มองอนาคตของ แม่น้ำสินธุ สายเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน 270 ล้านคน แต่เมื่อภาวะธารน้ำแข็งถอยร่น กระแสน้ำเริ่มอ่อนแรง ส่งผลให้ผู้คนหลายล้านตกอยู่ในความเสี่ยง
ใกล้กับยอดเขากังหรินโปเฉหรือเขาไกรลาสในทิเบต คือต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญสี่สายที่ทอดแผ่ไปทางตะวันออกและตะวันตกผ่านเทือกเขาหิมาลัย และไหลลงสู่ทะเลดุจดั่งพระกรของพระแม่คงคาผู้ศักดิ์สิทธิ์
ตลอดทางที่สายน้ำเหล่านี้ไหลผ่าน อารยธรรมและรัฐชาติต่างๆ ถือกำเนิดขึ้น ตั้งแต่ทิเบต ปากีสถาน อินเดียตอนเหนือ เนปาล และบังกลาเทศ น้ำจากแม่น้ำจะถูกใช้อย่างไรขึ้นอยู่กับผู้คนที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำมาเนิ่นนาน ส่วนแม่น้ำจะมีน้ำมาเติมอย่างไรขึ้นอยู่กับสองปัจจัย ได้แก่ ฝนในฤดูมรสุมและน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็ง ปรากฏการณ์ทั้งสองซึ่งอยู่ใต้ การปกปักรักษาของทวยเทพมานับพันปี บัดนี้อยู่ในมือของมนุษย์ด้วย
แม่น้ำสายต่างๆ ที่มีต้นน้ำอยู่ในแถบตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัยอย่างแม่น้ำพรหมบุตรได้รับน้ำส่วนใหญ่จากมรสุมฤดูร้อน แม่น้ำเหล่านี้อาจได้รับน้ำมากขึ้นเมื่ออากาศที่ร้อนขึ้นเติมความชื้นให้บรรยากาศมากขึ้น แต่น้ำส่วนใหญ่ในแม่น้ำสินธุซึ่งไหลไปทางตะวันตกจากยอดเขากังหรินโปเฉ ได้รับน้ำจากหิมะและธารน้ำแข็งของเทือกเขาหิมาลัย การาโกรัม และฮินดูกูช โดยเฉพาะธารน้ำแข็งซึ่งเป็น “หอเก็บน้ำ” ที่กักเก็บหิมะในฤดูหนาวไว้ในรูปน้ำแข็ง บนเขาสูง แล้วปล่อยลงมาในรูปน้ำที่ละลายจากน้ำแข็งในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน
กระบวนการนี้ทำให้มีน้ำไหลมาหล่อเลี้ยงทั้งมนุษย์และระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ระหว่างเส้นทางในเขตที่ราบของปากีสถานและภาคเหนือของอินเดีย มีระบบเกษตรชลประทานอันกว้างใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกพึ่งพาแม่น้ำสินธุอยู่ บรรดาธารน้ำแข็งที่ส่งน้ำลงสู่แม่น้ำสินธุเปรียบได้กับเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนราว 270 ล้านคน
ธารน้ำแข็งเหล่านี้ส่วนใหญ่กำลังหดเล็กลง ปรากฏการณ์นี้จะทำให้แม่น้ำสินธุมีน้ำหลากมากขึ้นในระยะแรก แต่หากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นดังที่คาดการณ์ และธารน้ำแข็งยังละลายถอยร่นต่อไปอีก แม่น้ำสินธุจะไปถึงจุดที่มี “ระดับน้ำสูงสุด” ภายในปี 2050 แล้วกระแสน้ำจะเริ่มลดลงหลังจากนั้น
มนุษย์ใช้น้ำมากกว่าร้อยละ 60 ของแม่น้ำสินธุแล้ว และประชากรในเขตลุ่มน้ำสินธุก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร เนเจอร์ เมื่อไม่นานมานี้ คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติรายงานการวิเคราะห์อ่างเก็บน้ำจากธารน้ำแข็งทั่วโลก โดยระบุว่าแม่น้ำสินธุวิกฤติที่สุดเมื่อพิจารณาจาก “ความตึงเครียดของระบบแม่น้ำอันเกิดจากการดึงน้ำไปใช้ในระดับสูงและการขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพของรัฐบาลในภูมิภาคแล้ว มีโอกาสน้อยมากที่แม่น้ำสินธุ…จะทนต่อแรงกดดันนี้ได้” ปากีสถานจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด
จากปี 2003 ถึง 2006 ฉันเดินทางไปตามแม่น้ำที่ยาว 3,200 กิโลเมตรสายนี้ จากทะเลอาหรับขึ้นไปจนถึง ต้นน้ำในทิเบต เพื่อเก็บข้อมูลเขียนหนังสือ จักรวรรดิลุ่มน้ำสินธุ (Empires of the Indus) สถานการณ์ของแม่น้ำ ตึงเครียดอย่างชัดเจนตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว สินธุเปลี่ยนไปไม่เหลือเค้าแม่น้ำผู้ทรงพลังดังที่ข้าราชการยุคอาณานิคมอังกฤษเคยพรรณนาเอาไว้เลย น้ำในแม่น้ำลดลงเพราะความต้องการใช้น้ำเพื่อการชลประทาน อุตสาหกรรม และชีวิตประจำวัน การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำและเขื่อนทดน้ำทำให้แม่น้ำสินธุไหลไปไม่ถึงทะเล และปากแม่น้ำที่มีป่าชายเลนปกคลุมก็กำลังจะตาย ทะเลสาบต่างๆ ของสินธุก็ปนเปื้อนมลพิษจากน้ำทิ้งและน้ำเสีย
