วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2019 กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISTDA) ร่วมกับ Cabinet Office of Japan สำนักนโยบายกิจการด้านอวกาศจากประเทศญี่ปุ่น, องค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA), The National Space Policy Secretariat (NSPS) และหน่วยงานพันธมิตร จัดแข่งขันประกวดความคิดสร้างสรรค์ด้านธุรกิจนวัตกรรมอวกาศในงาน “S-Booster 2019” ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อใช้เป็นต้นแบบให้กับประเทศไทย และเตรียมผลักดันสู่ Thailand Space Startup ให้เกิดขึ้นจริง
คุณพรเทพ นวกิจกนก หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์อวกาศของจิสด้า กล่าวว่า การแข่งขัน S-Booster 2019 เป็นการแข่งขันประกวดไอเดียโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมรายละเอียดสูงที่มีความแม่นยำเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ โดยครั้งนี้เป็นการแข่งขันรอบเอเชียที่เปิดกว้างสำหรับทั้งเอเชียแปซิฟิคและโอเชียเนีย ซึ่งมีผู้สมัครกว่า 300 ทีม และได้มีการคัดเลือกทีมที่มีความคิดสร้างสรรค์อันโดดเด่นและมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์จำนวน 15 ทีม จากประเทศออสเตรเลีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย
มุ่งหวังที่จะสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาครัฐฯ และเอกชนให้เข้าใจถึงทิศทาง เป้าหมายที่สอดคล้องกันของนโยบายอันนำไปสู่การเกิดขึ้นของ Thailand Space Startup เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนและผลักดันผู้ประกอบการด้านอวกาศให้เป็นประโยชน์เชิงธุรกิจและพาณิชย์ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย เปิดโอกาสให้เยาวชนระดับอุดมศึกษาได้เสนอแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่มผู้ประกอบการ และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการต่างๆ
ผู้เข้าแข่งขันหลายทีมนำเสนอการประยุกต์เทคโนโลยีอวกาศมาใช้ในด้านเกษตรกรรม แต่ข้อมูลจากแอปพลิเคชันดาวเทียมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายด้าน เช่น แอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับการระบุตำแหน่งสามารถนำมาใช้ในการทำแผนที่ประเภท “แผนที่ไดนามิค” ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงตำแหน่งที่อาจมีความคลาดเคลื่อนเพียง 2-3 เซนติเมตร และจะเข้ามาแทนที่ข้อมูลเชิงตำแหน่งแบบเดิมๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ด้านการก่อสร้าง เทคโนโลยีอวกาศเข้ามามีบทบาท ตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ซึ่งในอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นแบบดิจิทัลทั้งหมด อย่างที่เราเห็นตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นที่สามารถสร้างหรือซ่อมสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีเทคโนโลยีเหล่านี้ เพียงแต่ปัจจุบันประเทศไทยซึ่งเป็นฐานด้านการเกษตรรับเอาเทคโนโลยีมาใช้ในทางการเกษตรเป็นหลัก แต่หลังจากนี้จะมีการรับเข้ามาพัฒนาด้านอื่นต่อไปอย่างแน่นอน คุณพรเทพกล่าว
ปัจจุบันภาครัฐของประเทศญี่ปุ่นมีการสร้างกรอบกฎหมายเพื่อสนับสนุนธุรกิจทางอวกาศภายในประเทศ โดยเมื่อปีที่ผ่านมาได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจอวกาศ และบริษัทต่างๆ พยายามปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกฎหมาย ทางรัฐบาลญี่ปุ่นมองเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพของวิทยาการหรือเทคโนโลยีด้านอวกาศ โดยเฉพาะในการนำเทคโนโลยีอวกาศมาประยุกต์ใช้ จึงต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ในด้านความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้มีความลึกซึ้งและแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับขั้นของประเทศไทยไปในอีกระดับหนึ่ง ปัจจุบัน ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทยและญี่ปุ่นมีหลายโครงการ แต่ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ระบบนำทางที่มีความแม่นยำสูง สามารถนำมาใช้ในแอปพลิเคชันการขับขี่แบบไร้คนขับ และพัฒนาใช้ในอีกหลายแอปพลิเคชันได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ คุณ Yasuhiro Yukimatsu ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักนโยบายกิจการด้านอวกาศ ประเทศญี่ปุ่น กล่าว
บางคนอาจมองว่าเทคโนโลยีอวกาศเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้ใกล้ตัวเรามาก และอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามานานแล้ว คุณ Yasuhiro กล่าวและเสริมว่า เทคโนโลยีอวกาศไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในอวกาศแต่อวกาศ แต่ยังหมายถึงดาวเทียมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นการใช้แอปพลิเคชันในการนำทาง การพยากรณ์อากาศ หรือแม้กระทั่งการดูโทรทัศน์ที่บ้าน ทั้งหมดนี้เป็นเทคโนโลยีอวกาศทั้งสิ้น
บริษัท Manastu Space จากประเทศอินเดีย เกิดคำถามว่าเราจะเทคโนโลยีดาวเทียมในการจัดการความเสี่ยงเรื่องการระเบิดของเชื้อเพลิงในโรงงานได้อย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงการสูญเสียชีวิต รวมไปถึงหาวิธีการที่จะทำให้เชื้อเพลิงนั้นเพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ มีราคาที่ถูกลง มีความปลอดภัยมากขึ้น จนมนุษยชาติสามารถที่จะส่งจรวดขึ้นไปสำรวจอวกาศได้มากขึ้น และสามารถใช้ประโยชน์จากดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อปี 2013 ประเทศอินเดียเป็นประเทศแรกที่สามารถส่งยานอวกาศขึ้นไปโคจรรอบดาวอังคารได้สำเร็จ และล่าสุดยังได้ส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ นับเป็นชาติที่ 4 ที่ส่งยานอวกาศขึ้นไปบนดวงจันทร์ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลอินเดียและภาคเอกชนได้ให้ความสนใจและส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัปเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น ด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างประโยชน์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกต่อไป คุณ Tushar Jadhav ผู้ก่อตั้งร่วมและผู้บริหาร Manastu Space จากประเทศอินเดีย หนึ่งในทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันกล่าว
การแข่งขันในงาน S-Booster 2019 ในครั้งนี้มีทีมที่ผ่านการคัดเลือกและเป็นตัวแทนจากรอบเอเชียทั้งสิ้น 4 ทีม ได้แก่ ทีม Manastu Space ประเทศอินเดีย, Adama Aerospace ประเทศฟิลิปปินส์, Kanchanit Thumrongboonkate ประเทศไทย และ Bluewatch ประเทศไทย โดยทั้งหมดจะได้ร่วมเดินทางไปทัศนศึกษาและดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นในช่วงเดือนกันยายน 2019 เพื่อเพิ่มทักษะในการขยายผลการสร้างไอเดียใหม่ๆ สนับสนุนการจับคู่ธุรกิจ พบปะกับกลุ่มสตาร์ทอัปชั้นนำระดับโลก ส่งเสริมการต่อยอดนวัตกรรมจากประเทศให้เข้าสู่ Global Value chain ในระดับนานาชาติ และเข้าแข่งขันในรอบสุดท้ายในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2019 เพื่อเฟ้นหาทีมสุดยอดไอเดียเพียงหนึ่งเดียวที่จะได้มีโอกาสร่วมลงทุนกับบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นอย่าง ANA และ JAL ในโอกาสต่อไป