สัญญาณเตือนจากธารนํ้าแข็งบนยอดเขาสูงที่สุดของโลก กําลังดังขึ้นเรื่อยๆ

สัญญาณเตือนจากธารนํ้าแข็งบนยอดเขาสูงที่สุดของโลก กําลังดังขึ้นเรื่อยๆ

โครงการสำรวจล่าสุดเผยความจริงอันน่าตื่นตะลึงว่า น้ำแข็งบนยอดเขาสูงที่สุดของโลกอาจหมดไปภายใน 1 ทศวรรษ

นี่คือ “สัญญาณเตือนอย่างแท้จริง”

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มาถึงดินแดนหลังคาโลกแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อธารนํ้าแข็งสูงที่สุดบนยอดเขาสูงที่สุดของโลกกำลังสูญเสียนํ้าแข็งปริมาณที่สะสมหลายทศวรรษในแต่ละปี ตามผลการศึกษาชิ้นใหม่ของนักวิจัยที่เก็บตัวอย่างแกนนํ้าแข็งจากธารนํ้าแข็งแห่งนี้

ผลการศึกษาซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Climate and Atmospheric Research พบว่า ธารนํ้าแข็งเซาท์โคล (South Col Glacier) บนเมานต์เอเวอเรสต์ ซึ่งเหล่านักปีนเขาต้องเดินข้ามระหว่างทางขึ้นสู่ยอดเขาสูงที่สุดในโลก อาจสูญเสียมวลไปแล้วถึงครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นในภูมิภาค และนํ้าแข็งอาจสูญสิ้นไปทั้งหมดเมื่อถึงกลางศตวรรษนี้

ข้อค้นพบเหล่านี้เป็นผลสัมฤทธิ์จากโครงการสำรวจเมานต์เอเวอเรสต์เมื่อปี 2019 อันเป็นความร่วมมือระหว่างเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และโรเล็กซ์ภายใต้ชื่อ National Geographic and Rolex Perpetual Planet Everest Expedition

เจาะแกนน้ำแข็ง เอเวอร์เรสต์
มารียุส โปตอสกี นักเคมีธารนํ้าแข็ง และทีมงานชาวเชอร์ปา เตรียมเจาะตัวอย่างแกนนํ้าแข็งจากธารนํ้าแข็งเซาท์โคลบนเมานต์เอเวอเรสต์ที่เห็นอยู่ด้านหลัง อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจของโรเล็กซ์และเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภาพ เดิร์ก คอลลินส์

พอล เมยูว์สกี ผู้นำคณะสำรวจ และหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ เปิดเผยกับ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ว่าการสำรวจครั้งนี้กว้างขวางและครอบคลุม นอกจากการเก็บตัวอย่างแกนนํ้าแข็ง (ice core) และตัวอย่างทางชีววิทยาแล้ว ยังมีการทำแผนที่ความละเอียดสูง (highresolution map) และศึกษาคุณภาพนํ้า ตลอดจนประวัติศาสตร์ของธารนํ้าแข็งต่าง ๆ บนเมานต์เอเวอเรสต์ ทีมงานยังติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ (weather station) 5 แห่ง (ในจำนวนนี้ สองแห่งติดตั้งอยู่ในระดับสูงที่สุดในโลกสำหรับสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ)

“ต้องบอกว่านี่เป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมาบนฝั่งใต้หรือสันเขาด้านทิศใต้ (south side) ของเอเวอเรสต์ครับ” เมยูว์สกีเสริม

ไรอัน วอเตอร์ส นักปีนเขาผู้พิชิตยอดเขาเมานต์เอเวอเรสต์มาแล้ว 6 ครั้ง แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้ ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า ธารนํ้าแข็งเซาท์โคลให้ทัศนียภาพตระการตาสำหรับนักปีนเขาที่กำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์ “ภาพที่ปรากฏแก่สายตาคุณในทันที คือหิมะและนํ้าแข็งปริมาณมหาศาลที่ทอดตัวลงมาจากเอเวอเรสต์เหนือแคมป์ขึ้นไป”

ธารนํ้าแข็งแห่งนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการสำรวจครั้งนี้ เพราะธารนํ้าแข็งบนเทือกเขาทั่วโลกกำลังหดตัวและถอยร่นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระนั้น เมยูว์สกี นักวิทยาธารนํ้าแข็ง (glaciologist) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Institute) ที่มหาวิทยาลัยเมน ก็ยอมรับว่า เรามีข้อมูลค่อนข้างน้อยมากเกี่ยวกับธารนํ้าแข็งต่าง ๆ ที่อยู่สูงที่สุด

