“ห้าปีหลังหลังเพลิงผลาญทำลายเกือบสิ้น อาสนวิหารโด่งดังที่สุดของฝรั่งเศส กลับมาเปิดอีกครั้ง ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวความสำเร็จของการบูรณปฏิสังขรณ์อันน่าทึ่ง และการจุดไฟศรัทธาแห่งความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาใหม่”
เพลิงที่เกือบทำลายอาสนวิหารน็อทร์ดามในปารีส เริ่มต้นจากใต้หลังคา ในห้องใต้หลังคาโบราณที่สร้างด้วยไม้ ใกล้ฐานของยอดแหลม ไฟเริ่มลุกไหม้หลังหกโมงเย็นเล็กน้อยของวันที่ 15 เมษายน ปี 2019 ภายในโบสถ์ พิธีมิสซากำลังดำเนินอยู่ ผมกับภรรยามาถึงปารีสหนึ่งวันก่อนหน้า และราวหนึ่งทุ่มของคืนวันจันทร์นั้น เราบังเอิญผ่านไปทางนั้นพอดี จากหน้าต่างรถแท็กซี่ของเราบนสะพานปงแซ็ง-มีแชล เราสะดุดตากับไฟสีส้มวูบวาบอยู่บนหลังคา หลายนาทีต่อมา เราเห็นเปลวไฟลามขึ้นไปยังยอดแหลมที่เป็นไม้ ความรู้สึกไม่อยากเชื่อสายตาตัวเองแปรเปลี่ยนเป็นความตระหนก น็อทร์ดามกำลังไฟไหม้อยู่จริง ๆ
เป็นเวลายาวนานกว่า 800 ปีแล้ว น็อทร์ดามหยัดยืน ณ ศูนย์กลางชีวิตของชาวฝรั่งเศส และเป็นฉากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทั้งทางศาสนาและทางโลก ย้อนหลังไปเมื่อปี 1239 พระเจ้าหลุยส์ที่เก้า หรือที่รู้จักในอีกพระนามว่า นักบุญหลุยส์ ทรงมอบสิ่งที่เชื่อว่าเป็นมงกุฎหนามของพระเยซูให้แก่อาสนวิหารนี้ ต่อมาในปี 1944 ขณะกระสุนปืนของฝ่ายเยอรมันยังว่อนอยู่ข้างนอก นายพลชาร์ล เดอ โกล เข้าร่วมพิธีมิสซา เพื่อเฉลิมฉลองการปลดปล่อยกรุงปารีส ตลอดช่วงเวลาเหล่านี้ น็อทร์ดามรอดพ้นจากระเบิดและเปลวเพลิงที่ทำลายอาสนวิหารอื่น ๆ มาได้เป็นส่วนใหญ่ และกลายเป็นอนุสรณ์สถานที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งเป็นสถานที่ซึ่งคนนับล้านถือเป็นสักการสถานอันศักดิ์สิทธิ์
เมื่อเรากลับไปยังที่เกิดเหตุอีกครั้งในเวลาต่อมาของคืนนั้น ยอดแหลมถล่มลงมาแล้ว และหลังคาตะกั่วก็ละลายไปสิ้น จากความมืดริมฝั่งขวาของแม่น้ำ เราจ้องมองหน้าจั่วหินของปีกหรือมุขตามขวางของโบสถ์ด้านทิศเหนือ และมองผ่านหน้าต่างกุหลาบบานเล็กเข้าไปเห็นเปลวเพลิงลุกไหม้โครงไม้โอ๊กที่ใช้ค้ำยันหลังคา ตามริมฝั่งและสะพานของแม่น้ำแซนผู้คนนับพันรวมตัวกันเฝ้าดู ถูกดึงดูดด้วยภัยพิบัติและชั่วขณะแห่งการสูญเสียร่วมกัน หลายคนขับบทสวดวันทามารีอา พวกเราเป็นผู้มาเยือน แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ในฝูงชน ที่นี่คือบ้าน และชิ้นส่วนหนึ่งของหัวใจพวกเขาเหมือนกำลังจะตาย
