การเดินทางอันศักดิ์สิทธิ์ ชาวมองโกเลียนำค่านิยมพื้นเมือง มาใช้ในการปกป้องดินแดน

การเดินทางอันศักดิ์สิทธิ์ ชาวมองโกเลียนำค่านิยมพื้นเมือง มาใช้ในการปกป้องดินแดน

แอะเจิน คามากาโนวา ผู้อาวุโสชนเผ่ามองโกลบูริยัต  แบ่งปันวิธีการที่ชาวมองโกเลียนำค่านิยมพื้นเมือง มาใช้ในการปกป้องดินแดนของตน

ฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว คนเลี้ยงสัตว์ชาวมองโกเลียชื่อ บาซาร์ โลโซล นำทางคณะผู้อาวุโสกลุ่มเล็กๆ ของเราเข้าสู่เทือกเขาอัลไต  แสงบ่ายอาบไล้ทิวผาหิน เผยให้เห็นโลกซ่อนเร้นของภาพสลักบนผนังหินเป็นรูปแพะภูเขาไอเบกซ์ งู นก พระอาทิตย์ และพระจันทร์ ทั้งหมดเป็นที่เคารพในฐานะเทวทูตผู้เชื่อมโยงพวกเรากับสรวงสวรรค์ โลก และยมโลก ความงามอันเก่าแก่โบราณของบายันอุนเดอร์ หรือ “ที่ราบสูงอันอุดมสมบูรณ์” ทำให้ผมตราตรึงราวต้องมนตร์สะกด กระนั้นฉากนี้ก็ดูเหมือนขาดอะไรสักอย่าง

แล้วบาซาร์ก็ก้าวออกจากเงาสลัว ลวดลายซับซ้อนทอประกายระยิบระยับบนชุด ดีล หรือเสื้อคลุมพื้นบ้าน สีน้ำเงินของเขา ดูเหมือนจำลองจากลวดลายที่สลักบนแผ่นหิน ในชั่วขณะนั้นเอง ผมจึงเข้าใจที่มาของความกระสับกระส่ายของตัวเอง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไร้วี่แววของผู้คน ขณะที่แนวคิดในโลกตะวันตกมักกันผู้คนออกจากภูมิประเทศนัยว่าเพื่อเป็นการปกป้อง แต่ประเพณีของเราเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์กับธรรมชาติ 

ความเคารพลึกซึ้งที่บาร์ซามีต่อสถานที่นี้ คือสารัตถะแห่งปรัชญาการอนุรักษ์ของเรา เป็นสายสัมพันธ์เหนี่ยวแน่นที่เชื่อมโยงมนุษย์ ธรรมชาติ และวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ความเชื่อมโยงนี้ยังเห็นได้ชัดในการทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยของกลุ่มชนพื้นเมืองต่างๆ ที่กำหนดให้บายันอุนเดอร์ (ออกเสียงตามระบบการทับศัพท์ภาษามองโกเลีย) เป็นพื้นที่คุ้มครองของชุมชน เพราะความทุ่มเทของพวกเขานี่เอง สมบัติล้ำค่าเหล่านี้จึงยังไม่ถูกทำลายเป็นส่วนใหญ่

ความเชื่อมโยงอันล้ำลึกต่อผืนแผ่นดินนี้ขับเคลื่อนความพยายามในการอนุรักษ์ที่ก้าวหน้าของมองโกเลีย ย้อนหลังไปสามสามทศวรรษก่อน หลังระเบียบสังคมนิยมล่มสลาย ประเทศก็หวนคืนสู่รากเหง้าพื้นเมืองเดิม และเลือกใช้แผนบุกเบิกเพื่อปกป้องดินแดนร้อยละ 30 ของประเทศ เนิ่นนานก่อนสหประชาชาติจะรับรองแผนเป้าหมาย                    30 คูณ 30 (30-by-30 Target) ที่คล้ายคลึงกันเมื่อปี 2022 เพื่อคุ้มครองผืนดินและผืนน้ำของโลกให้ได้ถึงร้อยละ 30 ภายในปี 2030 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มองโกเลียขยายพื้นที่คุ้มครองของตนขึ้นอย่างมหาศาล โดยตอนนี้ครอบคลุม  ราวร้อยละ 21 ของดินแดน ส่งให้ประเทศนี้ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบผู้นำด้านการอนุรักษ์ของโลก พลังของโลกาภิวัตน์ ส่งผลกระทบต่อมองโกเลียไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ และต้องเผชิญกับความท้าทายใหญ่หลวงทางสิ่งแวดล้อมอย่าง      การทำเหมือง  การใช้ประโยชน์ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์มากเกินไป และการสูญเสียถิ่นอาศัย แต่ชาวมองโกเลียก็มีสินทรัพย์ทรงพลังอยู่อย่างหนึ่ง กล่าวคือ โดยการโอบรับค่านิยมพื้นบ้านอย่างการพึ่งพาอาศัยกัน การเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณ และความเคารพต่อสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ซึ่งล้วนเป็นค่านิยมที่ชนพื้นเมืองทั่วโลกยึดถือร่วมกัน มองโกเลียจึงสามารถนำทางได้ด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

