“ มนุษย์ยุคหิน ” เลี่ยง “เพศสัมพันธ์” ในพี่น้อง-ญาติใกล้ชิดอย่างไร

“ มนุษย์ยุคหิน ” เลี่ยง “เพศสัมพันธ์” ในพี่น้อง-ญาติใกล้ชิดอย่างไร

มนุษย์ยุคหิน หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับญาติใกล้ชิดของตัวเองได้อย่างไร?

งานวิจัยใหม่เสนอแนวทางที่ มนุษย์ยุคหิน อาจใช้เพื่อขจัดปัญหา “การซ้ำกันทางพันธุกรรม” ด้วยการอยู่กับคนแปลกหน้า และรักษาประชากรเดิมไว้ไปพร้อม ๆ กัน

ในปัจจุบัน เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าการ ‘มีลูก’ กับคนในครอบครัวเดียวกัน หรือกับญาติใกล้ชิดนั้นอาจทำให้เด็กที่เกิดมามีปัญหาทางด้านพันธุกรรมตามมา เช่น มีสุขภาพที่อ่อนแอ เป็นโรคหายากบางประเภท รวมถึงอาจมีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่เปลี่ยนไป ทุกวันนี้เราไม่มีปัญหาเช่นนั้น เนื่องจากมนุษย์ปัจจุบันสามารถพบเจอกับคนแปลกหน้าที่มีความห่างไกลทางพันธุกรรมได้อย่างง่ายดาย

แต่สำหรับมนุษย์ยุโบราณที่อยู่กันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ พวกเขาหลีกเลี่ยงการผสมพันธุ์ที่ซ้ำกันนี้ได้อย่างไร?