ห้าปีครึ่งให้หลัง อาสนวิหารน็อทร์ดามได้รับการชุบชีวิตใหม่ ต้นเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา อาร์ชบิชอปหรือ พระอัครสังฆราชแห่งปารีสได้เฉลิมฉลองพิธีมิสซานักขัตฤกษ์ในโบสถ์ที่บูรณะฟื้นฟูแล้ว และประตูเปิดต้อนรับศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษให้เข้าถึงการทำงานตลอดหลายปีของทีมสถาปนิก ช่างฝีมือ และนักวิทยาศาสตร์ ที่นำมาสู่ช่วงเวลาสำคัญนี้ เมื่อฤดูร้อนปี 2021 ผมกลับไปตอนที่งานบูรณปฏิสังขรณ์กำลังเริ่มขึ้น ฤดูร้อนที่ผ่านมา ผมกลับไปอีกครั้งเพื่อเป็นสักขีพยานในการทำงานช่วงสุดท้าย ผมมาถึงจุดที่รู้สึกซาบซึ้งในความมานะบากบั่นที่ผู้คน นับพันทุ่มเทให้ ไม่เพียงเพื่ออนุรักษ์อนุสรณ์สถานยุคกลางอันงดงามนี้ไว้ แต่เพื่อฟื้นฟูให้กลับมาเป็นโบสถ์ที่มีชีวิตด้วย
ไม่เคยมีข้อกังขาว่าน็อทร์ดามจะต้องได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ แต่จะในรูปแบบใดต่างหาก หลังเหตุเพลิงไหม้ เอมมานูแอล มาครง ประธานาธิบดีฝั่งเศส ประกาศว่าจะบูรณปฏิสังขรณ์อาสนวิหารแห่งนี้ให้ “สวยงามยิ่งกว่าครั้งใด” เขาตั้งเป้าหมายอย่างทะเยอทะยานว่างานบูรณะต้องแล้วเสร็จภายในปี 2024 และใช้งบประมาณจากเงินบริจาค 846 ล้านยูโรที่ได้รับนับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติเป็นต้นมา
มาครงให้ข้อเสนอแนะว่า น่าจะดีหากมีสิ่งใหม่ๆ ในทางโครงสร้าง แทนการสร้างยอดแหลมแบบเก่า สถาปนิกพากันตอบรับอย่างกระตือรือร้นด้วยแนวคิดหลุดไปไกลถึงหลังคาเป็นกระจก หรือยอดแหลมเป็นคริสตัล นักอนุรักษ์ต่างขนลุกขนพอง รวมถึงฟีลิป วิลเนิฟ หัวหน้าสถาปนิกด้านอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งตอนเกิดเหตุเพลิงไหม้ เป็นหัวหน้าโครงการบูรณะส่วนต่างๆ ของน็อทร์ดามอยู่ก่อนแล้ว จากมุมมองของวิลเนิฟ การเสริมยอดแหลมสมัยใหม่เข้าไปไม่ต่างกับการทำศัลยกรรมจมูกให้ “โมนาลิซา” ขณะที่การบูรณะน็อทร์ดามให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยใช้หินปูน ไม้โอ๊ก และตะกั่ว ตามที่ชอง-มีแชล เลอนีโย นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมบอกผมเมื่อปี 2021 จะเป็นการกระทำเชิงถ่ายถอน หรือเป็นหนทางลบล้างความทรงจำอันโหดร้ายของค่ำคืนนั้น และเป็นการไว้อาลัยให้กับการสูญเสียโครงสร้างดั้งเดิม
ท้ายที่สุด ฝั่งนักอนุรักษ์เป็นฝ่ายชนะ น็อร์ทดามได้รับการบูรณะให้กลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนไฟไหม้ หรือเหมือนกับที่เออแฌน-เอมมานูแอล วีโอเล-เลอ-ดุก ผู้บุกเบิกการบูรณะปฏิสังขรณ์ ทำไว้เมื่อศตวรรษที่สิบเก้า ทุกประการ “เราไม่มีสิทธิ์แตะต้องมัน เราแค่ทำงานบูรณะครับ” วิลเนิฟกล่าวและเสริมว่า “เราจะไม่ทิ้งร่องรอยใดไว้จากการผ่านเข้ามาของเรา”
