ภาพแห่งความหวัง นิทรรศการ National Geographic Photo Ark การอนุรักษ์สัตว์ป่าผ่านเลนส์ “โจเอล ซาร์โทรี”

ภาพแห่งความหวัง นิทรรศการ National Geographic Photo Ark การอนุรักษ์สัตว์ป่าผ่านเลนส์ “โจเอล ซาร์โทรี”

 นิทรรศการภาพถ่ายสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ National Geographic Photo Ark โดย “โจเอล ซาร์โทรี”จัดแสดง ณ สยามพารากอน ซึ่งมีภาพสัตว์ประจำถิ่นของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมแสดง

18 ปีก่อน โจเอล ซาร์โทรี (Joel Sartore) เริ่มต้นภารกิจถ่ายภาพสัตว์ทุกสายพันธุ์ที่อยู่ในการดูแลของมนุษย์ เขาเริ่มต้นจากสวนสัตว์บ้านเกิดของเขาในเมืองลิงคอล์น (Lincoln) รัฐเนแบรสกา (Nebraska) สหรัฐอเมริกา ก่อนเดินทางไปทั่วโลกเพื่อไปเยือนสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่าง ๆ เพื่อเก็บสะสมภาพถ่ายสรรพสัตว์มาเข้าคลังให้ได้มากที่สุด

“ภาพถ่ายสัตว์ป่าทั่ว ๆ ไปมักจะมีฉากหลังเป็นแม่น้ำ ทุ่งหญ้า ป่าดิบ ภูมิทัศน์ต่าง ๆ ตามธรรมชาติ แต่การใช้ฉากหลังของภาพเป็นฉากสีขาวและสีดำ เพราะอยากให้ผู้เข้าชมมองเห็นแววตาของสัตว์ได้ชัดเจนโดยไม่มีสิ่งอื่นใดมารบกวนหรือดึงดูดความสนใจ”

จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้น ถึงวันนี้ โจเอล ซาร์โทรี ออกเดินทางไปมากกว่า 50 ประเทศ และเก็บบันทึกภาพสิ่งมีชีวิตตามสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไปมากกว่า 15,000 สปีชีส์ ซึ่งระหว่างวันที่ 11 – 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา เราก็ได้ชื่นชมภาพถ่ายของซาร์โทรี ในนิทรรศการ ‘National Geographic Photo Ark’ ที่ชั้น 3 โซน Living Hall ณ สยามพารากอน ซึ่งงานนี้จะมีภาพสัตว์ประจำถิ่นของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาร่วมแสดงด้วย

โจเอล ซาร์โทรี เป็นทั้งนักสำรวจของ National Geographic วิทยากรสาธารณะ อาจารย์ นักเขียน และที่สำคัญคือเป็นช่างภาพผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นิตยสาร National Geographic มาหลายต่อหลายฉบับ

ภารกิจถ่ายภาพสัตว์ป่า 20,000 สายพันธุ์

นิทรรศการภาพถ่ายนี้จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ จัดขึ้นเพื่อนำเสนอความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยในการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า

National Geographic Photo Ark เป็นโครงการที่ซาร์โทรี ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2006 โดยมีภารกิจอันยิ่งใหญ่คือการบันทึกภาพถ่ายสัตว์ทุกสายพันธุ์ที่อยู่ในการดูแลของมนุษย์

ในนิทรรศการ มีการเล่าเรื่องสัตว์ป่าหลายสายพันธุ์ที่ถูกบันทึกภาพ ไม่ว่าจะเป็น สัตว์ปีก แมลง ลิง เสือ เต่า หมี ฯลฯ ซึ่ง นอกจากจะต้องสู้กับระยะทางแล้ว ซาร์โทรีก็ยังต้องทำงานแข่งกับเวลาด้วย เพราะสัตว์บางสายพันธุ์ก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ถ้าหากเขามาช้าไป ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ถ่ายภาพสัตว์สายพันธุ์นั้นอีกแล้ว

ซาร์โตรีตระหนักในเรื่องนั้นดี เพราะตั้งแต่เด็ก ๆ เขาก็เคยได้ยินเรื่องการสูญพันธุ์ของนกพิราบพาสเซนเจอร์มาจากแม่ การที่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งจะหายไปจากโลกนี้ตลอดกาลจึงเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจ

“การสูญพันธ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดและมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งก็น่าใจหายที่หลายสาเหตุนั้นมาจากกิจกรรมของมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ การบริโภค รวมถึงการนำสิ่งมีชีวิตจากต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่ทำให้เกิดเอเลี่ยนสปีชีส์ด้วย เพราะฉะนั้นมนุษย์เราจึงสามารถหยุดการสูญพันธุ์ได้ หรืออย่างน้อยช่วยชะลอให้เกิดขึ้นช้าลงได้ก็ยังดี” เขา อธิบายตอนหนึ่ง ระหว่างพาชมนิทรรศการในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ซาร์โทรี ไม่เคย ย่อท้อต่อความยากลำบากในการทำภารกิจนี้เลย เพราะเขาระลึกอยู่ในใจเสมอว่าภาพที่เขาถ่ายนั้นอาจจะเป็นภาพถ่ายสุดท้ายของสัตว์สายพันธุ์นี้ก็ได้ อย่างแรดขาวเหนือตัวที่เขาไปถ่ายที่สวนสัตว์ดัวร์ คราโลฟ สาธารณรัฐเช็ก ในปี 2015 ปัจจุบันก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งตอนนี้โลกของเราเหลือแรดขาวเหนือเพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้น

การใช้ฉากหลังของภาพเป็นฉากสีขาวและสีดำ เพราะอยากให้ผู้เข้าชมมองเห็นแววตาของสัตว์ได้ชัดเจนโดยไม่มีสิ่งอื่นใดมารบกวนหรือดึงดูดความสนใจ

โจเอล ซาร์โทรี บรรยายให้คณะสื่อมวลชน โดยมีภาพถ่ายเสือโคร่งอินโดจีนจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เป็นฉากหลัง
ตัวอย่างภาพถ่ายจากนิทรรศการ (จากซ้ายไปขวา) เต่ามะเฟือง แรดขาวเหนือ และช้างเอเชีย สัตว์ทั้ง 3 ชนิดนี้ล้วนแต่อยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ผู้เข้าชมนิทรรศการกำลังดูภาพถ่ายเต่ายูนิฟอรา ด้านซ้ายเป็นภาพถ่ายลิงอุรังอุตังบอร์เนียว และลูกครึ่งอุรังอุตังบอร์เนียว-สุมาตรา
พญาแร้ง ตั๊กแตนสปริงบ็อก ลีเมอร์หน้าขาว และแมวป่าโอซีล็อต

ภาพถ่ายเพื่อการบันทึกความหลากหลายทางชีวภาพ

กว่าซาโทรีจะถ่ายภาพสัตว์แต่ละชนิดมาได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เขาอธิบายตอนหนึ่งว่า ต้องวางแผนและทำงานกับผู้ดูแลสัตว์ล่วงหน้า เพื่อคัดเลือกสัตว์ตัวที่จะอยู่นิ่งและทนต่อกระบวนการถ่ายภาพได้จริง ๆ ระหว่างการถ่ายภาพหากสัตว์ตัวนั้นมีอาการตื่นตระหนก ซาโทรีก็จะถ่ายสัตว์ตัวนั้นกับพื้นหลังเพียงสีเดียวหรือบางทีก็ไม่ถ่ายเลย

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการถ่ายภาพสัตว์ต่าง ๆ และส่งพวกเขากลับเข้ากรงอย่างปลอดภัยให้เร็วที่สุด ระยะเวลาอันจำกัดจึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการทำงานของเขา ภายใต้ข้อจำกัดนี้ สิ่งที่ซาโทรีใช้คัดเลือกว่าภาพไหนดีที่สุดก็คือ ‘สายตา’

สายตาคือสิ่งที่บ่งบอกว่าคนเรารู้สึกนึกคิดอย่างไร ตรงกับสำนวนที่ว่า ‘ดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ’ ซาร์โทรีต้องการให้คนมองสัตว์ป่าในฐานะที่เท่าเทียมกับมนุษย์ เพราะทั้งมนุษย์และสัตว์ก็ต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นอากาศบริสุทธิ์  อาหารที่เพียงพอ และที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย

หากได้มาชมภาพถ่ายสัตว์ป่าในนิทรรศการนี้ เราก็จะเห็นว่าสัตว์ต่าง ๆ ในภาพถ่ายส่วนใหญ่ล้วนมองตรงเข้ามาที่กล้อง ทำให้รู้สึกประหนึ่งว่าเราที่เป็นผู้ชมเองก็ได้สบตากับสัตว์เหล่านั้นไปด้วย แต่หากภาพไหนสัตว์ไม่ได้มองตรงเข้ามาที่กล้อง ภาพนั้นก็ยังเป็นภาพที่มองเห็นแววตาของสัตว์ได้ชัดเจน ทำให้รู้สึกถึงพลังบางอย่างที่สื่อความหมายกับเรา

