นิทรรศการภาพถ่าย ดำขาวเล่าเรื่องสองเมืองของ ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ นักกฏหมายมหาชน พร้อมพิมพ์หนังสือ เพื่อจำหน่ายนำรายได้ทั้งหมดมอบแก่มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ฯ
นิทรรศการภาพถ่าย ดำขาวเล่าเรื่องสองเมืองของ นันทวัฒน์ คือนิทรรศการสะท้อนมุมมองความผูกพันที่มีต่อสองเมือง ปารีสและกรุงเทพฯ ของ ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ช่างภาพมือสมัครเล่น ที่เริ่มถ่ายภาพมาตั้งแต่เด็ก ก่อนจะเป็นนักกฎหมายมหาชนมือต้นๆ ของประเทศไทย อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำงานกับหน่วยงานราชการต่างๆ มาตลอด
นิทรรศการซึ่งจะนำไปสู่การตีพิมพ์หนังสือภาพถ่ายนี้ จัดทำขึ้นเพื่อนำรายได้จากการจำหน่ายภาพถ่ายและหนังสือมอบให้แก่มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ
“งานของผมเครียดมาก ข้อมูลทุกอย่างต้องเป๊ะ งานสอนก็เครียด แต่การถ่ายรูปถือเป็นความผ่อนคลาย และทำด้วยความรัก” ศ.ดร.นันทวัฒน์ เอ่ยขณะมองภาพซุ้มประตูโค้งที่เขาบันทึกไว้ตอน 8 โมงเช้าท่ามกลางอากาศหนาวจัด ระหว่างเดินถ่ายภาพตลอดระยะ 2 กิโลเมตรในกรุงปารีสที่เขาผูกพัน
นักกฎหมายผู้เรียนจบที่ฝรั่งเศส ทำงานและสอนกฎหมายในปารีสมานาน ก่อนที่จะกลับบ้านเกิดมารับราชการที่เมืองไทย ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ก่อนการมาถึงของโควิด – 19 เขาได้รับเชิญไปสอนที่ปารีส เดินทางไปปารีสปีละ 2 – 3 ครั้ง พำนักอยู่คราวละหลายเดือน กระทั่งการเดินทางหยุดชะงัก เขาจึงมีเวลาคัดเลือกจัดหมวดหมู่ภาพจำนวนมากที่ถ่ายเก็บสะสมไว้มานาน หลายภาพเขาก็คิดว่าสวยดี จึงจัดพิมพ์เป็นหนังสือ 100 เล่มเพื่อแจกมิตรสหาย
หลายเสียงที่ชื่นชอบตอบรับว่าแทนที่จะแจกฟรีควรทำขายและจัดแสดงนิทรรศการ แม้ว่าเขาหลงใหลการถ่ายภาพดำขาวมาร่วม 60 ปี แต่ช่างภาพที่ไม่ได้ยึดเป็นอาชีพก็มองว่าไม่ง่าย ในที่สุด ด้วยความช่วยเหลือของกลุ่มเพื่อน ศ.ดร.นันทวัฒน์ ได้จัดแสดงนิทรรศการที่ครั้งแรก TCDC และไม่เพียงแสดงภาพ ยังทำหนังสือออกวางขาย เพื่อบริจาคเป็นการกุศล เพราะ “ภาพของพี่คนตาดีเขาดูได้ แต่คนที่มองเห็นเขาไม่อาจเห็นความสวยงามของภาพเหล่านี้” รุ่นน้องคนหนึ่งกล่าว รายได้ทั้งหมดจึงตรงสู่มูลนิธิเพื่อผู้พิการทางสายตา นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นปลายปีที่แล้ว
ตอนช่วงท้ายของการแสดงนิทรรศการ มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ได้พานักเรียนมาชมงาน จึงเป็นที่มาของการแสดงภาพและจัดทำหนังสือภาพถ่ายในปีนี้ เพื่อนำเงินรายได้จากการจำหน่ายภาพและหนังสือทั้งหมดมอบให้มูลนิธิคนหูหนวกฯ โดยไม่หักค่าใช้จ่าย
เรื่องราวในขาวดำ
“ผมชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากใช้กล้องของคุณพ่อถ่ายภาพ พอเราไปเรียนเมืองนอก เห็นความสวยงามก็อยากถ่ายเก็บไว้ มีคนรักมีลูกเราก็อยากถ่ายเก็บไว้ ผมถ่ายแบบสมัครเล่นก็จริง แต่เราถ่ายแบบมีมุมมอง ผมชอบถ่ายภาพขาวดำมาตลอด ผมรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์มากกว่า ภายหลังผมได้กล้องของ Leica มา รุ่น Monochrome เป็นกล้องที่ถ่ายได้แต่ภาพดำขาว ผมก็เลยสนุกกับมันมาก”
