ถอดรหัสภาพ The Birth of Venus ของ ซานโดร บอตติเชลลี หนึ่งในงานศิลปะสุดประณีตจากยุคเรเนซองส์

ถอดรหัสภาพ The Birth of Venus ของ ซานโดร บอตติเชลลี หนึ่งในงานศิลปะสุดประณีตจากยุคเรเนซองส์

ซานโดร บอตติเชลลี จิตรกรเจ้าของภาพ The Birth of Venus ซ่อนสัญญะอะไรไว้บ้าง? ผลงานจากช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1480  ที่กลายเป็นหนึ่งในงานศิลปะที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก

The Birth of Venus จุดบรรจบของงานศิลปะ ตำนาน และความเชื่อทางศาสนา

The Birth of Venus หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ ซานโดร บอตติเชลลี (Sandro Botticelli) จิตรกรชื่อดังชาวอิตาเลียนแห่งยุคยุคเรเนซองส์ โดยภาพนี้ถูกวาดขึ้นในประมาณ ค.ศ. 1484–1486 ได้อิทธิพลมาจากงานวรรณกรรมแบบสัจนิยมของโกธิค และรับแรงบันดาลใจจากเพลง Metamorphoses ของกวีโรมันโบราณ

ตัวภาพเป็นฉากการถือกำเนิดของ เทพีวีนัส ยืนเปลือยอยู่ในเปลือกหอยเชลล์ขนาดยักษ์ ผมยาวสีบรอนซ์สะบัดพลิ้วไหว ใช้มือปกปิดหน้าอกและเรือนร่างด้วยท่าทีเขินอาย ด้านซ้ายของภาพมี เซฟีรัส (Zephyr ในภาษากรีก) เทพแห่งลมตะวันตกกำลังโอบอุ้มนางไม้และเป่าลมจากปากเพื่อพัดร่างของวีนัสขึ้นมาบนฝั่ง โดยด้านขวาของภาพมี โฮเร (Hora) เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิ กำลังรอต้อนรับการมาถึงของ เทพีวีนัส ด้วยเสื้อคลุมสีชมพูลายดอกไม้

The Birth of Venus ถูกยกย่องว่าเป็นภาพเขียนที่อ่อนโยนและงดงามที่สุดชิ้นหนึ่งในโลก และเป็นภาพที่ถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างมากที่เกิดขึ้นในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ทั้งความกล้าหาญในการกล้าวาดภาพสรีระของผู้หญิงอย่างเปิดเผย ถือว่าท้าทายสังคมมากในยุคที่ผู้คนยังเคร่งเรื่องของจริยธรรมและศาสนา

ทั้งนี้ ไม่น่าเชื่อว่า ภาพ The Birth of Venus ได้รับความนิยมยาวนานจนมาถึงยุคปัจจุบัน โดยเทพีวีนัสในภาพดนำมาตัดต่อ ล่อเลียนในวัฒนธรรมป๊อปอยู่เสมอ และยังถูกนำเป็นภาพจำของ Adobe Illustrator อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ภาพ The Birth of Venus นอกจากจะมีเรื่องของความสวยงามทางศิลปะแล้ว ซานโดร บอตติเชลลี ยังมีการแฝงนัยหลายประเด็นเอาไว้ในภาพ

แง่งามในมุมมองศิลปะ

The Birth of Venus คือจิตกรรมภาพวาดแบบแผงบนผ้าใบที่มีราคาถูก โดยเป็นภาพขนาดใหญ่จึงมีการนำผ้าใบสองชิ้นมาเย็บเข้าด้วยกันก่อนเริ่มวาด เรียกว่า เทคนิคการวาดแบบ Tempera grassa บนแผ่นไม้ หมายถึงเทคนิคการวาดภาพที่ทําให้สีแห้งเร็วและมีความคงทนถาวรด้วยการผสมเม็ดสีกับสารยึดเกาะที่ละลายน้ำได้

อย่างไรก็ตาม ซานโดร บอตติเชลลี จิตรกรผู้ให้กำเนิดวีนัส มีการสีรองพื้นเป็นเจสโซที่ย้อมเป็นสีน้ำเงิน และเทคนิคการวาดภาพของบอตติเชลลีที่ใช้แผ่นรองรับนั้นมีความแตกต่างกัน อาทิ ไม่มีชั้นสีเขียวชั้นแรกใต้เนื้อหนัง

ในการทดสอบทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้เปิดเผยถึงข้อสันนิษฐานหลายประการ เช่น พื้นลาย Gesso แต้มสีน้ำเงินมีความแตกต่างจากเทคนิคปกติที่ ซานโดร บอตติเชลลี เคยใช้ โดยมีสารตกค้างจำนวนหนึ่งที่เปิดเผยโดยการทดสอบทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ในดราฟท์แรก โฮเร ในภาพสวมรองเท้าแตะทรงเตี้ยแบบคลาสสิก และคอปกบนเสื้อคลุมของเธอยื่นออกมาถูกวาดเพิ่มเติมในภายหลัง รวมถึงทรงผมของวีนัสกับชายหนุ่มที่กำลังโอบอุ้มนางไม้ก็มีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง

ขณะเดียวกันยังมีการใช้ทองคำเป็นจำนวนมากเป็นเม็ดสีในการไฮไลท์บนเส้นผม ปีก สิ่งทอ เปลือกหอย และภูมิทัศน์ด้านหลัง และมีการพบไข่แดงวัสดุที่มีความเหนียวเป็นส่วนผสมในภาพด้วย

The Birth of Venus หรือ กำเนิดวีนัส ได้รับเสียงชื่นชมว่า มีความเคลื่อนไหวที่สอดประสานคล้องจองกันอย่างมีสุนทรียภาพ มีท่วงท่าและการเคลื่อนไหวอันอ่อนช้อย ความลื่นไหลเป็นอิสระของรูปทรง เช่น เส้นผมที่ยาวนุ่มสลวย ผ้าแพรที่ปลิวไสวไปตามสายลมราวกับมีชีวิต และมีความก้ำกึ่งระหว่างศิลปะแบบคริสเตียนกับเพแกน (นอกรีต)

ตำนานเทพีวีนัส

เทพีวีนัส คือเทพเจ้าโรมันที่เป็น เทวีแห่งความรัก (คือ เทพีอโฟรไดท์ ของกรีก) ความงาม เพศ ภาวะเจริญพันธุ์และความรุ่งเรือง ในตำนานเทพปกรณัมโรมัน เทพีวีนัส เกิดจากฟองทะเล พระนางทรงเป็นมารดาแห่งชาวโรมันผ่านพระโอรส ไอนีอัส (Aeneas) ผู้รอดจากสงครามกรุงทรอยแล้วหนีมายังอิตาลี

ในความเชื่อของชาวกรีกและโรมัน ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความงามทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ โดยพระนางเป็นชายาของ วัลแคน เทพแห่งไฟ และเป็นมารดาของ คิวปิด เทพแห่งความรัก ซึ่งเกิดจากการที่พระนางลอบเป็นชู้กับเทพมาร์ส เทพแห่งสงคราม

เทพีวีนัส ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความงามทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ แต่ในตำนานเทพปกรณัม พระนางก็มีความฉาวโฉ่ในหลายด้าน นอกเหนือจากการเป็นชู้จนมีลูกแล้ว พระนางยังเป็นต้นเหตุของสงครามกรุงทรอย จากการวิวาทระหว่างเทพีมิเนอร์วา กับ จูโน ว่า สามเทพีใครสวยงามที่สุด โดยจูปิเตอร์สั่งให้ ปารีส เจ้าชายแห่งเมืองทรอยมองแอปเปิลสีทองให้คนที่เขาคิดว่างดงามที่สุด

เทพีวีนัส ให้สัญญากับ ปารีส ว่า เธอจะมอบหญิงที่สวยงามที่สุดในโลกคือ เฮเลน มเหสีของพระเจ้าเมเนเลอัสให้กับเขา ด้าน เทพีมิเนอร์วา ให้สัญญากับ ปารีส ว่าจะทำให้ปารีสเป็นนักรบไม่มีวันพ่ายแพ้ในสนามรบ และ จูโน สัญญาว่า จะช่วยให้เขากลายกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ปารีส เลือกมอบแอปเปิลสีทองให้ เทพีวีนัส จากนั่นพระนางก็ช่วยปารีสลักพาตัว เฮเลน สาวงามสมบูรณ์แบบที่สุดของโลกตอนนั้นกลับมากรุงทรอย สร้างความเคียดแค้นให้ เมเนเลอัส รวมถึงชาวกรีกจำนวนมากที่รู้สึกว่าถูกเหยียดหยาม จุดเริ่มต้นสงครามที่ยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งจึงเริ่มต้นขึ้น

เทพีวีนัส ในภาพ The Birth of Venus จึงอาจจะสะท้อนภาพความไร้เดียงสาแค่เฉพาะช่วงเวลาถือกำเนิด แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้เป็นเทพ แต่พระนางก็มีความผิดพลาด และข้อบกพร่องไม่ต่างจากมนุษย์

ปรัชญาและความเชื่อทางศาสนา

นอกจากความพยายามที่จะสื่อถึงสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ หากมองอย่างตรงไปตรงมาภาพ The Birth of Venus อาจต้องการนำเสนอเพียงเรื่องของความงดงามของรูปร่างหญิงสาว แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก่อนนี้ผู้หญิงมักถูกสื่อผ่านภาพวาดเป็นตัวแทนของคนบาป น้อยครั้งที่ปรากฏเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ ทว่า วีนัส ของ ซานโดร บอตติเชลลี ถูกวาดออกมาในรูปแบบที่ไร้เดียงสา ทั้งใบหน้าหน้านิ่งไร้อารมณ์ อยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นเทพีกับมนุษย์ และท่าทางเฉยชาจึงค่อนข้างขัดแย้งกับเรือนร่างที่โป๊เปลือย

