[Branded Content for GULF]
กาแฟดอยมอโก้ คือผลิตภัณฑ์จากชุมชนบ้านมอโก้โพคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ที่ยืนหยัดในการปลูกกาแฟเพื่อรักษาป่าเขาและต้นน้ำ สวนทางกับการหันไปปลูกข้าวโพด พืชเชิงเดี่ยวที่ทำให้ภูเขาหลายลูกกลายเป็น เขาหัวโล้น
การยืนยันที่จะทำเกษตรแบบรักษาป่าดำเนินมายาวนาน และในวันนี้ ผู้ใหญ่ชาญชัย ทรัพย์ประมาณ ผู้นำหมู่บ้านได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การปลูกกาแฟของชาวบ้านนั้นสามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้จริง มีรายได้ และได้ดูแลป่าเขาซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ทำกิน ป่าเขาที่เป็นเหมือนชีวิตของพวกเขาไปได้พร้อม ๆ กัน ออกเดินทางขึ้นดอยมอโก้ไปกับเรา ไปชมเส้นทางการอนุรักษ์ป่าด้วยการปลูกกาแฟกัน
พวกเรามาถึง ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ตั้งแต่เช้าตรู่ ขึ้นรถกระบะ 4WD ของผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านที่มารอรับ ขับฝ่าลมหนาวขึ้นไปทางหมู่บ้านกะเหรี่ยง อำเภอแม่อุสุ สู่บ้านมอโก้โพคีหมอกยังคงหนาตาจนถึงแปดโมงครึ่ง พี่แดง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ขับรถให้เราบอกว่า วันนี้ปลอดโปร่งดี ไม่มีเลนดินและฝุ่นแดงฟุ้ง ในบางฤดูมรสุมเส้นทางนี้ อาจมีดินสไลด์หรือต้นไม้ล้มขวาง ที่อาจทำให้ต้องเดินทางกลับ
สมัยก่อนที่ถนนยังเข้าไม่ถึง จะไปติดต่องานราชการในเมืองได้ต้องเดินเท้าไป 1 วันเต็ม นอนหนึ่งคืนแล้วเดินกลับขึ้นมาอีก 1 วัน การเดินทางที่ยากลำบากทำให้บางครั้งก็ไม่มีกับข้าวกินกันเป็นเดือน ๆ เพราะลงมาซื้ออาหารไม่ได้ คนบนดอยจึงเน้นกินอาหารแห้งที่สามารถเก็บไว้ได้นาน เพราะข้างบนนั้นไม่มีตู้เย็นใด ๆ ไว้ถนอมอาหาร
เมื่อเห็นไร่ข้าวโพดแห้งระหว่างทาง ทำให้เราชวนคุยกันถึงเรื่องไฟป่า พี่แดงเล่าว่าข้างล่างนี้มีไฟป่าบ่อย แต่ข้างบนจะค่อนข้างน้อย เพราะปลูกกาแฟไม่จำเป็นต้องเผา และเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีชาวบ้านให้ความร่วมมือร่วมใจกันมากกว่า
นั่งรถหัวโยกหัวคลอนมา 2-3 ชั่วโมง ชมวิวสวยงามของธรรมชาติ สลับกับวิวภูเขาข้าวโพด จนเดินทางมาถึงหมู่บ้านมอโก้โพคีที่ไม่ได้เห็นวิวไร่ข้าวโพดสองข้างทางแล้ว รถมาจอดลงหน้าที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่โรงสีเมล็ดกาแฟส่วนกลางที่ชาวบ้านทุกคนสามารถมาใช้ร่วมกันได้ เมื่อถึงที่ ผู้ใหญ่บ้านชาญชัยเปิดโต๊ะชงกาแฟต้อนรับแขก กาแฟดริปคั่วอ่อนหอม ๆ มีเลเยอร์ของรสชาติกาแฟหอมหวานอมเปรี้ยวให้ได้ชิมพร้อมเล่าถึงการเป็นอยู่ของหมู่บ้าน
