มองโลกผ่านเลนส์ สถานการณ์สอง ทะเล กับ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

มองโลกผ่านเลนส์ สถานการณ์สอง ทะเล กับ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

เรื่องเล่าหลังเลนส์ สถานการณ์ท้องทะเลของสองประเทศ ฝั่งหนึ่งคลี่คลาย อีกฝั่งกลับวิกฤติ

การเดินทางบันทึกภาพท้องทะเลในสองประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ทำให้ช่างภาพมองเห็นสถานการณ์ที่กำลังดำเนินไปคนละทิศทางในเวลาเดียวกัน ขณะที่ฝั่งหนึ่งคลี่คลาย อีกฝั่งกลับวิกฤติ

เสียงคลื่นที่ซัดสาดหาดทรายแห่งนั้นดังเหมือนเสียงฟ้าผ่าที่ทำลายความเงียบสงัดของชายหาดไร้แสงไฟยาวสุด ลูกหูลูกตา ละอองน้ำจากทะเลที่กระจายไปกับสายลมยามค่ำคืน สะท้อนแสงไฟฉายสีแดงเข้มที่ส่องกระทบ ชวนให้นึก ถึงเลือดที่พุ่งออกจากคอเหยื่อผู้โชคร้ายในภาพยนตร์สยองขวัญ ร่างกายที่อ่อนเพลียจากการเดินย่ำไปมาบนผืนทราย กลางดึกโดยอาศัยเพียงไฟฉายกระบอกเล็กๆ กับสมองที่อ่อนล้าเพราะอดหลับอดนอน พลอยทำให้ความคิดฟุ้งซ่านและจินตนาการเตลิดไปถึงเรื่องเล่าในวงเหล้าว่าด้วยเหตุการณ์สึนามิที่พรากชีวิตผู้คนไปนับพันเมื่อเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา

ท่ามกลางความเงียบ ขณะนั่งพักเหนื่อยระหว่างเดินตามหาแม่เต่ามะเฟืองไปตามหาดทรายของจังหวัดพังงาในช่วงฤดูวางไข่นั้น ผมเงี่ยหูฟังว่าจะมีเสียงฝีเท้าอื่นๆ ที่จู่ๆ อาจดังขึ้นมา

สันทรายบนชายหาดกว้างใหญ่ของจังหวัดพังงาเป็นแหล่งวางไข่สำคัญของเต่ามะเฟืองในน่านน้ำแถบตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรอินเดียที่ครอบคลุมชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย แม้สถานภาพของเต่าทะเลชนิดนี้ในภูมิภาคยังคงคลุมเครือเพราะข้อมูลที่ขาดหาย ถึงขั้นจัดอยู่ในกลุ่มข้อมูลไม่เพียงพอต่อการประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม (Data Deficient: DD) ในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น (International Union for Conservation of Nature: IUCN) แต่ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า พวกมันอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ (critically endangered) และถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย เพราะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากภัยคุกคามทั้งอุตสาหกรรมประมงทะเล และแหล่งอาศัยบนบกถูกรบกวนหรือถูกทำลาย

ผมเริ่มตามหาแม่เต่ามะเฟืองวางไข่มาตั้งแต่ปี 2018 เพื่อบันทึกภาพ แทบทุกครั้งจะจบลงด้วยการเดินออกกำลังกายยามวิกาลจนเหนื่อยหอบเหงื่อท่วม และแล้วในฤดูกาลนี้ผมก็โชคดีที่มีโอกาสได้ถ่ายภาพแม่เต่ามะเฟือง เกือบสิบนาที ขณะที่มันกำลังคลานกลับสู่ทะเลอันดามันเพื่อว่ายน้ำกลับบ้านอีกครั้งหลังวางไข่

การกลับมาทำรังวางไข่ของเต่ามะเฟืองซึ่งมีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ทำลายสถิติในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในเรื่องราวการอนุรักษ์ที่น่าชื่นใจหลายเรื่องของชายฝั่งอันดามันในประเทศไทย นอกเหนือจากการกลับมาของฉลามหูดำในอ่าวมาหยาระหว่างการปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ การจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเลของจังหวัดตรัง การจัดระเบียบการท่องเที่ยวหมู่เกาะราชา จังหวัดภูเก็ต หรือการที่พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของยูเนสโก แม้ความก้าวหน้าด้าน การจัดการพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันของไทยเพิ่งปรากฏให้เห็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ความตั้งใจในการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ดำเนินต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

ปลาโรนันจุดขาวว่ายน้ำไปตามผืนทรายขาวละเอียด โดยมีฝูงปลาช่อนทะเลคอยตามติดในเขตน้ำตื้นของเกาะราชาน้อย หนึ่งในพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแห่งใหม่ของไทย นอกชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต ปลาโรนันเป็นหนึ่งในกลุ่มปลาที่ถูกคุกคามมากที่สุดในทะเล โดย 9 ใน 11 ชนิดที่พบบนโลกที่มีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต (critically endangered) ในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือไอยูซีเอ็น