จังหวะการเลือกกดชัตเตอร์คือ ‘ความสนใจ’ อย่างรูปพีระมิดแห่งลูฟร์ ในมุมมองเดียวกัน แต่จังหวะการเคลื่อนไหวของผู้คนที่อยู่ในภาพต่างออกไป มันคือความสนใจของผู้ถ่ายภาพและผู้ที่เลือกจะชื่นชมภาพนั้น หลายภาพช่างภาพต้องรอเวลา อาจเฝ้ามองอยู่ที่มุมตึกสักแห่ง กดบันทึกภาพในจังหวะแสงและสิ่งที่หมุนเปลี่ยนตรงหน้ามากกว่า 40 – 50 ภาพ แต่มีเพียงรูปเดียวที่เลือกไว้
รูปหน้าต่างร้านขายของมือสองแห่งหนึ่งในปารีสจับตาขึ้นมา “นี่เป็นภาพที่ผมชอบมากที่สุดเลยนะ เป็นรูปแรกที่ผมเลือกเลย” เงาสะท้อนเทาเข้มบนกระจกคือช่างภาพนั่นเอง และความไม่สมบูรณ์ที่ทิ้งร่องรอยบนกระจกกลายเป็นความงาม “เป็นรูปที่มองครั้งแรกจะคิดว่าไม่สมบูรณ์ อย่างมีคนเห็นแล้วบอกว่าร้านทำกรอบทำไม่ดี มีรอยตรงนั้นตรงนี้ ผมบอกมันไม่ใช่เลย” การถ่ายทอดตำหนิจากการใช้งานอย่างตรงไปตรงมา กำลังสะท้อนกลับมาอย่างสมจริง เขาเลือกที่จะจัดวางใกล้กับหน้าต่างของพื้นที่จัดแสดงงาน ราวกับว่ามันเป็นหน้าต่างอีกบานหนึ่ง
ภาพถ่ายในครั้งนี้เป็นบทบันทึกความผูกพันระหว่างสองเมืองคือปารีสและกรุงเทพฯ เขาเลือกวางภาพถ่ายผสานกันไป โดยไม่ได้แบ่งแยกเมืองออกจากกัน แต่ไล่เรียงเชื่อมต่อจุดร่วมบางอย่างไว้ไปตลอดทั้งเล่ม ผู้ที่สั่งจองหนังสือไว้จะได้ยลโฉมในอีกเดือนสองเดือนข้างหน้า “เป็นงานที่ต้องใช้เวลาครับ”
เกี่ยวกับช่างภาพ
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ เป็นนักกฎหมายมหาชนมือต้นๆ ของประเทศไทย หลังจากจบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เดินทางไปเรียนต่อฝรั่งเศสพร้อมกับกล้องฟิล์ม Kodak แต่เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายในการล้างรูปมีราคาสูง จึงได้เปลี่ยนมาถ่ายภาพด้วยฟิล์มสไลด์ แล้วซื้อเครื่องฉายมาดูรูปแทน
เมื่อกลับมาเมืองไทย ได้เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เขาได้เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุ 40 ต้นๆ เขาเขียนตำราและงานวิจัย 30 กว่าเล่ม ทำเว็บ pub-law.net เว็บไซต์กฎหมายมหาชน ซึ่งถือเป็นเว็บคอนเทนต์ยุคแรกๆ ของไทย ไปพร้อมๆ กับการเขียนเรื่องศิลปะลง มติชน ทุกสัปดาห์
ศ.ดร.นันทวัฒน์ได้รับรางวัลมากมายในบทบาทอาจารย์ และได้รับเชิญไปสอนที่ฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการปีละ 2 – 3 ครั้งทุกปี และภาพถ่ายต่าง ๆ ในนิทรรศการนี้ คือเรื่องเล่าที่บันทึกการเดินทางของเขาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ชมนิทรรศการภาพถ่ายได้ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. 65 – 28 ส.ค. 65 นี้
ที่ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ ชั้น 4
1266 ถนนเจริญกรุง 38
เข้าชมได้ฟรี ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 10:00 – 18.00 น.
มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ สนับสนุนการศึกษาของคนหูหนวกโดยไม่จำกัดเพศ สัญชาติ และศาสนา ส่งเสริมให้มีอาชีพเต็มตามศักยภาพ ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งยังค้นคว้าเกี่ยวกับโรคหูเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของคนหูหนวก และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหูหนวก
ร่วมบริจาคสนับสนุนมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย เลขที่บัญชี 722-2-20808-9
ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 146-0-76625-4
ธนาคารกรุงศรี เลขที่บัญชี 094-1-34813-1
ธนาคารทีเอ็มบีธนาชาติ เลขที่บัญชี 038-2-62609-1
ภาพ ณัฏฐพล เพลิดโฉม