กระนั้น สำหรับใครก็ตามที่เคยมาเยือนก่อนหน้านี้ ภายในอาสนวิหารจะดูเหมือนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง คือจะดูสว่างไสวกว่าที่ใครก็ตามที่ยังมีชีวิตอยู่เคยเห็น ผนัง กระจกสี ภาพจิตรกรรม และประติมากรรม ทั้งหมดได้รับการทำความสะอาดและปฏิสังขรณ์ในคราวเดียวกันเป็นครั้งแรกนับจากศตวรรษที่สิบเก้าเป็นต้นมา ผู้มาเยือน “จะตกตะลึงพรึงเพริดไปกับสภาพภายในของอาสนวิหารครับ” ฟีลิบ จอสต์ ประธานองค์กรสาธารณะเฉพาะกิจ ผู้กำกับดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์ กล่าว
แต่สภาพภายในจะมีความใหม่ในอีกแง่หนึ่ง ขณะที่ตัวอาคารเป็นสมบัติของและบริหารจัดการโดยรัฐฝรั่งเศส ในฐานะที่เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ แต่สิ่งตกแต่งภายในซึ่งเสียหายอย่างมากระหว่างเกิดเพลิงไหม้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่วัตถุทางประวัติศาสตร์ และเป็นสมบัติของสังฆมณฑลโรมันคาทอลิกแห่งปารีส เจ้าหน้าที่ฝ่ายศาสนจักรเลือกดำเนินงานตกแต่งใหม่ทั้งหมด
เมื่อต้นฤดูร้อนที่ผ่านมา ผมแวะไปเยี่ยมโรงหล่อในหุบเขาโรน เพื่อดูเครื่องเรือนใหม่ส่วนหนึ่งของโบสถ์ ที่นั่น ผมพบกับกีโยม บาร์เด ประติมากรและนักออกแบบที่สังฆมณฑลมอบหมายให้รังสรรค์แท่นบูชาใหม่ ภาชนะศักดิ์สิทธิ์ และวัตถุพิธีกรรมอื่นๆ ในห้องเตาเผา เราดูคนงานสวมกะบังครอบหน้ากับผ้ากันเปื้อนผืนหนาสองคน เททองสัมฤทธิ์หลอมเหลวที่ร้อนจัดจนเรืองแสงสีขาวลงไปในแบบหล่อชุดหนึ่ง ชิ้นส่วนหยาบๆ ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ของอ่างล้างบาปใหม่ของบาร์เดวางอยู่บนพื้นใกล้ ๆ แท่นบูชาของเขาตั้งรอการขัดเงาอยู่ในห้องถัดไป
แท่นบูชาทองสัมฤทธิ์มีขนาดใหญ่โต และเหมือนฝังตรึงอยู่กับที่ แต่ด้านข้างที่โค้งเว้าทำให้นึกถึงแขนที่ยกชูขึ้นคู่หนึ่ง ความหวังก็คือ มันจะต้องสื่อสารได้ไม่เฉพาะกับเหล่าศาสนิกชน แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่า ที่ไม่คุ้นเคยกับศาสนจักรคาทอลิก หรือกระทั่งคริสต์ศาสนา “พวกเขาต้องเข้าใจได้เหมือนๆ กันครับ” บาร์เดบอก “พวกเขาต้องเข้าใจได้ว่า เรากำลังพูดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์”
หนึ่งสัปดาห์ต่อมา ตอนเดินเข้าสู่ทางเดินกลางโบสถ์ ผมพบว่าเป็นเรื่องยากในตอนแรกที่จะซาบซึ้งกับความงามของสถานที่ มันยังเป็นพื้นที่ก่อสร้างที่วุ่นวาย รอบตัวเรามีคนงานกำลังรื้อนั่งร้าน ร้อยสายไฟ ขัดพื้นหินอ่อนกลุ่มเล็ก ๆ ของเราเดินลึกเข้าไปในอาสนวิหาร แหงนหน้าพินิจโครงสร้างทรงโค้งสูงลิบ และข้ามปีกตามขวางของโบสถ์เข้าไปในพื้นที่ของนักร้องประสานเสียงตรงสุดปีกตะวันออกของโบสถ์ ในกลุ่มวัดน้อยตรงนั้น เราสามารถเห็นงานจิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับการชุบชูขึ้นใหม่อย่างอลังการซึ่งมีอายุย้อนไปถึงการบูรณะในศตวรรษที่สิบเก้าของวีโอเล-เลอ-ดุก ด้านนอกวัดน้อยหลังหนึ่ง นักปฏิสังขรณ์ผู้หนึ่งคุกเข่ากับหิน เธอกำลังใช้พู่กันชั้นดีแต้มสีชมพูลงไปบนเสาที่วาดประดับด้วยลายดอกสามกลีบ ภายในพื้นที่จำกัดนี้ บริษัทแขนงต่างๆ ราว 250 บริษัทที่ว่าจ้างคนงานร่วม 2,000 ชีวิต สามารถประสานความร่วมมือและทำงานทีละขั้นตอนได้อย่างราบรื่นตลอดโครงการ “มันได้ผลเพราะผู้คนมีความสุขและภูมิใจที่ได้ทำงานที่น็อทร์ดามครับ” จอสต์อธิบาย
เราเดินออกมาข้างนอก แล้วขึ้นลิฟต์ที่พาเราผ่านนั่งร้านขึ้นไปที่ยอดปีกตามขวางของโบสถ์ด้านทิศเหนือ เราออกจากลิฟต์ที่ห้องใต้หลังคาโบสถ์ ตอนนี้เราอยู่บนโครงสร้างทรงโค้งส่วนที่เป็นเพดาน ในบริเวณที่ห้ามไม่ให้สาธารณชนเข้า ภายในส่วนของโบสถ์ที่เสียหายยับเยินที่สุดจากไฟไหม้ เมื่อแหงนหน้าขึ้นไป เราเห็นท้องฟ้าสีน้ำเงินผ่านโครงยึดเป็นไม้ซุงที่ยังไม่ได้คลุมด้วยวัสดุมุงหลังคาตะกั่ว เราเคลื่อนตัวอย่างระมัดระวังผ่านทางเดินที่มีคนงานขวักไขว่ไปยังจุดตัดกลางโบสถ์ ตรงที่ปีกตามขวางสองข้างของโบสถ์มาบรรจบกับทางเดินกลางโบสถ์และพื้นที่ของนักร้องประสานเสียง ฐานของยอดแหลมที่พังทลายลงมาตกทะลุโครงสร้างทรงโค้งตรงจุดนี้ลงไปทับแท่นบูชาหลักบนพื้นเบื้องล่าง ทีมช่างหินเพิ่งซ่อมปิดรูโหว่แล้วเสร็จเมื่อไม่นานมานี้
เมื่อเดินต่อเข้าไปในห้องใต้หลังคาเหนือทางเดินกลางโบสถ์ เราก็เข้าสู่ “ป่า” โครงไม้โอ๊กยึดหลังคารูปสามเหลี่ยมที่สร้างขึ้นใหม่ ในการสร้างให้เหมือนหลังคาต้นฉบับจากยุคกลาง คนงานก่อสร้างต้องพึ่งเทคนิคโบราณ พวกเขาสกัดไม้ซุงท่อนใหญ่ยักษ์ด้วยขวานมือแบบดั้งเดิมที่หล่อและตีขึ้นด้วยมือเช่นกัน จากนั้นติดตั้งคานไม้ในรูปโครงขัดแตะเป็นตารางซับซ้อน โดยทำการประกบไม้แบบเข้าเดือยตามจุดต่อ
กรอบงานก่อสร้างใหม่ดังกล่าวยอมประนีประนอมให้ความสมัยใหม่ที่สำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือการป้องกันอัคคีภัย โครงยึดหลังคาชนิดทนไฟเหนือจุดตัดกลางโบสถ์จะแยกยอดแหลมและปีกตามขวางทั้งสองด้านออกจากทางเดินกลางโบสถ์กับพื้นที่ของนักร้องประสานเสียง ดังนั้นไฟจะไม่มีวันลามไหม้ทั้งห้องใต้หลังคาได้อีก หากมีไฟลุกไหม้ขึ้นมาในพื้นที่นี้ ท่อพ่นละอองน้ำที่กระจายอยู่ทั่วห้องใต้หลังคาจะช่วยสกัดไฟไว้ ก่อนที่นักดับเพลิงจะรุดขึ้นบันไดหลายร้อยขั้นไปถึง
เมื่อออกจากห้องใต้หลังคาด้านหน้าโบสถ์ เราไต่ขึ้นบันไดวนเป็นหินแคบๆ ของหอคอยใต้ ผ่านระเบียงที่ วีโอเล-เลอ-ดุกประดับประดาด้วยรูปปั้นสัตว์อัปลักษณ์นานาชนิด ที่ยอดหอคอย เราวนไปทางตะวันออก แม่น้ำแซน ที่ลงว่ายน้ำได้แล้วแต่ยังเป็นสีน้ำตาล กระเพื่อมระยิบระยับในแสงอาทิตย์ยามเช้า จากพื้นที่ของนักร้องประสานเสียง เราได้ยินเสียงช่างหลังคากำลังตอกแผงตะกั่วเข้าที่ การตัดสินใจใช้ตะกั่วของสถาปนิก โดยเฉพาะหลังเปลวเพลิงกระจายวัสดุเป็นพิษดังกล่าวไปทั่วอาสนวิหาร และกระทั่งเลยไปถึงภายนอก ก่อให้เกิดการโต้เถียงในหมู่สาธารณชน แต่นักอนุรักษ์ยืนยันว่า มันทนทานและกันซึมได้ดีกว่าทางเลือกอื่น ๆ และงานประดับประดาอันประณีตจะไม่สามารถทำขึ้นมาให้เหมือนของเดิมได้หากไม่ใช้วัสดุนี้
ตอนนี้ยอดแหลมใหม่อยู่ในระดับบสายตาของเราแล้ว ทั้งภายในและภายนอก มันเป็นสำเนาที่ซื่อสัตย์ ทุกประการต่อผลงานอันประณีตซับซ้อนของวีโอเล-เลอ-ดุก ที่สร้างตามภาพลายเส้นของเขาในศตวรรษที่สิบเก้า ข้อยกเว้นเดียวได้แก่ไก่ทองเหลืองชุบทองที่จุดสูงสุดของมัน ซึ่งเรามองเห็นแวววาวอยู่กลางแสงอาทิตย์ เป็นผลงานการออกแบบของวิลเนิฟเอง
ไก่ที่สร้างแทนของเดิมถูกชักรอกขึ้นไปติดตั้งเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2023 ภายในบรรจุพระธาตุของสองนักบุญอุปถัมภ์แห่งปารีส [ได้แก่นักบุญเดอนี และนักบุญเฌอเนอเวียฟ] และม้วนหนังสือระบุชื่อคนงานบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งหมด 2,000 คน มันยังมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ด้วย ไก่คือสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ฝรั่งเศส ของความหวัง และการฟื้นคืนชีพ และในกรณีนี้ เนื่องจากวิลเนิฟมอบปีกรูปทรงเหมือนเปลวเพลิงให้กับนกตัวนี้ มันจึงเป็นสัญลักษณ์ของอาสนวิหารที่ฟื้นคืนชีพจากเถ้าถ่านด้วย ไก่ตัวเดิมได้รับความเสียหายรุนแรงจากการตกลงมาระหว่างไฟไหม้ แต่ได้รับการกอบกู้ไว้ และจะนำมาจัดแสดงในฐานะอนุสรณ์ชิ้นหนึ่งจากค่ำคืนนั้น
ระหว่างกลับลงมาจากหอคอย เราผ่านหน้าแกรนด์ออร์แกนบนระเบียงในผนังด้านหน้า มันรอดจากไฟไหม้ แต่ต้องรื้อแยกเป็นชิ้นๆ ทั้งหลังเพื่อทำความสะอาด และนักตั้งเสียงต้องใช้เวลาหลายเดือนในการไล่แต่งเสียงท่อออร์แกนทั้ง 8,000 ท่อทีละท่อ โดยหันหลังให้กับท่อออร์แกนสูงตระหง่าน เรามองออกไปที่ผนังและโครงสร้างโค้งของทางเดินกลางโบสถ์
กระจกสีส่องสกาวขึ้นมาอีกครั้งตามบานหน้าต่างสูง เขม่าจากเพลิงไหม้ ตะกั่ว และคราบสกปรกจากหลายยุคสมัยถูกกำจัดออกจากผนังหินจนเห็นเป็นสีครีมสว่างไสว หินหลักรูปใบไม้สีทองตามยอดโค้ง และเหล่าสันโค้งตัดด้วยเส้นสีแดงเข้มอย่างละเมียดละไม ทำให้โครงสร้างโค้งดูงดงามไร้ที่ติ “ความพึงพอใจสูงสุดของผม คือเมื่อคุณดูไม่ออกว่า โครงสร้างโค้งเดิมพังทลายลงมาแล้วถูกสร้างขึ้นใหม่” วิลเนิฟบอกผมในเวลาต่อมา