พื้นที่หมู่บ้านมอโก้โพคีแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มีประชากร ชาวปกาเกอะญอ อาศัยอยู่ราว 1,200 คน ใช้พื้นที่นี้ทำกินร่วมกันโดยยึดอาชีพเกษตรกร ทำไร่นาหมุนเวียน ปลูกกาแฟ เลี้ยงสัตว์ วัว ควาย เป็ด ไก่ และเมื่อว่างจากการไปหาจับปลาที่ลำห้วย แม่บ้านก็จะทอผ้าด้วยกี่เอวมาทำเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งกว่าจะได้แต่ละผืนนั้นต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์
แม่ครัวกำลังต้มเผ็ดก้านบอนกับจิ้นเขียดภูเขาเป็นมื้อเช้าให้ครอบครัว ซึ่งเป็นเมนูที่จะมีให้กินเฉพาะช่วงหน้าฝนที่กบเขียดออกหากิน นั่งคุยจนไฟเริ่มมอด แม่ครัวขยับไม้ฟืนนิดหน่อย เป่าเพี่ยงหนึ่งที ไฟก็ลุกโชนขึ้นใหม่ ทุกอย่างเกิดด้วยความเชี่ยวชาญจากการใช้ไฟฟืนมาตลอดชีวิต จากนั้นตักข้าวสวยที่หุงด้วยเตาฟืนจนข้างหม้อนวลด้วยฝุ่นผงสีดำของเขม่าควัน อาจทำให้รู้สึถถึงพื้นผิวนวลๆ เมื่อถูกเขม่าเคลือบ ของเขม่าควัน หลังคดข้าวลงในแก้วใบเล็ก ๆ เพื่อถวายพระก่อนทุกวัน แล้วก็มาตักข้าวให้แขกอย่างเราผู้มาเยือน ตามธรรมเนียมของชาวปกาเกอะญอ ที่เจ้าบ้านต้องให้แขกกินก่อน หาก 3 ปีแล้วไม่มีแขกเข้าบ้านเลย แสดงว่าบ้านนี้จะขาดลาภ แล้วแม่ก็เอ่ย “เอ๊าะ ๆ เอ๊ะเหม่” ที่แปลว่า กิน ๆ กินข้าว
จากนั้นเราก็เดินชมหมู่บ้านไปพร้อมกับผู้ใหญ่บ้านชาญชัย “ตอนที่ผมเป็นเด็ก พ่อของผมเป็นคนเอาพันธุ์กาแฟมาจากอำเภออมก๋อย ต้นน้ำแม่เทย มาปลูกที่มอเคลอะคลี จากนั้นปีกว่า ได้เอาวัวมาเลี้ยงในพื้นที่มอโก้โพคี วัวเป็นสัตว์ที่ไม่ทำร้ายกาแฟ และปลูกกาแฟก็ไม่ทำร้ายป่า ไม่ต้องถางโล่ง พึ่งพาอาศัยกันได้ จึงเอากาแฟมาปลูกควบคู่กันต่อเนื่องมาเลย
“เราปลูกกาแฟกันนาน 20 กว่าปี ตอนแรกก็ปลูกตามธรรมชาติ ตามมีตามเกิด มดขึ้น มีแมลงก็ปล่อยไป ปลูกด้วยความไม่รู้ แดงนิดหน่อยก็เก็บเกี่ยวแล้ว ขายไม่ค่อยได้ราคา การสีกาแฟจะใช้ครกตำ กว่าจะได้สักกิโลเนี่ยช้ามาก กว่าจะส่งขายก็ใช้เวลาหลายเดือนถึงได้ขายมีรายได้ แต่เดี๋ยวนี้มีเครื่องสีที่ได้รับการสนับสนุนมา พร้อมกับได้ไปเรียนรู้วิธีการปลูกให้ได้คุณภาพ ยอดขายก็ดีขึ้น ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวก็มีคนติดต่อมารับซื้อแล้วครับ” ผู้ใหญ่ชาญชัยเล่า
แม้การปลูกกาแฟนั้นจะเข้ากับวิถีชีวิตได้ดี แต่ในสมัยก่อนตอนที่ยังขาดความพร้อมในเรื่องการปลูกและแปรรูป ทำให้คุณภาพเมล็ดกาแฟไม่แน่นอน ราคาต่ำ และส่งขายลำบาก เมื่อรายได้ไม่เพียงพอหรือจับต้องได้ช้า ชาวบ้านบางส่วนจึงเริ่มถอนตัวไปปลูกข้าวโพด เพราะเห็นว่าราคาดีกว่า มีคนรับซื้อแน่นอน และเริ่มโค่นต้นไม้ ถางป่าปลูกพืชเชิงเดี่ยว
ผลที่ตามมาไม่ใช่แค่ป่าที่เว้าแหว่ง แต่กระทบไปถึงอากาศ ป่าต้นน้ำ อุณหภูมิ และคุณภาพชีวิต การถางป่าให้โล่งเตียนทั้งภูเขา ทำให้พื้นที่ไม่มีร่มเงาปกคลุม ความร้อนของแสงแดดก็แผดเผา เมื่อปลูกข้าวโพดแล้วมีแมลงและวัชพืช ก็ต้องฉีดสารเคมีเพราะดูแลด้วยแรงคนกันไม่หวาดไหว ผลส่งทอดไปที่คนฉีด กลับถึงบ้านก็เจ็บป่วยด้วยฤทธิ์ยา พื้นที่ป่าเขาต้นน้ำก็ปนเปื้อน เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็ต้องตากแดดจ้าไปเก็บเกี่ยว เพราะถ้าแดดไม่แรงพอ ฝักข้าวโพดจะเหนียวจนหักไม่ได้ หลังจากนั้นพื้นที่ทั้งไร่ก็ถูกเผากลายเป็นฝุ่นควัน มลพิษ PM2.5 ที่เป็นปัญหาของคนทั้งเมืองในทุกฤดูเก็บเกี่ยว ท้ายที่สุดเมื่อข้าวโพดล้นตลาด สุทธิรายได้หลังจากหักลบกลบหนี้กันแล้ว นอกจากจะไม่พอใช้ หลาย ๆ บ้านยังต้องกู้หนี้ยืมสินมาทำไร่ ใช้จ่าย และรักษาตัวจากการเจ็บป่วย
ภายใน 8 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ของบ้านอื่น ๆ ในท่าสองยางตอนนี้เป็นภูเขาข้าวโพด ป่าที่ดูแลไว้ได้เปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดอย่างรวดเร็ว จนเหลือผืนป่าเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ทั้งหมดนี้คือเรื่องจริงที่ชาวบ้านต้องประสบ และมาเล่าสู่กันฟัง
“ที่ผมเจ็บใจคือเห็นการใช้ยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง เพราะปกติถ้ามีการตัดไม้มาทำบ้านเรือนหรือตัดต้นไม้ เพื่อผลัดให้ป่ารุ่นใหม่ ๆ เกิดงอกเงยขึ้นมันจะไม่ส่งผลกระทบต่อป่าเขา แต่พอมีคนเอาสารเคมีมาใช้ ฉีดลงไปในพื้นที่ป่า เมื่อยาดูดซึมลงดินแล้ว ต้นไม้เล็กใหญ่ก็ตายหมด คนที่รักป่าอย่างเรามาเห็น มันก็ปวดใจ” ผู้ใหญ่บ้านชาญชัยพูดขณะเรากำลังยืนโคลงเคลงท้ายกระบะ
ด้วยความเชื่อมั่นและความตั้งใจรักษาผืนป่าและที่ดินทำกินของผู้ใหญ่บ้าน ทำให้เขาไม่เคยคิดจะเลิกปลูกกาแฟเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันมีหลายองค์กรเข้ามาส่งเสริม มอบเครื่องสี พาไปเรียนรู้วิธีการปลูกกาแฟให้มีคุณภาพดีขึ้น รายได้ก็เริ่มเพิ่มขึ้น มีไฟฟ้าใช้ มีสัญญาณโทรศัพท์ ทั้งหมดเริ่มจากกาแฟของดอยมอโก้ กลายเป็นตัวอย่างของการปลูกกาแฟรักษาป่าให้แก่ชาวบ้าน ชักชวนกันมาปลูกทั้งหมู่บ้าน 32 หลังคาเรือน ลดการทำลายป่าไปได้รวมแล้วกว่า 200 ไร่
มาถึงที่สวนกาแฟอาราบิก้า สายพันธุ์ติมอร์ของผู้ใหญ่บ้าน แต่ละต้นล้วนปลูกมาเป็น 10 ปี มีการตัด ผลัด แตกใหม่อยู่ตลอด กาแฟหนึ่งต้นจะอยู่ได้ 6-7 ปี เมื่อมีต้นใหม่งอกก็ตัดต้นเก่าทิ้งได้ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็ลงปุ๋ยคอกลงใหม่ ให้ได้กาแฟหนุ่ม ๆ เก็บตลอด โดยกาแฟจะเริ่มออกดอกติดผลช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ ใช้เวลา 7-8 เดือน ถึงจะสุกและเก็บผลผลิตได้ ลองเก็บแล้วสามารถกินกันสด ๆ ได้เลย เพราะที่นี่ปลูกแบบไร้สารเคมี รสชาติกาแฟสดไม่ได้ขมอย่างที่คิด แต่กลับมีรสหวาน
