นักวิทย์เนรมิตโครงกระดูกที่ยาวกว่า 22 เมตรขึ้นใหม่ได้อย่างไร ชวนอ่านขั้นตอนการประกอบโครงกระดูกไดโนเสาร์

นักวิทย์เนรมิตโครงกระดูกที่ยาวกว่า 22 เมตรขึ้นใหม่ได้อย่างไร ชวนอ่านขั้นตอนการประกอบโครงกระดูกไดโนเสาร์

การกลายเป็นฟอสซิลว่าประหลาดและยากเย็นแล้ว การขุดค้นและประกอบโครงร่างขึ้นใหม่ก็ยิ่งน่าทึ่งไม่น้อย

ทีมนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันแปลงโฉมกระดูกชิ้นเล็กใหญ่จำนวนหลายตันซึ่งฝังอยู่ในหินให้กลายเป็นร่างไดโนเสาร์ยักษ์สูงตระหง่าน ที่จะทำให้ผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งลอสแอนเจลิสตื่นตาตื่นใจ

การถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นฟอสซิลนั้นเป็นเรื่องน่าประหลาด ลองจินตนาการว่าคุณเป็นดิพโพลโดคัส (Diplodocus) ไดโนเสาร์ที่กวัดแกว่งหางยักษ์อันยาวเหยียดไปทั่วโลกจูราสสิค และมีอายุขัยราว 70 ปีหรือมากกว่านั้น จากนั้นให้ลองนึกภาพว่าคุณตาย แต่ตายในสภาวะแวดล้อมไม่ธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยครั้ง จนกระดูกทั้งหมดของคุณถูกฝังและค่อย ๆ แปลงสภาพกลายเป็นหิน ภูเขามากมายก่อตัวสูงขึ้นและสึกกร่อนลงรอบร่างของคุณ แม่น้ำไหลผ่านโครงกระดูกไปมาจนแห้งเหือดหายไป         ธารน้ำแข็งเคลื่อนตัวผ่านบริเวณที่คุณถูกฝังเอาไว้ แต่กระดูกของคุณกลับยังไม่บุบสลายหายไปไหน

สิ่งที่ประหลาดยิ่งกว่าคือ เมื่อราว ๆ 100 ล้านปีก่อนหรือนานกว่านั้น เกิดการปะทุของภูเขาไฟขึ้นทั่วทั้งบริเวณที่โครงกระดูกฝังอยู่ เมื่อลาวาเหลวร้อนจัดที่ไหลผ่านร่างของคุณเย็นตัวลง แร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งไหลซึมเข้าไปในกระดูกจะไหลกลับออกมา กระดูกของคุณที่กลายเป็นหินไปแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวและมีรอยสีแดงแต่งแต้มอยู่บนพื้นผิวคล้ายกับก้อนเนื้ออบ

ทีมของนักวิทยาศาสตร์และอาสาสมัครซึ่งนำโดยคีอัปเปสามารถสกัดฟอสซิลจำนวนหลายตันออกจากชั้นหินที่ทับถมมานานหลายล้านปีได้สำเร็จ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุณหภูมิอันร้อนระอุ สิงโตภูเขา และงูหางกระดิ่งก็ตาม

แต่การเปลี่ยนแปลงที่ประหลาดที่สุดคือ การที่กระดูกของคุณกลับขึ้นมาบนพื้นโลกอีกครั้งหลังถูกทับถมจนหายไปนานถึง 150 ล้านปี หลังจากนั้นโครงกระดูกของคุณก็ถูกค้นพบ ถูกสกัดออกจากหิน และนำไปประกอบร่างขึ้นโดยเผ่าพันธุ์ที่คุณไม่อาจจินตนาการถึงอย่างมนุษย์ ในโลกใบใหม่ที่แตกต่างไปจากโลกที่คุณจากมา

