บันทึกห้องเรียน Photo Storytelling Workshop พัฒนาภาพถ่ายสู่การเล่าเรื่องให้ทรงพลัง

บันทึกห้องเรียน Photo Storytelling Workshop พัฒนาภาพถ่ายสู่การเล่าเรื่องให้ทรงพลัง

Workshop ทักษะการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย กับ 2 ช่างภาพนักเล่าเรื่องมืออาชีพ คุณอธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ประจำประเทศไทย และคุณเอกรัตน์ ปัญญะธารา ช่างภาพอาวุโส เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก 

หลังจากที่ National Geographic  ฉบับภาษาไทย ได้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมฝึกทักษะการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย Photo Storytelling Workshop  กับ 2 ช่างภาพนักเล่าเรื่องมืออาชีพ คุณ อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ประจำประเทศไทย และ คุณเอกรัตน์ ปัญญะธารา ช่างภาพอาวุโส เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมอบรม 20 ท่าน ก็ได้เข้าร่วมห้องเรียน Workshop ท่ามกลางบรรยากาศการเรียนอบอุ่น และการถ่ายทอดความรู้แบบไม่มีกั๊กจากทีมงานและ Speakers ทั้ง 2 ท่าน

คุณอาศิรา พนาราม รองบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทยกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม

การ Workshop แบบ Exclusive สุดๆ นี้ เริ่มจากช่วงเช้าเป็นการบรรยาย แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดจากช่างภาพใน 2 ด้านที่มีความถนัดแตกต่างกัน เริ่มจากคุณเอกรัตน์ ซึ่งนำเสนอไอเดียในงานชุดภาพถ่ายสารคดี ซึ่ง อธิบายว่า แม้สารคดีจะเป็นการเล่าเรื่องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนี้ล้วนผ่านการคิดและการวางคอนเซปต์ การเลือกเวลา การหาองค์ประกอบ การจัดลำดับของภาพ เพื่อให้การสื่อสารนั้นทรงพลัง และในแต่ละภาพที่สื่อสารไปนั้นสะท้อนความจริงในสิ่งที่เป็นไป ทั้งในภาพกว้างซึ่งเปรียบได้กับการเล่าในสิ่งที่เกิดขึ้น และในเชิงลึกที่ภาพนั้นเข้าไปทำงานกับความรู้สึกของผู้คน

“ในฐานะคนบันทึกภาพ เราทุกคนล้วนมี สิทธิ์ มี Authority ที่จะบอกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้นมีอะไร และอารมณ์แบบไหนที่กำลังเกิดขึ้น เราจึงใช้อำนาจนั้นพัฒนาภาพให้ก้าวไปอีกขั้น ภาพสารคดีจึงไม่ได้สำคัญที่การใช้เทคนิคพิเศษ หรือมีแสงเงาที่สุด แต่ผมให้ความสำคัญกับการเลือก Subject ที่จะถ่าย องค์ประกอบของการเล่าเรื่องในภาพนั้น”  คุณเอกรัตน์อธิบายพร้อมยกตัวอย่างส่วนหนึ่งของชุดภาพสารคดี “บ้านวิชาเยนทร์ ก่อนวาระสุดท้ายของฟอลคอน” ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2565 ซึ่งเขาต่างเลือกสถานที่และองค์ประกอบที่อธิบายถึงความรุ่งเรืองของอดีตขุนนาง ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ผู้นี้ ทั้งยังเลือกสถานที่ซึ่งอธิบายถึงการเข้ามาของความรู้ วิวัฒนาการสมัยใหม่ ในประเทศไทยเมื่อหลายร้อยปีก่อน เช่น โครงสร้างอาคารหอดูดาว ณ โบราณสถานวัดสันเปาโล อันเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ชาวตะวันตกมีบทบาทในประเทศไทย

คุณเอกรัตน์ ปัญญะธารา ช่างภาพอาวุโส เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

คุณเอกรัตน์ ยังเล่าถึง ครั้งหนึ่งที่บันทึกภาพในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุและประชาชนกลุ่มเสี่ยงต้องเสียชีวิต ซึ่งเขาเลือก บ้านที่ผู้เสียชีวิตเคยอาศัยอยู่เป็นฉากหลักในการเล่าเรื่อง

