กตัญญู วุฒิชัยธนากร : ช่างภาพสัตว์ป่าอนาคตไกล เจ้าของรางวัล Wildlife Photographer of the Year

กตัญญู วุฒิชัยธนากร : ช่างภาพสัตว์ป่าอนาคตไกล เจ้าของรางวัล Wildlife Photographer of the Year

“เมื่ออายุ 16 ปี หลายคนอาจอยู่ในช่วงตั้งคำถามกับตัวเอง

ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร แต่ วิน กตัญญู วุฒิชัยธนากร

มีคำตอบนั้นอยู่ในมือพร้อมกล้องถ่ายรูปของเขาแล้ว”

ในวัยที่เรายังไม่แน่ใจในทิศทางชีวิต วินกลับสร้างผลงานที่สะท้อนความลึกซึ้งของธรรมชาติและมุมมองที่เกินวัย ภาพถ่ายวาฬบูรด้าอ้าปากกินปลากะตักกลางอ่าวไทย ภาพนั้นพาเขาไปไกลถึงเวที Wildlife Photographer of the Year 2022 ที่กรุงลอนดอน และคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทเยาวชนจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอันทรงเกียรติ

เรานัดเจอกับวินตั้งแต่เช้าตรู่ ที่สวนเบญจกิติ ภายใต้แสงแดดอ่อน ๆ และเสียงนกที่ลอดผ่านใบไม้ เขามาพร้อมกล้องตัวโปรด หัวใจที่ยังรักสัตว์ป่า และรอยยิ้มที่บอกเราว่า แม้จะคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้ว แต่เขาก็ยังเป็นเด็กหนุ่มอายุ 19 ปี ที่อยากบันทึกโลกใบนี้เอาไว้ เงียบ ๆ ผ่านภาพถ่ายของตัวเอง

กตัญญู วุฒิชัยธนากร ภาพถ่ายโดยอภินัยน์ ทรรศโนภาส

รักสัตว์มาแต่ไหนแต่ไร

ถ้าถามว่าผมสนใจเรื่องสัตว์ตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็ตั้งแต่เกิดเลยครับ แม่เคยเล่าให้ฟังว่า ตอนเล็ก ๆ ผมไม่เล่นของเล่นอะไรเลย นอกจากตุ๊กตารูปสัตว์ และคำว่า ‘ปลา’ ก็เป็นคำแรกที่ผมพูดได้ ไม่ใช่คำว่า ป๋า หรือ ป๊า นะครับ แต่เป็นคำว่า ‘ปลา’ น่าจะเป็นเพราะที่บ้านผมมีตู้ปลา เวลาผมงอแง แม่กับอาก็จะอุ้มผมไปดูปลาให้ใจเย็นลง

โตขึ้นมาหน่อย พ่อแม่ก็พาผมไปเที่ยวสวนสัตว์ ไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ เหมือนเด็กทั่ว ๆ เลยไป ครับ แต่ไม่ว่าอย่างไร ผมก็ยังชอบเล่นแต่ตุ๊กตุ่น ตุ๊กตารูปสัตว์อยู่ดี พอเขาเห็นว่าผมชอบสัตว์มาก ๆ ก็เลยพาไปตั้งแคมป์ เข้าค่ายทำกิจกรรมสำหรับเด็ก

ผมมีโอกาสไปเรียนวาดรูปกับอาจารย์ปัณยา ไชยะคำ ศิลปินนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ตอนที่กำลังเรียนอยู่ ผมได้ยินเสียงดัง ต๊ง ๆ ๆ ๆ ผมไม่รู้หรอกครับว่าเป็นเสียงอะไร แต่อาจารย์ปัณยาบอกว่ามันคือเสียงของนกตีทอง แล้วแกก็พาผมไปดู มันเป็นนกที่สีสวยมากครับ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นนกสวย ๆ แบบนี้ 

หลังจากนั้นผมก็เริ่มหัดดูนกครับ แม่พาผมไปจอยกับก๊วนของสมาคมอนุรักษ์นก (Bird Conservation Society of Thailand – BCST) ช่วงแรก ๆ ผมก็ดูนกไม่เป็นหรอกครับ ผมใช้กล้องสองตาส่องไปตามจุดที่ลุง ๆ เค้าดูกัน จนช่วงป.4 – ป.5 ผมเริ่มดูนกจริงจังขึ้น เริ่มดูออกว่านกแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร ช่วงนั้นแหละครับที่ผมเริ่มมีความคิดว่า ถ้าผมมีภาพนกที่ผมเห็นเก็บไว้บ้างก็น่าจะดี