บาซาร์ผู้เป็นเจ้าภาพและมัคคุเทศก์ของเรา ดำรงตำแหน่งซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในสภาผู้อาวุโสแห่งสหภาพ ผู้ปฏิบัติกิจทางจิตวิญญาณชนพื้นเมืองโลก หรือดับเบิลยูยูไอเอสพี (World Union of Indigenous Spiritual Practitioners: WUISP) พันธมิตรของกลุ่มผู้รักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ทำงานร่วมกันเพื่อปกปักแม่ธรณี พวกเราในฐานะสมาชิกกลุ่มเล็ก ๆ ของดับเบิลยูยูไอเอสพี กำลังเดินทางไปแสวงบุญ ณ ดินแดนแห่งเสือดาวหิมะ ท่ามกลางขุนเขางามจับใจ เรามารวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีมอบเกียรติยศสูงสุดของดับเบิลยูยูไอเอสพี ในปีนี้ คณะผู้อาวุโสเลือกรูปสลักจากหยกที่เราตั้งชื่อว่า “น้ำตาเสือดาวหิมะ” เพื่อแสดงความขอบคุณที่พวกเรามีต่อ รอดนีย์ แจ๊กสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเสือดาวหิมะที่ใกล้สูญพันธุ์และระบบนิเวศของมัน เขาอุทิศเวลามากกว่า 40 ปีของชีวิตทำงานร่วมกับประชาคมชนพื้นเมืองในทั้ง 12 ประเทศที่เสือดาวหิมะอาศัยอยู่

ช่างภาพ คิลอิ ยู่หยาน มาร่วมแสวงบุญครั้งนี้กับเราด้วย เลนส์ของเขาถ่ายทอดทั้งความงามอันล้ำลึกและความสำคัญทางจิตวิญญาณของการเดินทางคราวนี้  ขณะที่บางชุมชนปกปิดพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของตน เราเชื่อว่าตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องเปิดกว้างแล้ว การแบ่งปันพิธีกรรมของเราอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการไตร่ตรองอันจำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ตั้งคำถามต่อวิธีแก้ปัญหาในปัจจุบัน และส่งเสริมให้เกิดมุมมองใหม่ๆ 

นักต้อนสัตว์ ตูเมน อูลซี อิฟชินเทิน จัดตั้ง เกอร์ หรือกระโจมทงกลม สำหรับผู้มาเยือนทุ่งหญ้าที่ราบสูงในเทือกเขา อัลไตของมองโกเลีย ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันของชนเผ่าเร่ร่อนในมองโกเลียกับผืนแผ่นดิน เป็นรากฐานของโครงการริเริ่มด้านการอนุรักษ์ของประเทศ

บูยันบาดรัคห์ เออร์เดินท์ซอกท์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า บูยา เป็นผู้นำพิธีกรรมของเรา โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์ ภูติผีวิญญาณ และธรรมชาติ แม้นักมานุษยวิทยาจะใช้คำว่าหมอผี หรือ “ชามาน” (คำจากภาษาตุงกูซิก) เพื่อนิยามปรากฏการณ์เช่นนี้ ในวัฒนธรรมมองโกเลีย ระบบความเชื่อพื้นเมืองของเราเรียกว่า บูมูร์เกิล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสื่อสารกับภูติผีวิญญาณ ธรรมชาติ และบรรพบุรุษ เพื่อขอคำแนะนำและการเยียวยา เราสักการะ ‘นภาสีครามชั่วนิรันดร์’ ในฐานะเทพสูงสุดของเรา และบูชาแม่ธรณีในฐานะผู้ให้กำเนิดชีวิต  แม้จะได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ศาสนาอื่น ๆ และอเทวะนิยม แต่บูมูร์เกิลยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของอัตลักษณ์มองโกเลีย โดยเฉพาะในหมู่ประชาคมชนเผ่าเร่ร่อน

