หน้าต่างบานใหม่สู่สภาพอากาศ

หน้าต่างบานใหม่สู่สภาพอากาศ

พวกเขาออกติดตั้งสถานีตรวจวัด สภาพอากาศ ที่สูงที่สุดของโลก เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์เข้าถึงข้อมูลที่ไม่เคยมีมาก่อนเกี่ยวกับลมที่กำหนดทิศทาง และความรุนแรงของพายุ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นักปีนเขาสามคนหารือกันบนสันเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมานต์เอเวอเรสต์ ขณะที่แสงแรกของวันอาบไล้ที่ราบสูงทิเบต ต่ำลงไปกว่า 1.5 กิโลเมตรเบื้องล่าง แสงอาทิตย์สาดส่องหมู่เมฆที่ลอยเรี่ย ลาดเขาห่มหิมะ

ชายทั้งสามที่สวมชุดบุขนเป็ดหนา หน้ากากออกซิเจน และไฟคาดศีรษะ แทบไม่ได้มองทิวทัศน์ พวกเขามีเวลาจำกัด เช่นเดียวกับออกซิเจนที่ขนมา แล้วยังมีความเสี่ยงว่า สภาพอากาศแปรปรวน อันขึ้นชื่อของที่นี่อาจเล่นงานพวกเขาอย่างฉับพลัน เท่าที่เป็นอยู่ก็นับว่าพวกเขาล่าช้าแล้ว เพราะติดกลุ่มนักปีนเขาที่กรูขึ้นมาหวังจะพิชิตยอดเขาจากฝั่งเนปาลในวันนั้นเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2019 แต่ตอนนี้ พวกเขาไม่มีเวลาวิตกเรื่องนั้น ทุกคนง่วนกับงานตรงหน้า รื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ อย่างเป็นระบบ และทำตามแผนที่ซักซ้อมกันไว้ชนิดละเอียดยิบ เพื่อติดตั้งสถานีตรวจวัด สภาพอากาศ ที่สูงที่สุดในโลก

เทือกเขาเอเวอร์เรสต์
อิงคา คอช นักอุทกวิทยาธารน้ำแข็ง เก็บตัวอย่างหิมะใกล้ยอดเขาโลบูเชซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก เอเวอเรสต์ เธอกับทีมงานเก็บตัวอย่างน้ำและหิมะกว่าหนึ่งร้อยตัวอย่างจากเอเวอเรสต์และทั่วภูมิภาคคุมบู ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถประเมินองค์ประกอบทางเคมีของแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ได้ (ภาพถ่าย: เอริก ดัฟต์)

ขณะที่พวกเขาสาละวนกันอยู่นั้น เบเกอร์ แพร์รี ชายคนหนึ่งในทีม ก็รู้สึกถึงความตระหนก ที่พลุ่งพล่านขึ้น ระหว่างที่รื้อค้นเป้หลังของทีมอย่างลนลาน และพบว่าชิ้นส่วนเล็กๆ แต่สำคัญสองชิ้นของสถานีตรวจวัดสภาพอากาศหายไป นั่นคือท่ออะลูมิเนียมขนาด 2.5 เซนติเมตรที่ติดกับเซนเซอร์ตรวจวัดลมบนเสากลางของสถานี แพร์รีกับเพื่อนร่วมทีม ได้แก่ ทอม แมตทิวส์ และปานูรู เชอร์ปา จ้องหน้ากัน ราวกับจะซึมซับข้อเท็จจริงดังกล่าวเข้าสู่สมองที่ขาดออกซิเจน แล้วช่วยกันคิดหาทางออก

แมตทิวส์กับแพร์รี ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศด้วยกันทั้งคู่ ใช้เวลาหลายเดือนเตรียมการเพื่อช่วงเวลานี้ ทีมของเขาออกแบบและสร้างส่วนประกอบหลายชิ้นของโครงสร้างสูงสอง เมตร หนัก 50 กิโลกรัม เพื่อให้ทนต่อความหนาวเย็นสุดขั้วและกระแสลมแรงระดับพายุเฮอริเคน ที่ต้องเผชิญบนจุดสูงสุดของโลก พวกเขาทดสอบผลงานการออกแบบในสหรัฐอเมริกาและเนปาล จากนั้นก็ฝึกประกอบชิ้นส่วนอย่างยากลำบากกับผู้นำทีมปีนเขา ปานูรู เชอร์ปา และทีมคนนำทาง ผู้ช่ำชอง