งานบูรณปฏิสังขรณ์มีส่วนน่าชื่นชอบหลายอย่าง เลอนีโยผู้เป็นนักประวัติศาสตร์ กล่าว แต่ “การลอกอันโหดร้าย” ของงานบูรณะผนังด้วยการพ่นน้ำยางเคลือบแล้วลอกออก ส่วนหนึ่งเพื่อดึงคราบตะกั่วออกมา ทำให้หินเป็นสีขาวโพลนมากจนบางคนจะรู้สึกว่า อาสนวิหารนี้สูญเสียองค์ประกอบของคุณลักษณะทางความศักดิ์สิทธิไป “จะต้องมีคราบสกปรกและการควบแน่นสะสมไปอีก 40 ปี เราถึงจะได้เห็นเป็นสีเทาๆ แบบที่ตาเราชื่นชอบ” เลอนีโยกล่าว
สำหรับเจ้าหน้าที่ศาสนจักร ความศักดิ์สิทธิ์ของน็อทร์ดามไม่ได้มาจากตัวอาคาร มากเท่ากับจากสิ่งที่เกิดขึ้นข้างใน “เหนือสิ่งอื่นใด อาสนวิหารแห่งนี้คือศาสนสถาน” มงซินญอร์ (พระคุณเจ้า) โอลีวิเย รีบาโด ดูมา กล่าวและเสริมว่า “ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อพระสิริของพระผู้เป็นเจ้า” รีบาโด ดูมา เป็นพระอธิการของน็อทร์ดาม ซึ่งหมายความว่า ท่านจะเป็นผู้บริหารสถานที่นี้เมื่อเปิดใช้ ท่านคาดว่าจะมีคนมาเยือนน็อทร์ดามมากเป็นประวัติการณ์ถึง 15 ล้านคน ในปี 2025 นี้ และท่านไม่โปรดจะเรียกพวกเขาว่านักท่องเที่ยว คำว่า “ผู้มาเยือน” ดูเหมาะกว่าสำหรับสิ่งที่ท่านคาดว่าพวกเขาจะได้ประสบ เมื่ออยู่ข้างใน ท่านหวังว่า ผู้มาเยือนอาจกลายเป็นผู้จาริกแสวงบุญคนหนึ่ง การตกแต่งใหม่ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้เกิดความรู้สึกหรือประสบการณ์นี้
นอกจากเครื่องเรือน ภาชนะศักดิ์สิทธิ์ และวัตถุพิธีกรรมของบาเดผู้เป็นประติมากรแล้ว จะมีเก้าอี้ใหม่เป็นไม้โอ๊กแท้อีก 1,500 ตัว ขณะที่การจัดแสงใหม่จะใช้ชุดไฟสปอตไลต์แอลอีดี 1,550 ดวงที่ตั้งโปรแกรมได้ แต่ละดวงสามารถปรับความเข้มและโทนของแสงสีให้ต่างกันได้เพื่อสอดคล้องกับฤดูกาล และประเภทของพิธีกรรมที่ดำเนินอยู่ในอาสนวิหาร ตัวอย่างเช่นบรรยากาศใต้แสงเทียนสลัวในพิธีคืนตื่นเฝ้าปัสกา (Easter Vigil) สามารถแปรเป็นแสงเจิดจ้าเบิกบานได้ในเช้าวันอีสเตอร์ “สิ่งสำคัญคือการปฏิบัติกับอาสนวิหารนี้โดยถือเป็นสถานที่ที่มีชีวิตครับ” ปาทริก รีมู ประติมากรผู้ออกแบบแสงสว่าง กล่าว
หลังเพลิงไหม้ คณะบาทหลวงหารือกันว่าจะจัดสร้างพื้นที่เล็กๆ ภายในส่วนของนักร้องประสานเสียงเพื่อให้ชาวคาทอลิกประกอบพิธีมิสซาได้อย่างสงบในหมู่พวกเขาเองและแยกจากผู้มาเยือนอื่นๆ แต่ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจทำในสิ่งตรงกันข้าม พิธีมิสซาทั้งหมดจะเฉลิมฉลองที่แท่นบูชาหลักตรงทางเดินกลางโบสถ์ โดยปราศจากเครื่องกีดขวางไม่ให้นักท่องเที่ยวเตร็ดเตร่เข้าไปท่ามกลางที่ชุมนุมประกอบพิธีกรรม “เราตกลงจะให้ความสำคัญกับการแสดงออก ซึ่งศรัทธาเหนือความสงบของการสวดอธิษฐานครับ” รีบาโด ดูมาบอกผม