บูยา วัย 39 ปี สมาชิกอายุน้อยที่สุดในสภาผู้อาวุโสของดับเบิ้ลยูยูไอเอสพี นำทางการแสวงบุญของเราไปยังใจกลางอาณาจักรเสือดาวหิมะ เพื่อขอพรอันจำเป็นให้กับรูปปั้นหยกขนาดจิ๋ว เมื่อไปถึงจุดสิ้นสุดถนน เราทิ้งพาหนะของเราแล้วขึ้นหลังม้าอย่างเก้ ๆ กัง ๆ การขึ้นเขาอย่างยากลำบากเป็นอุปสรรคสุดท้ายก่อนพิธีกรรมอำนวยพร เมื่อไปถึงที่ราบสูงแห่งหนึ่ง เราก็ตั้งค่ายพักแรมใต้การจับจ้องเฝ้ามองของสุไตแคร์ข่าน ซึ่งเป็นยอดเขาธารน้ำแข็งอันงดงาม และเป็นหนึ่งใน 12 ภูเขาในมองโกเลียที่รัฐกำหนดให้เป็นสิ่งสักการะบูชา และประธานาธิบดีให้เกียรติมาประกอบพิธีพิเศษทุกสี่ปี

มองโกเลียมีภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่รัฐกำหนดให้เป็นสิ่งสักการะบูชารวม 12 แห่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราวหนึ่งส่วนห้าของผืนแผ่นดินที่ได้รับการคุ้มครอง ในบริเวณเชิงเขาอัลไต พื้นที่คุ้มครองที่มีชื่อว่า บูร์กัสนีคุนดุ (หุบเขาหลิว) เป็นที่รู้จักจากประชากรแพะภูเขาไอเบ็กซ์จำนวนมาก
ผู้นำและนักเลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้าแบบเร่ร่อน บาซาร์ โลโซล ยืนข้างภาพสลักบนผนังหินที่บายันอุนเดอร์ แหล่งดังกล่าวนี้ได้รับสถานะพื้นที่คุ้มครองเมื่อปี 2019 จากความพยายามผลักดันร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น

ท่ามกลางภูมิทัศน์น่าเกรงขาม บูยาเปิดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการสวดวิงวอนเทพเจ้าที่ หรือเทพารักษ์ประจำภูเขาดังกล่าว จากนั้นเราก็ร่วมกันสวดภาวนาขอความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกชีวิต ขอให้มีสันติสุขและความสมัครสมาน เสียงของเราล่องลอยไปในอากาศอันแจ่มใส บอกกล่าวความขอบคุณของเราต่อแม่ธรณี และขอให้ได้รับความเมตตากรุณาสืบไปจากนภาสีครามชั่วนิรันดร์

พวกเราประหลาดใจมากเมื่อพบว่า บูยานำของถวายที่นึกไม่ถึงอย่างหนึ่งมาด้วย คือแตงโม ของเซ่นไหว้  สนุกๆ นี้มีเป้าหมายเพื่อเอาใจภูติผีวิญญาณ เลียนแบบสำนวนโบราณของมองโกเลีย “ไบกาเลีย อาร์กาดะห์” ที่แปลว่า “เกลี้ยกล่อมธรรมชาติ”

แม้โดยทั่วไปภูผีวิญญาณจะชื่นชอบอาหารที่ผลิตในท้องถิ่น และแตงโมไม่ใช่พืชท้องถิ่นในมองโกเลีย บูยาแย้งว่า ของขวัญแหวกแนวนี้ยิ่งกว่าเหมาะสม เพราะภูติผีวิญญาณผู้ทรงฤทธิ์แห่งขุนเขา บางครั้ง  ก็อยากรู้อยากเห็นและซุกซนเหมือนเด็ก ๆ บางทีพวกท่านอาจจ้องมองด้วยความสนุกสนาน ขณะที่ลูกแตงโมกลิ้งลงไปตามหน้าผามานฮันในวันถัดมา และแตกกระจายเป็นสีเขียวสีชมพูบนผืนหิมะสีขาว ปกคลุมหุบเขาด้วยพรที่อุดมด้วยเมล็ดพันธุ์

พิธีกรรมคือการอนุรักษ์ นั่นล่ะจุดประสงค์และพลังของมัน พิธีกรรมของบูยา ความปีติอันลึกล้ำและความสุขล้นพ้นที่บังเกิดแก่ผู้เข้าร่วมทุกคน พิสูจน์ให้เห็นความจริงข้อนี้ มีแต่โดยการโอบรับภูมิปัญญาพื้นเมืองที่มีสถานที่เป็นรากฐานเท่านั้น เราจึงวาดหวังได้ถึงการปกปักอดีตร่วมกันของเรา และอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ


อ่านเพิ่มเติม : ผูกมิตรกับไฟ การเผาขนาดเล็กที่ช่วยควบคุมไฟป่า และรักษาผืนดิน

Recommend