“การปลูกกาแฟที่นี่จะไม่ใช้สารเคมี เวลาจะกันมดแมลงก็ใช้ขี้เถ้าหว่านแทน เราเก็บทีละเมล็ด ๆ เหมือนคัดไปด้วย ขั้นตอนสีก็จะง่ายขึ้น ถ้าเราไปรูด ดอกรุ่นต่อ ๆ ไปก็จะไม่ขึ้น เราปลูกแบบไร้สารเคมีแบบนี้ก็เป็นความสัมพันธ์ที่เหมือนกับได้บุญไปด้วย เพราะได้แบ่งให้นก หนู แมลง ค้างคาว ได้หล่อเลี้ยงชีวิตสัตว์อีกกลุ่มหนึ่งไปด้วยนะ เก็บกัน 2 เดือน ค่อย ๆ ไล่เก็บ เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ” ผู้ใหญ่เล่าขณะพาเล่าเก็บเมล็ดกาแฟสีแดงจากต้น เหลือเมล็ดสีเขียวไว้คาต้นรอวันสุกงอม
การเก็บเกี่ยวของที่นี่ทำกันแบบทีละเมล็ด เพราะกาแฟทั้งต้นจะสุกไม่พร้อมกัน ผู้ใหญ่บ้านจะจ้างชาวบ้านมาราว 5-10 คน เพื่อช่วยกันเก็บกาแฟเป็นระยะเวลา 2 เดือน ทยอยเก็บพลางคัดเมล็ดที่สุกแล้วไปเรื่อย ๆ จนหมดฤดู ซึ่งข้อดีของการเลือกเก็บแต่เมล็ดที่สุกแล้วคือจะได้สารกาแฟที่มีคุณภาพมากกว่า ไม่ต้องมาคัดแยกทีหลัง จากนั้นจะเอาเมล็ดกาแฟไปเก็บไว้ 1 คืน นำไปล้าง และสีจนผลเชอร์รี่กลายเป็นกะลากาแฟซึ่งขายได้กิโลกรัมละประมาณ 170 บาท ในหนึ่งปีได้กะลากาแฟรวมประมาณ 1 ตัน รวมทั้งหมู่บ้านประมาณ 5 ตัน ส่งมาสีที่โรงสีกาแฟส่วนกลางของชุมชน ก่อนส่งไปขาย
“เมื่อปี 2562 หมอหนึ่ง ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ พาทีมงานมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โรงพยาบาลท่าสองยาง มาชิมกาแฟที่หมู่บ้าน ปีนั้นจึงได้รู้จักกับพี่เช็ค (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ) พร้อมเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟังและได้พี่เช็คมาช่วยดูแลป่า ก่อนนี้ที่หมู่บ้านไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเครื่องมือสีกาแฟต่าง ๆ ต่อมาจึงได้เสนอโครงการกับกัลฟ์และเริ่มได้รับการสนับสนุนในปี 2566
“กัลฟ์ได้เข้ามาช่วยสร้างโรงทำกาแฟ มอบเครื่องสีกาแฟ อุปกรณ์ต่าง ๆ และไฟฟ้า ที่ทุกคนในหมู่บ้านสามารถใช้สำหรับการทำกาแฟ ใช้เป็นที่ประชุม หรือเวลาบ้านไหนมีงานสำคัญก็สามารถดึงไฟไปใช้กันได้ พอมีความสว่างก็ไม่ต้องจุดเกี๊ยะไฟ ชาวบ้านก็มาชาร์จไฟกันได้ ส่วนกาแฟเราก็ทำได้เร็วขึ้น ประหยัดแรงและที่สำคัญคือประหยัดเวลาไปได้เยอะ” – ผู้ใหญ่บ้านชาญชัย
นอกจากเรื่องกาแฟ ไฟฟ้าส่วนกลาง ยังมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เด็ก ๆ ได้เรียนหนังสือในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านมอโก้โพคี กันด้วย คุณครู นนทชิต ไชยวงศ์ บอกว่า เด็ก ๆ ได้เปิดโลก เมื่อก่อนพวกเขานึกถึงภาพอะไรที่ตนไม่รู้จักไม่ออก ปัจจุบันเด็ก ๆ สามารถค้นคว้าหาสิ่งที่ไม่เคยเห็นได้ ทำให้ได้รู้จักและเข้าใจอะไรได้มากขึ้น “เด็ก ๆ ได้รู้ว่าทะเลคืออะไร แม่น้ำคืออะไร โลกข้างนอกเป็นยังไง”