ขั้นตอนที่ 1: การพบร่องรอยและการขุดค้น

ทีมนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งลอสแอนเจลิส (Natural History Museum of Los Angeles County: NHMLAC) ค้นพบไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด (Sauropod) ที่พวกเขาเรียกกันว่า นาตาลี (Gnatalie) เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2007 หลังการสึกกร่อนของหน้าผาทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐยูทาห์เผยให้เห็นกระดูกขาข้างหนึ่งของมัน สิ่งที่พวกเขาพบในหินผาทำให้ทีมสำรวจต้องกลับไปขุดค้นบริเวณผานั้นทุก ๆ ฤดูร้อนเป็นเวลานานถึง 9 ปี กระดูกชิ้นส่วนของไดโนเสาร์สายพันธุ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นดิพโพลโดคัส คามาราซอรัส (Camarasaurus) อัลโลซอรัส (Allosaurus) สเตโกซอรัส (Stegosaurus) หรือไดโนเสาร์สายพันธุ์อื่นนอกจากนี้ต่างก็ถูกสายน้ำในยุคก่อนพัดพามากองรวมกันจนพื้นที่นี้กลายเป็นสุสานไดโนเสาร์

แม้แต่ตัวอย่างไดโนเสาร์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งมีกำหนดจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ก็ไม่ได้ถูกประกอบร่างสร้างขึ้นจากไดโนเสาร์เพียงตัวเดียว แต่เป็นการนำกระดูกชิ้นต่าง ๆ ของไดโนเสาร์สายพันธุ์เดียวกันที่พบในบริเวณนั้นจำนวน 2 ตัวขึ้นไปมารวมเข้าด้วยกัน แท้จริงแล้วนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุสายพันธุ์ของฟอสซิลที่พบได้ กล่าวคือ ซากฟอสซิลเหล่านั้นอาจเป็นกระดูกของไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่ถูกศึกษาก็เป็นได้  ทว่าหากพิจารณาจากกระดูกช่วงลำคอและหางที่ยาว รวมไปถึงขาทั้ง 4 ข้างที่ดูแข็งแรงแล้ว มันก็มีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกับไดโนเสาร์ตระกูลดิพโพลโดคัส

ทีมสำรวจใช้เวลา 10 ปีในการขุดค้นฟอสซิลไดโนเสาร์ขึ้นมาจากแหล่งชั้นหินทางตอนใต้ของรัฐยูทาห์ ในช่วงปีแรกของการขุด สมาชิกของทีมต้องทนทุกข์ทรมานกับฝูงริ้น พวกเขาจึงตั้งชื่อให้กับไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอดที่ค้นพบว่า นาตาลี (ภาพถ่ายโดย Stephanie Abramowicz)

นาตาลี (Gnatalie) ซึ่งเป็นชื่อเล่นของไดโนเสาร์ตัวนี้ถูกตั้งขึ้นจากฝูงริ้นตัวเล็ก ๆ (gnat) ที่คอยสร้างความรำคาญใจให้กับบรรดาสมาชิกของทีมสำรวจในช่วงปีแรกของการขุดหาฟอสซิล ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงกำหนดการขุดครั้งต่อ ๆ ไปในช่วงที่ร้อนที่สุดของฤดูร้อนแทน เพราะทีมสำรวจเต็มใจที่จะเสี่ยงกับการขาดน้ำและลมแดดมากกว่าการถูกตัวริ้นกัด นอกจากอันตรายในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำระหว่างการขุดแล้ว ในบริเวณแหล่งขุดค้นยังพบร่องรอยที่สิงโตภูเขาทิ้งไว้ตามพื้นดิน และในบางครั้งยังพบว่ามีงูหางกระดิ่งซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนผ้าใบที่ทีมสำรวจปูเอาไว้