ความเรียบง่ายขององค์ประกอบและเหตุการณ์ทำให้ภาพของ The Birth of Venus อยู่ในสมดุลที่ไม่ดูยั่วยุจนเกินงาม ในส่วนของการตีความประเด็นการเปลือยกายซึ่งท้าทายความเชื่อและจารีตของศาสนาอย่างมากในยุคนั้น ซานโดร บอตติเชลลี อาจแค่ต้องการสื่อถึงความดีอันขาวสะอาดของเด็กเกิดใหม่ ความรักอันศักดิ์สิทธิ์อันไม่เกี่ยวเนื่องกับความโลกีย์ในแบบของมนุษย์ แต่เมื่อวาดออกจากเป็นหญิงสาว ไม่ใช่เด็กผู้หญิง เขาอาจเพียงอยากสะท้อนถึงอุดมคติ ความสมบูรณ์แบบของรูปร่างที่เป็นพิมพ์นิยมของยุคนั้นในภาพเดียว และยังมีการเชื่อโยงไปถึงเรื่องพระเจ้ากับธรรมชาติ (มี ดิน น้ำ ลม และไฟ อยู่ครบ) อีกด้วย

อนึ่ง ในทางศาสนา The Birth of Venus มีองค์ประกอบที่สอดคล้องของภาพฉากรับศีลจุ่มของพระเยซู ซึ่งในภาพ เทพีวีนัส ที่อยู่ตรงกลางอยู่ในตำแหน่งของพระคริสต์ โดยเทพีโฮเรอยู่ในตำแหน่งของนักบุญยอห์น และชายหนุ่มกับนางไม้ด้านซ้ายอยู่ในตำแหน่งของทูตสวรรค์ที่ลงมาเป็นพยานการรับศีลจุ่มของพระคริสต์

กระนั้น ในยุคของซาโวนาโรลาที่ประณามภาพนู้ดของพวกนอกรีตอย่างหนัก ภาพนี้ย่อมไม่ได้รับการยอมรับอย่างที่เคยเป็น เพราะไม่ใช่ศิลปะคริสต์ศาสนา โดยเคยกลายเป็นงานศิลปะล้าสมัยในยุคที่ทุกคนเน้นความสมจริง แต่ตัวของ ซานโดร บอตติเชลลี และผลงานก็ไม่ได้ถูกต่อต้านจากคริสต์จักร อาจเพราะเขาเองเป็นจิตรกรที่มีบทบาทในการรับใช้พระสันตะปาปาในการตกแต่งโบสถ์หลายแห่ง

ภาพ The Birth of Venus มีผู้หญิง 3 คน และผู้ชาย 1 คน ซึ่งผู้ชายอย่างเทพเซฟีรัสมาในรูปแบบผูกตัดกับนางไม้ และมีผมยาว (หากไม่มองเป็นปีก) สะท้อนถึงความเป็นเฟมินิสต์หรือแฝงปรัชญาสตรีนิยมของ ซานโดร บอตติเชลลี หรือไม่ ในยุคที่จิตรกรยังนิยมวาด-ปั้นภาพผู้ชาย

สอดคล้องกับการที่ ในปี ค.ศ.1502 เขาเคยถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในการลอบมีความสัมพันธ์กับผู้ชาย แต่อาจจะด้วยเส้นสายที่มี บอตติเชลลี สามารถรอดพ้นจากข้อกล่าวหาและกลับมาเป็นจิตรกรแถวหน้าของเมืองได้ รวมทั้งอาจเป็นที่มาของการที่ในช่วง 10 ปีก่อนเสียชีวิต บอตติเชลลี หันไปวาดภาพตามพระคัมภีร์ไบเบิลแทน และไม่มีผลงานที่ถูกว่าจ้างอีกเลย

ปัจจุบันภาพ The Birth of Venus ของ ซานโดร บอตติเชลลี 1 ในศิลปินเอกของอิตาลี ตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟิซิ เมืองฟลอเรนซ์ ในประเทศอิตาลี รอให้ผู้มาเยือนทั่วโลกให้เขาไปรับชมความงดงามของภาพเขียนแห่งยุค

 

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์ 

ภาพ National geographic

ข้อมูลอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Sandro_Botticelli

https://en.wikipedia.org/wiki/The_Birth_of_Venus


อ่านเพิ่มเติม : ไมเคิลแองเจโล ศิลปินยุคเรเนซองส์ผู้เชื่อมโยงศิลปะกับศาสนา คู่แข่งของ เลโอนาร์โด ดา วินชี

Recommend