กลุ่มดาวหมีใหญ่ เรื่องเล่า ตำนาน และความจริงเกี่ยวกับกลุ่มดาวที่พบเห็นได้ง่ายที่สุด
กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามของ “กลุ่มดาวจระเข้” เป็นกลุ่มของดาวฤกษ์ที่พบเห็นได้ง่ายที่สุดในบรรดากลุ่มดาวสากล (Constellations) ทั้ง 88 กลุ่มของโลก เนื่องจากมีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มดาวทางฝั่งซีกฟ้าเหนือและใหญ่เป็นลำดับที่ 3 ของกลุ่มดาวทั้งหมดในน่านฟ้าโลก
กลุ่มดาวหมีใหญ่มีขนาดเป็นรองเพียงกลุ่มดาวงูไฮดรา (Hydra) และกลุ่มดาวหญิงพรหมจารี (Virgo) หรือกลุ่มดาวราศีกันย์ในฝั่งซีกฟ้าใต้ โดยครอบคลุมพื้นที่ราว 1,280 ตารางองศา หรือคิดเป็นร้อยละ 3.10 ของทรงกลมท้องฟ้า (Celestial sphere) ทั้งหมด
นอกจากนี้ กลุ่มดาวหมีใหญ่ยังเป็นกลุ่มดาวที่สามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งปี และจะปรากฏขึ้นชัดเจนที่สุดบนท้องฟ้าช่วงค่ำในฤดูใบไม้ผลิของทางฝั่งซีกโลกเหนือ ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่ทางฝั่งซีกโลกใต้มีโอกาสพบเห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ได้เช่นเดียวกัน แต่กลุ่มดาวที่ปรากฏอาจไม่ชัดเจน หรือโดดเด่นเท่ากับการมองจากฝั่งซีกโลกเหนือ
องค์ประกอบของกลุ่มดาวหมีใหญ่
กลุ่มดาวหมีใหญ่เป็นกลุ่มดาวที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างมาก เนื่องจากดาวฤกษ์ที่สว่างจ้า 7 ดวง เรียงตัวกันเป็นรูปกระบวย หรือที่เรียกกันว่า ดาวกระบวยใหญ่ (Big Dipper) เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของกลุ่มดาว โดยที่ดาวฤกษ์ทั้ง 7 ดวงนี้ ไม่ได้เป็น “กลุ่มดาว” ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union : IAU) แต่ถูกเรียกเป็น “ดาวเรียงเด่น” (Asterism) ซึ่งคือการจับกลุ่มกันของดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดและอยู่ใกล้เคียงกันในทรงกลมท้องฟ้าตามจินตนาการของมนุษย์ โดยดาวกระบวยใหญ่นี้ เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่ง (ส่วนหาง) ของกลุ่มดาวหมีใหญ่เท่านั้น
7 ดวงดาวหลักในกลุ่มดาวหมีใหญ่ ประกอบไปด้วย ดาวอัลอิออธ (Alioth) เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวหมีใหญ่ ดาวดูเบ (Dubhe) ดาวอัลไคด์ (Alkaid) ดาวมิซาร์และดาวอัลคอร์ (Mizar and Alcor) ดาวเมอแรก (Merak) ดาวเฟคดา (Phecda) และดาวเมเกรซ (Megrez)
นอกจากดาวฤกษ์ทั้ง 7 ดวงนี้ กลุ่มดาวหมีใหญ่ยังประกอบไปด้วยดวงดาวอีกหลายสิบดวง รวมถึงวัตถุในท้องฟ้าอีกมากมาย ทั้งเนบิวลา กระจุกดาวและกาแล็กซีต่างๆ เช่น กาแล็กซี M81 กาแล็กซี M82 และกาแล็กซี M101 เป็นต้น
กลุ่มดาวหมีใหญ่ในหลากหลายอารยธรรม
เนื่องจากกลุ่มดาวแต่ละกลุ่ม เกิดจากจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของผู้คน ทำให้ในแต่ละถิ่นฐานและในแต่ละยุคสมัย กลุ่มดาวแต่ละกลุ่มจึงมีชื่อเรียกขานที่แตกต่างกันออกไป ตามวัฒนธรรมและความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ ขณะที่กลุ่มดาวหมีใหญ่เป็นกลุ่มของดาวฤกษ์ที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก อีกทั้ง ยังเป็น 1 ใน 48 กลุ่มดาวดั้งเดิมที่ถูกจารึกอยู่ในบันทึกของปโตเลมี (Ptolemy) เมื่อหลายพันปีก่อน จึงทำให้กลุ่มดาวหมีใหญ่มีชื่อเรียกเฉพาะถิ่นมากมาย
ตารางชื่อของกลุ่มดาวหมีใหญ่ในประเทศต่างๆ ในอดีตและปัจจุบัน
ชนชาติอารยธรรมในอดีตและปัจจุบัน | ชื่อและรูปร่าง |
ชาวกรีกโบราณและอินเดียนแดง | หมีใหญ่ |
อียิปต์ | ขาวัว |
สเปน | แตรล่าสัตว์ |
ญี่ปุ่น | ราชรถ |
อังกฤษ และอินเดีย | คันไถ |
จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา | กระบวย |
ชาวเอสกิโม | เรือแคนู |
ไทย | จระเข้ |
นอกจากนี้ กลุ่มดาวหมีใหญ่ยังถูกจารึกอยู่ในคัมภีร์ไบเบิ้ล (Bible) รวมถึงถูกบันทึกไว้ในบทประพันธ์ของทั้งโฮเมอร์ (Homer) และเชคสเปียร์ (Shakespeare) และภาพวาดของศิลปินชื่อดังอย่าง วินเซ็นต์ แวนโกะ (Vincent van Gogh) อีกด้วย
ตำนานดาวหมีใหญ่
เนื่องจากกลุ่มดาวหมีใหญ่เป็นกลุ่มดาวที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่ง ทำให้มีเรื่องราวและตำนานมากมายเล่าขานเกี่ยวกับดวงดาวกลุ่มนี้ โดยในตำนานกรีกโบราณ ดาวหมีใหญ่เป็นตัวแทนขององค์หญิงคัลลิสโต (Callisto) ซึ่งเป็นหญิงงามนางหนึ่งในเทพนิยาย ถูกเทพีเฮรา (Hera) ภรรยาของเทพเจ้าซุส (Zeus) สาปแช่งให้กลายเป็นหมี หลังการลักลอบได้เสียกันจนกระทั่งมีบุตรชายด้วยกัน 1 คน คือ อาร์คาส (Arcas)
และในเวลาต่อมา ขณะออกล่าสัตว์อาร์คาสเกือบยิงสังหารมารดาของตนเอง ซึ่งอยู่ในร่างหมีโดยไม่ได้ตั้งใจ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น เทพเจ้าซุสจึงส่งภรรยาและบุตรชายขึ้นสู่สวรรค์ ทั้งคู่กลายเป็นดวงดาว โดยที่องค์หญิงคัลลิสโตกลายเป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) ขณะที่อาร์คาสกลายเป็นกลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor) อยู่เคียงข้างมารดาบนท้องฟ้า
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ
ข้อมูลอ้างอิง
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
The International Astronomical Union (IAU)
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA)
https://www.universetoday.com/24120/ursa-major/