เครือข่ายธุรกิจไทยและอาเซียน พร้อมผลักดันแนวคิด EPR

เครือข่ายธุรกิจไทยและอาเซียน พร้อมผลักดันแนวคิด EPR

เครือข่ายธุรกิจไทยและอาเซียน พร้อมผลักดันแนวคิด EPR ตอกย้ำให้ผู้ผลิตขับเคลื่อนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันเจ้าของเครือข่ายธุรกิจ ได้นำหลักการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตวงจรผลิตภัณฑ์ หรือ Extended Producer Responsibility : EPR มาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจด้วยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ซึ่งหลักการดังกล่าวสอดคล้อง กับการดำเนินงานของ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ ที่ได้ยึดมั่นในหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้นจากบรรจุภัณฑ์ นับตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการจัดบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค

ล่าสุดได้สนับสนุนการจัดงาน C asean Forum (CaF) ในหัวข้อ “ASEAN Action Towards Circular Economy: Move Forward with Extended Producer Responsibility” จัดโดย ซี อาเซียน (C asean) ร่วมกับ เครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network หรือ TSCN) และ ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue หรือ ACSDSD) ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินการเพื่อนำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR)  มาใช้ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย

บรรยากาศงานในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้ผลิต และเจ้าของเครือข่ายธุรกิจต่างๆ กว่า 300 ชีวิต ตอบรับเข้าร่วม งานครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำระดับโลก ที่มาแชร์ประสบการณ์ และไอเดีย กลยุทธ์เกี่ยวกับเรื่องราวการดำเนินธุรกิจ รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหาในมุมของผู้กำหนดนโยบาย และผู้ประกอบการ เรื่องบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

คุณต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการ ซี อาเซียน กล่าวต้อนรับและย้ำถึงความสำคัญของ EPR ที่มีต่อการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในอาเซียน ในขณะที่ภูมิภาคนี้กำลังรับมือความท้าทายต่าง ๆ

เช่น การบริหารจัดการของเสียและการลดลงของทรัพยากรอย่างรวดเร็ว “ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศกำลังพิจารณาถึงการนำหลัก EPR มาใช้ตามบริบทของตัวเอง การได้แบ่งปันประสบการณ์และตัวอย่างการดำเนินงานร่วมกันในวันนี้ จะช่วยผลักดัน EPR ให้ใช้ได้จริงและเกิดผลสัมฤทธิ์ ในขณะที่หลายประเทศกำลังผลักดันเรื่องนี้ วันนี้พวกเรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับผู้เชี่ยวชาญด้าน EPR และเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งจะมาแบ่งปันข้อมูลเชิงลึก และมอบแรงบันดาลใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในอาเซียน วิทยากรจากหลากหลายประเทศจะเล่าให้เราฟังถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาคอาเซียน บทเรียนการขับเคลื่อน EPR ในยุโรป และ Panel Discussion ที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการผลักดัน EPR ในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน

“เราขอขอบคุณ ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue หรือ ACSDSD และ Thailand Supply Chain Network ที่เป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย สำหรับการร่วมมือกันอย่างเต็มกำลังเพื่อช่วยให้งานครั้งนี้เกิดขึ้น เราหวังว่าการรวมตัวในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามร่วมกัน เพื่อผลักดันหลักการ EPR และบทเรียนต่าง ๆ ไปสู่นโยบายระดับประเทศ สู่มาตรฐานอุตสาหกรรม และสู่โครงการในระดับชุมชน ขอให้พวกเราผสานความร่วมมือกันด้วยความมุ่งมั่นแน่วแน่ค่ะ”

ทางด้าน คุณปฏิญญา ศิลสุภดล รองเลขาธิการและคณะกรรมการบริหารสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “EPR คือ หลักการเพื่อให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ของตนร่วมกันตลอดห่วงโซ่ ในประเทศไทยเราไม่ได้โฟกัสอยู่ที่การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์เท่านั้น แต่คำนึงตั้งแต่การออกแบบ การสื่อสารกับผู้บริโภคเกี่ยวกับการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังใช้งาน ระบบการรวบรวมเพื่อคัดแยกและนำบรรจุภัณฑ์กลับมารีไซเคิล ในปัจจุบันภาครัฐกำลังขับเคลื่อนเรื่องกฎหมาย EPR โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมกันสร้างระบบเก็บกลับที่มีประสิทธิภาพ ถ้าเรามีกรอบกฎหมาย EPR ที่ชัดเจน จะทำให้เห็นผลว่า การเก็บกลับอย่างมีประสิทธิภาพ ได้วัสดุที่มีคุณภาพเข้าระบบ ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตลดลง หากไม่มีระบบที่ดี อนาคตเราอาจจะไม่มีวัตถุดิบกลับมาใช้ อาจจะต้องเสียภาษีหรือค่ากำจัด ค่าจัดการบางอย่าง ดังนั้นเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน EPR คือหลักการที่จะทำให้ภาคเอกชนเข้ามาทำงานร่วมกันและสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นครับ”