มันจึงไม่แปลกที่ ภาพถ่ายสัตว์ป่าในนิทรรศการนี้มีความแตกต่างจากภาพถ่ายสัตว์ป่าที่เราคุ้นเคยกัน โดยภาพถ่ายสัตว์ป่าทั่ว ๆ ไปมักจะมีฉากหลังเป็นแม่น้ำ ทุ่งหญ้า ป่าดิบ ภูมิทัศน์ต่าง ๆ ตามธรรมชาติ แต่ซาโทรีกลับเลือกใช้ ฉากหลังของภาพเป็นฉากสีขาวและดำเปล่า ๆ แทน เหตุผลหนึ่งก็เพราะซาโทรีอยากให้ผู้เข้าชมมองเห็นแววตาของสัตว์ได้ชัดเจนโดยไม่มีสิ่งอื่นใดมารบกวนหรือดึงดูดความสนใจ

เหตุผลอีกประการที่สำคัญก็คือซาโทรีต้องการให้สัตว์ทุกตัวมีเสียงและพลังที่เท่าเทียมกัน การใช้พื้นหลังเป็นฉากสีขาวดำทำให้เรามองเห็นสัตว์ต่าง ๆ ในขนาดที่ดูเท่ากันมากขึ้น ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ด้วย เพราะสัตว์ใหญ่ ๆ อย่างช้าง เสือ หรือแรด มักจะได้รับความสนใจและใส่ใจมากกว่าแมลงและสัตว์ตัวเล็ก ๆ เสมอ ซาร์โทรีจึงต้องการขับเน้นให้ผู้เข้าชมเห็นว่า แม้แต่สัตว์ตัวจ้อยอย่างกบ หรือหนู หรือแม้กระทั่งตั๊กแตน ก็มีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างยิ่งยวดไม่แพ้สัตว์ใหญ่เลย

โจเอล ซาร์โทรี กับตัวแทน National Geographic ฉบับภาษาไทย (ซ้าย)เจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ Media & Event บริษัท อมรินทร์คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) (ขวา) โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ บรรณาธิการบริหารนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

สารจากนิทรรศการ สู่สาธารณชน

โจเอล ซาโทรี เป็นทั้งนักสำรวจของ National Geographic วิทยากรสาธารณะ อาจารย์ นักเขียน และที่สำคัญคือเป็นช่างภาพผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นิตยสาร National Graphic มาหลายต่อหลายฉบับ จนปี 2018 เขาก็ได้รับเกียรติให้เป็น Rolex National Geographic Explorer of the Year หรือรางวัลนักสำรวจแห่งปีของ National Geographic ร่วมกับ Rolex

ซาร์โทรียินดีเป็นอย่างยิ่งหากจะมีใครนำภาพถ่ายของเขาไปใช้ เพื่อให้ภาพถ่ายเหล่านั้นสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนของการอนุรักษ์ได้อย่างเต็มที่ เขาทั้งให้สวนสัตว์นำภาพถ่ายไปใช้เพื่อการโฆษณา อนุญาตให้สถานที่ต่าง ๆ นำภาพถ่ายของเขาขึ้นฉายบนจอแอลอีดีได้เหมือนกับเป็นภาพถ่ายดาราดัง ในปี 2022 การไปรษณีย์สหรัฐ ฯ ยังนำภาพถ่ายในชุด Photo Ark ของซาโทรีไปดัดแปลงทำเป็นดวงตราไปรษณียากรด้วย

เขา หวังว่า หากคนทั่วไปได้เห็นภาพสัตว์ป่าผ่านตาบ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้เขาเกิดความสนใจที่จะช่วยอนุรักษ์สัตว์เหล่านี้ขึ้นมาก็ได้ และแม้ปัญหาสัตว์ป่าสูญพันธุ์จะเป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะให้ความสำคัญแตกต่างกัน สิ่งที่เขาทำได้มีเพียงการทำหน้าที่ในส่วนของเขาอย่างเต็มที่ต่อไปเพื่อความหวังในการรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

สำหรับประเทศไทยเอง ซาร์โทรี มองว่า ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เมื่อเขาเดินทางมาถ่ายภาพที่นี่ เขาก็ได้พบกับสัตว์ป่าที่น่ามหัศจรรย์มากมาย อย่างเช่นเสือโคร่งอินโดจีนที่ดูสง่างามจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว และหวังว่าคนไทยที่ได้มานิทรรศการของเขาจะเกิดแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ชีวิตอันแสนมีค่าและสวยงามเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป

National Geographic Photo Ark โดย โจเอล ซาร์โทรี”เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 ณ โซน Living Hall ชั้น สยามพารากอน

เรื่อง สโรชิณีย์ นิสสัยสุข

ภาพ พลวัฒน์ มุงเมือง, จันทิมา ชื่นคุ้ม
โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม : ลอนดอน “เมืองอุทยานแห่งชาติ”แห่งแรกของโลกที่ผู้คนและธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้

Recommend