Everest เทือกเขาเอเวอร์เรสต์
ในการปีนขึ้นโตนน้ำแข็งคุมบู นักปีนเขาต้องผ่านเส้นทางที่มีอุปสรรคอันตรายจากการก่อตัวของน้ำแข็งที่แปรเปลี่ยนไปมา นักปีนเขาต้องอาศัยแผ่นตะปูติดพื้นรองเท้าและเดินตามทางที่มีเชือกขึงถาวรโดยผู้นำทางชาวเชอร์ปาที่มีประสบการณ์ (ภาพถ่าย: เดิร์ก คอลลินส์)

เหตุผลเบื้องหลังภารกิจเสี่ยงภัยและต้นทุนสูงนี้ คือการเปิดจุดบอดสำคัญบางจุดให้นักวิทยาศาสตร์ที่ขาดข้อมูลต่อเนื่องจากระดับความสูงต่างๆ จุดบอดหนึ่งคือลม ซึ่งเป็นตัวแปรทางสภาพภูมิอากาศสำคัญ ด้วยระดับความสูง 8,850 เมตร เมานต์เอเวอเรสต์เป็นหนึ่งในยอดเขาไม่กี่แห่งของโลกที่สูงพอจะเสียดแทงกระแสลมกรดบริเวณกึ่งโซนร้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในแถบกระแสลมทรงพลังแคบๆ ที่หมุนวนรอบโลก ส่งอิทธิพลต่อทุกอย่าง ตั้งแต่เส้นทางพายุไปจนถึงฤดูกาลเพาะปลูก จุดบอดอีกจุดหนึ่งคือรูปแบบการตกของหิมะที่หล่อเลี้ยงธารน้ำแข็งขนาดใหญ่บนความสูงเกิน 5,000 เมตร

ที่ผ่านมา ทีมติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศได้แล้วสามแห่ง โดยอีกสองแห่งที่เหลือคือ ที่เซาท์โคลและบนยอดเขา พยากรณ์อากาศบอกว่า ลมจะบางเบาบนยอดเขาในช่วงสองสามวันนี้ ดังนั้น แมตทิวส์, แพร์รี และทีมปีนเขาชาวเชอร์ปาของปานูรูจึงเก็บข้าวของออกจากเบสแคมป์เพื่อไปยังเซาท์โคลที่ใช้เวลาสี่วัน

ตอนแรก ทุกอย่างเป็นไปตามแผน และเช้าวันที่ 22 พฤษภาคม ทีมก็ติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศที่เซาท์โคลสำเร็จ พวกเขาตั้งแคมป์พักและเช็คพยากรณ์อากาศวันรุ่งขึ้น “เรามีพยากรณ์อากาศที่ขัดแย้งกันสองชุดครับ” แมตทิวส์เท้าความหลัง “ชุดหนึ่งบอกว่าลมจะพัดจัดขึ้น”

เอเวอร์เรสต์
แสงไฟของเบสแคมป์ส่องสว่างตรงเชิงเขาเอเวอเรสต์ ขณะที่ไฟคาดศีรษะของนักปีนเขาก่อตัวเป็นสายแสง เผยให้เห็นความคืบหน้าในการปีนโตนน้ำแข็งคุมบูของพวกเขา ซึ่งจะปลอดภัยที่สุดในช่วงกลางคืนที่อุณหภูมิต่ำกว่าเยือกแข็ง (ภาพถ่าย: มาร์ก ฟิชเชอร์)

ขณะที่ลมยามเย็นพัดเต็นท์ของพวกเขากระพือ แมตทิวส์กับแพร์รีก็สูดออกซิเจนกระป๋อง พลางคิดสะระตะว่าจะล้มเลิกความพยายามขึ้นยอดเขาดีหรือไม่ แต่พอตกกลางคืน ลมก็สงบและพยากรณ์อากาศใหม่ก็มาถึง ปานูรูเคาะหลังคาเต็นท์ให้ออกเดินทางต่อ เมฆก้อนใหญ่ลอยผ่านภูเขาขณะที่พวกเขาออกจากเซาท์โคลตอน 23.30 น. และหิมะก็เริ่มตกลงมาเป็นพักๆ ทำให้ทุกสิ่งตกอยู่ในความมืดและม่านสีเทา

