สันติภาพเปราะบาง

สันติภาพเปราะบาง

แม้สงครามกลางเมืองอันนองเลือดและยืดเยื้อยาวนานจะปิดฉากลง แต่ ศรีลังกา ยังมีบาดแผลต้องเยียวยา โดยเฉพาะผู้คนเรือนหมื่นที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่และกลายเป็นบุคคลสาบสูญ

วันที่ 8 มกราคม ปี 2015 ศรีลังกา ทำให้โลกตกตะลึงด้วยการโค่นรัฐบาลเผด็จการของมหินทะ ราชปักษาในการเลือกตั้งที่พูดได้ว่าสงบและใสสะอาดเป็นส่วนใหญ่  ผู้นำใหม่ของประเทศมุ่งมั่นอยากแสดงให้โลกเห็นว่า ศรีลังกา ทำตัวเป็นประเทศประชาธิปไตยยุคใหม่ได้  รัฐบาลของประธานาธิบดีไมตรีปาละ สิริเสนาเริ่มปฏิรูประบบตุลาการ ที่ฉ้อฉล แปรรูปหน่วยงานรัฐที่อุ้ยอ้ายเทอะทะ และแก้ปัญหาหนี้สินมหาศาล

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรเลยที่นักท่องเที่ยวจะนั่งเครื่องบินไปลงโคลัมโบ สนุกกับกิจกรรมท่องเที่ยวสารพัดที่ศรีลังกาหยิบยื่นให้ ตั้งแต่การเยี่ยมชมวัดเก่าแก่ที่ดัมบุลลาและเมืองโบราณโปลอนนารุวะ ชมช้างและเสือดาวในอุทยานต่างๆ เที่ยวไร่ชาหรูหราอลังการ ไปจนถึงเล่นกระดานโต้คลื่นที่อ่าวอารูกัม ก่อนบินกลับบ้านโดยไม่ตระหนักเลยว่า ที่นี่คือศูนย์กลางของสงครามนองเลือดระหว่างชาติพันธุ์ที่ยาวนานถึง 26 ปี เหตุผลหรือตัวช่วยหนึ่งอาจมาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ โคลัมโบตั้งอยู่ทางใต้ เป็นภูมิภาคที่ปกครองโดยชาวสิงหลซึ่งส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนและคิดเป็นประชากรราวร้อยละ 75 ของประเทศ สถานที่ท่องเที่ยวหลักเกือบทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ทางใต้  ในทางกลับกัน จังหวัดนอร์เทิร์นไม่มีอะไรโดดเด่น  เป็นภูมิประเทศซึ่งส่วนใหญ่แห้งแล้งกันดารและราบเรียบ ที่นี่ยังเป็นบ้านเกิดของชาวทมิฬ ในศรีลังกาซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูและคิดเป็นประชากรราวร้อยละ 11 ของประเทศ

ดินแดนทางเหนือและตะวันออกคือบริเวณที่กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam – อีแลมคือชื่อเรียกศรีลังกาในภาษาทมิฬ) สถาปนารัฐปกครองตนเองก่อนถูกปราบปรามในที่สุด

“นี่คือประวัติศาสตร์ของโอกาสที่หลุดลอยไปครับ” นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห ผู้บริหารที่ทรงอำนาจอันดับสองของรัฐบาล ศรีลังกา บอก

ศรีลังกา
คนงานของกองทุนฮาโล องค์กรไม่แสวงกำไรในอังกฤษ เก็บกู้กับระเบิดที่เชยาปุรัม อดีตที่มั่นของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ ทางใต้ของคาบสมุทรจัฟฟ์นา

เขาหมายถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่สามารถดึงมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ศรีลังกาตั้งอยู่ในชุมทางการค้าอันจอแจระหว่างจีนกับอินเดีย มีที่ดินอุดมสมบูรณ์และประชากรมีการศึกษา ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศนี้พร้อมจะผงาดขึ้นเป็นคู่แข่งของสิงคโปร์เพื่อแทนที่ญี่ปุ่น ในช่วงที่การค้าและอุตสาหกรรมของประเทศหลังล้มพังพาบไปชั่วขณะ

แต่ประเทศที่ใช้ชื่อซีลอนจนถึงปี 1972 นี้ กลับทำลายโอกาสของตนเองด้วยฝีมือของรัฐบาลหลายรัฐบาลต่อเนื่องกัน รวมถึงการลองผิดลองถูกกับระบอบสังคมนิยมที่ล้มเหลวและระบอบเล่นพรรคเล่นพวกของราชปักษา ผู้ครองอำนาจ นานสิบปี นโยบายที่ใช้เกษตรกรรมเป็นฐานของเขาอวดอ้างว่า “ประโยชน์ตกถึงมือประชาชนอย่างทั่วถึง” วิกรมสิงเหบอก “แต่กลับไม่ได้ให้อะไรแก่ประชาชนอย่างแท้จริง และมุ่งสร้างฐานอำนาจให้ครอบครัวและพวกพ้องต่างหาก”

