวสีผู้เป็นเจ้าของประเทศ โดยอาศัยกฎหมายที่พวกเขาเป็นคนร่างขึ้นมาเองเป็นเครื่องมือ

รัฐบาลคนขาวในขณะนั้นออกกฎหมายที่เลวร้ายที่สุดฉบับหนึ่งคือ Group Areas Act เป็นข้อบังคับที่กำหนดให้พลเมืองที่ไม่ใช่คนขาว (No Whites) ต้องอพยพออกไปอยู่ในเขตทรัฐจัดสรรไว้ ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่ที่เจริญและมีสาธารณูปโภคที่จำเป็นเอาไว้ให้คนขาวเท่านั้น หรือกฎหมายที่กำหนดให้พลเมืองแอฟริกาใต้ต้องลงทะเบียนคัดแยกเชื้อชาติ แบ่งเป็นคนขาว คนดำ กลุ่มคนผิวสี คนเอเชีย เพื่อจำกัดสิทธิทางสังคม สิทธิทางการเมือง สิทธิในการรับบริการจากรัฐ โอกาสทางการศึกษาฯ เรียกว่าเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีมนุษย์ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของโลก นี่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ มิเรียม มาเคบา ไม่ยอมจับไมค์เพื่อร้องเพลงอย่างเดียว แต่เธอจับไมค์เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมให้คนผิวสีด้วย

บทบาทในฐานะนักสิทธิมนุษยชน

มิเรียม มาเคบา ก้าวขึ้นมาเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษที่ 1960 มีเพลงฮิตมากมาย ด้วยความที่ได้รับทั้งชื่อเสียงและเงินทอง เธอสามารถย้ายออกจากบ้านเกิดไปใช้ชีวิตสุขสบายในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาได้ แต่มาเคบา ก็เลือกที่จะอยู่เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนผิวสีในประเทศแอฟริกาใต้

มิเรียม ต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมและต่อต้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด จนเธอถูกรัฐบาลแอฟริกาใต้ถอดสิทธิการเป็นพลเมือง มิเรียม ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ แต่เธอก็ไม่เกรงกลัวหรือถอดใจ มิเรียม จริงจังกับบทบาทนักสิทธิมนุษยชนมาก เธอยังคงเรียกร้องความเท่าเทียมด้วยเสียงเพลงอย่างต่อเนื่องในทุกเวที-ทุกประเทศที่ไปเยือน เรื่องราวการต่อสู้ของคนผิวสีในประเทศแอฟริกาใต้และทวีปแอฟริกาจึงถูกถ่ายทอดไปสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยมีเธอเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญ

กระทั่งในช่วงปี 1990 สถานการณ์ในแอฟริกาใต้ก็เปลี่ยนไป ในที่สุดรัฐบาลคนผิวขาวก็แพ้การเลือกตั้งให้กับพรรค African National Congress ของ เนลสัน แมนเดลล่า ปัญหาการกีดกันทางเชื้อชาติคลี่คลายลง มิเรียม จึงสามารถเดินทางกลับสู่มาตุภูมิได้

คนทั่วโลกอาจเชิดชู เนลสัน แมนเดลล่า ในฐานะวีรบุรุษของชาวแอฟริกา แต่ในประเทศแอฟริกาใต้ มิเรียม มาเคบา ก็ถูกชื่นชมในฐานะวีรสตรีเช่นกัน โดยเธอถือสัญชาติฝรั่งเศสขณะกลับมาแผ่นดินเกิด และยังดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมควบคู่ไปกับการร้องเพลงโดยตลอด

มิเรียม ในวัย 76 ปีเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวหลังร้องเพลง Pata Pata ในการแสดงคอนเสิร์ตเพื่อสนับสนุน โรแบร์โต้ โซเวียโน่ นักเขียนชาวอิตาเลียนที่กำลังต่อสู้กับแก๊งค์มาเฟียในอิตาลี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ปี 2008 ที่ Castel Volturno ประเทศอิตาลี สิ่งที่น่ายกย่องที่สุดคือเธอยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องและยึดถือคุณธรรมจนวาระสุดท้ายของชีวิต

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ขอบคุณภาพจาก wikipedia และ https://miriammakeba.co.za

ที่มา

https://www.sanook.com/campus/1250139/

https://www.vogue.co.th/lifestyle/article/makeba-jain

https://www.nationalgeographic.com/adventure/article/music-wednesd-1

อ่านเพิ่มเติม เจน กูดดอลล์ กับภารกิจส่งต่อความหวังสู่คนรุ่นใหม่

Recommend