(ภาพปก) เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพได้รับการฉีดสเปรย์น้ำคลอรีน หลังจากนำส่งผู้ป่วยที่คาดว่าติดเชื้อ อีโบลา ไปยังรถพยาบาล ภาพถ่ายโดย
ในขณะที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงดำเนินอยู่ ก็ได้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส อีโบลา ในรอบใหม่ที่คองโกอีกครั้ง นี่คือเหตุผล 4 ประการที่โลกยังไม่สามารถหยุดเชื้อนี้ได้
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ประเทศในภูมิภาคแอฟริกากลางการเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาอีกครั้ง โดยมีผู้ติดเชื้อ 6 คน มีผู้เสียชีวิต 4 คน และยังรักษาตัวอยู่อีก 2 คน และมีความเป็นไปได้ถึงการแพร่ระบาดครั้งใหม่ในวงกว้างจึงได้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2019 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศภาวะวิกฤตโรคการระบาดของเชื้ออีโบลา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกว่าเป็น ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แล้ว โดยมีผู้เสียชีวิตในคองโกมากราว 1,600 คน
โดยในระหว่างปี 2014-2016 โลกทั้งโลกต่างจับจ้องและมีความกังวลในพื้นที่แอฟริกาตะวันตก เนื่องจาก การระบาดของเชื้ออีโบลา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 11,000 คน
หลังจากนั้นในปี 2018 ได้มีการแพร่ระบาดครั้งที่สอง ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2018 ในจังหวัดคิวูเหนือ และจังหวัดอิตูรีในคองโก มีผู้ติดเชื้อกว่า 2,500 คน และมีผู้เสียชีวิตราว 1,676 คน
ดร. เทดรอส อดานอม เกเบรเยซุส (Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus) อธิบดีองค์การอนามัยโลกได้เคยอธิบายเมื่อปี 2019 ว่า การระบาดในครั้งนี้คือการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่อันตรายที่สุดของโลกในพื้นที่ที่อันตรายที่สุดในโลก ด้านบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเตือนว่า การระบาดที่ยากจะทำให้สงบนี้หมายความว่ามันอาจระบาดต่อไปจนถึงปีหน้าด้วย
อีโบลาคืออะไร
อีโบลาคือเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้แบบฉับพลันในระยะแรก ร่างกายอ่อนแอ ปวดกล้ามเนื้อและเจ็บคอ จากนั้นจะก่อให้เกิดอาการอาเจียน ท้องร่วง และเลือดออกทั้งภายนอกและภายในร่างกาย โดยคนสามารถติดเชื้อได้โดยการติดต่อผ่านร่างกายที่มีแผล ทางปาก จมูก ผ่านทางเลือด อาเจียน อุจจาระ และสารคัดหลั่งของร่างกายผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งคนไข้มักเสียชีวิตจากการขาดน้ำ และภาวะอวัยวะล้มเหลวหลายอวัยวะ (multiple organ failure)
เหตุผลสี่ประการที่ทําให้อีโบลายังไม่หยุดระบาด
ในรอบ 25 ปี อีโบลาเป็นไวรัสที่ได้รับการพิสูจน์ แล้วว่าอันตรายที่สุด ตอนนี้ อีโบลาทำให้คนนับร้อยๆ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกถึงแก่ชีวิตในการระบาดครั้งใหญ่อันดับสองตั้งแต่มีการค้นพบไวรัสดังกล่าวในปี 1976
การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นระหว่างปี 2014 ถึง 2016 ในชาติแอฟริกาตะวันตกสามประเทศเป็นผลให้มีผู้ป่วย 30,000 คน เกือบครึ่งเสียชีวิต ความช่วยเหลือขนานใหญ่จากนานาชาติช่วยบรรเทาการระบาดของอีโบลาในช่วงเวลานั้นแต่ไม่มีสิ่งใดประกันว่าไวรัสดังกล่าวจะหยุดโจมตีเผ่าพันธุ์มนุษย์ อีโบลานั้นยากต่อการควบคุมด้วยสาเหตุอันซับซ้อนหลายประการ แต่นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามอยู่ และสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจะช่วยให้เราเตรียมรับมือกับไวรัสตัวนี้และที่อาจจะร้ายกาจกว่านี้ในอนาคต
เหตุใดอีโบลาจึงกำจัดยาก
1. ข้อจํากัดของวัคซีน
วัคซีนอีโบลาต้องเก็บไว้ในที่เย็น แต่ในพื้นที่เขตร้อนที่มีตู้เย็นอยู่น้อย วัคซีนจะเสียอย่างรวดเร็ว และเรายังไม่มีวัคซีนแบบแห้งหรือแบบไม่เสื่อมสภาพ
2. ข้อบังคับต่างๆ และต้นทุนของยาใหม่ๆ
มียาจากการตัดต่อพันธุกรรมต่างๆที่ยังอยู่ระหว่างการทดลอง แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะให้ผลกว้างขวางและไม่แพงเกินกว่าจะใช้รักษาคนจำนวนมากที่ติดเชื้ออีโบลา
3. ความล้มเหลวของวิธีที่เคยใช้หยุดไวรัส
ในปี 1966 ระหว่างการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสไข้ทรพิษเหล่าผู้ฉีดวัคซีนใช้เทคนิคที่เรียกว่าการฉีดวัคซีนแบบวงแหวนรอบจุดเกิดโรคด้วยการฉีดวัคซีนในคนรอบข้างผู้ติดเชื้อ วิธีนี้จำกัดเชื้อไวรัสเอาไว้ได้ด้วยกำแพงของคนที่มีภูมิต้านทานและหยุดการแพร่กระจาย แต่ความพยายามในการใช้เทคนิคดังกล่าวกับอีโบลาต้องประสบปัญหา เนื่องจากจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและหน่วยงานอื่นๆ ที่รักษาระเบียบของสังคม แต่พื้นที่ระบาดของอีโบลาในคองโกถูกควบคุมโดยกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ยินยอมให้ผู้ฉีดวัคซีนเข้าไปทำงาน
4. เรายังไม่เข้าใจถึงกลไกการทําลายของอีโบลาดีพอ
อีโบลายังคงเป็นปริศนานักวิทยาศาสตร์ยังไม่อาจเข้าใจถึงกลไกของไวรัสดังกล่าวและไม่แน่ใจว่าอีโบลาทำให้มนุษย์ตายได้อย่างไร
เรื่อง ริชาร์ด เพรสตัน
แหล่งอ้างอิง
นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2562
DR Congo Ebola outbreak declared global health emergency
Ebola Outbreak in Congo Is Declared a Global Health Emergency