ฉันถึงกับอึ้งที่แม่น้ำสินธุซึ่งเคยได้รับการสดุดีมาแต่โบราณกาลในบทสรรเสริญภาษาสันสฤตอันศักดิ์สิทธิ์ มาวันนี้กลับได้รับการปฏิบัติเยี่ยงทรัพยากรอย่างหนึ่ง มิได้เป็นที่เคารพบูชาอีกต่อไป ทุกคนที่ฉันพบเจอ ตั้งแต่ชาวไร่ชาวนาจนถึงนักการเมืองต่างคิดว่าแม่น้ำสายนี้ได้รับการบริหารจัดการอย่างผิดพลาด พวกเขาพูดถึงโครงการวิศวกรรมที่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือไม่ก็ไร้ประสิทธิภาพ การปันส่วนน้ำอย่างไม่เป็นธรรม และระบบนิเวศที่ถูกทำลายในนามของผลกำไร
ตอนนั้นยังมีไม่กี่คนที่พูดถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อต่อแม่น้ำสินธุ จนล่วงถึงปี 2010 ความใหญ่หลวงของปัญหาปรากฏในรูปของอุทกภัยร้ายแรงหลายครั้ง แทนที่จะเป็นปัญหาขาดแคลนน้ำ ปริมาณน้ำฝนรวมในเขตเทือกเขาหิมาลัยจะเป็นเท่าใดในอนาคตยังไม่อาจรู้ได้ แต่ที่แน่ๆ คือมีฝนตกหนักและรุนแรงบ่อยขึ้น
เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2010 ขณะที่แม่น้ำปริ่มด้วยน้ำจากน้ำแข็งละลายในฤดูร้อนอยู่แล้ว สินธุก็ถูกซ้ำเติมจากพายุมรสุมรุนแรงผิดปกติ ฝนตกหนักมากจนบางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนสูงเท่ากับของทั้งปีภายในไม่กี่ชั่วโมง ทำให้น้ำ เอ่อท้นล้นตลิ่งตลอดลำน้ำด้านใต้ คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1,600 คน สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“น้ำท่วมร้ายแรงขนาดนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนครับ” อุสมาน คาซี ผู้เชี่ยวชาญการบรรเทาสาธารณภัยในสังกัดโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สำนักงานอิสลามาบัด กล่าวและเสริมว่า “แต่มันจะเกิดบ่อยจนเป็นปกติ น้ำท่วมสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่งในปากีสถาน”
ความแตกต่างชัดเจนที่สุดเมื่อเทียบกับสมัยที่ฉันเขียนหนังสือเล่มนั้นก็คือ ปัจจุบันภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของทุกการอภิปรายที่ว่าด้วยอนาคตแม่น้ำสินธุ และความท้าทายดังกล่าวยังซับซ้อนขึ้นชนิดไม่รู้จบ เพราะแม่น้ำสินธุกับแม่น้ำสาขาทั้งห้าสายถูกใช้ร่วมกันระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอริกัน มาตั้งแต่ปี 1947 ขณะที่จีนคุมต้นน้ำเอาไว้ ตอนไปถึงทิเบตเมื่อปี 2006 ฉันตกใจมากเมื่อเห็นแม่น้ำสินธุในสภาพเหือดแห้งไร้น้ำ เพราะจีนเพิ่งสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำตอนบนหลายช่วง
ทั้งอินเดีย ปากีสถาน และจีน ต่างมีประชากรจำนวนมหาศาล และมีเหตุผลนับไม่ถ้วนรองรับการปกป้องทรัพยากรของตน ทั้งสามประเทศยังครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เรามองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็น สิ่งที่เกิดขึ้นทีละน้อยจนแทบไม่รู้สึก แต่ตลอดเส้นทางของแม่น้ำสินธุ ปรากฏการณ์นี้อาจกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งที่เปลี่ยนโลกได้ในชั่วข้ามคืน
เรื่อง อลิซ อัลบีนียา
ภาพถ่าย เบรนดัน ฮอฟฟ์แมน
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ (Rolex Perpetual Planet Initiative) ซึ่งร่วมมือกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในโครงการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจ ศึกษา และบันทึกการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีความแตกต่างโดดเด่นหลายแห่งของโลก