เบื้องหลังสารคดี ‘เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลก’ ศรีเทพศึกษา การสันนิษฐานอดีต และการถ่ายทอดปัจจุบัน

เบื้องหลังสารคดี ‘เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลก’ ศรีเทพศึกษา การสันนิษฐานอดีต และการถ่ายทอดปัจจุบัน

เสวนาเบื้องหลังการทำสารคดี “เมืองโบราณศรีเทพ”

หลังจากที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือเมืองโบราณศรีเทพ ได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดของไทย เมื่อวันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 สถานะมรดกโลกได้เปลี่ยนให้อุทยานประวัติศาสตร์ที่เคยเงียบเหงากลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์

ก่อนหน้านั้นหลายคนอาจไม่เคยรู้จักเมืองศรีเทพมาก่อน หรืออาจเคยได้ยินชื่อ แต่ไม่รู้ว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีความเป็นมาและมีความสำคัญอย่างไร แม้ว่าประวัติการค้นพบและศึกษาเมืองศรีเทพสามารถย้อนหลังไปกว่าศตวรรษ มีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และต่อมาก็ได้สถานะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากร

หลังจากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่การศึกษาเมืองศรีเทพไม่ได้สิ้นสุด ยังมีการขุดค้นทางโบราณคดีต่อเนื่องเรื่อยมา เพื่อค้นหาหลักฐานใหม่ๆ เพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวที่ยังคงเป็นเป็นปริศนาที่หลงเหลืออีกมากมาย ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2567 ก็ได้นำเสนอสารคดี “เมืองศรีเทพ” เช่นกัน

เพื่อเล่าเรื่องการทำสารคดีเรื่องนี้และเกร็ดต่างๆ ระหว่างการทำงานมาแบ่งปันกัน เราจึงจัดเสวนาโดยเชิญนักทำสารคดีผู้สร้างองค์ประกอบของการทำสารคดีนี้ มาร่วมพูดคุยกันในงานบ้านและสวนแฟร์ Midyear 2024 ที่ผ่านมา เรามี คุณศรัณย์ ทองปาน นักเขียนสารคดี ด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ คุณเอกรัตน์ ปัญญะธารา ช่างภาพอาวุโสของ National Geographic ฉบับภาษาไทย และคุณพัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน นักวิจัยอิสระ และนักวาดภาพประกอบจากกลุ่ม “คิดอย่าง” ครบมุมมองทั้งงานเขียน ภาพถ่าย และภาพสันนิษฐาน

ก่อนจะเป็น “ศรีเทพมรดกโลก”

เสวนาเริ่มต้นที่คุณศรันย์ เล่าเรื่องเกี่ยวกับ “ศรีเทพศึกษา” ซึ่งมีการตามหา ขุดค้น และศึกษาเกี่ยวกับเมืองศรีเทพย้อนกลับไปนานถึงร้อยกว่าปี เมื่อครั้งสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพไปตรวจราชการที่มณฑลเพชรบูรณ์ในปี พ.ศ. 2447 ซึ่งพร้อมกันนั้นก็ได้ไปตามหาเมืองโบราณที่ชื่อว่า “ศรีเทพ” จากข้อมูลที่ได้พบในเอกสารจดหมายเหตุเก่าด้วย 

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ทว่าหลังจากนั้นกลับไม่มีการดำเนินการศึกษาเมืองศรีเทพต่อ ด้วยเมืองเพชรบูรณ์อยู่ห่างจากกรุงเทพมาก ประกอบกับสมัยนั้นเส้นทางคมนาคมไม่ค่อยสะดวก

จนกระทั่ง 20 ปีต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 7 สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นสภานายกของราชบัณฑิตยสภา ซึ่งมีหน้าที่คล้ายกับกรมศิลปากรในปัจจุบันคือการดูแลพิพิธภัณฑ์ จึงได้มีการรวบรวมโบราณวัตถุหลายชิ้นที่พบในเมืองศรีเทพมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพตั้งแต่นั้นมา

โบราณวัตถุเหล่านี้ที่ทำให้เมืองศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปีพ.ศ. 2478 และได้สถานะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ. 2527 หลังจากนั้นก็มีการผลักดันเพื่อนำเสนอคุณค่าและความโดดเด่นของเมืองโบราณศรีเทพเรื่อยมา จนกระทั่งศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในที่สุด

สเน่ห์ศรีเทพ เมืองโบราณแห่งนี้พิเศษอย่างไร

ศรีเทพเป็นเมืองโบราณที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ใหญ่กว่าเกาะรัตนโกสินทร์เสียอีก อาณาเขตของเมืองมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ลักษณะผังเมืองจะแบ่งสองชั้น ชั้นในและชั้นนอก ชั้นในมีลักษณะเกือบเป็นทรงกลม ส่วนชั้นนอกที่ขยายออกไปเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทั้งเมืองชั้นในและชั้นนอกมีศาสนสถานกระจายอยู่ทั่ว เช่น ปรางค์ศรีเทพ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองชั้นใน

