S-Booster 2019 งานประกวดนวัตกรรมอวกาศครั้งแรกในประเทศไทย

S-Booster 2019 งานประกวดนวัตกรรมอวกาศครั้งแรกในประเทศไทย

วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2019 กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISTDA) ร่วมกับ Cabinet Office of Japan สำนักนโยบายกิจการด้านอวกาศจากประเทศญี่ปุ่น, องค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA), The National Space Policy Secretariat (NSPS) และหน่วยงานพันธมิตร จัดแข่งขันประกวดความคิดสร้างสรรค์ด้านธุรกิจนวัตกรรมอวกาศในงาน “S-Booster 2019” ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อใช้เป็นต้นแบบให้กับประเทศไทย และเตรียมผลักดันสู่ Thailand Space Startup ให้เกิดขึ้นจริง

จากซ้ายไปขวา คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์, คุณอมฤต เจริญพันธ์, คุณเจมส์ เย็นบำรุง, คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ และคุณ Takuma Mori

คุณพรเทพ นวกิจกนก หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์อวกาศของจิสด้า กล่าวว่า การแข่งขัน S-Booster 2019 เป็นการแข่งขันประกวดไอเดียโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมรายละเอียดสูงที่มีความแม่นยำเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ โดยครั้งนี้เป็นการแข่งขันรอบเอเชียที่เปิดกว้างสำหรับทั้งเอเชียแปซิฟิคและโอเชียเนีย ซึ่งมีผู้สมัครกว่า 300 ทีม และได้มีการคัดเลือกทีมที่มีความคิดสร้างสรรค์อันโดดเด่นและมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์จำนวน 15 ทีม จากประเทศออสเตรเลีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย

มุ่งหวังที่จะสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาครัฐฯ และเอกชนให้เข้าใจถึงทิศทาง เป้าหมายที่สอดคล้องกันของนโยบายอันนำไปสู่การเกิดขึ้นของ Thailand Space Startup เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนและผลักดันผู้ประกอบการด้านอวกาศให้เป็นประโยชน์เชิงธุรกิจและพาณิชย์ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย เปิดโอกาสให้เยาวชนระดับอุดมศึกษาได้เสนอแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่มผู้ประกอบการ และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการต่างๆ

ผู้เข้าแข่งขันหลายทีมนำเสนอการประยุกต์เทคโนโลยีอวกาศมาใช้ในด้านเกษตรกรรม แต่ข้อมูลจากแอปพลิเคชันดาวเทียมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายด้าน เช่น แอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับการระบุตำแหน่งสามารถนำมาใช้ในการทำแผนที่ประเภท “แผนที่ไดนามิค” ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงตำแหน่งที่อาจมีความคลาดเคลื่อนเพียง 2-3 เซนติเมตร และจะเข้ามาแทนที่ข้อมูลเชิงตำแหน่งแบบเดิมๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ด้านการก่อสร้าง เทคโนโลยีอวกาศเข้ามามีบทบาท ตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ซึ่งในอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นแบบดิจิทัลทั้งหมด อย่างที่เราเห็นตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นที่สามารถสร้างหรือซ่อมสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีเทคโนโลยีเหล่านี้ เพียงแต่ปัจจุบันประเทศไทยซึ่งเป็นฐานด้านการเกษตรรับเอาเทคโนโลยีมาใช้ในทางการเกษตรเป็นหลัก แต่หลังจากนี้จะมีการรับเข้ามาพัฒนาด้านอื่นต่อไปอย่างแน่นอน คุณพรเทพกล่าว

คุณพรเทพ นวกิจกนก หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์อวกาศของจิสด้า (ซ้าย) และคุณ Yasuhiro Yukimatsu ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักนโยบายกิจการด้านอวกาศ ประเทศญี่ปุ่น (ขวา)