เขาเสริมว่า “และคำถามหนึ่งที่เราต้องการหาคำตอบคือ เมื่อขึ้นไปถึงความสูงระดับนั้น แน่นอนว่าอากาศยิ่งหนาวเหน็บขึ้นไปอีก เช่นนั้นแล้ว ธารนํ้าแข็งต่าง ๆ บนเมานต์เอเวอเรสต์ แม้จะอยู่สูงขึ้นไปถึง 8,000 เมตร (26,250 ฟุต) ซึ่งเป็นระดับที่ธารนํ้าแข็งเซาท์โคลตั้งอยู่กำลังละลายอย่างรวดเร็วและถอยร่นจริงหรือ

เจาะตัวอย่างแกนนํ้าแข็งจากธารนํ้าแข็งสูงที่สุดในโลก

องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของงานวิจัยดังกล่าว คือการเก็บตัวอย่างแกนนํ้าแข็งจากธารนํ้าแข็งที่ระดับความสูงมากกว่าตัวอย่างที่เคยเก็บจากจุดสูงที่สุดกว่า 1,000 เมตร (3,200 ฟุต) การทำเช่นนั้นได้จำเป็นต้องปรับแต่งอุปกรณ์ขุดเจาะที่มีอยู่เพื่อให้มีนํ้าหนักเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ทีมงานสามารถนำขึ้นไปได้ด้วยแรงงานคนและใช้งานได้ในสภาพอากาศเบาบาง แม้ทีมงานจะทำการทดลองจริงหลายครั้งในสภาพอากาศหนาวเย็นสุดขั้วในรัฐเมน สหรัฐอเมริกา ในไอซ์แลนด์ และแถบหิมาลัยมาแล้ว ก็ไม่มีหลักประกันแน่นอนว่า อุปกรณ์ดังกล่าวจะทำ งานได้จริงในเวลาที่จำเป็นต้องใช้งานมากที่สุด

Paul Mayewski holds an ice-core sample taken from the Everest Base Camp
พอล เมยูว์สกี นักวิทยาธารนํ้าแข็งถือตัวอย่างแกนนํ้าแข็งที่ได้จากเบสแคมป์บนเมานต์เอเวอเรสต์ ภาพ รีเบกกา เฮล

“พวกเราเครียดกันสุด ๆ เลยครับ” มารียุช โปตอสกี นักเคมีธารนํ้าแข็ง (glaciochemist) และนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเมน ผู้เก็บตัวอย่างแกนนํ้าแข็งบอก “โล่งอกไปตาม ๆ กันเลยทีเดียว เมื่ออุปกรณ์ทำงานได้อย่างที่ตั้งใจไว้”

อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้ทำให้โปตอสกีและทีมงานตกใจเมื่อตัวอย่างแกนนํ้าแข็งความยาว 10 เมตร (33 ฟุต)ได้รับการวิเคราะห์ กระบวนการหาอายุด้วยวิธีคาร์บอนกัมมันตรังสีเผยว่า นํ้าแข็งบนพื้นผิวมีอายุราว 2,000 ปี พูดอีกนัยหนึ่งคือนํ้าแข็งใด ๆ ก็ตามที่ตกลงมาสะสมบนธารนํ้าแข็งในช่วงสองพันปีที่ผ่านมาล้วนละลายหายไปจนหมดสิ้น ตัวอย่างแกนนํ้าแข็งบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับชั้นการเติบโตรายปีของนํ้าแข็ง (annual ice growth) ลักษณะคล้ายคลึงกับวงปีต้นไม้ และเมื่อวัดความหนาของชั้นเหล่านี้ทีมงานคำนวณโดยตั้งสมมุติฐานว่า อัตราการสะสมตัวหรือทับถมของนํ้าแข็งอยู่ในระดับคงที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาธารนํ้าแข็งสูญเสียนํ้าแข็งไปแล้วราว 55 เมตร (180 ฟุต)

หลอดบรรจุนํ้าจากตัวอย่างแกนนํ้าแข็งที่ได้จากเมานต์เอเวอเรสต์จะได้รับการวิเคราะห์ทางเคมีต่อไป

เมื่ออ้างอิงกับอัตราการอุ่นขึ้นและการสูญเสียนํ้าแข็งที่วัดได้จากที่อื่น ๆ ในแถบหิมาลัย นักวิจัยอนุมานว่าการสูญเสียนํ้าแข็งส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เมยูว์สกีบอกว่า หากอัตราการสูญเสียนํ้าแข็งในระดับนี้ยังดำเนินต่อไป “ก็เป็นไปได้มากว่า ธารนํ้าแข็งเซาท์โคลจะละลายหายไปจนหมดสิ้นภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า เป็นการเปลี่ยนผ่านที่น่าคิดทีเดียวครับ”

หากการเปลี่ยนแปลงในระดับนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ประหลาดใจแล้วละก็ แนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นสิ่งที่นักปีนเขาอย่างวอเตอร์สสังเกตเห็นมาตลอดหลายปี ไม่เพียงบนธารนํ้าแข็งเซาท์โคลเท่านั้น หากเกิดขึ้นทั่วแถบหิมาลัย