“สถานการณ์เหล่านี้อาจทำให้กลุ่มคน (นักล่าและคนเก็บของป่า) เข้าสู่การเบี่ยงเบนทางพันธุกรรมอย่างรุนแรง เนื่องจากมีขนาดประชากรที่เล็กมาก พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการอยู่ร่วมกัน และผลที่ตามมาอาจเป็นอันตราย” รายงานระบุ
.
งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ในรายงานของการประชุมสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Academy of Sciences) แนะนำไว้ว่า นักล่าเพนจรเพื่อหาอาหารนั้นพาตัวเองไปเจอกับคนใหม่ ๆ ที่ไม่เคยพบหน้า ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจ แต่การกระทำนี้ทำให้พวกเขามีทายาทที่มีพันธุกรรมหลากหลายขึ้น
.
นักวิจัยได้ศึกษาลำดับจีโนม (พันธุกรรมทั้งหมด) ของโครงกระดูก 10 ชิ้นที่พบในสถานที่ยุคหินชื่อดังอย่าง Hoedic, Téviec และ Champigny ในฝรั่งเศส ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น ‘การฝังศพที่อุดมสมบูรณ์ และได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี’ โดยเป็นศพของมนุษย์ที่ถูกฝังอยู่ข้างๆ กันหลายคู่
.
การตรวจอายุเบื้องต้นระบุว่าพวกเขามีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 6,700 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่นักล่านายพราน และคนเก็บของป่าจากยุโรปตะวันตกกลุ่มสุดท้ายอาศัยอยู่ และซ้อนทับกับช่วงเริ่มต้นของยุคหินใหม่ที่จะมีเกษตรกรผู้ตั้งถิ่นฐานเข้ามารับช่วงต่อ
.
นี่จึงหมายความว่าการศึกษานี้มีความสำคัญ เพราะเป็นการวิเคราะห์จีโนมของผู้คนหลากหลายอาชีพในสถานที่เดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกัน และก็ยังใกล้เคียงกับชุมชนเกษตรกรรมยุคหินใหม่ที่เพิ่มมาถึง
.
“สิ่งนี้ให้ภาพใหม่เกี่ยวกับประชากรนายพรานและนักเก็บของป่าในยุคหินกลุ่มสุดท้ายในยุโรปตะวันตก การศึกษาของเราได้มอบโอกาสพิเศษในการวิเคราะห์กลุ่มเหล่านี้ รวมถึงพลวัตทางสังคมของพวกเขาด้วย” ศาสตราจารย์ เมทเทียส จาคอบส์ซัน (Mattias Jakobsson) จากมหาวิทยาลัยอัปป์ซาลา ในสวีเดน และเป็นผู้นำการศึกษากล่าว
.
ผลลัพธ์นั้นชี้ให้เห็นชัดเจนว่า แม้ศพเหล่านั้นจะถูกวางอยู่ข้างกันหรือแม้แต่คู่กัน พวกเขาทั้งหมดไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยทางพันธุกรรม ซึ่งขัดกับสามัญสำนึกทั่วไปอย่างชัดเจนที่เคยเชื่อกันว่า ศพที่วางข้างกันน่าจะมีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด
.
“ผลลัพธ์ของเราแสดงให้เห็นว่าในหลายกรณี แม้แต่ในกรณีของผู้หญิงและเด็กในหลุมศพเดียวกัน บุคคลทั้งสองก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งขัดแย้งกับการเล่าเรื่องที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าบุคคลเหล่านี้มีความเข้มแข็ง ความผูกพันทางสังคมที่ไม่เกี่ยวข้องกับเครือญาติทางชีววิทยา และความสัมพันธ์เหล่านี้ยังคงมีความสำคัญกับชีวิตหลังความตาย” ดร. อาเมลี เวียเลต์ (Amélie Vialet) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
.
จากข้อมูลไอโซโทประบุว่ากระดูกบางชิ้นที่อยู่กันเป็นกลุ่มเดียวกันมีระดับโมเลกุลที่แตกต่างกันเช่น ในบางชิ้นมีระดับโปรตีนจากทะเลสูงอยู่แล้ว ขณะที่บางชิ้นเคยมีโปรตีนที่มาจากแหล่งอาหารบนบกในระดับสูง แต่หลังผ่านไปสักพักกระดูกชิ้นนั้นก็มีโปรตีนจากทะเลสูงขึ้นในภายหลัง
.
ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าบุคคลนั้นมีแนวการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ ‘เดลิเวอรี่’ ปลาจากทะเลมากินทุกวัน แต่พวกเขาย้ายตัวเองไปสถานที่ใหม่ และนั่นอาจเป็นการไปกับคนแปลกหน้า ซึ่งอาจกลายเป็นวิธีป้องกันการผสมพันธุ์กันในหมู่ญาติใกล้ชิด หรือไม่ก็พวกเขาไปแต่งงานกับคนในสถานที่ใหม่ไม่ใช่กับคนที่พวกเขาไปด้วย เป็นไปได้ทุกแนวทาง
.
“การวิเคราะห์จีโนมของเราแสดงให้เห็นว่าแม้กลุ่มเหล่านี้จะประกอบด้วยคนไม่กี่คน แต่โดยทั่วไปแล้วพวกเขาไม่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด” ลูเซียนา จี. ไซโมส์ (Luciana G. Simões) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “อย่างไรก็ตาม เรารู้ว่ามีหน่วยทางสังคมที่แตกต่างกัน โดยมีนิสัยการบริโภคอาหารที่แตกต่างกัน และรูปแบบของกลุ่มก็เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์เพื่อหลีกเลี่ยงการผสมพันธุ์กันเอง”
.
ตามผลลัพธ์เหล่านี้ นักวิจัยสามารถนำเสนอภาพที่แม่นยำมากขึ้นของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักล่านายพราน และนักเก็บของป่ายุคสุดท้าย กับเกษตรกรกลุ่มแรกที่ครอบครองยุโรปตะวันตก โดยมีการผสมพันธุกรรมในหมู่เดียวกันน้อยมาก

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.2310545121
.
https://www.iflscience.com/how-did-stone-age-hunter-gatherers-avoid-inbreeding-73173
.
https://www.technologynetworks.com/genomics/news/how-people-in-the-stone-age-avoided-inbreeding-384304


อ่านเพิ่มเติม เนรมิตใบหน้า มนุษย์โบราณ ใหม่ ให้กะโหลกอายุ 4,000 ปี

ใบหน้าใหม่

Recommend