เรื่องของการอ่านหนังสือ แต่ละบุคคลต่างมีเทคนิคและวิธีการที่แตกต่างกัน รวมไปถึงความถนัดและความเข้าใจในหนังสือแต่ละประเภทก็แตกต่างกัน วันนี้ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ขอแนะนำเทคนิคพื้นฐานที่ช่วยให้เราอ่านหนังสือให้จดจำและเข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้น
- รู้จักช่วงเวลาของตนเองที่เหมาะสมต่อการอ่าน
วิธีการอ่านหนังสือของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเวลาในการอ่านหนังสือที่ดีของแต่ละคนก็ต่างกันไป เพราะบางคนอาจใช้เวลาในช่วงเช้า บางคนอาจชอบเวลาที่มีแสงแดดจัดๆ ของตอนกลางวัน หรือบางคนใช้เวลาจมจ่อมกับกองหนังสือในตอนเย็นก่อนนอน ดังนั้นเราควรพิจารณาดูก่อนว่า เราอ่านเวลาไหนแล้วจำได้ เข้าใจได้เร็ว เพราะนอกจากที่จะช่วยทำให้เราเข้าใจกับเนื้อหาที่อ่านไปแล้ว ยังช่วยให้เราไม่ต้องใช้พลังสมองมากเกินไปด้วย
- การออกเสียงบางประโยคที่สำคัญช่วยให้จำได้ดีขึ้น
เทคนิคการอ่านผ่านๆ อาจใช้ได้กับการอ่านหนังสือบางประเภท แต่การอ่านหนังสือเรียนที่เราต้องบันทึกข้อมูล และทำความเข้าใจอย่างมาก ลองเปลี่ยนมาอ่านด้วยวิธีการออกเสียงไปด้วย อาจช่วยให้สมองในส่วนจดจำข้อมูลทำงานได้ดีขึ้น เช่น เรื่องซับซ้อนอย่างหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ ลองอ่านออกเสียงไปพร้อมกับทำความเข้าใจ แล้วสรุปออกมาเป็นคำพูดของเรา อาจทำให้เราจดจำสาระสำคัญของเนื้อหาได้มากขึ้น
- ทำสรุปสั้นๆ ไว้หลังจากอ่านจบ
การสรุปสั้นๆ เป็นภาษาของตนเอง ก็สามารถช่วยได้ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาได้มากยิ่งขึ้น โดยเราอาจทำสรุปได้หลายรูปแบบ ทั้งการเขียน และวาดภาพประกอบ เพราะยิ่งเราสามารถอ่านแล้วสรุปได้อย่างต่อเนื่อง จะยิ่งทำให้เราจำได้เยอะขึ้น แถมยังเป็นการฝึกเขียนอธิบายไปในตัวอีกด้วย
- สำหรับการอ่านหนังสือเตรียมสอบ การฝึกทำโจทย์เป็นการทบทวนที่ดี
การฝึกทำโจทย์ในรูปแบบต่างๆ จากบทเรียนที่เราอ่าน เปรียบเหมือนการทดสอบตัวเองเบื้องต้นว่า เราเข้าใจเนื้อหานั้นหรือไม่ และเป็นการทดลองได้ทำข้อสอบก่อนถึงวันวันสอบจริง และช่วยให้สมองได้ฝึกกระบวนการแก้ปัญหา สิ่งหนึ่งเวลาทำแบบฝึกหัดคือ พยายามตอบไปให้ได้มากที่สุดโดยไม่ต้องกังวลเรื่องถูดผิด เพราะเราสามารถประเมินตัวเองได้เบื้องต้นจากแบบฝึกหัดเหล่านี้
- ห่างไกลจากโซเชียลมีเดีย
ในช่วงที่อ่านหนังสือ เราควรสร้างสมาธิและจดจ่ออยู่กับเนื้อหา ลองปิดเสียงแจ้งเตือนจากสมาร์ตโฟนและวางไว้ไกลตัวสักครู่ เพื่อลดการถูกรบกวนระหว่างที่เรากำลังมีสมาธิอยู่กับเนื้อหา
- ไม่ควรอ่านหนังสือจนถึงเช้า
บางคนอาจมองว่า การอ่านหนังสืออย่างคร่ำเคร่งจนเช้าสามารถช่วยให้จดจำข้อมูลที่อ่านมาทั้งคืนได้ แต่ตามหลักทางสรีรวิทยาของสมองไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเมื่อสมองไม่ได้พักผ่อน มักเกิดอาการเมื่อยล้า หรือที่เราเรียกว่า อาการเบลอจากการพักผ่อนน้อย ดังนั้น ควรจัดสรรเวลาการอ่านให้เหมาะสม และเตรียมตัวล่วงหน้า หากรู้ว่าเราต้องอ่านหนังสือเพื่อไปสอบ หรือการเตรียมข้อมูลเพื่อไปนำเสนอต่อที่ประชุม
เทคนิคทั้ง 6 ข้อที่แนะนำไป เป็นเทคนิคพื้นฐานง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถลองนำไปปรับใช้ได้ครับ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือประเภทไหน ก็เป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองที่ดี นอกจากเราได้รับข้อมูลและสุนทรียะแล้ว ยังเป็นการฝึกให้เราได้ใช้ความคิดอีกด้วย
สนับสนุนการอ่านโดย โครงการ “ส่งความรู้สร้างความสุข” อีกหนึ่งโครงการดี ๆ ของความร่วมมือระหว่าง บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐ คือ กระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เล็งเห็นความสำคัญของการอ่าน เพราะการอ่าน ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชน