Thailand Space Week 2019 เตรียมพบกับที่สุดของมหกรรมเทคโนโลยีด้านอวกาศของ ประเทศไทย

Thailand Space Week 2019 เตรียมพบกับที่สุดของมหกรรมเทคโนโลยีด้านอวกาศของ ประเทศไทย

เป็นเวลากว่าทศวรรษที่ประเทศไทยนำเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ มากมาย ทั้งการสำรวจและติดตามทรัพยากรภายในประเทศ การสื่อสาร การนำทาง และการเฝ้าระวังภัยพิบัติ จนเกิดเป็นโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียม เพื่อให้บริการข้อมูล และให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศทั้งในประเทศและระดับสากล

ในปี 2019 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า (GISTDA) ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 19 จึงนับเป็นวาระอันดีที่ได้จัดมหกรรมเทคโนโลยีด้านอวกาศของประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ในชื่องาน Thailand Space week 2019 ภายใต้แนวคิด “Space for Sustainable Society” หรือเทคโนโลยีอวกาศเพื่อความยั่งยืนของสังคม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 29 สิงหาคม 2562 ณ อิมแพคเมืองทองธานี กรุงเทพฯ โดยภายในงานจะประกอบไปด้วย 4 เสาหลักที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ อันประกอบด้วย

  1. Geo-Infotech

การประชุมวิชาการเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งชาติ เป็นเวทีสำหรับการเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักวิชาการ นักวิจัย นิสิตและนักศึกษา จากหน่วยงานของรัฐและเอกชน เป็นการแสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ การแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งสะสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ อันจะนำไปสูการเพิ่มคุณภาพชีวิต สร้างรายได้และสร้างงานแก่ประชาชนทุกระดับ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

  1. Multi GNSS Asia

GNSS ย่อมาจากคำว่า Global Navigation Satellite System หรือระบบนำทางด้วยดาวเทียม เป็นคำมาตรฐานทั่วไปที่ใช้เรียกแทนคำว่า Satellite Navigation System (Sat Nav) ทำหน้าที่ให้ข้อมูลพิกัดบนผิวโลกโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวรับสัญญาณเพื่อคำนวณและแสดงพิกัดตำแหน่ง ณ จุดที่ตัวรับสัญญาณตั้งอยู่ ส่วน GPS ที่ทุกคนรู้จักว่าเป็นระบบนำทางนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบ GNSS ซึ่งดาวเทียมต่าง ๆ ในระบบ GNSS ประกอบด้วย

  1. GPS ย่อมาจาก Global Positioning System ซึ่งเป็นดาวเทียมระบบแรกของโลกที่ออกแบบโดยประเทศสหรัฐอเมริกา มีดาวเทียมทั่วโลกทั้งหมด 28 ดวง
  2. GLONASS เป็นระบบดาวเทียมของประเทศรัสเซียมีดาวเทียมทั่วโลกทั้งหมด 24 ดวง
  3. Galileo เป็นระบบดาวเทียมของสหภาพยุโรป ซึ่งทั้งระบบจะมีดาวเทียมทั่วโลกทั้งหมด 30 ดวง ภายในปี 2020

โดยภายในงาน Thailand Space Week 2019 จัดให้มีการนำเสนอแนวโน้มของเทคโนโลยีระบบนำทางด้วยดาวเทียมในยุคปัจจุบันจากผู้ประกอบการรายใหญ่ทั่วโลก การนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับระบบนำทางด้วยดาวเทียมจากเยาวชน และการประยุกต์เทคโนโลยีระบบนำทางด้วยดาวเทียมเพื่อใช้สำหรับการรับบมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและวางแผนอพยพ

  1. Aerospace Industry

การปรากฏตัวผู้บริหารระดับสูงของ Airbus ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานระดับโลก ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้รับทราบถึงวิสัยทัศน์ของ Airbus ต่อภูมิภาคเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย แต่ยังเป็นการสะท้อนถึงศักยภาพด้านเศรษฐกิจที่โดดเด่นของไทยในภูมิภาค นำไปสู่ความร่วมมือเพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านอากาศยานของไทยทั้งด้านการฝึกอบรมบุคลากรและการพัฒนาเทคโนโลยีชิ้นส่วนเครื่องบินในอนาคตซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญหลักของ Airbus รวมไปถึงความตกลงระหว่างประเทศไทยกับ Airbus ที่จะร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศในไทย

  1. Space Youth Forum

เยาวชนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไป จิสด้าจึงเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการจัดงานครั้งนี้ โดยมีการจัดประกวดสื่อภูมิสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีการค้นคว้าข้อมูล และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสื่อออกมาเป็นผลงานที่จะนำมาแสดงภายในงาน การประกวดไอเดีย “การทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง” ระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะเป็นเวทีที่ให้เยาวชนไทยได้โชว์พลังความคิดสร้างสรรค์ให้นานาชาติได้รับรู้ อีกทั้ง ค่ายเยาวชนที่จะสนับสนุนเยาวชนไทยที่มีศักยภาพมีโอกาสไปศึกษาดูงานที่สถานีวิจัยด้านอวกาศชั้นนำของโลกอย่าง NASA และในส่วนนี้ยังเป็นเวทีสัมมนาของเยาวชนที่สนใจด้าน Space ซึ่งจากความฝันเล็กๆ ของเด็กกลุ่มหนึ่งที่อยากให้อวกาศเป็นสิ่งที่คนไทยสามารถเข้าถึงและเข้าใจจนตอนนี้ เยาวชนกลุ่มนี้ได้เป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วประเทศ

งานThailand Space Week 2019 ครั้งนี้ นับเป็นการรวมกลุ่มคนในสาขาเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศจากทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย อาจารย์ ผู้ประกอบการ ไปจนถึงเยาวชนที่มีความสนใจในด้านนี้ นับเป็นพื้นที่ที่จะเติมเต็มโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศไทยให้เทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น และเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์ถึงความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศในอนาคต

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 033-048-091 ต่อ 101 ถึง 111

Recommend