“ถึงเราจะอยู่บ้านในขนาดที่ต่างกัน แต่ทุกคนมีมุมประจำ ครอบครัวนี้อาจสูญเสียญาติผู้ใหญ่ สูญเสียคุณพ่อคุณแม่ไป แต่มุมที่ท่านเหล่านี้เคยใช้ชีวิตยังอยู่ในความทรงจำ ตอนผมถ่ายในบ้านมันดูเรียบง่ายมาก จนต้องถามตัวเองว่า ภาพๆนี้สมบูรณ์และเล่าเรื่องได้ดีที่สุดแล้วหรือยัง และเมื่อคิดได้ว่า ภาพมันยังไปต่อมากกว่านั้นได้ ผมให้ลูกหลานในบ้านเขียนสิ่งที่อยากจะบอกผู้เสียชีวิต ก่อนจะนำเสนอทั้งภาพถ่ายที่เป็นมุมโปรดในบ้านที่ผู้จากไปเคยอยู่และบันทึกถึงพวกเขาในคราวเดียวกัน และนั่นทำให้การสื่อสารถึงผู้จากไป ความรู้สึกของคนในครอบครัว และโรคะระบาดที่คร่าชีวิตคนที่เรารักอย่างไม่ทันตั้งตัวชัดเจนขึ้น”

ขณะที่คุณ อธิษฐ์ ซึ่งเป็นช่างภาพประจำ สำนักข่าวรอยเตอร์ ประจำประเทศไทย เจ้าของรางวัล Pulitzer prizes สาขาภาพข่าว บรรยายในมุมที่แตกต่าง โดยเขาเน้นถึงการอธิบายภาพด้วย Sense of News  ซึ่งภาพข่าวหนึ่งล้วนอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้อย่างรอบด้านที่สุด และให้อารมณ์สั่นสะเทือนกับผู้ดูมากที่สุด

คุณ อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ประจำประเทศไทย กับการอธิบายเบื้องหลังของภาพถ่าย

ถึงงานข่าวจะมีระยะเวลาจำกัด และไม่สามารถคาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่คุณอธิษฐ์ ย้ำว่า  ต้องมีการวางแผนทั้ง PITCH & PLAN รู้ว่าอะไรเป็นประเด็นข่าว ความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน ระยะเวลาที่ต้องไป รวมถึงองค์ประกอบของเรื่องนี้ควรจะมีอะไรบ้าง

“มันอาจจะไม่ได้เป๊ะขนาดนั้น แต่เราต้องมีภาพ และการคาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นและเตรียมตัวไปก่อน ผมยกตัวอย่างว่าถ้าจะไปถ่ายภาพสารคดี อย่างน้อยๆ มันก็ควรจะมีภาพที่เป็นภาพบังคับ ซึ่งแน่นอนว่ามันอาจจะ Cliche (ซ้ำๆ) แต่ถ้ามันเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง และอธิบายเรื่องนั้นได้ดีก็ควรจะมี หรือถ้าในแง่ของประเภทมุมภาพงานสารคดีหนึ่งมันก็ควรมีทั้งภาพมุมกว้าง ภาพใกล้ ภาพ Close-up ที่มือ ที่สายตา ในจังหวะที่มี Movement ซึ่งจะอธิบายเรื่องนั้นได้ และแน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ คือสิ่งที่เพิ่มเติมมาจากความรู้เรื่องแสง องค์ประกอบ และอีก ฯลฯ ที่เป็นพื้นฐานของการถ่ายภาพมาแล้ว”

 คุณอธิษฐ์ บอกด้วยว่า หลักการถ่ายภาพข่าวและสารคดีที่เขายึดถือคือการไม่ไปยุ่งหรือจัดการกับ Subject เลย แต่จะใช้วิธีถามข้อมูล ถามวันเวลา เพื่อไปในช่วงที่น่าจะได้ภาพที่ต้องการ

นั่นคือไฮไลท์ของเซสชั่นในช่วงเช้า ส่วนกิจกรรมในช่วงบ่ายนั้นเป็นการพูดคุยส่วนตัวระหว่างผู้เข้าร่วมฝึกทักษะกับช่างภาพชนิดโค้ชชิ่งกันแบบตัวต่อตัว ซึ่งช่วง Portfolio Review นี้มีเวลาคนละ 20 นาที ผู้เข้าร่วมต่างตั้งใจเตรียมผลงานนำเสนอมาอย่างดี เพราะไม่ค่อยมี Workshop เปิดให้แนะนำงานกันตัวต่อตัวอย่างนี้ นี่จึงเป็น Workshop พิเศษจากที่เราเคยเห็นๆมา และทำให้กิจกรรม Photo Storytelling Workshop เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ทำให้บรรดาช่างภาพ ได้รับไอเดีย ฝึกฝนมุมมองให้เฉียบคมขึ้น

พัฒนาภาพถ่ายให้ทรงพลังขึ้นกว่าเดิม

บรรยากาศการพูดคุยส่วนตัวระหว่างผู้เข้าร่วมฝึกทักษะกับช่างภาพชนิดโค้ชชิ่งกันแบบตัวต่อตัว ซึ่งช่วง portfolio review นี้มีเวลาคนละ 20 นาที

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและวิทยากรถ่ายภาพร่วมกัน


อ่านเพิ่มเติม : กติกาการประกวดสารคดีภาพถ่าย National Geographic Thailand Photography Contest 2024 “10 ภาพเล่าเรื่อง Season 9”

Recommend