เนื่องจากแหล่งขุดค้นสามารถเข้าถึงได้ค่อนข้างง่ายโดยการขับรถจากลอสแองเจลิสประมาณ 1 วัน ทางพิพิธภัณฑ์จึงมองว่า การขุดค้นในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่จะให้ผู้อื่นเข้ามาเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการปฏิบัติงานจริง ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์จึงเชิญอาสาสมัคร ผู้บริจาค และนักเรียนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการค้นหาฟอสซิล ในคืนหนึ่ง ระหว่างที่สมาชิกในทีมวางแผนเตรียมอาหารเย็น พวกเขาได้นับจำนวนคนทั้งหมดในแหล่งขุดค้นและพบว่ามีคนในแคมป์มากถึง 50 ชีวิต สำหรับบางคน นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่พวกเขาได้นอนในเต็นท์

พวกเขาห่อหุ้มฟอสซิลด้วยปูนปลาสเตอร์หนา ๆ เพื่อสร้างเฝือกป้องกันไม่ให้ชิ้นกระดูกได้รับความเสียหาย เฝือกของกระดูกบางชิ้น เช่น กระดูกสันหลังบนเครื่องจักรกลหนักในภาพ มีน้ำหนักมากกว่า 1 ตัน

ฟอสซิลจำนวนมากที่ถูกฝังอยู่ในบริเวณนี้ทำให้การขุดค้นยากและซับซ้อนขึ้น “คุณกำลังเล่นเกมดึงไม้ด้วยกระดูกไดโนเสาร์จำนวนมากอยู่ค่ะ” อลิสซา เบลล์ (Alyssa Bell) นักบรรพชีวินวิทยาประจำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งลอสแอนเจลิสกล่าว และอธิบายต่อ “เพราะกระดูกเหล่านั้นทับซ้อนกันมั่วไปหมด” ในปี 2014 ทีมสำรวจพบว่ามีชิ้นส่วนของกระดูกคอ กระดูกส่วนหลัง และกระดูกเชิงกรานปะปนอยู่รวมกันในหินเพียงก้อนเดียว “ฉันจำได้ว่าตอนนั้นพวกเรายืนเกาหัวอยู่หน้าหินและพยายามคิดว่า เราจะใช้วิธีอะไรมาแยกกระดูกพวกนี้ออกจากกันดีนะ” เบลล์เสริม

สเตฟานี อับราโมวิตช์ นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการวาดภาพประกอบของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งลอสแอนเจลิส ได้ทุ่มเทวันเวลาไปกับการทำแผนที่ของ “สุสานไดโนเสาร์” ซึ่งถูกฝังอยู่ที่ก้นแม่น้ำโบราณอย่างละเอียด

การจะขุดค้นฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์นั้นมีกระบวนการหลายขั้นตอน ทีมสำรวจจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่โดยการขุดร่องรอบ ๆ หินที่มีฟอสซิลอยู่ภายใน จากนั้นจึงขุดลงไปใต้หินเหล่านั้นและติดตั้งฐานชั่วคราวเอาไว้เพื่อรองรับน้ำหนัก ก่อนจะนำผ้ากระสอบชุบปูนปลาสเตอร์ไปหุ้มเป็นเฝือกรอบฟอสซิลเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการขุดค้น ในช่วงแรก ทีมงานพยายามควบคุมน้ำหนักของเฝือกให้อยู่ในเกณฑ์ที่คนยกไหว แต่เมื่อพวกเขาทำงานต่อไปเรื่อย ๆ น้ำหนักของเฝือกก็เพิ่มมากขึ้นจนในบางครั้งปูนที่นำมาห่อหุ้มฟอสซิลก็มีน้ำหนักมากกว่า 1 ตัน ทางทีมสำรวจจึงต้องใช้เครื่องจักรกลหนักในการยกและขนย้ายก้อนฟอสซิลเหล่านั้นแทน

“เมื่อถึงเวลาที่จะต้องสกัดกระดูกเชิงกรานชิ้นยักษ์ออกมา  ทีมงานจะนำเชือกไปผูกไว้กับกระดูกทั้งสองด้าน แล้วดึงและโยกมันไปมาค่ะ” สเตฟานี  อับราโมวิตช์ (Stephanie Abramowicz) นักวาดภาพประกอบจากพิพิธภัณฑ์ซึ่งประจำอยู่ที่แหล่งขุดค้นกล่าว เมื่อกระดูกยักษ์ชิ้นนั้นหลุดออกมาจะเกิดเสียงดังครืนเหมือนฟ้าร้อง “นั่นเป็นสัญญาณชัดเจนที่บ่งบอกว่า นาตาลีกำลังพูดคุยกับเราค่ะ มันถูกปลดปล่อยออกจากผืนดินแล้ว มันพร้อมจะกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง”  อับราโมวิตช์เสริม

ขั้นตอนที่ 2: การตระเตรียมกระดูก

หลังจากที่ถูกขุดออกมา กระดูกน้อยใหญ่จำนวนมากจะถูกส่งต่อไปยังห้องปฏิบัติการเตรียมตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติซึ่งตั้งอยู่ในลอสแองเจลิส “ฟอสซิลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถมากครับ เพราะเฝือกที่หุ้มพวกมันเอาไว้แข็งเหมือนกับปูนซีเมนต์” ดัก กูดโร (Doug Goodreau) ผู้ดำเนินงานของห้องปฏิบัติการแห่งนี้กล่าว บรรดาผู้เชี่ยวชาญจะต้องใช้เครื่องเจียรไฟฟ้าสกัดหินส่วนเกินออกจากตัวฟอสซิลจนเกิดประกายไฟและมีเศษหินกระเด็นไปมา นอกจากนั้นยังต้องใช้เครื่องมืออื่น ๆ เช่น ค้อน สิ่ว รวมไปถึงเครื่องมือทางทันตกรรมบางชนิดเพื่อเก็บรายละเอียดของงานให้เรียบร้อยสมบูรณ์ อย่างไรก็ดี เครื่องมือสำคัญอย่างสุดท้ายอย่างที่จำเป็นต่อการเตรียมกระดูกก็คือ สายตา เพราะผู้เชี่ยวชาญจะต้องสังเกตสิ่งผิดปกติหรือสิ่งไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงาน

แร่ธาตุจากการปะทุของภูเขาไฟในบริเวณที่กระดูกฝังอยู่ทำให้ฟอสซิลจำนวนมากมีสีออกไปทางเขียว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลก

“ชั้นของเฝือกที่หุ้มฟอสซิลเอาไว้เป็นเหมือนกับเหมืองหินครับ” กูดโรกล่าว ผู้เชี่ยวชาญจะต้องสกัดกระดูก ฟัน และชิ้นส่วนอื่น ๆ ของไดโนเสาร์ออกจากหินที่พวกมันฝังอยู่อย่างอดทน การสกัดกระดูกเชิงกราน 1 ข้างและกระดูกอีกหลายชิ้นที่ถูกฝังในตำแหน่งข้างกันต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ในบางครั้งผู้เชี่ยวชาญมากถึง 6 คนต้องทำงานร่วมกันเพื่อสกัดฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ออกจากหินเพื่อเผยรายละเอียดเล็ก ๆ ของมันให้ได้มากที่สุด โดยใช้เครื่องสกัดหินขนาดเล็กที่เรียกว่า ซิปสไครบ์ (Zip scribe) และเครื่องพ่นทรายขนาดเล็กที่เรียกว่า แอร์อะเบรเดอร์ (Air abrader) “เครื่องมือพวกนั้นส่งเสียงหึ่ง ๆ คล้ายกับเสียงจากรังผึ้งเลยครับ”  กูดโรกล่าว ขั้นตอนสุดท้ายของการตระเตรียมกระดูกคือ การซ่อมแซมและอุดรอยตำหนิหรือช่องว่างในฟอสซิล ผู้เชี่ยวชาญจะใช้กาวอีพ็อกซีเนื้อดินน้ำมันที่มีสีใกล้เคียงกับฟอสซิลแต่ยังมีความแตกต่างมากพอที่จะจำแนกออกจากเนื้อกระดูกจริงได้มาอุดและปะรอยต่าง ๆ ที่พบ