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ กัลฟ์ (GULF) ได้นำร่องสนับสนุนสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างไฟฟ้า จากพลังงานสะอาด ในพื้นที่ของประเทศไทยที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้แก่ชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมส่งตัวแทนวิศวกรจากกัลฟ์ให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษาแผงโซลาร์เซลล์ และความรู้เรื่องพลังงานสะอาดกับคนในชุมชน โดยได้ดำเนินการมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 ในชื่อโครงการ GULF Sparks, Life Starts เติมพลังไฟให้ชีวิต ซึ่งเริ่มจาก 3 พื้นที่
- โรงเรียนบ้านห้วยน้ำไซ (สาขาร่องกล้าวิทยา) อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
- เกาะทุ่งนางดำ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
- โรงเรียนบ้านหนองบัว (สาขาดอกไม้สด) อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
มาถึงปี 2567 กัลฟ์ ได้ร่วมมือกับ AIS กลุ่มบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ขยายสู่โครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย ต่อยอดจากบ้านหนองบัว จังหวัดตาก ขึ้นมาถึง บ้านมอโก้โพคี ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จ.ตาก และ บ้านมอเคลอะคลี ที่ต้องนั่งรถต่อไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร โดยกัลฟ์ได้นำแผงโซลาร์เซลล์มาติดตั้ง พร้อมตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์จาก AIS ควบคู่ไปด้วยกัน
“การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ทําให้ชุมชนเข้าถึงไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การเข้าถึงไฟฟ้าหมายถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ควรจะได้รับ เราอยากยกระดับและสร้างโอกาสให้กับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ยังขาดแคลนไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์ ต่อยอดให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี
“กัลฟ์ ได้ดำเนินการติดตั้งพลังงานสะอาดมาแล้วรวม 9 พื้นที่ มีประชาชนเข้าถึงไฟฟ้ามากกว่า 4,000 คน ในแต่ละพื้นที่ที่เราไป เรายังสำรวจถึงความต้องการและนำ Pain Point ที่พบเจอในแต่ละพื้นที่มาเติมเต็ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุข การศึกษา น้ำสะอาด และโอกาสทางอาชีพ”
คุณหยก – อัครภัทร์ ศักดิ์สยาม ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคมของกัลฟ์ เล่าให้ฟังถึงจุดมุ่งหมายที่ กัลฟ์ ได้เข้ามาติดตั้งพลังงานสะอาดในพื้นที่และส่งตัวแทนวิศวกรจากกัลฟ์ให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษาแผงโซลาร์เซลล์ และความรู้เรื่องพลังงานสะอาดกับคนในชุมชน พร้อมยกตัวอย่างการส่งเสริมอาชีพทำกาแฟในพื้นที่บ้านมอโก้โพคีให้ผลิตกาแฟที่มีคุณภาพได้
