กลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius)

กลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius)

กลุ่มดาวแมงป่อง เป็นกลุ่มดาวเก่าแก่ที่ถูกค้นเมื่อ 3,000 ปีก่อน

กลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius) เป็น 1 ใน 88 กลุ่มดาวสากล (Constellations) ของโลก และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มดาวจักรราศี (Zodiac) บนซีกฟ้าใต้ หรือที่เรารู้จักกันในนามของ “กลุ่มดาวราศีพิจิก” ซึ่งปรากฏขึ้นบนเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ หรือ “สุริยะวิถี” (Ecliptic) ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

โดยครอบคลุมพื้นที่ราว 497 ตารางองศาหรือมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 33 ของกลุ่มดาวสากลทั้งหมด กลุ่มดาวแมงป่องเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่สามารถพบเห็นได้เฉพาะในช่วงฤดูร้อนของฝั่งซีกโลกเหนือ หรือระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม แต่จะมองเห็นได้ชัดเจนที่สุดบนท้องฟ้าฝั่งซีกโลกใต้ ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงต้นเดือนตุลาคม

นอกจากนี้ กลุ่มดาวแมงป่องยังเป็น 1 ใน 48 กลุ่มดาวดั้งเดิมที่ถูกจารึกอยู่ในบันทึกของปโตเลมี (Ptolemy) ในช่วงศตวรรษที่ 2 เช่นเดียวกับกลุ่มดาวหมีใหญ่อีกด้วย เป็นกลุ่มดาวเก่าแก่ที่ถูกค้นเมื่อ 3,000 ปีก่อน โดยชาวสุเมเรียน (Sumerian) ชาวกรีกโบราณและผู้คนทั่วไปเรียกกลุ่มดาวกลุ่มนี้ว่า “แมงป่อง” แต่ในอารยธรรมตะวันออก ชาวจีนโบราณเรียกกลุ่มดาวกลุ่มนี้ว่า “มังกรฟ้า” (Azure Dragon)

กลุ่มดาวแมงป่อง, กลุ่มดาว, ดวงดาว, แผนที่ดาว
แผนที่กลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius)

 องค์ประกอบของกลุ่มดาวแมงป่อง

กลุ่มดาวแมงป่องได้รับความสนใจจากผู้คนมานานหลายศตวรรษ จากการมีดาวฤกษ์ที่สุกสว่างมากกว่า 10 ดวง เรียงตัวกันจนมีลักษณะคล้ายตัวอักษร “J” หรือตะขอบนทรงกลมท้องฟ้าของโลก

โดย 7 ดวงดาวหลักในกลุ่มดาวแมงป่อง ประกอบไปด้วย

  1. แอนทาเรส (Antares) หรือที่คนไทยรู้จักในนามของ “ดาวปาริชาต” เป็นดาวยักษ์ใหญ่สีแดง (Red Supergiant Star) ที่สว่างที่สุดดวงหนึ่งในน่านฟ้าโลก อยู่ตรงใจกลางหรือ “หัวใจ” ของกลุ่มดาวแมงป่อง เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างจากโลกราว 550 ปีแสง มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราถึง 880 เท่า
  2. ชอลา (Shaula) เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ในกลุ่ม อยู่ห่างจากโลกราว 700 ปีแสง เป็นดาวในระบบดาวพหุ (Multiple star system) คือ มีดาวฤกษ์หลายดวงโคจรรอบกันและกัน
  3. ซาร์กาซ (Sargas) เป็นดาวยักษ์เหลืองที่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 300 ปีแสง มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราราว 25 เท่า
  4. ดีชับบา (Dschubba) เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างจากโลกราว 490 ปีแสง
  5. กราฟฟิอัส (Graffias) เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ในระบบดาวพหุเช่นกัน ประกอบไปด้วยดาวฤกษ์ถึง 6 ดวง อยู่ห่างจากโลกราว 500 ปีแสง
  6. เรเซิทธ์ (Lesath) เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างจากโลกราว 600 ปีแสง มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 11 เท่าและสว่างมากกว่าถึง 10,000 เท่า
  7. อัลเนียท์ (Alniyat) เป็นดาวยักษ์สีน้ำเงิน อยู่ห่างจากโลกราว 470 ปีแสง มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราราว 13 เท่า
ดาวฤกษ์, กลุ่มดาว, กลุ่มดาวแมงป่อง
ดาวฤกษ์สุกสว่างหลายสิบดวงในกลุ่มดาวแมงป่อง