กตัญญู วุฒิชัยธนากร ภาพถ่ายโดยอภินัยน์ ทรรศโนภาส

ถ่ายภาพสัตว์ป่าครั้งแรก

ผมเริ่มถ่ายภาพสัตว์ป่าครั้งแรกตอนประมาณ 10 ขวบ ถ่ายด้วยกล้องคอมแพคที่แม่ซื้อให้ ถ่ายไปสักระยะกล้องตัวนั้นก็พัง เลยเปลี่ยนมาใช้กล้อง DSLR ของพ่อ ช่วงแรกคนอื่นไปถ่ายตรงไหน ผมก็ตามไปถ่าย คนอื่นทำยังไง ผมทำตาม แต่ก็แอบสงสัยอยู่ตลอดว่า ผมต้องทำอย่างไรให้ภาพมันสวยได้กว่านี้ 

ผมเลยไปเรียนถ่ายภาพอย่างจริงจัง แล้วปรับพื้นฐานใหม่ทั้งหมด ช่วงนั้นก็ตระเวนถ่ายรูปนก เก็บไว้ดูเองบ้าง ส่งประกวดบ้าง ผมจำไม่ค่อยได้ครับว่าผมจริงจังกับการถ่ายภาพสัตว์ตอนอายุเท่าไหร่ จำได้แค่ว่าผมเริ่มรู้สึกสนุกกับการถ่ายภาพ(โดยเฉพาะภาพสัตว์ป่า) ตอนที่ผมหัดใช้เลนส์เทเลโฟโต้ แล้วผมได้ใช้เวลาสังเกตนก ดูพฤติกรรมมัน ปั้นช็อตสวย ๆ เพื่อให้ได้ภาพที่ถูกใจ ในขณะที่เพื่อนร่วมทริปคนอื่น ๆ ตามดูนกในอุทยานได้ครบทุกหมาย แต่ผมก็ยังนั่งอยู่ที่เดิมกับนกตัวเดิม 

ตอนนั้นผมมองว่าพวกเราสนุกกันคนละแบบครับ ความสนุกของคนดูนก คือเขาสนุกที่ได้ตามหานกชนิดใหม่ แต่สำหรับคนถ่ายนกอย่างผม ความสนุกคือการได้เฝ้าดูนกตัวเดียวและรอถ่ายภาพมันในแอคชั่นที่ต่างกันออกไป ให้ประณีตขึ้น เล่าเรื่องเยอะขึ้น ซึ่งผมชอบแบบหลังมากกว่า เพราะผมรู้สึกว่า ทุกครั้งที่กดซัตเตอร์ผมจะได้ประสบการณ์และได้อยู่กับธรรมชาติมากขึ้น ผมชอบธรรมชาติครับ และถ้าได้ถ่ายภาพสัตว์ป่าที่อยู่ในธรรมชาติ ผมจะมีความสุขมากเป็นพิเศษ

ออกจากโรงเรียน เพราะอยากจริงจังเรื่องถ่ายภาพ

ตอนป.5 เทมอ 2 ผมไปบอกแม่ว่าผมอยากเรียนโฮมสคูล เพราะผมอยากเอาเวลาที่ต้องเรียนวิชาที่ไม่ชอบไปทำอย่างอื่น (ศึกษาธรรมชาติ) ถ้าผมขึ้นมัธยมแล้วต้องลาเรียนบ่อย ๆ ครั้งละ 7 -10 วันคงไม่สะดวก ประกอบกับตอนนั้นผมรู้จักเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนโฮมสคูล ชีวิตเขาดูสนุกมากเลยครับ เขามีเวลาไปเข้าค่าย ไปดูนก ผมก็อยากมีเวลาแบบเพื่อนบ้าง 

ตอนที่ผมไปขอแม่ ผมก็คิดว่าแม่จะให้ง่าย ๆ เพราะที่ผ่านมาเขาไม่เคยปฏิเสธผมเรื่องขอไปดูนกหรือเดินป่าเลย ปรากฏว่าแม่ไม่ค่อยเห็นด้วยครับ เขากังวลว่าผมจะเรียนตามเพื่อนไม่ทัน แต่ผมก็บอกว่าผมขอลองก่อน ถ้าไปไม่รอด ผมจะกลับไปเรียนในระบบตามปกติ 

เราเลยทำข้อตกลงกัน ว่าจะรอให้ผมเรียนจบป.6 ก่อนค่อยเริ่มเรียนโฮมสคูลตอนมัธยม ซึ่งผมต้องจัดการเวลาเรียน – ทำกิจกรรมให้ดี และต้องทำงานส่งทุกครั้งที่กลับมาจากออกทริป งานที่ว่าก็คือการสรุปบทเรียนว่าผมได้ความรู้บ้างจากการเดินทางแต่ละครั้ง

กตัญญู วุฒิชัยธนากร ภาพถ่ายโดยอภินัยน์ ทรรศโนภาส

ถามว่าการเรียนโฮมสคูลของผมไปรอดไหม ก็รอดนะครับ แต่เหนื่อยเพราะงานเยอะ แต่ก็เยอะในแบบที่ผมชอบ เพราะมันคือการกลับมาสรุปความรู้เก็บไว้ ซึ่งผมเลือกวิธีการจดบันทึก เพราะถ้าไม่จดสักพักเดี๋ยวก็ลืม แต่ถ้าจดไว้อยากทบทวนเมื่อไหร่ ก็หยิบขึ้นมาอ่านได้เลย

สำหรับที่บ้านผม การออกทริปคือการเรียนรู้รูปแบบหนึ่ง เขาเลยสนับสนุนผมเต็มที่ แต่ถ้าผมขอไปที่เดิมซ้ำ ๆ เขาจะถาม ซึ่งผมต้องอธิบายให้ได้ว่า ไปรอบนี้ผมจะได้ความรู้ใหม่อะไรกลับมา ผมเลยต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนทุกการเดินทาง ต้องบอกพ่อแม่ให้ได้ว่าผมต้องการอะไร แล้วจะหาได้สิ่งนั้นอย่างไรจากทริปนี้  

ผมโชคดีมากที่ครอบครัวสนับสนุนให้ผมได้ทำสิ่งที่ผมชอบตั้งแต่ยังเด็ก ๆ ผมมองว่าการเรียนโฮมสคูลอาจจะไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน แต่กับผมมันดีตรงที่ มันเปิดโอกาสผมให้ได้ลองทำสิ่งที่ชอบ ได้ออกทริป ได้ไปถ่ายรูป และทำให้ผมมั่นใจว่า ผมสามารถเอาดีกับการถ่ายภาพสัตว์ป่าและสามารถทำมันเป็นอาชีพได้

The Beauty of Baleen

อย่างที่ผมเล่าไปก่อนหน้านี้เลยครับว่าผมชอบถ่ายภาพสัตว์ป่ามาก ๆ  ช่วงมัธยมพอเริ่มจัดสรรเวลาได้ ผมก็ออกทริปแทบทุกอาทิตย์เลย ไปถ่ายนกบ้าง ถ่ายวาฬบ้าง 

ตอนอายุ 15 ผมไปถ่ายภาพวาฬบรูด้าที่บางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี หนึ่งในภาพเซ็ตนั้นเป็นภาพวาฬชื่อแม่กันยากำลังอ้าปากกินปลากะตัก ผมเห็นมันอ้าปากกว้างเกือบ 90 องศา เลยสแนปมาเป็นภาพ Close – up จนเห็นขอบปากสีชมพูและขนแข็ง ๆ ที่หลายคนบอกว่าเหมือนขนหมาไม่ก็หนังควายจี่

ภายในปากของวาฬ มีสิ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก สิ่งนั้นมีชื่อเรียกว่า ‘บาลีน’ ไม่ว่าอาหารจะมีขนาดเล็กเท่าไหน ก็จะถูกบาลีนกรองให้อยู่ในปากก่อนที่จะถูกกลืนลงท้องไป แต่บาลีนไม่สามารถเลือกกรองขยะออกจากอาหารได้ สัตว์เหล่านี้ไม่ได้มีกลไกที่จะรับมือกับขยะที่มนุษย์เป็นคนสร้างขึ้น ภาพถ่ายโดย กตัญญู วุฒิชัยธนากร

แต่จริง ๆ ขนที่เห็นในรูปเรียกว่า ‘บาลีน’ (Baleen) ครับ มันเป็นอวัยวะที่สำคัญมากของวาฬ(บาลีน) เพราะเวลามันกินอาหาร มันไม่ได้กินแค่ปลา แต่มันกินน้ำเข้าไปด้วย พอมันหุบปากเพื่อรีดน้ำออก บาลีนก็จะช่วยกรองให้เหลือแต่อาหาร เพื่อให้วาฬกลืนลงท้องได้

ผมชอบรูปนี้ตั้งแต่วันที่ถ่ายเลยครับ เพราะเป็นการถ่ายที่แหกกฎ และเป็นภาพ Close – up ที่คนส่วนใหญ่มองไม่ออกด้วยซ้ำว่ามันคือวาฬ เลยลองส่งประกวดและภาพนี้ก็ชนะเลิศรายการ Young Wildlife Photographer of the Year 2022

ผมไม่เคยคิดเลยครับว่าภาพนี้จะได้รับรางวัล ผมส่งไปเพราะผมชอบภาพนี้เฉย ๆ ตอนที่ได้รับรางวัล คณะกรรมการบอกว่าที่ให้ภาพของผมชนะเลิศ เพราะผมนำเสนอมุมมองที่แปลกใหม่ ที่คนไม่ค่อยถ่าย ประกอบกับงานนี้เป็นการประกวดภาพถ่ายสัตว์ป่า ที่จัดโดยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ กรุงลอนดอน ( Natural History Museum UK) ภาพที่คณะกรรมการเลือกจึงไม่ใช่ภาพที่สวยงามอย่างเดียว แต่ต้องสามารถนำไปใช้ในงานทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วย

ธรรมชาติในมุมมองของวิน

ธรรมชาติคือการปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติครับ อย่างวันนี้ที่เรามาเดินเล่นในสวนเบญจกิติ พี่บอกผมว่าเราไปถ่ายรูปกันตรงอื่นดีกว่า เพราะต้นไม้ในโซน Wetland ไม่สวย(เป็นสีน้ำตาลเหมือนกำลังจะตาย) แต่ผมมองว่ามันก็สวยงามตามธรรมชาติของมันครับ มันอาจะดูแหว่ง ๆ ไปบ้าง เหมือนกำลังจะตายบ้าง แต่นั่นคือสิ่งที่ธรรมชาติเป็น เพราะเราไม่ได้ไปทำมันตายเสียหน่อย มันเป็นของมันเอง และเดี๋ยวสุดท้ายมันก็กลับมาเขียวได้ด้วยตัวของมันเอง

ขวดน้ำพลาสติกขวดนี้ อาจอยู่ได้นานถึง 450 ปี กว่าจะย่อยสลายหมด ขณะที่ธรรมชาติรอบตัวกลับเสื่อมถอยลงทุกวัน ภาพถ่ายโดยกตัญญู วุฒิชัยธนากร

แต่สิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติและกำลังบั่นทอนความสวยงามจริง ๆ คือสิ่งเหล่านี้มากกว่าครับ ‘ขยะจากน้ำมือมนุษย์’ ผมยอมรับว่าหงุดหงิดที่เห็นอะไรแบบนี้ แต่ผมขอมองแบบกว้าง ๆ ไว้ 2 กรณีคือกรณีที่หนึ่ง เจ้าของขยะชิ้นนี้ สามารถเดินไปซื้อน้ำขวดมากินในสวนได้ แต่ทำไมเขาถึงไม่สามารถนำกลับติดตัวไปด้วยได้ หรือกรณีที่สองเขาอาจจะนำขวดไปทิ้งในถังขยะที่สวนจัดให้ไว้แล้ว แต่ลมมันแรงจนขวดถูกพัดปลิวออกมา ซึ่งถ้าเป็นแบบหลังผมว่าทางสวนควรมีวิธีการจัดการขยะที่ดีกว่านี้ เพื่อไม่ให้ขยะเข้ามาปะปนกับพื้นที่ธรรมชาติ ผมถ่ายภาพนี้มาก็เพื่อเป็นภาพสะท้อนของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่กว่าสวนเบญจกิติ ที่กำลังประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน

เกือบสิบปีที่ถ่ายภาพสัตว์ป่า เวลาผมออกทริป ผมสังเกตได้ว่าสัตว์หลายชนิดมันลดลงอย่างเห็นได้ชัดครับ ถ้าสัตว์มันหายไปเองตามธรรมชาติ ก็เป็นเรื่องของสมดุลระบบนิเวศ แต่ปัญหาคือสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ เรื่องสัตว์ป่าอาจไกลตัวไป แต่ผมว่าทุกคนควรเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม รู้ว่าทุกการกระทำของเรามันจะกระทบกับระบบนิเวศมากแค่ไหน

นกหัวโตตัวยังคงใช้ชีวิตตามวิถีของมัน ท่ามกลางภัยคุกคามจากขยะและการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ ภาพถ่ายโดยกตัญญู วุฒิชัยธนากร

อย่างภาพนกหัวโตภาพนี้ที่ผมถ่าย ดูเผิน ๆ ก็ดูสดใสดีใช่ไหมครับ เพราะสีมันออกพลาสเทล แต่ในธรรมชาติแล้ว พื้นที่นาเกลือตรงนั้นไม่ควรมีสีฟ้าอยู่เลย นอกจากสีฟ้าของท้องฟ้า แล้วสีฟ้านี้มาได้อย่างไร มันก็มาจากเศษพลาสติกที่คนทิ้งไว้ไงครับ ผมอยากจะสื่อว่าธรรมชาติที่เราเห็นมันไม่ใช่ธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าพลาสติกชิ้นนี้หลุดรอดลงสู่ทะเล มันจะถูกย่อยสลายด้วยน้ำและแสงแดดกลายเป็นไมโครพลาสติก ไม่นานสัตว์ทะเลก็กินไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าไป และท้ายที่สุด มันก็กลายมาเป็นอาหารของเรา ราวกับว่าเรากำลังกินขยะพลาสติกที่ตัวเองทิ้งไปนั่นเอง

คุณค่าผ่านเลนส์

ผมว่าการเป็นช่างภาพสัตว์ป่า ทำให้ผมเป็นคนเคารพธรรมชาติครับ ผมถูกอาจารย์และพี่ ๆ ช่างภาพสอนมาตั้งแต่เล็ก ๆ ว่าเราเข้าไปในบ้านของสัตว์ป่า เราไม่ใช่เจ้าของ เราเป็นแค่ ‘แขก’ ที่ต้องรู้จักกาลเทศะ เราไม่มีสิทธิ์ไปรบกวนหรือเปลี่ยนแปลงวิถีของเขา เพียงเพราะต้องการภาพที่เราคิดว่าสวย

สัตว์แต่ละชนิดมีระยะปลอดภัยของมัน ถ้าสัตว์ชนิดไหนตื่นกลัวง่าย ผมจะไม่เข้าใกล้เด็ดขาด ไม่ใช่เพราะว่ากลัวมันหนี แล้วผมจะไม่ได้ถ่ายรูป แต่ผมไม่อยากทำให้มันรู้สึกอึดอัด ถ้าเป็นเรา เราก็คงไม่ชอบเหมือนกันใช่ไหมหล่ะครับ ผมว่าสัตว์ก็คงรู้สึกแบบนั้น

เมื่อพูดถึงความอิสระของสัตว์ หลายหลายคนอาจจะนึกถึงนก แต่วินมองว่าโลมาก็สามารถเป็นตัวแทนของอิสระได้เหมือนกัน เพราะบ้านของโลมาคือทะเลที่กว้างใหญ่ไพศาล ภาพถ่ายโดยกตัญญู วุฒิชัยธนากร      

ผมอยากเป็นช่างภาพที่เข้าใจสัตว์ เรียนเลือกเรียนด้านสัตววิทยา (คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์) เดิมผมพอมีความรู้เรื่องชนิดพันธุ์อยู่บ้าง เลยอยากต่อยอดด้านพฤติกรรมและกายวิภาค ในอนาคตผมอยากเรียนเรื่องต้นไม้ด้วย อยากรู้จักชนิดพันธุ์เยอะ ๆ  เพื่อให้เข้าใจองค์ประกอบของธรรมชาติให้มากขึ้น ถ้าผมมีความรู้เหล่านี้ ภาพถ่ายของผมจะละเอียดและสื่อสารได้ขึ้นอีกขั้น 

สำหรับผมการถ่ายภาพสัตว์ป่าไม่ได้มีแค่เรื่องเทคนิคหรือมุมกล้อง แต่ควรสร้างคุณค่าอะไรบางอย่าง ผมถ่ายภาพเพราะผมอยากสื่อสารเรื่องราวของป่า ให้คนเมืองที่ไม่มีโอกาสสัมผัสป่าได้ศึกษา เห็นคุณค่า จนนำไปสู่การอนุรักษ์ มีประโยคหนึ่งที่ผมชอบมาก ผมว่ามันแทนใจผมได้ทุกอย่าง

“มนุษย์ไม่มีธรรมชาติ มนุษย์อยู่ไม่ได้
แต่ธรรมชาติไม่มีมนุษย์ ธรรมชาติอยู่ได้สบาย”

เรื่อง อรณิชา เปลี่ยนภักดี

ภาพ กตัญญู วุฒิชัยธนากร และอภินัยน์ ทรรศโนภาส


อ่านเพิ่มเติม : เมธาวี จึงเจริญดี : นักวิจัยฉลามกับบทพิสูจน์ที่ ‘ไม่ง่าย’ ในประเทศไทย

 

 

 

 

 

Recommend