วัดน้อยต่างๆ ซึ่งเดิมมีลักษะผสมปนเปมาตลอดจะกลายเป็น “เส้นทางของผู้จากริกแสวงบุญ” ที่บอกเล่าเรื่องราวอันสอดคล้องด้วยงานจิตรกรรมและประติมากรรมเกี่ยวเนื่องกับศาสนจักรคาทอลิก ทั้งเรื่องราวของเหล่าประกาศกในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม ชีวิต ความตาย และการฟื้นคืนชีพของพระเยซู ตลอดจนนักบุญผู้เป็นตัวแทนค่านิยมต่างๆ ของศาสนจักร โดยแอปพลิเคชั่นในมือถือจะอธิบายทุกสิ่งอย่างในหลายภาษา
ในมุขโค้งด้านสกัดหรือมุขตะวันออกที่อยู่ทางตะวันออกสุดของโบสถ์ ผู้มาเยือนจะเดินผ่านมรดกล้ำค่าที่สุดชิ้นหนึ่งของศาสนจักร นั่นคือมงกุฎหนาม (Crown of Thorns) ที่ว่ากันว่าสวมลงบนศีรษะของพระเยซูก่อนการตรึงกางเขน น็อทร์ดามไม่เคยโฆษณาการมีอยู่ของสิ่งนี้มากนัก สถาปนิก ซิลแว็ง ดูบิสซอง ได้รับมอบหมายให้ออกแบบหีบวัตถุมงคลหรือหีบสักการะใบใหม่เพื่อจัดแสดงมงกุฎให้โดดเด่นกว่าเดิม หรือขยายความสำคัญของ “สิ่งที่สะท้อนถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างไม่น่าเชื่อ” เขาบอก ศิลปวัตถุชิ้นนี้เป็นหรีดกกสานแห้งสนิท และหนามถูกหักออกไปนานแล้ว ดูบิสซองตอบโจทย์ด้วยฉากหลังแท่นบูชาทำจากไม้สนซีดาร์ขนาดสูง 3.6 เมตร กว้าง 2.6 เมตร ตรงกลางเป็นครอบแก้วรูปครึ่งทรงกลม ซึ่งพื้นผิวด้านหลังที่โค้งเว้าจะทาสีน้ำเงินเข้ม แต่จะได้รับการจัดแสงแบบที่ทำให้พื้นผิวไม่สะดุดตา เมื่อมองเข้าไปก็จะให้ความรู้สึกเหมือนมองเข้าไปในท้องฟ้าไร้ที่สิ้นสุด มงกุฎหนามจะแขวนอยู่ในนี้
ในคืนเพลิงไหม้ ฝูงชนตามฝั่งแม่น้ำแซนไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นในอาสนวิหาร เรามองไม่เห็นนักดับเพลิงเร่งรุดขึ้นไปที่หอระฆังด้านเหนือ ทันเวลาอย่างเฉียดฉิวที่ช่วยปกป้องมันไม่ให้ถล่มลงมา ซึ่งอาจพาให้ทั้งอาคารถล่มตามมาด้วย เรามองไม่เห็นนักดับเพลิงและเจ้าหน้าที่โบสถ์เข้าไปในโครงสร้างที่กำลังลุกไหม้ เพื่อกู้มงกุฎหนามและศิลปวัตถุที่ไม่อาจประเมินค่าชิ้นอื่นๆ
เมื่อเดินเข้าไปในน็อร์ทดาม สิ่งแรกที่คุณจะได้เห็นคืออ่างล้างบาปทองสัมฤทธิ์ของบาร์เด อันเป็นประตูสู่ศาสนจักรคาทอลิก แท่นบูชาใหม่ของเขาจะมองเห็นได้ตรงจุดตัดกลางโบสถ์ใต้ยอดแหลมใหม่ “ในสังคมซึ่งเรามักถูกล่อลวงโดยความสิ้นหวัง การเปิดอาสนวิหารนี้อีกครั้งเป็นสัญญาณแห่งความหวังครับ” รีบาดิ ดูมา กล่าวและเสริมว่า ชั่วเวลานั้นควรทรงพลังและตราตรึง เฉกเช่นที่คนนับล้านในปารีสและรอบโลกเห็นน็อทร์ดามลุกเป็นไฟ นี่จะเป็น “กระแสแห่งความปีติอย่างหนึ่ง ซึ่งผมหวังว่าจะแผ่ซ่านไปทั่วโลก”
เรื่อง โรเบิร์ต คุนซิก
ภาพถ่าย โทมัส แวน ฮูทรีฟ