โดยนอกจากเครื่องไม้เครื่องมือที่มีคุณภาพ โรงสี และพลังงาน ยังได้พาคนในชุมชนไปศึกษาเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญจากร้านกาแฟที่ประสบความสำเร็จในจังหวัดเชียงราย ให้ได้รับองค์ความรู้ที่สามารถปรับใช้ในการปลูก การดูแล การสีเมล็ดกาแฟ และเมื่อกาแฟคุณภาพดีขึ้น ก็เพิ่มมูลค่าให้ราคากาแฟสูงขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการขยายช่องทางการขาย ปัจจุบัน “กาแฟดอยมอโก้” นั้นไม่ต้องขึ้นไปกินถึงที่บ้านผู้ใหญ่ชาญชัย แต่สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ หรือที่ร้านกาแฟ T-SY Cafe ในโรงพยาบาลท่าสองยางได้ โดยมีชาวบ้านลงไปเรียนรู้การเป็นบาริสต้าต่อยอดอาชีพไปอีกช่องทางหนึ่ง
“ที่ผ่านมาการทำกาแฟ ก็มีเงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง ตอนหลังมีเครื่องสีกาแฟเพิ่มมา ต่อไปก็มีแผนที่จะคั่วเองเต็มระบบ ตอนนี้ลูกชายไปเปิดเป็นคาเฟ่ที่โรงพยาบาล ขายกาแฟจากดอยมอโก้โพคี ค่ากาแฟทุกแก้วจะหักแก้วละ 5 บาท ไว้คอยให้ทางโรงพยาบาลบริการชาวบ้านที่ขาดแคลนเมื่อยามเจ็บไข้ด้วย
“วันที่เริ่มปลูก ที่ยังไม่มีรายได้ ชาวบ้านส่วนหนึ่งและเยาวชนนั้นก็ค่อนข้างถอดใจว่าจะไปไม่รอด ตัวผมเองก็ยืนหยัดว่าอย่าไปท้อ เชื่อว่าวันนึงต้องอยู่ได้ วันนี้เราอยู่ได้ ป่า ต้นไม้ ธรรมชาติอยู่ได้ ต้องขอบคุณทุกคน”
ผู้ใหญ่บ้านกล่าวอย่างยินดี แต่ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ใหญ่บ้านเท่านั้นที่ยินดีกับการเติบโตของกาแฟบนดอยมอโก้ เพราะจากการได้ไปพานพบ พูดคุยกับผู้คน และสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านดอยมอโก้โพคีมาช่วงยามหนึ่ง คนในพื้นที่เองก็ยินดีและดีใจที่มีช่องทางประกอบอาชีพอย่างการปลูกกาแฟ ทำให้ไม่ต้องหันไปปลูกข้าวโพด ทำให้ได้อยู่อาศัยแบบเกื้อหนุนกันระหว่างคนและธรรมชาติในพื้นที่ป่าได้
หนึ่งประโยคที่ผู้ใหญ่บ้านชาญชัยกล่าวแล้วยังติดอยู่ภายในความทรงจำ คือประโยคที่ว่า “ถ้าผมเอาคำขอบคุณมารวมกันคงได้หลายกระสอบ” หากคำขอบคุณมีรูปร่าง มีตัวตนจริง เราเองก็ไม่มั่นใจว่าจะมีขนาดที่ใหญ่โตเท่าไร แต่ที่แน่ใจคือกระสอบของชาวบ้านมอโก้โพคีนั้นไม่ได้มีขนาดเล็กอย่างแน่นอน
หากใครที่สนใจชิมกาแฟเพื่อร่วมรักษาป่าเขาไปกับดอยมอโก้โพคี สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee กาแฟดอยมอโก้ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของกัลฟ์ได้ที่ Facebook: GULF Energy Development และ GULF SPARK