โอกาสที่หลุดลอยไปไม่ได้จำกัดอยู่แค่นโยบายทางเศรษฐกิจเท่านั้น การแบ่งแยกทางชาติพันธุ์ยังทำให้ความก้าวหน้าของประเทศชะงักงันครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอด 133 ปี เจ้าอาณานิคมอังกฤษมีแนวโน้มให้ชาวทมิฬทำงานรายได้สูงกว่า และจำกัดให้ชาวสิงหลทำงานกึ่งใช้แรงงาน เมื่อศรีลังกาได้รับเอกราชในปี 1948 ผู้นำใหม่ไม่ได้มุ่งส่งเสริมความสามัคคีของคนในชาติ  นักการเมืองชาวสิงหลบ่มเพาะความภาคภูมิแบบชาตินิยมของการเป็นคนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาถึงเกาะนี้เมื่อราว 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช และก่อตั้งดินแดนพุทธศาสนาที่ดำรงต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลกมาจนถึงปัจจุบัน

รัฐบาลศรีลังกาเริ่มผลักไสชาวทมิฬให้เป็นคนชายขอบอย่างเป็นระบบ โดยตัดสิทธิการลงคะแนนเสียงของบุคคลที่บรรพบุรุษถูกนำเข้ามาทำงานในไร่ชาจากอินเดีย จัดสรรตำแหน่งงานในมหาวิทยาลัยให้นักวิชาการชาวสิงหล และค่อยๆกลืนกลายชาวทมิฬซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในจังหวัดอีสเทิร์นด้วยการยกที่ดินให้ชาวสิงหล เมื่อปี 1956 รัฐสภาที่เสียงส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหลประกาศให้ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการ และในขณะที่ออกใบอนุญาตนำเข้าและส่งออกสินค้าให้นักธุรกิจชาวสิงหลจากทางใต้อย่างเลือกที่รักมักที่ชัง รัฐบาลก็แทบไม่สนใจพัฒนาจังหวัดนอร์เทิร์นเลย

ศรีลังกา, ชาซีลอน, ชาศรีลังกา
พวกผู้หญิงเก็บใบชาที่จังหวัดเซนทรัลใกล้น้ำตกเซนต์แคลร์ซึ่งเรียกกันว่า ลิตเทิลไนแอการาแห่งศรีลังกา การส่งออกชา เป็นสินค้าหลักนำรายได้จากต่างประเทศอย่างน้อยปีละ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ในทศวรรษ 1970 แนวคิดแบ่งแยกดินแดนเริ่มก่อตัวขึ้นทางเหนือ และกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬก็ถือกำเนิดขึ้น ในปี 1983 พยัคฆ์ทมิฬซุ่มโจมตีและสังหารทหาร 13 นาย นำไปสู่การตอบโต้ในรูปของการจลาจลทางชาติพันธุ์ที่ทำให้ชาวทมิฬหลายพันคนถูกสังหาร พยัคฆ์ทมิฬแก้แค้นด้วยระเบิดฆ่าตัวตายและการสังหารหมู่พลเรือน ศรีลังกาถอยหลังเข้าสู่สงครามกลางเมือง นักลงทุนต่างชาติหนีออกนอกประเทศ เช่นเดียวกับแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือชาวศรีลังการาว 750,000 คน

ราชปักษาผู้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2005 ยกระดับการทำสงครามต่อต้านพยัคฆ์ทมิฬ สี่ปีต่อมา กองทัพรัฐบาลต้อนนักรบกบฏและพลเรือนชาวทมิฬหลายหมื่นคนให้จนมุมในที่ดินผืนแคบๆใกล้ลากูนแห่งหนึ่ง พอถึงกลางเดือนพฤษภาคม ปี 2009 พวกเขาสังหารพยัคฆ์ทมิฬกลุ่มสุดท้ายและพลเรือนหลายพันคนที่ติดร่างแหอยู่ที่นั่น สงครามปิดฉากลงโดยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตที่อาจสูงถึง 100,000 คน

ความเหี้ยมโหดหาได้จำกัดอยู่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พยัคฆ์ทมิฬก็มีชื่อฉาวเรื่องขับไล่ประชากรมุสลิมกว่า 70,000 คนออกจากจังหวัดนอร์เทิร์นเมื่อปี 1990 พวกเขาใช้กำลังเกณฑ์เยาวชนชาวทมิฬหลายพันคนมาเข้าร่วม ก่อเหตุระเบิดวัดวาอาราม รถไฟ รถประจำทาง และเครื่องบิน ซึ่งล้วนเข้าข่ายการก่อการร้ายอย่างชัดเจน หลังปราบกบฏจนราบคาบแล้ว รัฐบาลของราชปักษาผู้มีชัยก็เดินหน้าบีฑาชาวทมิฬต่อ

เดือนกันยายน ปี 2015 องค์การสหประชาชาติออกรายงานการประเมินอาชญากรรมสงครามในศรีลังกาอย่างละเอียด โดยพูดถึง “ช่วงเวลาหลายปีของการปฏิเสธและปิดบัง” ของรัฐบาลราชปักษา การไม่ออกมาประท้วงหรือโต้แย้งข้อค้นพบเหล่านั้นเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณเป็นนัยว่า รัฐบาลใหม่ของศรีลังกาพร้อมเผชิญหน้าความจริง

เรื่อง โรเบิร์ต เดรเพอร์
ภาพถ่าย เอมี ไวทาเล


อ่านเพิ่มเติม หากสองเกาหลีรวมกันอีกครั้ง 

Recommend