แผน ” เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ” บน “ดวงจันทร์” โดยจีน-รัสเซีย ภายในปี 2035

แผน ” เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ” บน “ดวงจันทร์” โดยจีน-รัสเซีย ภายในปี 2035

พลังงานนิวเคลียร์ บนดวงจันทร์ “รัสเซียและจีน” ประกาศแผนพัฒนา เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์  ‘โดยไม่มีมนุษย์’ ให้ได้ภายในปี 2035 เพื่อจ่ายพลังงานให้ฐานของทั้งสองประเทศที่จะร่วมกันพัฒนาเช่นเดียวกัน

เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ – ย้อนกลับไปในปี 2021 หน่วยงานอวกาศรัสเซีย ‘รอสคอสมอส’ (Roscosmos) ได้ประกาศแผนการที่จะทำงานร่วมกันกับหน่วยงานอวกาศของจีน (CNSA) ในการสร้างฐานบนดวงจันทร์ โดยจะตั้งชื่อว่าสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (ILRS) ซึ่งในตอนนั้นพวกเขาระบุว่าฐานแห่งนี้ ‘จะเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่สนใจ’
.
อย่างไรก็ตาม นักบินอวกาศขององค์การอวกาศสหรัฐฯ หรือ ‘นาซา’ (NASA) มีแนวโน้มจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมกับฐานแห่งนี้ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 3 ประเทศโดยสหรัฐฯ เองได้ประกาศแยกทางกับ รอสคอสมอส และ CNSA ซึ่งจะนำนักบินอวกาศของตนออกจากสถานีอวกาศนานาชาติภายในปี 2025
.
เป็นไปได้ว่าด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ทางรอสคอสมอสประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะสร้าง “เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์” ร่วมกับหน่วยงานของจีน โดยเครื่องดังกล่าวจะสร้างและทำงาน ‘โดยไม่มีมนุษย์มาเกี่ยวข้อง’ ซึ่งแผนมีกำหนดจะสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2035
.
“วันนี้ เรากำลังพิจารณาโครงการอย่างจริงจังในช่วงเปลี่ยนถ่ายระหว่างปี 2033-2035 เพื่อส่งมอบและติดตั้งหน่วยพลังงานบนพื้นผิวดวงจันทร์ร่วมกับเพื่อร่วมงานชาวจีนของเรา” ยูรี โบริซอฟ (Yury Borisov) ผู้อำนวนการทั่วไปของรอสคอสมอส กล่าว
.
“โดยไม่มีมนุษย์มาเกี่ยวข้อง” การก่อสร้างจะใช้วิธีอัตโนมัติทั้งหมด และโซลูชั่นทางเทคโนโลยีที่จำเป็นในกระบวนการเหล่านั้นก็ “เกือบจะพร้อมแล้ว” โบริซอฟ กล่าวเสริม ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้เปิดเผยโครงสร้างและข้อมูลด้านอื่น ๆ ว่าเครื่องปฏิกรณ์ดังกล่าวจะมีขนาดเท่าไหร่ หรือมีรูปร่างแบบใด
.
โบริซอฟบอกต่อว่า แผงโซลาร์เซลล์จะไม่เพียงพอต่อการจ่ายพลังงานให้กับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต แต่พลังงานนิวเคลียร์จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างแน่นอน พวกเขาจึงมุ่งเป้าไปยังเครื่องปฏิกรณ์ ทางซีเอ็นเอ็นเองก็รายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เองได้กล่าวกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าพลังงานนิวเคลียร์ในอวกาศนั้นจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ตามความเหมาะสมทางการเงิน
.
“ดูเหมือนว่า เราทุกคนคุ้นเคยกับความจริงที่ว่าเรามีความสามารถดังกล่าว ซึ่งประเทศอื่นไม่มี โดยเราจำเป็นต้องให้ความสนใจกับพวกเขา (รอสคอสมอส) เป็นพิเศษ เพื่อให้พวกเขาพัฒนาและสามารถนำมาใช้ในอนาคตได้” ปูติน กล่าว
.
พลังงานนิวเคลียร์กลายเป็นแหล่งพลังงานที่เชื่อถือได้ในอวกาศ และได้รับการพูดถึงเรื่อยมาว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานของฐานบนดวงจันทร์ โดยในเดือนกันยายนปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักรเองก็ได้เผยถึงแผนการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กซึ่งจะใช้เชื้อเพลิงขนาดใกล้เคียงกับเมล็ดพืชเล็ก ๆ ทางนาซาเองก็มีแผนที่จะทดสอบอุปกรณ์นี้ในอนาคตด้วยเช่นกัน
.
แผนการเหล่านี้เกิดขึ้นราวกับเป็นสัญญาณการแข่งขันด้านอวกาศอีกครั้งนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นที่จบลงด้วยชัยชนะของโครงการอพอลโล ซึ่งผ่านมากว่า 50 ปีแล้วที่ไม่มีมนุษย์คนใดได้เหยียบดวงจันทร์ แต่ในตอนนี้หลายประเทศกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อกลับไปยืนอยู่จุดนั้น
.
เมื่อปีที่แล้วรัสเซียเองได้ปล่อยยานลูนา-25 ขึ้นสู่อวกาศแต่จบลงด้วยความล้มเหลว ขณะที่จีนได้ส่งยานสำรวจไปปรากฏตัวบนดวงจันทร์มาตั้งแต่ปี 2013 ในหลายภารกิจซึ่งประสบความสำเร็จเรื่อยมา ทำให้จีนก้าวขึ้นมากลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอวกาศของโลก
.
เช่นเดียวกับอินเดียที่ประสบความสำเร็ขในการนำยานขึ้นไปยังดวงจันทร์ได้ ในส่วนของนาซาหรือสหรัฐอเมริกานั้นมุ่งเป้าไปที่ภารกิจอาร์เทมิสซึ่งมุ่งเน้นไปยังการนำมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์ได้สำเร็จอีกครั้ง แต่ทว่าแผนการนี้ก็ถูกเลื่อนไปเป็นอย่างน้อยปี 2026
.
ดูเหมือนว่าทุกประเทศกำลังเข้าร่วมขบวนรถไฟที่กำลังมุ่งไปสู่ยุคของอวกาศอย่างแท้จริง ท้ายที่สุดแล้วประเทศที่ทำตามแผนได้สำเร็จคือประเทศใด คงมีแต่เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://www.iflscience.com/russia-and-china-are-planning-on-building-a-nuclear-reactor-on-the-moon-73371
.
https://www.reuters.com/technology/space/russia-china-are-considering-putting-nuclear-power-unit-moon-ria-2024-03-05/
.
https://edition.cnn.com/2024/03/14/europe/putin-russia-nuclear-power-unit-space/index.html
.
https://www.space.com/russia-china-shared-nuclear-reactor-2035-moon


อ่านเพิ่มเติม นาซา ประกาศสร้าง โอลิมปัส หรือ เมืองบนดวงจันทร์ ด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เล็งดาวอังคารเป็นเป้าหมายต่อไป

ดวงจันทร์
ดวงจันทร์

Recommend