‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ บันทึกเรื่องราว 7 รอบนักษัตรของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ บันทึกเรื่องราว 7 รอบนักษัตรของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นายกกิตติมศักดิ์ และประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จัดพิมพ์หนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’  ซึ่งดร.สุเมธได้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระราชานุญาตในการจัดพิมพ์ ด้วยมีเจตจำนงที่จะมอบให้เป็นลิขสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา และรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือมอบสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต‘  โดยเป็นหนังสือบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ ‘ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล’ ตั้งแต่วัยเยาว์ถึงปัจจุบัน โดยความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ คือการบันทึกช่วงชีวิตตลอด 7 รอบนักษัตร หรือ 84 ปี ตั้งแต่เกิดได้รับการศึกษา ออกเดินทางสู่โลกกว้าง และกลับมารับใช้แผ่นดินด้วยการพัฒนา ซึ่งในแต่ละช่วงวัยได้ผ่านประสบการณ์หลากหลายทั้งด้านดีและไม่ดี รวมถึงเหตุการณ์ในช่วงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ และการได้รับโอกาสในการถวายงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จวบจนถึงปัจจุบัน โดยได้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิต และมุมมองต่อเรื่องราวและเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ของ ‘ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล’ โดยถ่ายทอดให้เห็นถึงความเป็นจริงของวิชิตปุถุชน ที่มีทั้งด้านดีและไม่ดีควบคู่กันไป

ดร.สุเมธ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวในการแถลงข่าวว่า การเขียนชีวประวัติ ไม่เคยคิดว่าจะเขียน ไม่เคยเขียนแม้กระทั่งไดอารี่ มัวแต่ไปเขียนเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัว เรื่องการพัฒนา โดยจุดเริ่มต้นของการจัดทำหนังสือ ‘ชีวิตนี้ชะตาลิขิต’ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เกิดขึ้นจากความตั้งใจของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานรุ่นผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ นพย. ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดทำหลักสูตรการอบรมนี้ขึ้นเมื่อปี 2559 เพื่อสร้างผู้นำคลื่นลูกใหม่ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอันจะนำสังคมไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุลเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนต่อไป

ดร.สุเมธ  จึงมีฐานะเป็นครูใหญ่ ของหลักสูตร นพย. โดยเหล่าลูกศิษย์เห็นว่าในแต่ละช่วงชีวิตทุกช่วงวัย ของ ‘ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล’ มีประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นโดยเฉพาะในช่วงวัยที่ต้องจากประเทศไทย ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศเวียดนาม ลาว และฝรั่งเศส รวมถึงการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจ ที่อาจจะไม่เคยทราบมาก่อนโดยเฉพาะการทรงงานเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลังต่อไป โดยหนังสือชีวประวัติเล่มนี้ ได้ถอดบทเรียน ในแต่ละช่วงเวลา ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ว่ามีบทเรียนอะไรมาสอนคนบ้าง และเมื่อเขียนแล้วเมื่อจัดทำแล้วได้ถวายลิขสิทธิ์ มีให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา เพราะฉะนั้นทุกบาททุกสตางค์ที่ได้ จะเข้ามูลนิธิชัยพัฒนาทั้งหมด

สำหรับการจัดทำหนังสือชีวิตนี้ชะตาลิขิต ได้แบ่งเนื้อหาภายในออกเป็น 7 บท ตาม 7 รอบนักษัตร ดังนี้

รอบนักษัตรที่ 1 (พุทธศักราช 2482 – 2494) วัยเยาว์รสหวานปนขม : ช่วงชีวิตวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงก่อนวัยเรียน ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยด้วยร่างกายที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงนักและครอบครัวแตกแยก

รอบนักษัตรที่ 2 (พุทธศักราช 2494 – 2506) เปิดประตููสู่โลกกว้าง : ช่วงชีวิตวัยเรียนที่ต้องเดินทางเพื่อศึกษาต่อในหลายประเทศเนื่องจากเกิดภัยสงคราม

Dr.sumeth_timeline

รอบนักษัตรที่ 3 (พุทธศักราช 2506 – 2518) กลับสู่มาตุภูมิ : ช่วงชีวิตของการทำงานในประเทศไทย เริ่มรับราชการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพทั้ง 4 ภาค และจุดเริ่มต้นชีวิตกลางสนามรบ

รอบนักษัตรที่ 4 (พุทธศักราช 2518 – 2530) รอนแรมในสมรภูมิ : ดำรงตำแหน่งเลขานุการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานเลขานุการ กปร.) และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจในสภาพัฒน์ไปพร้อมกัน ชีวิตการทำงานที่ต้องวางแผนรับมือสงครามและปฏิบัติงานในสนามรบจริงถึง 11 ปี และเริ่มต้นการเป็นนักเรียนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยาวนานถึง 35 ปี

รอบนักษัตรที่ 5 (พุทธศักราช 2530 – 2542) ถวายงานด้านการพัฒนา : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.สุเมธ เป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นช่วงของการดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมกับเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ชีวิตการทำงานแบบซีี 22

รอบนักษัตรที่ 6 (พุทธศักราช 2542 – 2554) รางวัลแห่งชีวิต : ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และการทำงานอย่างไม่มีวันเกษียณ

รอบนักษัตรที่ 7 (พุทธศักราช 2554 – 2566) ฝากไว้ให้สานต่อ : ดร.สุเมธ เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานสถานการณ์ต่างๆ    แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ โรงพยาบาลศิริราชครั้งสุดท้ายและรับสั่งว่า “สุเมธ งานยังไม่เสร็จนะ”

การจัดทำหนังสือเล่มนี้ได้รับการสนับสนุนการจัดพิมพ์โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสิริวัฒนภักดี โดยมีบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบการจัดวางเนื้อหารวบรวมข้อมูลและวางรูปแบบหนังสือรวมทั้งจัดพิมพ์ โดยหนังสือจะเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

อ่านเพิ่มเติม : แผน ” เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ” บน “ดวงจันทร์” โดยจีน-รัสเซีย ภายในปี 2035

เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์

Recommend