65 ปีความสัมพันธ์ : มองพม่าในแผ่นดินไทย

65 ปีความสัมพันธ์ : มองพม่าในแผ่นดินไทย

65 ปีความสัมพันธ์ : มองพม่าในแผ่นดินไทย

ไทยและพม่ามีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน กล่าวได้คือทุกวันนี้มีชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากมายหลายแสนคน บ้างก็ลักลอบเข้ามาขายแรงงาน บ้างก็หลบหนีภัยสงครามเข้ามาตั้งรกราก บ้างเข้ามาในฐานะของการใช้ศาสนาประจำชาติร่วมกัน ซึ่งเราปฏิเสธได้ยากว่ามีชาวพม่ามากมายในบ้านเมืองเรา

หากนับตั้งแต่หลังจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตแล้วนั้น ความสัมพันธ์แค่ 65 ปีที่ผ่านมาอาจจะไม่ใช่ตัวชี้วัดความผูกพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศนี้ที่มีมาอย่างยาวนาน แต่หากมองอย่างความเสมอภาคและความทัดเทียมนั้น ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนพม่ากับคนไทยในบ้านเมืองเรานี้ยังมีอยู่มาก อาจจะเนื่องมาจากประวัติศาสตร์หรือการนำเสนอของสื่อ

ถึงอย่างไรก็ตาม สารคดีเรื่องนี้ได้นำเสนอแง่มุมบางประการที่สอดคล้องและมีความสัมพันธ์กันเชิงปฏิสัมพันธ์ในฐานะที่อาศัยบนแผ่นดินผืนเดียวกัน และโครงสร้างภาพรวมโดยผ่านทัศนคติของผู้นำเสนอ

เรื่องและภาพ อนุชิต เลิมสุ่ม

รางวัลชมเชย จากโครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2013 โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

ลูกเรือประมงชาวพม่ากำลังคัดแยกวัตถุดิบทางทะเลที่หามาได้ท่ามกลางแสงสุดท้ายของวัน ที่ท่าเรือหน้าทอน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี ลูกเรือประมงส่วนใหญ่ที่นี่เป็นแรงงานต่างด้าวมาจากประเทศพม่า ซึ่งเป็นงานหนัก รายได้น้อย และถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่อย่างสม่ำเสมอ ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังพอมองเห็นความหวังที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
บรรยากาศภายในที่พักของคนงานชาวพม่าแห่งหนึ่งในจังหวัด สมุทรสาคร เผยให้เห็นถึงข้าวของ เครื่องใช้ที่ระเกะระกะ อันเนื่องมาจากที่อยู่อาศัยอันคับแคบและต้องอาศัยอยู่ด้วยกันหลายชีวิตเพื่อประหยัดค่าเช่าให้มีเงินเหลือพอสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ
วัยรุ่นชาวพม่าจับกลุ่มเตะตระกร้อกันบริเวณริมทางรถไฟย่านมักกะสันในช่วงเวลาเลิกงาน กีฬาตระกร้อนี้มีความคล้ายคลึงกันกับการละเล่น “ชินลง” ที่นิยมเล่นกันในประเทศพม่า ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่จะเป็นที่ชื่นชอบของชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย อีกทั้งยังมีความสามารถและลีลาการเตะตระกร้อได้ไม่แพ้คนไทยเลย
นายนู มูฮัมหมัด ชาวพม่าโรฮิงญา ผู้หนีภัยจากเหตุการณ์ 8888 (วันที่ 8 เดือนสิงหาคม คศ. 1988) ในพม่าที่รัฐบาลนำโดยนายพลเนวิน ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมกว่าล้านคนในประเทศพม่า เขาได้เข้ามาพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยจนปัจจุบันได้รับใบอนุญาตให้สามารถพำนักอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครได้
ฝูงชนชาวพม่าหลั่งไหลกันเข้ามาที่ตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร จากทั่วทุกสารทิศเพื่อต้อนรับการมาเยือนของผู้นำพรรค NLD, นาง อองซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่มาเยี่ยมเยือนและยังได้สร้างความหวังให้แก่ผู้ใช้แรงงานและชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
นโยบายขยายเวลาเปิด-ปิดด่านศุลกากรแม่สายที่ได้นำมาทบทวนใช้นั้น อาจจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจก็จริง แต่อาจจะทำให้ต้องมีมาตราการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่เข้มงวดมากกว่าเดิม และนอกเหนือจากนั้น การยกเลิกภาษีศุลกากรและมาตราการที่ไม่ใช่ภาษี ยังเป็นหนึ่งในมาตราการของกรมศุลกากรกับการพัฒนาสู่ AEC โดยเชื่อว่าจะอำนวยความสะดวกด้านการค้า และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์
นอกจากวัตรปฏิบัติตามหลักศาสนาแล้วพระสงฆ์ชาวพม่าที่พำนักอยู่ที่ วัดทรายมูล(พม่า) จ.เชียงใหม่แล้ว หน้าที่อีกอย่างของพระสงฆ์ที่นี่คือการสอนหนังสือในวันเสาร์-อาทิตย์ แก่เด็กชาวพม่าที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งไม่สามารถอ่านเขียนภาษาพม่าได้
ชายชาวพม่าคนหนึ่งที่เข้ามาขายแรงงานในจังหวัดสมุทรสาครอวดรูปของตน(ด้านบนจากซ้ายคนที่ 4) ที่ได้แสดงเป็นตัวประกอบของภาพยนต์เรื่อง “The Lady” ซึ่งเป็นหนังอัตชีวประวัติของ นาง อองซาน ซูจี โดยมี มิเชล โหย่ว แสดงนำ
ตำรับความงามฉบับคนพม่า หญิงสาวชาวพม่าไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลไหนก็ยังคงไม่ลืมวัฒนธรรมการใช้ “ทานาคา” หรือที่เมืองไทยเราเรียกว่า”แป้งพม่า” เพื่อประทินโฉมให้สวยงาม และมีเสน่ห์ในแบบฉบับที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
จากโศกนาฏกรรมความรักที่เป็นตำนานของเจ้าน้อยศุขเกษมกับหญิงสาวชาวมะหล่ะแหม่ง ที่เกิดขึ้นในช่วงที่สยามกำลังจะผนวกล้านนาเข้าไว้ด้วยกันได้ล่วงเลยมาร้อยกว่าปีที่แล้วนั้น ทำให้วัยรุ่นนิยมมาไหว้ขอพรเกี่ยวกับความรักและมอบดอกไม้ให้กับ “กู่” หรือเจดีย์ที่เก็บอัฐิของท่าน ที่วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ อีกทั้งศิลปินพื้นเมืองผู้ล่วงลับ นาม จรัล มโนเพ็ชร ยังได้นำเอาตำนานความรักของท่านมารังสรรค์เป็นเพลง “มะเมี๊ยะ” อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม “ไตแลง” ยอดดอยแห่งความหวัง

ไตแลง

Recommend