GISTDA เตรียมใช้เทคโนโลยีอวกาศจัดทำ บัญชีคาร์บอน ครั้งแรกให้ประเทศไทย

GISTDA เตรียมใช้เทคโนโลยีอวกาศจัดทำ บัญชีคาร์บอน ครั้งแรกให้ประเทศไทย

GISTDA จับมือ อบก. และหน่วยงานพันธมิตร
เตรียมใช้เทคโนโลยีอวกาศจัดทำ บัญชีคาร์บอน  ครั้งแรกให้ประเทศไทย

​เมื่อวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และหน่วยงานความร่วมมือระดับนานาชาติ จัดสัมมนา Carbon Accounting: Observation from Space โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ “นโยบายและการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero GHG Emission”, ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อํานวยการ GISTDA, นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ


ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ในฐานะประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก (CEOS) กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการสัมมนาครั้งนี้เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียมเพื่อการสำรวจการกักเก็บปริมาณคาร์บอนในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และพื้นที่อื่นๆ เพื่อแสดงให้เห็นวิธีการที่เป็นมาตรฐานในการกักเก็บคาร์บอนและเป็นการแสดงความพร้อมของประเทศไทย ที่จะใช้เทคโนโลยีอวกาศ เพื่อจัดการคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนและประเทศ


“ในความเป็นจริง การสำรวจพื้นที่ภาคสนามเราไม่สามารถใช้แรงงานคนวัดต้นไม้ได้ทุกต้น ดังนั้น การนำเทคโนโลยีจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศเข้ามาสนับสนุน จะทำให้สามารถจำแนกประเภทป่าไม้ และประเมินความหนาแน่นชั้นเรือนยอดต้นไม้จากแบบจำลองเชิงพื้นที่ เพื่อประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าฯ ได้อย่างถูกต้องเพียงพอกับการใช้งาน ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ อีกทั้งยังประหยัดเวลา แรงงานคนที่ต้องใช้ในการสำรวจภาคสนามและลดความผิดพลาดจากการสำรวจอีกด้วย” ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและวิเคราะห์เหล่านี้จะถูกรวบรวมเพื่อนำไปสู่การจัดทำ “บัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทย” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศได้แก่ หน่วยงานด้านพลังงาน หน่วยงานภาคกระบวนการอุตสาหกรรม หน่วยงานด้านการจัดการของเสีย หน่วยงานด้านการเกษตร หน่วยงานด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น ต่อไป

ผอ.GISTDA กล่าวอีกว่า จากการประชุม CEOS Plenary 2022 ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก หรือ CEOS ที่มีหน่วยงานด้านอวกาศระดับโลกเข้าร่วมที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อปลายปีที่ผ่านมา GISTDA ในฐานะประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลกปี 2023 หรือ CEOS Chair 2023 ได้มอบนโยบายผลักดันประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ “การลดการปลดปล่อยคาร์บอน” เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยนำข้อมูลจากดาวเทียมและเทคนิคที่เกี่ยวข้องมาใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจและตรวจวัดการกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ แก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การบรรเทาปัญหาโลกร้อน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ UNFCCC

ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียมเพื่อสำรวจการกักเก็บคาร์บอนมานานแล้ว และมีการปรับปรุงพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ให้มีมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง การจัดทำบัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทย ถือเป็นความท้าทายไปอีกขั้นของพวกเราในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อการเฝ้าระวังและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับโลกใบนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

​ด้านนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (ผอ.TGO) กล่าวว่า การประเมิน Carbon Credit ภาคป่าไม้ ในปัจจุบัน TGO ได้เปิดเป็นทางเลือกให้สามารถนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมหลาย ๆ แบบ มาร่วมใช้ประเมินเนื้อไม้ที่เพิ่ม เปรียบเทียบกับ Baseline เดิมได้อย่างถูกต้องแม่นยำและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ขนาดใหญ่และมีรูปแบบของต้นไม้ใกล้เคียงกัน ที่สำคัญก่อนที่มีการเสนอใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการประเมินมีความจำเป็นที่ต้องสอบเทียบความถูกต้องกับวิธีมาตรฐานกลางตามวิธีการคำนวณตามมาตรฐานประเมิน Carbon Credit โดยใช้จำนวนตัวอย่างที่น่าเชื่อถือ และผ่านการเห็นชอบตามขั้นตอนที่กำหนดด้วย

Recommend