ปัจจุบันภาครัฐของประเทศญี่ปุ่นมีการสร้างกรอบกฎหมายเพื่อสนับสนุนธุรกิจทางอวกาศภายในประเทศ โดยเมื่อปีที่ผ่านมาได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจอวกาศ และบริษัทต่างๆ พยายามปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกฎหมาย ทางรัฐบาลญี่ปุ่นมองเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพของวิทยาการหรือเทคโนโลยีด้านอวกาศ โดยเฉพาะในการนำเทคโนโลยีอวกาศมาประยุกต์ใช้ จึงต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ในด้านความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้มีความลึกซึ้งและแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับขั้นของประเทศไทยไปในอีกระดับหนึ่ง ปัจจุบัน ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทยและญี่ปุ่นมีหลายโครงการ แต่ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ระบบนำทางที่มีความแม่นยำสูง สามารถนำมาใช้ในแอปพลิเคชันการขับขี่แบบไร้คนขับ และพัฒนาใช้ในอีกหลายแอปพลิเคชันได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ คุณ Yasuhiro Yukimatsu ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักนโยบายกิจการด้านอวกาศ ประเทศญี่ปุ่น กล่าว

บางคนอาจมองว่าเทคโนโลยีอวกาศเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้ใกล้ตัวเรามาก และอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามานานแล้ว คุณ Yasuhiro กล่าวและเสริมว่า เทคโนโลยีอวกาศไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในอวกาศแต่อวกาศ แต่ยังหมายถึงดาวเทียมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นการใช้แอปพลิเคชันในการนำทาง การพยากรณ์อากาศ หรือแม้กระทั่งการดูโทรทัศน์ที่บ้าน ทั้งหมดนี้เป็นเทคโนโลยีอวกาศทั้งสิ้น

บรรยากาศภายในงาน

บริษัท Manastu Space จากประเทศอินเดีย เกิดคำถามว่าเราจะเทคโนโลยีดาวเทียมในการจัดการความเสี่ยงเรื่องการระเบิดของเชื้อเพลิงในโรงงานได้อย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงการสูญเสียชีวิต รวมไปถึงหาวิธีการที่จะทำให้เชื้อเพลิงนั้นเพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ มีราคาที่ถูกลง มีความปลอดภัยมากขึ้น จนมนุษยชาติสามารถที่จะส่งจรวดขึ้นไปสำรวจอวกาศได้มากขึ้น และสามารถใช้ประโยชน์จากดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อปี 2013 ประเทศอินเดียเป็นประเทศแรกที่สามารถส่งยานอวกาศขึ้นไปโคจรรอบดาวอังคารได้สำเร็จ และล่าสุดยังได้ส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ นับเป็นชาติที่ 4 ที่ส่งยานอวกาศขึ้นไปบนดวงจันทร์ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลอินเดียและภาคเอกชนได้ให้ความสนใจและส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัปเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น ด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างประโยชน์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกต่อไป คุณ Tushar Jadhav ผู้ก่อตั้งร่วมและผู้บริหาร Manastu Space จากประเทศอินเดีย หนึ่งในทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันกล่าว

การแข่งขันในงาน S-Booster 2019 ในครั้งนี้มีทีมที่ผ่านการคัดเลือกและเป็นตัวแทนจากรอบเอเชียทั้งสิ้น 4 ทีม ได้แก่ ทีม Manastu Space ประเทศอินเดีย, Adama Aerospace ประเทศฟิลิปปินส์, Kanchanit Thumrongboonkate ประเทศไทย และ Bluewatch ประเทศไทย โดยทั้งหมดจะได้ร่วมเดินทางไปทัศนศึกษาและดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นในช่วงเดือนกันยายน 2019 เพื่อเพิ่มทักษะในการขยายผลการสร้างไอเดียใหม่ๆ สนับสนุนการจับคู่ธุรกิจ พบปะกับกลุ่มสตาร์ทอัปชั้นนำระดับโลก ส่งเสริมการต่อยอดนวัตกรรมจากประเทศให้เข้าสู่ Global Value chain ในระดับนานาชาติ และเข้าแข่งขันในรอบสุดท้ายในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2019 เพื่อเฟ้นหาทีมสุดยอดไอเดียเพียงหนึ่งเดียวที่จะได้มีโอกาสร่วมลงทุนกับบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นอย่าง ANA และ JAL ในโอกาสต่อไป

ตัวแทนจาก 4 ทีมที่ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบสุดท้ายที่ประเทศญี่ปุ่น

Recommend