ทว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวดูเหมือนจะสวนทางกับสถานการณ์ของหมู่เกาะมะริดในน่านน้ำประเทศเมียนมา อันเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของโครงการที่ผมได้รับการสนับสนุนจากทุนนักสำรวจของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดใหญ่ทั่วโลกและเหตุการณ์การรัฐประหารในเมียนมา ทำให้ผมจำเป็นต้องขยาย พื้นที่ทำงานให้ครอบคลุมชายฝั่งอันดามันของไทย จึงเป็นโอกาสที่ทำให้เห็นความเป็นไปของทะเลไทยควบคู่กันไปด้วย

เศษเนื้อและกองเลือดของกระเบนปีศาจที่เกลื่อนกระจายบนพื้นถนน ปลานับร้อยที่กำลังเน่าเปื่อยอยู่ในซากอวนขนาดใหญ่ที่ปกคลุมภูเขาน้อยใหญ่ใต้น้ำ หรือเสียงอ้อนวอนต่อวิญญาณบรรพบุรุษของหมอผีชาวมอแกนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ใกล้จะสูญหาย สิ่งเหล่านี้คงเป็นความทรงจำฝังลึกที่สุดของผมจากการทำงานรอบหมู่เกาะมะริดเป็นเวลาร่วมปีกว่า

เราเคยเข้าใจกันมานานว่า เกาะแก่งน้อยใหญ่กว่า 800 เกาะนอกชายฝั่งตอนใต้ของเมียนมานั้นเป็นพื้นที่แห่งความหวังที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์ หลังการปิดกั้นไม่ให้ชาวต่างชาติเข้าถึงตลอดหลายสิบปี ท้องทะเลในย่านนั้นคงมีความหลากหลายทางชีวภาพที่รอการสำรวจและศึกษาวิจัย แต่ความเป็นจริงที่ผมพบเห็นมานั้น น่านน้ำของหมู่เกาะมะริดเต็มไปด้วยร่องรอยของการทำลายล้างทรัพยากรที่เกิดขึ้นพ้นจากสายตาของผู้คน ต่อให้มีธรรมชาติน่าตื่นตาให้ค้นหาและศึกษาวิจัยอีกมาก แต่เราไม่อาจรู้ได้ว่า สิ่งเหล่านั้นจะสามารถทานทนต่อการคุกคามได้อีกนานเพียงใด โดยเฉพาะยิ่งเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของเมียนมาทำให้ความคืบหน้าในการจัดการทรัพยากรในน่านน้ำแห่งนี้ต้องล่าช้าออกไปอย่างไม่รู้อนาคต

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย กำลังเดินตามถ่ายภาพแม่ค้าเร่ขายของในตลาดปลาใกล้เมืองทวายในประเทศเมียนมา เขาได้รับทุนนักสำรวจของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในการถ่ายภาพที่หมู่เกาะมะริดในเมียนมาและชายฝั่งอันดามันของไทย ภาพถ่าย: หาญณเรศ หริพ่าย

ช่วงเวลาหนึ่งปีรอบหมู่เกาะมะริดและอีกหนึ่งปีตลอดชายฝั่งอันดามันของไทย ทำให้ผมได้พบกับเรื่องราวไม่คาดคิด ด้านหนึ่งผมเห็นความเสื่อมโทรมจากภัยคุกคามมากมายรอบหมู่เกาะที่เข้าใจกันว่าเป็นพื้นที่ปิดที่ยังสวยสดงดงามของเมียนมา  แต่อีกด้านหนึ่ง ผมกลับเป็นประจักษ์พยานถึงการฟื้นตัวของทรัพยากรและความตั้งใจในการจัดการท้องทะเลของไทยที่เคยถูกฉกฉวยเอาประโยชน์อย่างหนักมาตลอดหลายสิบปี  อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะดูเหมือนสวนทางกัน  แต่ถึงที่สุดแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านริมชายฝั่งอันดามันทั้งสองยังคงต้องพึ่งพาทรัพยากรที่เชื่อมโยงและไหลเวียนถึงกันอยู่ดี  ความสำเร็จที่แท้จริงในการอนุรักษ์ทรัพยากรในน่านน้ำทะเลอันดามันแห่งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการจัดการพื้นที่ร่วมกันของทั้งสองประเทศ เพราะสรรพชีวิตในท้องทะเลย่อมไม่ถูกจำกัดหรือแบ่งแยกตามเส้นพรมแดนที่ขีดไว้ด้วยมือคน

จากบทความ “ภาพถ่ายยอดเยี่ยมแห่งปี 2022” เผยแพร่ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ธันวาคม 2565

 

Recommend