กลุ่มนักโบราณคดีขณะกำลังขุดค้นถ้ำเลียงบัว ซึ่งเป็นถ้ำหินปูนบนเกาะฟลอเรส ประเทศอินโดนีเซีย และเป็นแหล่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของมนุษย์โฮโม ฟลอเรเซียนซิส หรือที่รู้จักกันในชื่อ มนุษย์ฮอบบิท อันลึกลับ
โครงกระดูกหนูนับพันชิ้น พลิกประวัติเรื่องราว มนุษย์ฮอบบิท
ชิ้นส่วนกระดูกหนูจำนวนมากช่วยเผยเบาะแสใหม่ๆ เกี่ยวกับชะตากรรมของมนุษย์ขนาดเล็ก อย่างโฮโม ฟลอเรเซียนซิส บนเกาะฟลอเรส ประเทศอินโดนีเซียได้
ถ้ำเลียงบัว บนเกาะฟลอเรส ประเทศอินโดนีเซีย เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ ถ้ำแห่งฮอบบิท เพราะเป็นแหล่งค้นพบโครงกระดูกของมนุษย์โฮโม ฟลอเรเซียนซิส (Homo floresiensis) หรือที่รู้จักกันในนาม “มนุษย์ฮอบบิท” ซึ่งเป็นญาติที่สูญพันธุ์ไปแล้วของเรา แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ขุดค้นที่นี่ แหล่งโบราณคดีแห่งนี้น่าจะได้ชื่อที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงว่า ถ้ำหนู
“ครั้งแรกที่ผมเข้าไปขุดค้นถ้ำเลียงบัว ผมจำได้เลยว่ากระดูกที่โผล่ขึ้นมาจากดินสร้างความตกตะลึงแก่ผมเป็นอย่างมาก เพราะกระดูกเหล่านั้นเป็นกระดูกหนูแทบทั้งสิ้น” – Matthew Tocheri, หัวหน้านักวิจัยด้านกำเนิดมนุษย์ แห่งมหาวิทยาลัย Lakehead ประเทศแคนาดา เท้าความหลัง
ล่าสุดนี้ ทาง Tocheri และทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ตรวจสอบกระดูกหนู พร้อมกับค้นพบหลักฐานการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ ของเหล่าประชากรหนูในอดีต รวมถึงครั้งหนึ่งเมื่อราว 60,000 ปีก่อน โดยเป็นช่วงที่ซากกระดูกของมนุษย์ฮอบบิทเริ่มสูญหายไปจากถ้ำ
นั่นหมายความว่าการค้นพบดังกล่าว ให้ภาพที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับลักษณะทางนิเวศวิทยาบรรพกาลรอบๆ ถ้ำเลียงบัว แต่ยังอาจสามารถช่วยตอบคำถามที่คาราคาซังมาเนิ่นนานว่าเกิดสิ่งใดขึ้นกับมนุษย์ฮอบบิทกันแน่
การวัดขนาดหนูหลากหลายสายพันธุ์
ตอนที่ข่าวการค้นพบมนุษย์ฮอบบิทเป็นที่โด่งดังเมื่อปี 2003 ด้วยขนาดสมองที่เล็กและลักษณะโบราณอื่นๆ ได้จุดประเด็นถกเถียงว่า เราควรจัดมนุษย์ชนิดนี้อยู่ตรงไหนของสาแหรกตระกูลมนุษย์กันแน่ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ค้นหาเบาะแสเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริศนานี้ ภาพสิ่งแวดล้อมในยุคนั้นก็เริ่มปรากฏออกมาจากการค้นพบหลักฐานที่แปลกประหลาดอื่นๆ ตั้งแต่นกขนาดใหญ่ ไปจนถึงญาติอันใกล้ชิดของช้างซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับแม่วัว และมังกรโคโมโดโบราณ
กระนั้น หนู จึงเป็นสัตว์ที่มีอยู่มากที่สุดซึ่งถูกค้นพบใต้พื้นผิวถ้ำลึกลงไป โดยคิดเป็นร้อยละ 80 จากกระดูกอื่นๆ ที่ขุดค้นได้ในบริเวณถ้ำแห่งนี้
หนูบนเกาะฟลอเรสนั้นไม่ได้มีขนาดปกติเหมือนหนูทั่วไป โดยในปัจจุบันมีหนูชนิดหนึ่งซึ่งมีขนาดใหญ่เทียบเท่ากับสุนัข และเจ้าหนูยักษ์ตัวนี้มักได้รับความสนใจมากที่สุด เพราะมันเป็นสายพันธุ์เดียวที่ยังคงอาศัยอยู่บริเวณถ้ำเลียงบัว แต่พวกมันก็มีขนาด พฤติกรรม และการเลือกกินอาหารที่แตกต่างกันไป
