รายงานจากญี่ปุ่น บันทึกผ่านเลนส์: จากโศกนาฏกรรม แผ่นดินไหวและสึนามิ สู่มหันตภัยนิวเคลียร์

รายงานจากญี่ปุ่น บันทึกผ่านเลนส์: จากโศกนาฏกรรม แผ่นดินไหวและสึนามิ สู่มหันตภัยนิวเคลียร์

สารคดีภาพชุดพิเศษ ผลงานช่างภาพไทยเพียงหนึ่งเดียวที่เสี่ยงตายเดินทางสู่ฟุกุชิมะ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร National Geographic ภาษาไทย ฉบับมิถุนายน 2544

Fukushima nuclear accident
เมืองริกุเซ็นตะกะตะ จังหวัดอิวะเตะ แผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์และคลื่นยักษ์สึนามิ ทําให้เมืองทั้งเมืองหายวับไปกับตา แม้จะเหลือเพียงซากปรักหักพังและความทรงจําของวันวาน แต่สําหรับชาวเมืองที่เหลืออยู่ ชีวิตยังต้องดําเนินต่อไป
ข้าวของจําเป็นหรือแม้แต่ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า บ้านหลังนี้อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเพียงไม่กี่กิโลเมตร

คลื่นยักษ์ ดําทะมึนที่ถาโถมเข้าใส่ชายฝั่งตะวัน-ออกของเกาะฮนชู ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงบ่าย อันสดใสของฤดูใบไม้ผลิ หลังผืนธรณีใต้สมุทรเลื่อนลั่นเข้าปะทะกัน คร่าชีวิตผู้คนไปนับหมื่น อาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างจํานวนนับไม่ถ้วน ราพณาสูรไปกับสายน้ำเหลือไว้เพียงซากปรักพังภินท์และความทรงจําอันขมขื่น

แผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์(ต่อมาทางการญี่ปุ่นปรับระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็น 9.0 ริกเตอร์) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา  มีศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่งเมือง เซ็นดะอิ จังหวัดมิยะกิ ไปทางตะวันออก 130 กิโลเมตร ห่างจากกรุงโตเกียว 370 กิโลเมตร ตามมาด้วยคลื่นยักษ์สึนามิและอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายระลอก นี่คือธรณี-พบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น และราวกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะดะอีชิ ส่งผลให้ทางการญี่ปุ่นต้องสั่งอพยพผู้คนที่อาศัยอยู่ในรัศมี20กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า จนกลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ

ภาพโศกนาฏกรรมที่ปรากฏแก่สายตาผ่านสื่อทุกแขนง ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือน ทําให้อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภา อิสระจากไทย ตัดสินใจเดินทางไปญีปุ่นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและมุมมองเชิงสารคดี เขาจําเป็นต้องวางมือจากงานที่ทําอยู่ชั่วคราว และขายทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อเป็นทุนสําหรับการเดินทาง อธิษฐ์มีโอกาสไปเยือนทุกเมืองที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ ไม่เว้นแม้กระทั่งเมืองและเขตหวงห้ามที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะดะอีชิ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนช่างภาพในญี่ปุ่น ทันทีที่ได้เห็นภาพความเสียหายด้วยตาตัวเองเขาบอกว่า แม้จะไม่อยากเปรียบเทียบ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหายนะครั้งนี้นับว่ารุนแรงกว่าเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยในประเทศไทยย้อนหลังไปเมื่อปีพ.ศ. 2547หลายเท่านัก

”ที่เมืองริกุเซ็นตะกะตะ ซึ่งเป็นเมืองที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ผมเดินขึ้นไปบนชั้นสี่ของอาคารที่ยังเหลืออยู่ หลังเดียวริมหาด มองลงมารอบตัว ไม่เหลืออะไรเลย ไม่เหลือจริงๆ ถ้าไม่มีใครบอกผมว่าเป็นเพราะสึนามิ ผมคง คิดว่าต้องเป็นระเบิดแน่ๆครับ”เขาเล่า ทว่าแผ่นดินไหวและสึนามิในครั้งนี้ยังสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะดะอีชิ ในจังหวัดฟุกุชิมะ จนเกิดการระเบิดขึ้นหลายครั้งและมีรังสีรั่วไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง ทางการญี่ปุ่นต้องสั่งอพยพผู้คนในเมืองใกล้เคียงที่อยู่ในรัศมีรอบโรงไฟฟ้าทันที เหตุการณ์นี้สร้างความโกลาหลอลหม่านให้ญี่ปุ่นจนผู้คนทั้งประเทศตกอยู่ในความพรั่นพรึงจากมหันตภัยเงียบอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