เขาถมอรัตน์

นอกจากนี้ ถัดจากตัวเมืองออกไปทางทิศตะวันตกก็มีเขาลูกหนึ่งชื่อว่าเขาถมอรัตน์ สันนิษฐานว่าเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองศรีเทพ เนื่องจากมีการพบโบราณวัตถุหลายอย่างที่นี่ ทั้งรูปเคารพ สถูป และธรรมจักร เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างหนึ่งว่าในอดีตเมืองศรีเทพแห่งนี้อาจจะเป็นศูนย์​กลางทางศาสนาหรือสถานที่สำคัญในการจาริกแสวงบุญ

คุณเอกรัตน์ตั้งข้อสังเกตว่าศรีเทพมีความแตกต่างจากเมืองโบราณอื่น ๆ อย่างเมืองอยุธยา ซึ่งพื้นที่เมืองโบราณกับพื้นที่ที่คนปัจจุบันอาศัยอยู่มีความซ้อนทับกัน แต่ไม่ใช่กับเมืองศรีเทพ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในอาณาเขตของเมืองเลย แต่เว้นระยะห่างไว้อย่างตั้งใจ เพราะมีความเชื่อว่าเมืองแห่งนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ การอยู่แยกต่างหากจากผู้คนก็นับเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ศรีเทพมีมนต์เสน่ห์แตกต่างไปจากเมืองโบราณแห่งอื่น ๆ 

คุณพัชรพงศ์กล่าวว่าศรีเทพเป็นเมืองที่มีการส่งต่อผ่านหลากหลายวัฒนธรรม สังเกตได้จากลักษณะของสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบในพื้นที่ นอกจากนี้ก็จะพบว่าเมืองศรีเทพมีศาสนาความเชื่อหลายอย่างผสมกันอยู่ด้วย ทั้งพราหมณ์-ฮินดู จากการพบรูปเคารพของพระกฤษณะ อวตารของพระวิษณุ และพุทธศาสนา จากการพบพระพุทธรูปและธรรมจักร

กล่าวได้ว่าการศึกษาร่องรอยอารยธรรมจากเมืองศรีเทพ หรือ “ศรีเทพศึกษา” อาจจะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์หรือภูมิหลังของพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบันมากขึ้นก็ได้

ศรีเทพกับความลึกลับที่ยังไม่มีคำตอบ

คุณศรัณย์เล่าว่านักโบราณหลายคนสันนิษฐานว่าศรีเทพนี่แหละคือศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี อาณาจักรโบราณแห่งหนึ่งในดินแดนไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 – 16 แต่ก็ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปเช่นนั้นได้

ที่จริงแล้ว เมืองศรีเทพเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่ยังคงเป็นปริศนาไร้คำตอบ แม้จะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว แต่การขุดค้นและศึกษาเมืองศรีเทพก็ยังคงดำเนินต่อไป เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปของเมืองแห่งนี้มากขึ้น รวมถึงเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติมในการพิสูจน์ข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ด้วย

ภาพกราฟิกจำลองสถูปเขาคลังนอกของคุณพัชรพงศ์เองก็เป็นภาพที่ได้มาจากการสันนิษฐาน เพราะสถูปเขาคลังนอกในปัจจุบันจริง ๆ เหลือเพียงส่วนฐานสองชั้นเท่านั้น จึงต้องอาศัยการศึกษาอาคารเปรียบเทียบอื่น ๆ ที่เป็นศิลปะแบบทวารวดี เช่น เจดีย์จุลประโทนที่นครปฐม และสันนิษฐานรูปทรงของสถูปจากการเทียบวัดขนาดชิ้นส่วนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่

ยิ่งไปกว่านั้น ศรีเทพก็ยังมีหลักฐานเกี่ยวกับผู้คนน้อยมาก ไม่มีใครทราบว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้เป็นใครมาจากไหน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนโบราณสร้างบ้านเรือนด้วยวัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติทำให้ย่อยสลายไปตามกาลเวลา โดยไม่เหลือร่องรอยการอยู่อาศัยของผู้คนไว้เลย 

เพราะฉะนั้น หากเราต้องการข้อมูลเกี่ยวกับเมืองศรีเทพที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ก็จำเป็นจะต้องติดตามการศึกษาและขุดค้นเมืองศรีเทพของนักโบราณคดีและนักวิจัยเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป

ความเป็นไปของศรีเทพในปัจจุบัน

การได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก พลิกโฉมศรีเทพจากเมืองโบราณที่ถูกทิ้งร้าง กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก คุณศรัณย์เล่าว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่ศรีเทพครบหนึ่งล้านคนภายใน 9 เดือนหลังจากที่ศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าเหลือเชื่อมาก เพราะเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อเดือนถึง 20 เท่าเลยทีเดียว 

ปัจจุบัน เมืองศรีเทพจึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการรองรับนักท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐ หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงประชาชนทั่วไปในพื้นที่ เพื่อให้สถานะความเป็นมรดกโลกของศรีเทพสามารถคงอยู่ยั่งยืนได้ต่อไป

ดูคลิปการเสวนา

 

เรื่อง สโรชิณีย์ นิสสัยสุข
โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม เมืองโบราณศรีเทพ “สิริแห่งพระเป็นเจ้า”

Recommend