ขั้นตอนที่ 3: การประกอบโครงกระดูก

ในช่วงฤดูร้อนของปี 2023 กระดูกของนาตาลีถูกบรรจุลงในลังไม้จำนวนหลายสิบลัง ก่อนจะถูกส่งไปยังบริษัท Research Casting International (RCI) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างโมเดลโครงกระดูกไดโนเสาร์จำลองสำหรับจำหน่ายให้แก่พิพิธภัณฑ์แห่งต่าง ๆ บริษัทนี้ตั้งอยู่ ณ เมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งบนชายฝั่งทางเหนือของทะเลสาบออนแทรีโอ (Lake Ontario) ประเทศแคนาดา ซึ่งอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์ในลอสแอนเจลิสราว 4,184 กิโลเมตร

เมื่อกระดูกของนาตาลีเดินทางไปถึงบริษัทแล้ว ลังไม้เหล่านั้นจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังห้องสำหรับจัดเก็บกระดูกไดโนเสาร์ กระดูกบางชิ้นของนาตาลีถูกวางไว้บนแผ่นโฟม บางชิ้นถูกวางไว้ในทราย โดยแต่ละชิ้นจะถูกส่งมาพร้อมกับการ์ดที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งตามโครงสร้างของมัน 

ลังไม้บรรจุกระดูกไดโนเสาร์เหล่านี้ถูกส่งจากเมืองลอสแอนเจลิสไปยังบริษัท Research Casting International ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเทรนตันในรัฐออนแทรีโอของประเทศแคนาดา ฟอสซิลทั้งหมดนี้ถูกประกอบขึ้นโดยใช้โครงเหล็กที่ออกแบบตามรูปร่างของโครงกระดูก

ณ ห้องประชุมชั้นบน เจ้าหน้าที่จากพิพิธภัณฑ์และบริษัท RCI ได้ร่วมปรึกษาเกี่ยวกับรายละเอียดของการประกอบร่างนาตาลีขึ้น เมื่อประกอบเสร็จสมบูรณ์ โครงกระดูกของมันจะมีความยาวราว 22 เมตร และจะถูกนำไปจัดแสดงในโถงทางเข้าขนาดใหญ่ของปีกที่สร้างขึ้นใหม่ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ทว่าในขณะนั้น เจ้าหน้าที่กลับพบว่าส่วนหัวและคอของนาตาลีซึ่งยาวประมาณ 1.8 เมตรนั้นยาวเกินไปจนอาจทะลุกำแพงออกไปห้องข้าง ๆ ได้ และถึงแม้ว่าพวกเขาจะถกเถียงหารือถึงตำแหน่งอื่นที่จะนำนาตาลีไปตั้ง แต่ปรากฏว่า การขยับตำแหน่งที่ตั้งทั้งหมดถูกจำกัดด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารพิพิธภัณฑ์ หากเคลื่อนย้ายไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งมากเกินไป ส่วนหัวของโครงกระดูกอาจจะอยู่ไม่ตรงกับอุปกรณ์ยึดจุดสำคัญที่ติดตั้งไว้ตามเพดาน และถ้าหากว่าพวกเขาขยับโครงกระดูกไปในทิศทางตรงกันข้ามมากเกินไป หางของนาตาลีอาจจะทอดตัวยาวจนพาดขวางทางออกฉุกเฉิน

“ไม่ว่าสถาปนิกและนักออกแบบจะจินตนาการภาพตำแหน่งของนาตาลีไว้อย่างไร โครงกระดูกไดโนเสาร์ก็ไม่ได้เป็นแค่โมเดลที่จะจับไปตั้งไว้ตรงไหนตามใจชอบก็ได้ครับ” ลูอิส คีอัปเป (Luis Chiappe) นักบรรพชีวินวิทยา ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันไดโนเสาร์ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ผู้ทำหน้าที่นำการขุดและการประกอบอาหารในค่าย นับตั้งแต่การขุดค้นเริ่มต้นขึ้น กล่าว ถึงกระนั้น ความท้าทายในการจัดแสดงโครงกระดูกของนาตาลีก็ดูจะไม่ทำให้ใครรู้สึกกังวลหรือเครียดมากเกินไป เพราะอุปสรรคที่ยากจะผ่านไปได้เช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่พบเจอได้เป็นปกติในการทำงานด้านบรรพชีวินวิทยา หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่คนหนึ่งก็ประกาศขึ้นอย่างสุภาพว่า โปรแกรมที่ใช้ในการออกแบบที่แตกต่างกันทำให้เกิดการสื่อสารข้อมูลผิดพลาดขึ้น ไม่ว่าอย่างไรส่วนหัวของโครงกระดูกก็จะไม่ยาวจนจนทะลุกำแพงออกไป

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาอีกมากมายหลายอย่างซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการประกอบโครงกระดูกที่บรรดาเจ้าหน้าที่ต้องร่วมกันแก้ไข เช่น ปัญหาใหญ่ซึ่งเกิดจากการที่กระดูกสันหลังจำนวนมากของนาตาลี มีลักษณะบิดเบี้ยวผิดรูปเนื่องจากได้รับความเสียหายจากแรงบีบอัดในขณะที่ถูกฝังอยู่ใต้ดินเป็นเวลา 150 ล้านปี การนำกระดูกในสภาพดังกล่าวไปประกอบในโครงร่างจริงจะทำให้สันหลังของไดโนเสาร์โค้งงอจนอาจส่งผลให้โครงกระดูกดูผิดรูปผิดร่างไปทั้งตัว ท้ายที่สุด คีอัปเปก็ได้ตัดสินใจให้ทางบริษัท RCI สแกนกระดูกสันหลังเหล่านั้นและผลิตชิ้นส่วนจำลองในสภาพที่ไม่ได้รับความเสียหายขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติเพื่อให้ชิ้นส่วนทดแทนเหล่านั้นดูเป็นธรรมชาติเมื่อถูกนำไปจัดแสดง กระดูกจริงที่ได้รับความเสียหายจะถูกจัดแสดงไว้บริเวณด้านล่างของโครงกระดูก เพื่อใช้สื่อถึงจุดประสงค์หลักของนิทรรศการซึ่งก็คือ ความท้าทายนับตั้งแต่การการขุดค้นไปจนถึงการนำร่างของนาตาลีมาจัดแสดงในห้องโถงแห่งนี้

ขั้นตอนที่ 4: การจัดแสดงโครงกระดูก

หลายเดือนผ่านไปพร้อมกับการตัดสินใจอีกหลายพันครั้ง ทีมของบริษัท RCI ก็ได้เริ่มลงมือวางแผนการจัดวางกระดูกฟอสซิลและสร้างโครงเหล็กขึ้นตามรูปร่างของโครงกระดูกเพื่อพยุงและเสริมความแข็งแรงให้กับมัน เสาเหล็กเส้นหนาซึ่งออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักของกระดูกเชิงกรานและกระดูกขาหลังของนาตาลีถูกสร้างขึ้นเป็นอย่างแรก จากนั้นทีมงานจึงสร้างโครงเหล็กแนวนอนขึ้นตามส่วนเว้าโค้งตามธรรมชาติของกระดูกสันหลังของมัน การประกอบโครงกระดูกนั้นเป็นงานที่ต้องใช้ความอุตสาหะ ความละเอียดรอบคอบ และระยะเวลาอีกหลายเดือนในการทำ แต่ถึงกระนั้น กลับไม่มีส่วนใดของโครงกระดูกที่ถูกประกอบเอาไว้อย่างถาวร ในทางกลับกัน ชิ้นส่วนของโครงเหล็กสามารถเลื่อนเข้าออกได้ด้วยระบบสตับและซ็อกเก็ตหรือระบบเชื่อมสอดที่มีประสิทธิภาพ 

ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จมาถึงเมื่อเควิน ครูดวิกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคของบริษัท RCI วางกะโหลกศีรษะของนาตาลีไว้บนโครงกระดูกซึ่งมีความยาวกว่า 22 เมตรที่กำลังจะประกอบเสร็จ โครงกระดูกยักษ์ชิ้นนี้มีความยาวเป็น 2 เท่าของรสบัส และมีน้ำหนักราว ๆ 5 ตัน ซึ่งเกือบจะหนักเท่ารถบ้านบางชนิด หากนาตาลียังมีชีวิตอยู่ มันอาจจะหนักเป็น 2 เท่าของโครงกระดูกที่ประกอบขึ้น ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ โครงกระดูกที่ถูกประกอบร่างขึ้นอีกครั้งซึ่งมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ชิ้นนี้จะกลายเป็นดาวเด่นดวงใหม่ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งลอสแอนเจลิส

กระดูกแต่ละชิ้นจะถูกยึดเข้ากับตัวยึดที่ทำจากเหล็กก่อนจะนำไปประกอบเข้ากับโครงเหล็กขนาดใหญ่ซึ่งเป็นฐานให้กับโครงกระดูกของนาตาลี แม้ว่าตัวยึดเหล่านั้นจะทำหน้าที่ยึดกระดูกเข้าด้วยกันได้แน่นหนากว่าตอนที่มันยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อมีเหตุจำเป็นที่จะต้องนำกระดูกชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือกระดูกทั้งหมดไปทำการศึกษาและซ่อมแซม เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถถอดฟอสซิลออกจากตัวยึดได้อย่างง่ายดาย เพราะเพียงแค่หมุดประแจแอลไม่กี่ครั้งก็สามารถปลดชิ้นกระดูกออกจากตัวยึดได้ราวกับว่ามันเป็นเฟอร์นิเจอร์แบบน็อคดาวน์ชิ้นประณีตที่ประกอบจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว

เมื่อทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่ของบริษัท RCI จะทำการถอดแยกชิ้นส่วนกระดูกและโครงเหล็กทั้งหมดไปบรรจุลงในลังไม้จากนั้นจึงขนส่งข้ามทวีปกลับไปยังลอสแองเจลิส ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญได้ทำการประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของโครงกระดูกขึ้นอย่างรวดเร็วบนฐานที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับร่างของนาตาลีโดยเฉพาะ  หลังเวลาผ่านไปเกือบ 2 ทศวรรษนับตั้งแต่การพบเห็นฟอสซิลเหล่านี้เป็นครั้งแรก ในที่สุดชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่รวมอยู่ในโครงกระดูกชิ้นยักษ์ชิ้นนี้ก็ถูกนำเข้าไปจัดแสดงในบริเวณนิทรรศการ มันกลายเป็นดาวเด่นดวงใหม่ของพิพิธภัณฑ์นับแต่นั้นมา และชีวิตใหม่ของนาตาลีในฐานะสัตว์ที่สร้างความหวาดกลัวและอาจารย์ผู้ให้ความรู้แก่มนุษย์ก็เริ่มต้นขึ้น

เรื่อง ริชาร์ด คอนนิฟฟ์

ภาพถ่าย เคร็ก คัทเลอร์

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม ไดโนเสาร์ล้านปี ขุดหาชั่วชีวิต – การหวน ขุดไดโนเสาร์ “ภูเวียง” รอบ 30 ปี

Recommend