แต่ขณะที่ชาวเมืองหลบลี้หนีย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงอย่างไม่คิดชีวิต อธิษฐ์และเพื่อนช่างภาพชาวญี่ปุ่นกลับเดินทางเข้าไปบันทึกภาพในเขตอพยพดังกล่าว “ที่จริง ผมแค่อยากถ่ายภาพการสแกนรังสีเท่านั้น แต่วันหนึ่ง เพื่อนชาวญี่ปุ่นโทรศัพท์มาเล่าให้ฟังว่า เขาเข้าไปในเขตอพยพภายในรัศมี20 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า บรรยากาศเอื้อให้ถ่ายภาพมาก เมืองร้าง สัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ล้มตาย ผมเลยตัดสินใจเข้าไป ตอนนั้นคิดเพียงแค่ ว่าเป็นโอกาสของเรา ในฐานะช่างภาพอิสระเราทําอะไรได้เต็มที่ ไม่ติดข้อห้ามของสํานักภาพต้นสังกัด

”ตอนนั้นพวกผมไม่ได้ใส่เครื่องป้องกันเลยครับนอกจากผ้าปิดปากผืนเดียว เพราะคิดว่าคงไม่เป็นอะไร ระหว่างที่เราขับรถเข้าไป ผมสังเกตว่า ยิ่งเข้าใกล้เขตอพยพเท่าไร ผู้คนยิ่งบางตาลงทุกที นานๆครั้งจะมีรถวิ่งสวนเรามาสักคัน และพอไปถึงเขตอพยพ เมืองทั้งเมือง ก็ไม่มีใครเหลือเลย”

ราวกับว่าชีวิตมนุษย์กลายเป็นเถ้าธุลีปลิวหายไปกับสายลมหลักฐานที่บ่งบอกถึงความตื่นตระหนกปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากข้าวของที่ชาวเมืองทิ้งไว้  “ทุกเมืองร้างหมด อย่างเมืองฟุตะบะ ผมไปเจอโรงพยาบาลร้าง เครื่อง เอกซเรย์ยังทํางานอยู่ แอร์ยังเย็นฉ่ำ พอไปถึงโรงยิมที่เคยเป็นศูนย์อพยพ ผมนึกภาพจินตนาการได้เลยว่าที่นี่ คงได้รับคําสั่งให้เก็บของแล้วไปทันที เพราะข้าวของกระจัดกระจาย ร้านอาหารบางร้าน เห็ดยังวางอยู่ในถ้วย มีดยังวางบนเขียง ตู้เครื่องดื่มและสินค้าหยอดเหรียญ ใช้การได้หมด ไฟเขียวไฟแดงและไฟตามท้องถนนยังทํางานเมื่อถึงเวลาที่ตั้งไว้”

เมืองโคริยะมะ จังหวัดฟุกุชิมะ ศูนย์บริการตรวจวัดระดับรังสีกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก่อนที่ผู้คนจะเดินทางออกจากเขตนี้ พวกเขาจะต้องมารับการตรวจวัดระดับรังสีก่อนเสมอ เช่นเดียวกับหนูน้อยในภาพนี้

ท่ามกลางความเงียบงันราวกับเมืองทั้งเมืองไม่มีชีวิต เสียงกึงกังจากการทํางานของเครื่องจักรดังแว่วมาไกลๆ บรรยากาศวังเวงอย่างประหลาด และแดด อ่อนๆยามตะวันจวนลับขอบฟ้า ทําให้เขารู้สึกขนลุกขนพอง  ”ความ รู้สึกแรกของผมคือหลอนมาก ผมนึกถึงหนังประเภทซอมบี้ เมืองร้างเหมือนกับว่าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วคนทั้งเมืองหายไปกันหมด” อธิษฐ์เล่า

ความหวาดผวาต่อมหันตภัยรังสีส่งผลให้งานเก็บกวาดซากและฟื้นฟูบูรณะความเสียหายของเจ้าหน้าที่รัฐจําเป็นต้องระงับไว้ชั่วคราว เขตเมืองบางส่วนซึ่งได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิยังคงสภาพเดิมเฉกเช่นเมื องหลายสิบวันก่อนหน้า เศษซากเกลื่อนกล่น บ้านเรือนพังพินาศและศพผู้เสียชีวิตจํานวนไม่น้อยยังถูกฝังอยู่ ใต้เศษซากเหล่านั้น ”ผมตั้งใจมองหาศพผู้เสียชีวิตเพื่อสื่อให้เห็นว่าเมืองทั้งเมืองไม่สามารถทําอะไรได้เลยหลังเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ เพราะมีเรื่องอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และรังสีรั่วไหลมากลบหมด”

ประเทศญี่ปุ่นมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 53 เครื่อง ผลิตกระแสไฟฟ้าได้45,957 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 29 ของกําลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 40 ภายในปี2017 ญี่ปุ่นพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ภัยพิบัติในครั้งนี้

ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องหันกลับมาทบทวนนโยบายด้านนิวเคลียร์ของตนอีกครั้ง “ผมไม่ได้โทษว่านิวเคลียร์ดี หรือไม่ดีนะครับ แต่ผมเริ่มรู้สึกว่า นี่คือความไม่ยุติธรรม ของชีวิตชาวเมือง นี่ไงผลกระทบของมัน เมืองร้าง ผู้คนอพยพ เป็นความน่ากลัวที่มองไม่เห็น คุณไม่มีทางรู้เลยว่ารังสีอยู่ใกล้คุณแค่ไหน” เขาบอก

แม้จะฟังดูเป็นเรื่องบ้าระห่ำเกินไปสักหน่อยสําหรับการท้าทายมฤตยูเงียบอย่างกัมมันตรังสี แต่อธิษฐ์บอกว่านี่เป็นการทุ่มหมดหน้าตักครั้งหนึ่งในชีวิตช่างภาพของเขา ”ผมคิดว่ามันยังไม่ส่งผลตอนนี้หรอกครับ ผมอาจจะยัง ไม่ตายวันนี้ แต่อีกสิบปี สิบห้าปี ผมยังไม่รู้ แต่ทุกคนก็ต้องตายไม่ใช่หรือครับ”

จากนั้นไม่กี่วันเขาก็ได้รับอีเมลพร้อมคลิปวิดีโอจาก เพื่อน “พอผมได้ดู ผมขนหัวลุกเลยครับ เพราะเป็นจุดเดียวกับที่ไปถ่ายภาพศพผู้เสียชีวิตซึ่งอยู่ในรัศมี5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า ในคลิปนั้นเขาเอามิเตอร์เข้าไปวัดระดับความเข้มข้นของรังสี เข็มวัดดีดตลอดเวลา แล้วก็ส่งเสียงออดแอดๆ ยิ่งที่ระดับพื้นดินด้วยแล้วเสียงดังมากๆครับ”

ทั้งๆที่พอจะรู้มาบ้างถึงอันตรายจากรังสี แต่อธิษฐ์ยังคงเลือกเดินหน้าเข้าไปหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อถ่ายภาพที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้เห็น “การปลอมตัว” อย่างไม่จงใจด้วยการสวมใส่ชุดป้องกันรังสีคงทําให้เขาดูคล้ายเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไปโดยปริยาย เขาจึงสามารถเข้าสู่เขตโรงไฟฟ้าได้อย่างไม่ยากเย็นนัก “นั่นคือที่สุดของผมแล้วครับ หนึ่งกิโลเมตรก่อนถึงโรงไฟฟ้า เข้าไปประชิดติดรั้วเลย ในที่สุดผมก็มาถึงจนได้”

25 วันบนแผ่นดินซากุระให้บทเรียนแก่เขามากมาย อธิษฐ์ได้เห็นญี่ปุ่นในภาวะวิกฤติ ได้ร่วมงานกับสหายชาวอาทิตย์อุทัย มีโอกาสได้เข้าร่วมและเฝ้ามองธรรมเนียมปฏิบัติอันเรียบง่ายงดงาม สัมผัสความมีระเบียบวินัยและจิตวิญญาณอันลุ่มลึกของชาวญี่ปุ่น  “ที่เมืองหนึ่งผมพบเห็นอาสาสมัครมากมายช่วยกันเก็บข้าวของที่รวบรวมมาจากเมืองที่ได้รับความเสียหาย พวกเขาช่วยกันเช็ดบรรดารูปถ่าย แล้วแขวน รอให้เจ้าของมาตามหาผมซึ้งใจมากครับ ทุกคนอาสามากันเองทั้งนั้น

”สําหรับผมแล้ว ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเจริญทาง จิตใจมากครับ ทรัพยากรที่ดีที่สุดของญี่ปุ่นก็คือคน ในวิกฤตินี้เราไม่เห็นขโมย ไม่เห็นการจลาจล ไม่มีการปล้นสะดม พวกเขาไม่ฟูมฟาย ไม่กระโตกกระตาก ไม่ท้อแท้ ทุกคนมีสติเหมือนมั่นใจอะไรบางอย่าง เขาเล่า

อธิษฐ์เล่าถึงวันแรกๆที่ไปถึงญี่ปุ่น เขายังจดจําวันนั้น ได้ดี วันที่เขายืนอยู่เดียวดายกลางสายฝนพรํา รายล้อมด้วยเศษซากของเมืองคะมะอิชิในจังหวัดอิวะเตะ เขารู้สึกโดดเดี่ยว อากาศหนาวเหน็บเข้าไปถึงกระดูก โดนรองเท้ากัด ถ่ายภาพได้น้อย ไม่ได้งานอย่างที่ตั้งใจ คําสบถเริ่มพรั่งพรูออกมา เขาเริ่มถอดใจและเตรียมตัวกลับเมืองไทย ทว่าในที่สุดห้วงอารมณ์อันเปราะบางนั้นก็ ผ่านพ้นไป เขาหวนนึกถึงความเข้มแข็งของลูกอาทิตย์อุทัย แล้วรวบรวมสติ ก้าวเดินต่อไป ”ญี่ปุ่นได้เติมเต็มบางอย่างให้กับผมแล้ว และวันข้างหน้า ผมจะกลับไปที่นั่นอีกครั้งแน่นอน” เขาทิ้งท้าย

เมืองคะมะอิชิ จังหวัดอิวะเตะ การจัดการอย่างเป็นระบบภายในศูนย์อพยพเป็นเครื่องชี้วัด ได้เป็นอย่างดีถึงมารยาทและความมีระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่น

“ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเจริญทางจิตใจ ทรัพยากรที่ดีที่สุดของญี่ปุ่นก็คือคน ในวิกฤตินี้เราไม่เห็นขโมย ไม่เห็นการจลาจล พวกเขาไม่ฟูมฟาย ไม่ท้อแท้ทุกคนมีสติเหมือนมั่นใจอะไรบางอย่าง” — อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพอิสระ

“ที่เมืองหนึ่ง ผมพบเห็นอาสาสมัครมากมายช่วยกันเก็บข้าวของ ที่รวบรวมมาจากเมืองที่ได้รับความเสียหาย พวกเขาช่วยกันเช็ดบรรดารูปถ่าย แล้วแขวน รอให้เจ้าของมาตามหา” อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพอิสระ

ดอกไม้และของเซ่นไหว้ประดามีบ่งบอกตําแหน่งของศาลเจ้าเล็กๆที่เคยตั้งอยู่บนเนินในเมือง เป็นดั่งอนุสรณ์รําลึกถึงเหตุการณ์และความทรงจําท่ามกลางซากปรักของเมืองที่ราบเป็นหน้ากลอง

เนื้อหาจากนิตยสาร National Geographic ภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรกฉบับมิถุนายน 2544

ภาพถ่าย : อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา

สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ราชศักดิ์ นิลศิริ 

ผลงานภาพถ่ายสารคดีเรื่อง “รายงานจากญี่ปุ่น บันทึกผ่านเลนส์: จากโศกนาฏกรรม แผ่นดินไหวและสึนามิ สู่มหันตภัยนิวเคลียร์” เป็นหนึ่งในนิทรรศการ National Geographic ภาษาไทย ซึ่งจัดแสดงในบ้านและสวนแฟร์ Select 2024

Recommend