พบตัวอย่างการ ผ่าตัดกะโหลก เพื่อรักษาที่เก่าแก่ที่สุดในตะวันออกใกล้ เมื่อ 3,500 ปีก่อน – คาด ตายหลังผ่าได้ไม่นาน

พบตัวอย่างการ ผ่าตัดกะโหลก เพื่อรักษาที่เก่าแก่ที่สุดในตะวันออกใกล้ เมื่อ 3,500 ปีก่อน – คาด ตายหลังผ่าได้ไม่นาน

นักโบราณคดีพบโครงกระดูกที่ผ่านการ ผ่าตัดกะโหลก ในเมืองโบราณเทลเมกิดโด (Tel Megiddo) ประเทศอิสราเอล จากการประเมินเบื้องต้นพบว่าอยู่ในช่วงยุคสำริดระหว่าง 1,550 ปี ถึง 1,450 ปี ก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 3,500 ปีก่อน ซึ่งมีร่องรอยของการผ่าตัดกะโหลกที่เรียกว่า ‘ทรีฟีเนชัน’ (Trephination) หรือการเจาะกะโหลกให้เป็นรู

กระบวนการนี้ใช้เพื่อคลายความดันในกะโหลกศีรษะ หรือรักษาอาการโรคลมชักและไซนัสอักเสบ ตามตำราเมโสโปเตเมียโบราณยังแนะนำว่า การผ่าตัดนี้อาจช่วยรักษาอาการที่มีสภาพเหนือธรรมชาติได้ตามความเชื่อ โดยนักวิจัยระบุว่ามีหลักฐานเรื่องการทำทรีฟีเนชันมานานหลายพันปี แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีตัวอย่างชัดเจนในแถบตะวันออกใกล้

“เรามีหลักฐานว่า ทรีฟีเนชัน เป็นการผ่าตัดที่แพร่หลายมาเป็นเวลาหลายพันปี” ราเชล คาลิสเชอร์ (Rachel Kalisher) หัวหน้าทีมนักโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ในสหรัฐฯ กล่าว “แต่ในแถบตะวันออกใกล้นี้ เราไม่ได้เห็นบ่อยนัก”

“มีตัวอย่างเพียงสิบกว่าตัวอย่างเท่านั้นในภูมิภาคนี้ ความหวังของฉันคือการเพิ่มเติมตัวอย่างในบันทึกทางวิชาการ ซึ่งจะทำให้ความเข้าใจในสาขาของเราเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในเมืองโบราณในพื้นที่นี้มีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น”

การวิเคราะห์ดีเอ็นเอเบื้องต้นระบุว่า โครงกระดูก 2 ร่างนี้มีความใกล้ชิดกัน ซึ่งคาดว่าอาจเป็นพี่น้องกัน โดยผู้ที่เป็นพี่ชายคนโตมีอายุราว 20-40 ปี และมีร่องรอยว่ากะโหลกของเขาถูกตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดราว 30 มิลลิเมตร หรือ 1.2 นิ้ว น่าเสียดายที่ทางทีมวิจัยระบุว่า ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตทันทีหลังจากเริ่มการผ่าตัด อย่างมากก็ภายในไม่กี่วัน

อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ทราบว่าทำไมต้องใช้วิธีเจาะกะโหลกเพื่อรักษา การวิเคราะห์อื่น ๆ ชี้ว่าทั้ง 2 คนมีอาการป่วยเรื้อรังมานาน โดยกระดูกของพวกเขามีสัญญาณของรอยโรคที่คาดว่าอาจเป็นโรคเรื้อน ซึ่งสามารถแพร่กระจายภายในครอบครัวได้ โดยคนน้องเสียชีวิตเมื่ออายุราว 20 ปีพร้อมกับอาจมีวัณโรคร่วมด้วย

กระนั้น การที่พวกเขามีชีวิตมาจนถึงอายุ 20 ปี ทั้ง ๆ ที่เผชิญกับโรคร้ายหลายปี ก็ชี้ให้เห็นว่าทั้งคู่เป็นชนชั้นสูงและสามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีกว่าชนชั้นล่าง

“หลักฐานโครงกระดูกบอกเราว่าบุคคลนี้ต้องทนกับความเจ็บป่วยเป็นเวลานาน” คาลิสเชอร์กล่าว “เห็นได้ชัดว่าพี่น้องเหล่านี้อาศัยอยู่กับสถานการณ์ทางพยาธิสภาพที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งในเวลานั้นคงยากที่จะทนหากไม่มีความมั่งคั่งและสถานะทางสังคมที่ดีช่วย”

“ถ้าคุณเป็นชนชั้นสูง คุณอาจไม่ต้องทำงานมากนัก หากคุณเป็นชนชั้นสูง คุณอาจทานอาหารพิเศษได้ หากคุณเป็นชนชั้นสูง คุณอาจสามารถรอดชีวิตจากอาการป่วยหนักได้นานขึ้น เพราะคุณสามารถเข้าถึงการดูแลได้”

แม้จะเจ็บป่วย ทั้งคู่ก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคนนอกของครอบครัวหรือเป็นคนอื่น การรอดชีวิตได้นานขนาดนี้ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และได้รับการฝังศพตามประเพณีที่เหมาะสม เป็นอีกหนึ่งหลักฐานอันน่าอบอุ่นว่าผู้คนให้การดูแลกันและกันแม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photography by Kalisher et al.

ที่มา

https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371%2Fjournal.pone.0281020

https://www.iflscience.com/earliest-evidence-of-bronze-age-brain-surgery-discovered-in-israel-67643

https://edition.cnn.com/2023/02/22/world/bronze-age-brain-surgery-scn/index.html

https://www.sciencealert.com/evidence-of-one-of-the-earliest-brain-surgeries-has-been-uncovered-in-israel

 

Recommend