“เราคืบหน้าได้เร็วในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นก็รั้งท้าย” แพร์รีบอก มีแถวยาวของนักปีนเขาหลายสิบคน ซึ่งบางคนออกจากแคมป์สี่ตั้งแต่ห้าโมงเย็น แทบจะหยุดรอกันนิ่งๆ ตรงช่วงหนึ่งของเส้นทาง ที่รู้จักกันในชื่อ ไทรแองเกิลเฟซ

หลังจากเดินๆ หยุดๆ อยู่สองชั่วโมง ทีมก็ไปถึงบัลโคนี หรือพื้นที่ราบซึ่งอยู่ต่ำกว่ายอดเขาประมาณ 425 เมตร “เราเห็นคนต่อแถวข้างหน้า” แพร์รีบอก “และตระหนักว่าเราเจอสถานการณ์ลำบากเข้าแล้ว”

ระหว่างที่แพร์รี, แมตทิวส์ และปานูรู ประเมินสถานการณ์อยู่นั้น ค่ำคืนมืดมิดก็เคลื่อนคล้อย สู่รุ่งสาง แทนที่จะไปต่อ พวกเขาตัดสินใจติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศที่บัลโคนี “เราติดตั้งสถานี ที่ เซาท์โคลเมื่อวันก่อน” แพร์รีบอกและเสริมว่า “ทีมเชอร์ปาของเรารู้วิธีทำเกือบทุกอย่างแล้ว”

เ
ตอนฟ้าสาง ทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศและชาวเชอร์ปาจากโครงการสำรวจเอเวอเรสต์เพื่อโลกที่ยั่งยืนของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกและโรเล็กซ์ ติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศที่สูงที่สุดในโลกที่ระดับความสูง 8,430 เมตร บนชะง่อนผาน้ำแข็งแห่งหนึ่งของเอเวอเรสต์ที่รู้จักกันในชื่อบัลโคนี (ภาพถ่าย: มาร์ก ฟิชเชอร์)

ก่อนปักเสา ฐานที่เป็นสามขาแต่ละฐานต้องยึดกับหินด้วยสว่านที่ใช้แบตเตอรี่ แต่แบตเตอรี่ ไม่ทำงานเพราะความหนาวเย็น แมตทิวส์กับลูกมือชาวเชอร์ปาสองคน ได้แก่ อูร์เคนกับฟู ตาซี เอาแบตเตอรี่ใส่เสื้อขนเป็ดของตัวเอง “เรากระโดดไปมาอยู่สามสิบนาทีเหมือนแม่นกเพนกวิน พยายามกกแบตเตอรี่ให้อุ่น”

พอแก้ปัญหาแบตเตอรี่ได้ พวกเขาก็ตระหนักว่า ท่อสำหรับติดตั้งเซนเซอร์ลมซึ่งเป็นใบพัดเล็กๆ สองอันที่วัดความเร็วและทิศทางลมหายไป “เรากลับลงไปโดยไม่ติดตั้งเซนเซอร์ลมไม่ได้ครับ” แพร์รีบอก “เราจึงเริ่มระดมสมองกัน”

แพร์รีเห็นด้ามจับพลั่วอะลูมิเนียมที่ทีมขนขึ้นไปมีเส้นผ่านศูนย์กลางใกล้เคียงท่อที่หายไป ผู้นำทางคนหนึ่งที่ชื่อลักปา กยัลเจน เชอร์ปา คว้าค้อนมาทุบด้ามจับนั้นให้กระชับพอดี จากนั้น แพร์รี ก็พันเทปหนังไก่รอบๆ

“สถานีตรวจวัดสภาพอากาศเป็นอะไรที่ทันสมัยสุดๆ นะครับ” แมตทิวส์บอก “แต่ถ้าเข้าไปดูใกล้ๆ คุณจะเห็นด้ามจับพลั่วสีส้มและน้ำเงินสดใสพันเทปหนังไก่เต็มไปหมด”

เรื่อง เฟรดดี วิลคินสัน
ภาพถ่าย มาร์ก ฟิชเชอร์, เดิร์ก คอลลินส์, และเอริก ดัฟต์


บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ (Rolex Perpetual Planet Initiative) ซึ่งร่วมมือกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในโครงการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจ ศึกษา และบันทึกการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีความแตกต่างโดดเด่นหลายแห่งของโลก


อ่านเพิ่มเติม เฝ้าจับตาการละลายบนเทือกเขาแอนดีส

เทือกเขาแอนดีส

Recommend