หนู มีประโยชน์อย่างมากสำหรับการร่างฉากชีวิตก่อนประวัติศาสตร์ ณ ถ้ำเลียงบัว เพราะกระดูกของพวกมันนั้นปรากฏขึ้นตามช่วงลำดับเวลาของถ้ำ ในขณะที่ฮอบบิท สเตโกดอน และสัตว์ชนิดอื่นๆ กลับไม่มีหลักฐานชัดเจนพอ ซึ่งตรงกันข้ามกับเหล่ากระดูกหนูที่ถูกเก็บรักษาไว้ใต้ผืนถ้ำมาเป็นระยะเวลาประมาณ 190,000 ปีแล้ว
Tocheri และทีมงานทำการวัดขนาดกระดูกหนูจำนวนกว่า 12,000 ชิ้น พร้อมกับจำแนกประเภทของพวกมันตามขนาด และตามลำดับความสัมพันธ์ สัญญาณที่เด่นชัดอย่างหนึ่งจึงปรากฏออกมา นั่นก็คือ หนูขนาดกลางซึ่งชอบถิ่นอาศัยที่เปิดโล่งมากกว่าก็ครอบครองถ้ำจนถึงเมื่อราวๆ 60,000 หมื่นปีก่อน หลังจากนั้นทีมวิจัยกลับพบหนูอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กกว่าที่สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตกับผืนป่าได้ดีกว่า
การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้นักวิจัยตั้งสมมติฐานถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโดยรอบถ้ำ กล่าวคือ “ถิ่นอาศัยที่เปิดโล่งค่อยๆ กลายเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีลักษณะปิดมากขึ้น” – Jatmiko, ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยและนักวิจัยจาก the Indonesian National Research Centre for Archaeology
การอพยพของมนุษย์ฮอบบิท?
“การเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยานี้ไม่ได้มีผลเฉพาะกับมนุษย์ฮอบบิทเท่านั้น เพราะยังมีซากโครงกระดูกของสัตว์สายพันธุ์ขนาดใหญ่อื่นๆ ที่สาบสูญเช่นกัน อย่างเมื่อราวๆ 50,000 ปีก่อน ร่องรอยของมนุษย์ฮอบบิท สเตโกดอน แร้ง นกกระสา และมังกรโคโมโดก็หายไปจากถ้ำเสียเฉยๆ ” – Saptomo กล่าว
ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับสัตว์ขนาดใหญ่ที่สูญพันธุ์บนเกาะฟลอเรส “เบาะแสจากเหล่าหนูบ่งชี้ว่า เหตุผลที่มนุษย์โฮโม ฟลอเรเซียนซิส และสัตว์อื่นๆ ตัดสินใจออกไปจากถ้ำเลียงบัวนั้น เป็นเพราะพวกมันต้องการออกไปค้นหาสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่เปิดโล่งมากกว่า” – Veatch กล่าว
กล่าวโดยสรุป มนุษย์ฮอบบิทและสัตว์ขนาดใหญ่บริเวณใกล้เคียงนั้นไม่ได้หมายความว่าสูญพันธุ์เสมอไป แต่พวกมันอาจย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่อื่นของเกาะซึ่งมีความเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตมากกว่า – Thomas Sutikna ผู้ร่วมเขียนงานวิจัย จากมหาวิทยาลัย Wollongong กล่าว
“อาจเป็นไปได้ว่า บางส่วนของมนุษย์ฮอบบิท หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ นั้นยังคงดำรงชีวิตอยู่สักที่ใดที่หนึ่งบนเกาะฟลอเรส” – Thomas Sutikna กล่าวเพิ่มเติม
เรื่อง PAIGE MADISON
***แปลและเรียบเรียงโดย กุลธิดา ปัญญาเชษฐานนท์
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย