กรีนพีซเปิดเผยผลการตรวจสอบขยะพลาสติกจากแบรนด์สินค้าในประเทศไทย

กรีนพีซเปิดเผยผลการตรวจสอบขยะพลาสติกจากแบรนด์สินค้าในประเทศไทย

กรีนพีซเปิดเผยผลการตรวจสอบขยะพลาสติกจากแบรนด์สินค้าในประเทศไทย

กรุงเทพฯ, 10 ตุลาคม 2561– กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดเผยรายงานการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก(Brand Audit) ที่เก็บได้จากบริเวณชายหาดวอนนภา จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา (1) ระบุโคคาโคล่า, เป๊ปซี่โค, ยาคูลท์, ยูนิลีเวอร์, และเนสท์เล่ คือผู้ผลิตแบรนด์ข้ามชาติ 5 อันดับแรก และดัชมิลล์, ซีพี กรุ๊ป,โอสถสภา, บริษัท เสริมสุข จำกัด และเครือสหพัฒน์คือผู้ผลิตแบรนด์ในประเทศ 5 อันดับแรก ที่พบจำนวนขยะพลาสติกมากที่สุด

การตรวจสอบแบรนด์ (Brand Audit) ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทำความสะอาดพื้นที่ (Clean up) โดยแนวร่วม Break Free From Plastic (2) ที่เกิดขึ้นใน 239 จุด ใน 42 ประเทศ โดยครอบคลุมทั้ง 6 ทวีป มีอาสาสมัครราว 10,000 คนเข้าร่วม และเก็บขยะพลาสติกรวมกันทั้งหมด 187,851 ชิ้น (3) เพื่อระบุแบรนด์สินค้าจำนวนนับพันที่พึ่งพาพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งกลายเป็นมลพิษพลาสติกที่ปนเปื้อนในทะเล มหาสมุทรและแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วโลก

ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมทำความสะอาดพื้นที่บริเวณหาดวอนนภา จังหวัดชลบุรี โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรม 50 คน เก็บรวบรวมขยะพลาสติก 2,781 ชิ้นเพื่อทำการตรวจสอบแบรนด์ แบ่งได้เป็นแบรนด์ของผู้ผลิตข้ามชาติ (foreign brand) 817 ชิ้น แบรนด์ของผู้ผลิตในประเทศ (local brand) 1,606 ชิ้น และส่วนที่ไม่สามารถระบุที่มาของผู้ผลิต 358 ชิ้น โดยขยะพลาสติกถึงร้อยละ 91 เป็น บรรจุภัณฑ์อาหาร(food packaging)

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า
“ผลการตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติกในประเทศไทยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการผลิตและการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกครั้งเดียวทิ้งที่ล้นเกินและกลายเป็นมลพิษพลาสติกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นปัญหาที่ต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อกรกับวิกฤตมลพิษพลาสติก”

“การประกาศเจตนารมย์ของบริษัทต่างๆ ยังคงขึ้นอยู่กับการรีไซเคิล และความสามารถในการนำมารีไซเคิล ในขณะที่ยังมีการเดินหน้าใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งเพิ่มมากขึ้นต่อไป ปัญหาขยะพลาสติกเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การบริโภค จนถึงการจัดการของเสียภายหลังการบริโภค เราไม่สามารถหาทางออกจากวิกฤตมลพิษพลาสติกได้เลย หากมุ่งไปที่การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างเดียวโดยละเลยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (extended producer responsibility)”

ประเทศไทยใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งกันอย่างแพร่หลาย โดยที่คนไทยใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งถึง 70,000 ล้านถุงต่อปี(3) ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเอเชียที่รวมถึงจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และศรีลังกา ที่มีส่วนสำคัญที่ก่อมลพิษพลาสติกในทะเลถึงร้อยละ 60 ของขยะพลาสติกที่ถูกปล่อยทั้งหมดลงทะเลทั่วโลก ในปี พ.ศ.2559 ปริมาณขยะทั้งหมดที่ไม่มีการจัดเก็บหรือกำจัดอย่างเหมาะสมมีประมาณ 2.83 ล้านตัน และมีสัดส่วนขยะพลาสติกร้อยละ 12 โดยที่ขยะพลาสติกที่ไม่มีการจัดการร้อยละ 15 หรือ 51,000 ตันต่อปี มีปลายทางอยู่ที่ทะเล

กรีนพีซเรียกร้องให้ภาคการผลิตสินค้า Fast Moving Consumer Goods (FMCG) และบริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นกับแนวทางปฏิบัติ 4 ประการดังต่อไปนี้

  • เปิดเผยข้อมูล “รอยเท้าพลาสติก(plastic footprint) (4)” โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้
  • มุ่งมั่นที่จะลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละปี
  • ขจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาและไม่จำเป็นมากที่สุดภายปี 2562
  • ลงทุนกับระบบนำกลับมาใช้ซ้ำและระบบกระจายสินค้าแบบใหม่

 

หมายเหตุ

https://www.breakfreefromplastic.org/globalbrandauditreport2018/

 

สามารถดาวน์โหลดภาพถ่ายกิจกรรม Brand Audit ในประเทศไทยได้ที่ https://media.greenpeace.org/Share/nusfwmco1huj5appwk3bf334xnb8o8xw

 

 

Recommend