รองชนะเลิศอันดับ 2 : 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 8: “วากาโตบิ” เมื่อความรุ่มรวยทางชีวภาพใต้ทะเลโอบกอดวิถีแห่งชีวิต

รองชนะเลิศอันดับ 2 : 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 8: “วากาโตบิ” เมื่อความรุ่มรวยทางชีวภาพใต้ทะเลโอบกอดวิถีแห่งชีวิต

ผลงานรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดภาพถ่ายสารคดี 10 ภาพเล่าเรื่อง Season 8

โดย คุณ กิตติธัช โพธิวิจิตร

 

แนวคิดของสารคดี

“วากาโตบิ” เมื่อความรุ่มรวยทางชีวภาพใต้ทะเลโอบกอดวิถีแห่งชีวิต วางีวางี กาเลดูปา โตเมีย และบินองโก พยางค์แรกของเกาะทั้ง 4 เมื่อนำมารวมกัน จะได้นามว่า “วากาโตบิ” เป็นการผสานสามัคคี รวมกันขึ้นเพื่อดูแลรักษาระบบนิเวศ ให้เป็นระบบหมู่เกาะพี่น้องที่แข็งแกร่ง คอยดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์นี้ไว้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน พื้นที่กว่า 13,900 ตารางกิโลเมตรเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลและแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลที่สุดของโลกโดยเฉพาะระบบนิเวศปะการังและพันธุ์ปลา ถึงขนาดว่านักสมุทรศาสตร์ระดับตำนานอย่าง ฌาคส์ กุสโต นิยามที่นี่ไว้ว่า “สรวงสวรรค์ใต้น้ำ” สิ่งน่าชื่นชมของชุมชนในหมู่เกาะวากาโตบิ คือการปลูกฝังจิตสำนึกแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เรียนรู้การใช้ชีวิตกับธรรมชาติอย่างไม่เบียดเบียน การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะครัวเรือน แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งไม่สามารถทำนายอนาคตของวากาโตบิได้ว่าจะแปรเปลี่ยนไปในทิศทางใด ทว่าฐานรากที่มั่นคงของจิตสำนึกที่ปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่น จะเป็นสิ่งรับประกันว่าวากาโตบิและดำรงอยู่อย่างยั่งยืน

“เส้นสายแห่งวัฏจักร” `ความสูง 192 เมตร จากระดับน้ำทะเล’ ใกล้กับเกาะโตเมีย : ร่องน้ำของอะทอลล์ไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้สารอาหารอันอุดมสมบูรณ์จากสองทะเล คือ ทะเลบันดาและทะเลฟลอเรส ไหลเวียนหล่อเลี้ยงชีวิตรอบหมู่เกาะวากาโตบิ ให้เติบโตเต็มอิ่มแบบไม่มีวันหมด
“โตเมียใต้ก้อนเมฆ” `ความสูง 2 เมตร จากระดับน้ำทะเล’ บริเวณแนวปะการังระหว่างเกาะโตเมียกับเกาะบินองโก : เรือประมงพื้นบ้านกำลังรีบกลับเข้าฝั่งเพื่อขายปลาที่จับได้ให้ทันตลาดช่วงเย็น เบื้องหลังคือเกาะแลนที หนึ่งในเกาะบริวารของเกาะโตเมีย บ่งบอกลักษณะทางธรณีวิทยาของหมู่เกาะวากาโตบิ ซึ่งเป็นเกาะหินปูนที่เกิดจากการทับถมของปะการังที่ตายแล้ว สามารถกักเก็บและอุ้มน้ำ ให้ความชื้นปั้นเมฆคิวมูลัสก้อนโต
“ที่อยู่อาศัย” `ระดับน้ำทะเล’ 5°49’58.8”ใต้ 123°50’07.5”ตะวันออก บริเวณปากร่องน้ำใต้ทะเล : แหล่งที่อยู่อาศัยของทั้งคน สัตว์น้ำ และหญ้าทะเล เหนือผิวน้ำคือบ้านของชาวประมงวากาโตบิที่ปักเสาโครงไม้เรียบง่าย มีราวตากผลผลิตจากท้องทะเล ใต้ผิวน้ำอุดมด้วยผืนหญ้าทะเลยาวเหยียด ที่นี่คือแหล่งอนุบาล ฟูมฟัก เติบโตของสัตว์น้ำชั้นดี
“สวนหลังบ้านของแอเรียล” `ความลึก 3 เมตร จากระดับน้ำทะเล’ 4. ทิศเหนือของเกาะโตเมีย ห่างจากฝั่ง 239 เมตร : กลุ่มปะการังแข็งเสมือนสวนหินบนพรมหญ้าทะเล จุดดำน้ำใหม่จากการสำรวจของ ดร. ประยูดี ซูติโอโน่ ที่ผันตัวจากแพทย์อายุรกรรมประจำโรงพยาบาล มาสำรวจโลกใต้น้ำที่เขาหลงรัก ก่อตั้งธุรกิจดำน้ำเชิงอนุรักษ์ขึ้นพร้อมกับความฝันที่จะรักษาทั้งคนและปกป้องทะเลไปด้วยกัน
“เติบโตบนโครงสร้างเก่า” `ความลึก 14 เมตร จากระดับน้ำทะเล’ Black Forest: ปะการังอ่อนต้องแย่งพื้นที่แข่งขันกันเติบโตบนโครงสร้างของปะการังโต๊ะที่ตายไปก่อนหน้านี้ ยังไม่นับคู่แข่งอื่นอย่างเห็ดทะเล ดอกไม้ทะเล กัลปังหา ไฮดรอยด์ หรือเหล่าฟองน้ำ ก็ต้องต่อสู้แย่งชิงพื้นที่เพื่อขยายเผ่าพันธุ์ของตนเอง ความสมบูรณ์ของอาหารที่มากับกระแสน้ำเป็นปัจจัยหลักของการเจริญเติบโต
“เบ่งบาน” `ความลึก 26 เมตร จากระดับน้ำทะเล’ ด้านในอะทอลล์ NDAA : ในระดับลึกลงไป กระแสน้ำมีพลัง กัลปังหาจึงต้องแผ่กว้างเพื่อรับสารอาหารไว้ให้ได้มากที่สุด ด้วยความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ กัลปังหาจึงอวบอ้วน เติบโตเร็ว และไร้การแตกหักเสียหาย เพราะที่นี่เป็นเขตสงวนไว้เฉพาะการดำน้ำเชิงอนุรักษ์เท่านั้น ไม่มีกิจกรรมอื่นใดเข้ามารบกวน
“ฝูงกระมงไซโคลน” `ความลึก 29 เมตร จากระดับน้ำทะเล’ Ali reefs : ฝูงกระมงขนาดยักษ์ ว่ายหมุนวนเป็นพายุไซโคลนล่าเหยื่อ กลุ่มปลาฝูงใหญ่บ่งบอกถึงการปกป้องพื้นที่จากอุตสาหกรรมประมงที่ตักตวงเกินขีดจำกัด และการทิ้งขยะ ผลลัพธ์คือความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร แล้วยังมีผลพลอยได้จากการท่องเที่ยวดำน้ำลึกเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืนอีกด้วย
“เซฟตี้สต็อป” `ความลึก 4-5 เมตร จากระดับน้ำทะเล’ Fan 38 : บันไดเรือพานักดำน้ำลงมาเยือนแนวปะการังแข็งที่ความลึกระหว่าง 2-7 เมตร กระแสน้ำพาอาหารอุดมสมบูรณ์ให้เหล่าปะการังกินจุเหล่านี้เติบโตเบียดเสียดหนาแน่น เป็นสวรรค์ใต้น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งนึงของโลก
“ซากเรือที่รอกู้” `ความลึกที่ยากหยั่งถึงของจิตสำนึกตัวบุคคล’ ท่าเรือ Usuku : ยังมีแสงแห่งความหวังเสมอ เมื่อคนที่นี่ได้รับการปลูกจิตสำนึกให้ดูแลบ้านที่รวมไปถึงแหล่งผลิตอาหารของชุมชน ตัวอย่างการจัดการหลังเกิดเหตุเรือเกยตื้น ด้วยการกู้เครื่องยนต์ขึ้นมาซ่อม พร้อมกับการซับคราบน้ำมันที่รั่วไหลไม่ให้ปนเปื้อนออกสู่ทะเลภายนอก แสดงถึงความเอาใจใส่ซึ่งบ่งบอกว่าคนที่นี่ดูแลรักษาบ้านของเขาอย่างไร
“ความหวังของวากาโตบิ” `ผิวเผิน จิตสำนึกที่รอปลูกของเยาวชน’ ท่าเรือ Waha : หลังพายุฝนผ่านไป แสงแดดช่วงเย็นส่องประกายให้เกิดรุ้ง ระหว่างทางกลับจากโรงเรียน เด็กๆ แวะกระโดดตีลังกาลงน้ำกันสนุกสนาน แม้เราจะไม่รู้เลยว่าอนาคตข้างหน้าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อวากาโตบิ ทั้งในระดับเหนือผิวน้ำและลึกลงไป เราคงได้แต่ฝากความหวังไว้กับเด็กๆ เหล่านี้

Recommend