นอกจากนี้ กลุ่มดาวแมงป่องยังเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางของกาแล็กซีทางช้างเผือก (The Milky Way) อีกด้วย ส่งผลให้มีวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deeps-sky objects) ที่น่ามหัศจรรย์มากมายอยู่ในขอบเขตของกลุ่มดาวกลุ่มนี้ เช่น กระจุกดาวผีเสื้อ (Butterfly Cluster) และกระจุกดาวปโตเลมี (Ptolemy Cluster) ซึ่งเป็นกระจุกดาวเปิดที่มีดาวฤกษ์รวมกันมากกว่า 80 ดวง รวมถึงเนบิวลาต่างๆ เช่น เนบิวลาอุ้งเท้าแมว (Cat’s Paw Nebula) เนบิวลาผีเสื้อ (Butterfly Nebula) และเนบิวลาสงครามและสันติภาพ (War and Peace Nebula) เป็นต้น

กระจุกดาว (Star cluster) คือ การรวมตัวกันของกลุ่มดาวฤกษ์เกิดใหม่ โดยมีรูปร่างต่างๆกันหรือที่เรียกว่า “กระจุกดาวเปิด” (Open cluster) ซึ่งหากการรวมตัวกันของดวงดาวเป็นกลุ่มก้อนทรงกลมขนาดใหญ่ จะถูกเรียกว่า “กระจุกดาวทรงกลม” (Globular Cluster)

ตำนานกลุ่มดาวแมงป่อง

กลุ่มดาวแมงป่องเป็นกลุ่มดาวที่มีตำนานและนิทานเล่าขานมากมาย โดยที่กลุ่มดาวแมงป่องนั้น คือ ตัวแทนของ “แมงป่องยักษ์” ที่ไกอา (Gaia) เทพีแห่งพื้นพิภพซึ่งทำหน้าที่ดูแลทุกสรรพชีวิตบนโลกในตำนานกรีกโบราณ ส่งไปตามล่าสังหารนายพรานหนุ่มนาม “โอไรออน” (Orion) ซึ่งโอ้อวดถึงความสามารถในการล่าสัตว์และปณิธานที่จะตามฆ่าสัตว์ทุกชนิดบนโลก ก่อนที่แมงป่องยักษ์จะถูกส่งขึ้นสู่สวรรค์กลายเป็นกลุ่มดาวแมงป่อง หลังสังหารนายพรานหนุ่มสำเร็จเพื่อเป็นเกียรติต่อความกล้าหาญที่ช่วยขจัดภัยให้โลก เช่นเดียวนายพรานโอไรออนที่ถูกส่งขึ้นสู่ท้องฟ้า กลายเป็นกลุ่มดาวนายพรานเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจต่อความโอหังและถือดีของมนุษย์

นอกจากนี้ ในอีกบทหนึ่งของตำนานกรีกโบราณ กลุ่มดาวแมงป่อง คือตัวแทนของ “แมงป่องยักษ์” ที่อพอลโล (Apollo) เทพแห่งแสงสว่างหรือดวงอาทิตย์น้องชายฝาแฝดของเทพีอาร์ทิมิส (Artemis) เทพีแห่งดวงจันทร์และการล่าสัตว์ ส่งไปสังหารนายพรานหนุ่มนาม “โอไรออน” หลังพบว่าเทพีอาร์ทิมิสตกหลุมรักนายพรานหนุ่ม ซึ่งเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา และหลังการเสียชีวิตของนายพรานโอไรออนนั้น เทพีอาร์ทิมิสได้ทำการร้องขอให้เทพเจ้าซุส (Zeus) ส่งนายพรานหนุ่มขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ดังนั้น บนท้องฟ้าของฤดูหนาวจะมีกลุ่มดาวนายพรานปรากฏขึ้น แต่จะหายลับขอบฟ้าไปในทุกฤดูร้อนเมื่อกลุ่มดาวแมงป่องมาเยือน ถึงแม้แมงป่องยักษ์และนายพรานหนุ่มจะกลายเป็นกลุ่มดาวบนท้องฟ้าไปแล้ว การไล่ล่าและหลบหนีของทั้งคู่ยังไม่เคยยุติ ส่งผลให้กลุ่มดาวทั้งสองอยู่ในทิศทางตรงกันข้ามบนท้องฟ้าตลอดมา

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.iau.org/public/images/detail/sco/
http://www.seasky.org/constellations/constellation-scorpius.html
https://earthsky.org/astronomy-essentials/scorpius-heres-your-constellation
https://www.space.com/16947-scorpius-constellation.html
https://www.constellation-guide.com/constellation-list/scorpius-constellation/
https://www.thoughtco.com/how-to-find-the-scorpius-constellation-4173782
https://www.solarsystemquick.com/universe/scorpius-constellation.html
https://in-the-sky.org/data/constellation.php?id=74http://www.astronomytrek.com/scorpius-the-scorpion/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กลุ่มดาวค้างคาว

Recommend