ในส่วนของการเสวนาในช่วงเช้า คุณ Kai Hofmann Program Head จาก GIZ แบ่งปันมุมมองในหัวข้อ ‘Circular Economy for the ASEAN Region’  ว่า “ปัจจุบันมีการพูดถึง EPR อย่างกว้างขวางว่าเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการออกแบบเพื่อรีไซเคิลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้วเป้าหมายสูงสุดของเรา คือการนำวัสดุไปรีไซเคิล และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ตอนนี้มีหลายเครือข่ายธุรกิจต่างก็เริ่มผลักดันให้เกิดการดำเนินการเกี่ยวกับ EPR ในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ตอนนี้เกือบทุกประเทศมีเครือข่าย EPR แบบอาสาซึ่งทำให้เห็นว่าพวกเราทุกคนรวมถึงภาคเอกชนยินดีที่จะแสดงออกถึงความรับผิดชอบ ทั้งนี้ดังจะเห็นได้ว่า องค์กรที่รับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์ หรือ PRO เป็นหัวใจของการขับเคลื่อน EPR โดยควบคุมดูแลทั้งระบบตั้งแต่กระแสการเงิน และการไหลของเสีย รวมไปถึงการรับผิดชอบการจดทะเบียน การบริหารจัดการ รวบรวมข้อมูล ให้ความรู้ กำกับดูแล บริหารการเงินและจัดทำรายงาน”

ต่อด้วยการแชร์ประสบการณ์และตัวอย่างการดำเนินงานในยุโรป ในหัวข้อ “EPR Learning from EU Experiences” โดย ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับโครงการ EU SWITCH-Asia Programme  ซึ่ง ดร.ปเนต ยังได้ร่วมแสดงความคิดเห็นใน Panel Discussion หัวข้อ “Promoting EPR Across ASEAN” ร่วมกับ คุณ Carlo Delantar จาก Circular Economy Philippines และ Gobi Partners คุณ Rocky Pairunan จาก WRI Indonesia และ ดร.แอนโทนี่ ประมวลรัตน จาก ACSDSD

ส่วนงานเสวนาในช่วงบ่าย เริ่มด้วยหัวข้อ “Thailand National EPR” โดย คุณปฏิญญา ศิลสุภดล รองเลขาธิการ ส.อ.ท ดูแลสายงาน TIPMSE ต่อด้วยการบรรยายในหัวข้อ “Financial Mechanism for Thailand’s Circular Economy: Regulatory Perspective” โดย คุณปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดี กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และหัวข้อ “Financial Mechanism for Thailand’s Circular Economy: Funding Perspective” โดย คุณ Rieko Kubota วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมอาวุโสจาก The World Bank

ปิดท้ายด้วย Practitioner Panel Discussion ในหัวข้อ “Advancing Sustainable Recycling” ซึ่งได้รับเกียรติจากตัวแทนของบริษัทชั้นนำที่ผลักดัน EPR อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย  คุณสุนทร ยงค์วิบูลศิริ ผู้อำนวยการ ESG and Sustainability จาก บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) คุณสลิลลา สีหพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด  คุณกิติยา แสนทวีสุข Head of Sustainability จากบริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด และ คุณวิจิตรา    สุภาคง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความยั่งยืนและความเสี่ยง บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ภายในงาน ได้มีการจัดแสดงบูธจากองค์กรชั้นนำ อาทิ เครือข่ายห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (TSCN) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซัสเทนอะบิลิตี้ เอ็กซ์โป จำกัด ศูนย์ซี อาเซียน ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ACSDSD) สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด บริษัท เวสต์ร๊อค (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท เอ็กโคแล็บ จำกัด และบริษัท เฮงเค็ล (ประเทศไทย) จำกัด

นับเป็นอีกหนึ่งงานเสวนาที่ตอบโจทย์เรื่องการขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสัมมนาครั้งนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนและประเทศไทยในการพัฒนาที่ยั่งยืนและ การจัดการทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นการวางรากฐานสำหรับอนาคตที่เศรษฐกิจหมุนเวียนจะไม่เป็นเพียงแนวคิด แต่เป็นความจริงที่เราต้องสร้างร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม : Water Festival 2024 เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย “เย็นฉ่ำ ชื่นใจ” 13-15 เม.ย. 67 นี้

Water Festival 2024

Recommend