มองโลกผ่านเลนส์ ปางช้าง ในช่วงโควิด กับ จิตรภณ ไข่คำ

มองโลกผ่านเลนส์ ปางช้าง ในช่วงโควิด กับ จิตรภณ ไข่คำ

เมื่อการระบาดใหญ่ทำให้การท่องเที่ยว ปางช้าง หยุดชะงักลง ช้างไทยและควาญผู้ดูแลต้องโอบกอดกันไว้เพื่อให้ชีวิตรอด

ฤดูร้อนปี 2020 บรรยากาศเมืองเชียงใหม่เงียบสงัด ผู้คนบางตา ธุรกิจต่างๆ พากันปิดตัวลง ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสัญจรไปมาเหมือนอย่างเคย  พาให้ผมย้อนนึกไปถึงเมืองในยุคก่อนที่ธุรกิจการท่องเที่ยวจะเฟื่องฟู

เชียงใหม่เป็นบ้านเกิดของผม และเป็นบ้านหลังใหญ่ที่สุดหลังหนึ่งของเหล่าช้างเลี้ยงหรือช้างบ้านในประเทศไทย  จากจำนวนช้างเลี้ยงประมาณ 3,800 เชือกทั่วประเทศ  ส่วนใหญ่ได้รับการฝึกเพื่อสร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยว โดยถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศมาช้านาน แต่การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด 19 ทำให้ช้างและควาญช้างตกที่นั่งลำบาก จำนวนไม่น้อยต้องจากลาสถานที่ท่องเที่ยวเพื่ออพยพกลับบ้าน และเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน

ผมคิดว่าการอำลาชีวิตในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากปางช้างที่เคยอยู่มายาวนานนั้น เป็นสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ของช้างไทยในยุคปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ สื่อต่างชาติมักมองว่าธุรกิจท่องเที่ยวปางช้างเป็นการแสวงหาประโยชน์จากสัตว์ โดยมองข้ามบริบททางสังคมและวัฒนธรรม

ผมในฐานะคนไทยจึงอยากเสนอเรื่องราวของกลุ่มคนรักช้างที่พยายามฝ่าฟันอุปสรรค และสะท้อนมุมมองอื่นๆ เกี่ยวกับประเด็นนี้ และได้ยื่นของทุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภายใต้โครงการ Covid-19 Emergency Fund for Journalists ในช่วงปลายปี 2020 และได้รับการอนุมัติตอนต้นปี 2021

ผมตัดสินใจบันทึกเรื่องราวการเดินทางกลับบ้านของช้างและควาญสองครอบครัว  ครอบครัวแรกเป็นกลุ่มครอบครัวควาญช้างชาวกะเหรี่ยงกับช้างสามเชือกที่ต้องออกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หลังจากใช้ชีวิตในปางช้างมายาวนานนับสิบปี  พวกเขาออกเดินเท้าห้าวันจากอำเภอสะเมิงกลับอำเภอแม่แจ่ม ขึ้นลงภูเขาในฤดูแล้งลูกแล้วลูกเล่า ผ่านป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณสลับกับไร่ข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวแล้วและมอดไหม้จากการเผาเพื่อการเพาะปลูกรอบใหม่ ฤดูหมอกควันจึงเพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ ผมค่อยๆ เรียนรู้วิถีชีวิตของควาญและช้าง มองเห็นความผูกพันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วรุ่น

การที่พวกเขาดูแลและโอบกอดกันไว้เพื่อเอาตัวรอด  ท่ามกลางความยากลำบากทางการเงินของคนและสวัสดิการของช้างที่ย่ำแย่ลง จึงเป็นเรื่องน่าประทับใจควาญช้างจำนวนไม่น้อยในเชียงใหม่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง ซึ่งต้องดิ้นรนหาเลี้ยงทั้งช้างและครอบครัว เมื่อกลับบ้านแล้ว ควาญช้างอาจเลือกออกไปรับจ้างตัดข้าวโพดไกลบ้าน และจำเป็นต้องฝากช้างให้คนในครอบครัวดูแลแทน  ฝ่ายช้างนั้น เมื่อกลับไปยังบ้านในพื้นที่ห่างไกล หากเจ็บป่วย ตั้งแต่อาการป่วยทั่วไปอย่างท้องผูกเพราะไม่ได้ออกกำลังกายเหมือนเคย ไปจนถึงโรคร้ายแรงจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต โอกาสในการเข้าถึงการรักษาย่อมจำกัดลง

ควาญช้างชาวสุรินทร์พาช้างที่มีพระภิกษุนั่งบนหลังเดินไปร่วมงานช้างประจำปี 2563 ของจังหวัด คนไทยเชื่อว่าช้างเป็นสัตว์มงคลและนำความเจริญมาให้ ควาญช้างจำนวนมากในภาคอีสาน จึงหาเลี้ยงชีพด้วยการพาช้างไปร่วมงานมงคลและพิธีกรรมต่างๆ

แต่ผมพบว่า ในยามวิกฤติที่แทบไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางการนั้น ยังมีความช่วยเหลือจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดคลินิกเคลื่อนที่แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเดินทางเข้าไปปฐมพยาบาลและดูแลรักษาทันทีที่ได้รับแจ้งจากควาญช้าง แม้อยู่ในหุบเขาอันห่างไกลของภาคเหนือหรือต้องใช้เวลาเดินทางยาวนาน หากช้างที่เจ็บป่วยมีอาการหนัก ทีมแพทย์จะส่งช้างไปยังโรงพยาบาลช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง   ในขณะเดียวกันทีมแพทย์และทีมกู้ภัยจากสมาคมสหพันธ์ช้างไทยก็ยังคอยให้ความช่วยเหลือช้างทั่วประเทศในยามวิกฤติครั้งนี้ด้วย

สำหรับช้างกับควาญในภาคอีสานนั้นแตกต่างออกไปในแง่ของสีสันและวิถีชีวิตแบบคนอีสาน  ผมเดินทางไปยังจังหวัดสุรินทร์และใช้เวลาถ่ายภาพราวสองสัปดาห์ โดยคลุกคลีอยู่กับครอบครัวควาญช้างสายเลือดชาวกูยหรือส่วย  เป็นที่รู้กันว่าชาวกูยขึ้นชื่อเรื่องการจับช้างป่ามาเลี้ยงมาตั้งแต่โบราณ นับถือและเชื่อว่าช้างเป็นสัตว์มงคล เมื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรืองานมงคลต่างๆ จะมีช้างหรือสัญลักษณ์แทนช้างอยู่ในพิธีด้วย  บางครอบครัวส่งทอดกะโหลกช้างจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน ยิ่งไปกว่านั้น สายเลือดควาญช้างของคนสุรินทร์ยังเข้มข้น ถึงขั้นที่คนรุ่นใหม่ยังใฝ่ฝันถึงการเป็นควาญช้าง

นอกจากเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญแล้ว สุรินทร์ยังเป็นถิ่นสำคัญของช้างเลี้ยงในประเทศ ครอบครัวควาญช้างมักปลูกข้าวเลี้ยงชีพด้วย แต่ช่วงการระบาดใหญ่ ราคาข้าวตกต่ำ ควาญช้างที่นิยมไปทำงานตามปางช้างภาคตะวันออกและภาคใต้พากันตกงาน และเมื่อต้องกลับบ้าน ควาญส่วนมากไม่สามารถออกไปหางานอื่นทำได้ เนื่องจากต้องใช้เวลาทั้งวันไปกับการดูแลช้างซึ่งต้องอาศัยทักษะที่สมาชิกคนอื่นในครอบครัวทำไม่ได้  ส่วนควาญรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบและได้รับช้างเป็นของขวัญจากพ่อเพื่อเริ่มอาชีพควาญช้าง กลับไม่มีงานทำ การต้องเลี้ยงช้างในยามนี้จึงกลายเป็นภาระใหญ่หลวง

