100 อัศจรรย์ทาง โบราณคดี
ความเข้าใจในประวัติศาสตร์มนุษย์รุดหน้าไปมากในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา เมื่อการขุดสำรวจทาง โบราณคดี ในหกทวีปซึ่งได้แรงส่งจากความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีช่วยคลี่คลายเรื่องราวว่าด้วยบรรพบุรุษของเรา การขุดหาสมบัติมีมาเนิ่นนานพอๆกับหลุมศพแห่งแรกที่ถูกปล้น แรงกระตุ้นให้ขุดหาของล้ำค่าที่ถูกฝัง คือความหมกมุ่นในใจนักแสวงโชคนับไม่ถ้วน ทำให้บางคนร่ำรวยขึ้นมาและอีกหลายคนเจียนบ้า “มีคนจำนวนหนึ่งใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตค้นหา คานูซ หรือสมบัติที่ซ่อนเร้น” แมรี เอไลซา โรเจอร์ส นักเดินทางชาวอังกฤษ เขียนไว้หลังไปเยือนปาเลสไตน์ในช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้า “บางคนกลายเป็นคนสติเฟื่อง ละทิ้งครอบครัว และถึงแม้พวกเขามักตกยากเสียจนต้องเคาะประตูขอทานไปทีละบ้าน และจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้าน แต่พวกเขายังเชื่อว่าตัวเองร่ำรวย” ใช่ว่านักแสวงโชคที่โรเจอร์สพบจะเป็นวณิพกพเนจรผู้สิ้นหวังไปเสียทั้งหมด เธอยังได้พบพาน ซาฮิรี ซึ่งแปลคร่าวๆได้ว่าผู้วิเศษ “ที่เชื่อในพลังแห่งการมองเห็นสิ่งของที่ฝังอยู่ใต้ดิน” ผู้มีญาณทิพย์ที่ได้รับความนับหน้าถือตาเหล่านี้มักเป็นสตรี พวกเธอใช้การเข้าฌาน ซึ่งโรเจอร์สบอกว่าทำให้พวกเธอบรรยายสถานที่ฝังสมบัติล้ำค่าได้ อย่างละเอียด โบราณคดี เปลี่ยน “สิ่งของที่ฝังอยู่ใต้ดิน” เหล่านั้นจากสมบัติธรรมดาๆมาเป็นเครื่องมือทรงพลังที่เอื้อให้เรา ได้เห็นอดีตอันซ่อนเร้นแวบหนึ่ง ในช่วงแรกๆ ศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยโรเจอร์สนี้แทบไม่ต่างอะไรจากการลักลอบขุดสมบัติแบบเดิม เมื่อชาวอาณานิคมจากยุโรปแข่งกันหาเครื่องเพชรและประติมากรรมโบราณจากดินแดนแสนไกลมาประดับตู้โชว์ แต่ศาสตร์ใหม่นี้ยังทำให้เกิดยุคแห่งการค้นพบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งพลิกความเข้าใจที่เรามีต่อความหลากหลายของเผ่าพันธุ์เรา รวมถึงความเป็นมนุษย์ร่วมกันของเราด้วย หากนี่ฟังดูเหมือนการพูดเกินจริง ลองนึกภาพโลกที่ปราศจาก โบราณคดี ไม่มีเมืองหรูหราอย่างปอมเปอี ไม่มีเมืองของชาวมายาที่เฟื่องฟูกลางป่าชัฏ และกองทัพทหารดินเผาของจักรพรรดิจีนก็คงยังซ่อนอยู่ใต้ดินดำๆ กลางทุ่งนา หากไร้ซึ่ง โบราณคดี เราจะรู้จักอารยธรรมยุคแรกๆของโลกเพียงน้อยนิด ไม่มีศิลาจารึกโรเซตตา เราจะยังมืดแปดด้านกับสัญลักษณ์ปริศนาบนผนังสุสานและวิหารอียิปต์ สังคมเมืองที่รู้หนังสือแห่งแรกของโลกซึ่งเจริญรุ่งเรือง อยู่ในเมโสโปเตเมีย […]