“ผมสังเกตเห็นตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปเยือนหิมาลัยเมื่อ 20 ปีก่อนแล้วว่า ธารนํ้าแข็งจำนวนมากทั้งในและรอบ ๆ เอเวอเรสต์เปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว” วอเตอร์สบอก และเสริมว่า “โตนนํ้าแข็งคุมบู (Khumbu Icefall) เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะธารนํ้าแข็งที่อยู่สูงที่สุดเท่านั้น แต่ดูเหมือนเกิดขึ้นกับธารนํ้าแข็งทั้งหมด”

ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

บรรดานักวิจัยลงความเห็นว่า อัตราการสูญเสียนํ้าแข็ง น่าจะเร่งเร็วขึ้นอย่างมากจากกระบวนการที่เรียกว่า การระเหิด (sublimation) โดยที่หิมะและนํ้าแข็งจะระเหยหายไปโดยไม่เปลี่ยนผ่านจากขั้นตอนที่กลายเป็นนํ้าในสถานะของเหลว การระเหิดเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติในสภาพภูมิอากาศที่เย็นและแห้ง โดยเฉพาะที่ระดับความสูงมาก ๆ แต่ได้รับแสงแดดปริมาณมากและเผชิญ กระแสลมแรง ตัวแปรทั้งหมดนี้พบได้ในแถบสันเขาด้านทิศใต้ของเอเวอเรสต์ แนวโน้มนี้ยิ่งเลวร้ายบนธารนํ้าแข็ง เซาท์โคล โปตอสกีอธิบาย “จากการสูญเสียหิมะปกคลุม เกือบทั้งหมดบนพื้นผิวธารนํ้าแข็ง”

แสงไฟจากเบสแคมป์ของเอเวอเรสต์เรืองรองขณะที่ไฟคาดศีรษะของเหล่านักปีนเขาก่อตัวเป็นสายแสงขึ้นสู่โตนนํ้าแข็งคุมบู การปีนช่วงนี้ปลอดภัยที่สุดในเวลากลางคืนที่อุณหภูมิตํ่ากว่าจุดเยือกแข็ง
ภาพ มาร์ก ฟิชเชอร์

หิมะมีแอลบีโด (albedo) หรือค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนรังสีสูง กล่าวคือสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ส่วนใหญ่กลับสู่บรรยากาศ “ถ้าเราสูญเสียหิมะที่ตกใหม่ ๆ นํ้าแข็งด้านล่างซึ่งมีสีคลํ้ากว่าย่อมดูดซับรังสีดวงอาทิตย์ได้มากขึ้น ดังนั้นกระบวนการละลายและการระเหิดจึงรุนแรงขึ้น และการสูญเสียนํ้าแข็งก็มากขึ้นตาม” เขาอธิบาย

“มารียุชกับผม เราตระเวนเจาะตัวอย่างแกนนํ้าแข็งมาแล้วทั่วโลก และเราก็พัฒนาอุปกรณ์ขุดเจาะสำหรับการสำรวจครั้งนี้โดยเข้าใจว่า ถึงที่สุดแล้วเขาน่าจะต้องเจาะผ่านหิมะและนํ้าแข็ง” เมยูว์สกีกล่าวและเสริมว่า “น่าตกใจจริง ๆ ครับ เมื่อมาเห็นพื้นผิวนํ้าแข็งเปล่าเปลือยแบบนั้น”

สำหรับเมยูว์สกี ข้อค้นพบต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยเพิ่มเติมหลักฐานที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กระทั่งในพื้นที่ที่ห่างไกลที่สุดของโลก

“เรารู้ว่ามหาสมุทรต่าง ๆ ปนเปื้อนมลพิษ เรารู้ว่ามหาสมุทรเหล่านั้นกำลังอุ่นขึ้นและเป็นกรดมากขึ้น” เขาบอกและเสริมว่า “เรารู้ว่ามีบางเวลา แม้กระทั่งในช่วงกลางฤดูหนาว เมื่อมวลอากาศอุ่นแพร่ไปถึงขั้วโลกเหนือและอุณหภูมิที่นั่นก็สูงกว่าจุดเยือกแข็ง เรารู้ว่ามีบางช่วงในฤดูร้อน พื้นผิวทั้งหมดของพืดนํ้าแข็งกรีนแลนด์ (Greenland Ice Sheet) กำลังละลาย

“และตอนนี้ เราก็มีหลักฐานว่า กระทั่งธารนํ้าแข็งสูงที่สุดบนยอดเขาสูงที่สุดของโลก กำลังสูญเสียนํ้าแข็งอย่างรวดเร็ว ใช่ครับ ผมยอมรับว่า นี่เป็นสัญญาณเตือนจริง ๆ”


บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ (Rolex Perpetual Planet Initiative) ซึ่งร่วมมือกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในโครงการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจ ศึกษา และบันทึกการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีความแตกต่างโดดเด่นหลายแห่งของโลก


 

Recommend