ไม่ว่าจะเป็นควาญช้างจากเหนือหรืออีสาน ในยามทุกข์ยาก พวกเขาไม่อยู่นิ่งเฉย แต่พยายามมองหาหนทางอื่นเพื่อปรับตัวสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและช้าง  โดยหาลู่ทางที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาคของตน   ควาญภาคเหนือคิดเปิดสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ชุมชนดำเนินการเอง  ขณะที่ควาญภาคอีสานพยายามหาวิธีเชื่อมต่อกับคนรักช้างทางออนไลน์ เป็นต้น

จิตรภณ ไข่คำ กำลังถ่ายภาพแม่ชมพูกับลูกนุ้ย ช้างแรกเกิด หนึ่งในสมาชิกครอบครัวช้างที่เขาติดตามและร่วมเดินเท้ากลับบ้าน หลังต้องจากลาปางช้างที่เคยทำงานมานานนับ 10 ปีในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 แม้ช้างแรกเกิดจะนำพาความสุขและความยินดีมาให้ แต่นั่นหมายถึงภาระหน้าที่ในการเลี้ยงดูที่เพิ่มขึ้น (ภาพโดย วิชัย ศรีมณฑล)

ตลอด 2 ปีที่เดินทางถ่ายภาพชุดนี้ ผมได้พบปะผู้คนที่มีมุมมองต่อช้างเลี้ยงหลากหลาย ทั้งในและนอกวงการช้าง ระดับท้องถิ่นจนถึงระหว่างประเทศ  ตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไป นักวิชาการ และกลุ่มนักอนุรักษ์  โดยเฉพาะในประเด็นการนำช้างเลี้ยงมาแสดงเพื่อความบันเทิงและการท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งที่เห็นว่าช้างเป็นสัตว์ป่าต้องอยู่ในป่า และความเห็นจากฝั่งที่เติบโตมากับวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เห็นว่า วัฒนธรรมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นการอนุรักษ์ช้าง

ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวและซับซ้อน ช้างเลี้ยงของไทยมีชีวิตเปราะบางมาตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมทำไม้ สู่ช่วงเวลาแห่งการเร่ร่อนขอทาน มาจนถึงยุคที่ช้างทำหน้าที่ให้ความบันเทิงแก่นักท่องเที่ยว  แต่ในทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจการท่องเที่ยวช้างเริ่มเข้าสู่ทิศทางใหม่ คือมีการให้ความสำคัญเรื่องการปฏิบัติต่อช้างอย่างมีจริยธรรมมากขึ้น  นอกจากนี้  ถิ่นอาศัยของช้างในป่าลดลงมาก ช้างบ้านที่คนเลี้ยงดูมาแต่กำเนิดอาจปรับตัวให้อยู่กับป่าได้ยาก  ทั้งยังมีข้อกฎหมายที่ห้ามปล่อยสัตว์กลับเข้าป่าตามอำเภอใจ  รวมทั้งยังมีความขัดแย้งระหว่างช้างกับคนที่มีพื้นที่ทำกินติดกับป่า ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของช้างด้วย

ปี 2023 เป็นการก้าวสู่ปีที่ 3 ที่ผมถ่ายภาพช้างเลี้ยงไทย ผมอยากให้คนในวงการช้างมาพบเจอกัน รับฟังความคิดเห็น และเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อเดินหน้าสู่การส่งเสริมสวัสดิภาพให้ช้างเลี้ยงไทยท่ามกลางกระแสการท่องเที่ยวของโลกที่เปลี่ยนไปสู่ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น

ผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญคือ ช้างเลี้ยงไทยจะมีชีวิตที่ดีไม่ได้เลยหากปราศจากควาญช้าง  และจากการติดตามเฝ้าดูการเลี้ยงช้าง ควาญหรือเจ้าของช้างต่างปฏิบัติต่อยักษ์ใหญ่เหล่านี้เสมือนสมาชิกในครอบครัว แม้ในช่วงเวลายากลำบากที่สุด พวกเขาก็ไม่ยอมทิ้งกัน

จากบทความ “ภาพถ่ายยอดเยี่ยมแห่งปี 2022” เผยแพร่ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ธันวาคม 2565

Recommend