ประเภทป่าไม้ (Type of Forests) ในภูมิประเทศที่หลากหลายของโลก

ประเภทป่าไม้ (Type of Forests) ในภูมิประเทศที่หลากหลายของโลก

เนื่องจากโลกของเราประกอบด้วยภูมิอากาศ และภูมิประเทศที่หลากหลาย ส่งผลให้เกิดความรุ่มรวยใน ประเภทของป่าไม้

ปัจจุบัน โลกของเรามีป่าไม้ (Forest) ครอบคลุมพื้นที่ราว 1 ใน 3 ของพื้นผิวโลก โดยประกอบไปด้วยต้นไม้ราว 3 ล้านล้านต้น กระจายตัวอยู่ตามพื้นแผ่นดินในภูมิภาคต่างๆ ทั้งในดินแดนที่มีสภาพอากาศหนาวเย็น ปกคลุมด้วยหิมะเกือบตลอดทั้งปี หรือในเขตพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก มีสภาพอากาศร้อนจัด รวมไปถึงในดินแดนอันแห้งแล้ง ซึ่งทั้งสภาพอากาศและปัจจัยทางภูมิประเทศส่งผลให้ป่าไม้ในแต่ละพื้นที่มีองค์ประกอบและลักษณะเด่นทางพืชพรรณแตกต่างกันออกไป

ประเภทของป่าไม้

ระยะห่างจากเส้นศูนย์สูตรหรือแถบเส้นละติจูด (Latitude) เป็นตัวกำหนดอาณาเขตและลักษณะทางภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ และความอุดมสมบูรณ์ของดินในแต่ละพื้นที่ ทำให้ป่าไม้ทั่วโลกสามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. ป่าไม้เขตร้อน (Tropical Forest) หรือป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rain Forest)

คือป่าไม้ในแถบพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เช่น ทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นป่าไม้ที่มีอุณหภูมิคงที่ตลอดทั้งปี (ราว 20 ถึง 27 องศาเซลเซียส) ได้รับน้ำฝนเฉลี่ยอย่างน้อย 200 เซนติเมตรต่อปี ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ส่งผลให้พืชพรรณต่างๆ เจริญเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็นไม้ใบกว้าง (Broad-Leafed Tree) มอสส์ (Moss) เฟิร์น (Fern) หรือกล้วยไม้ (Orchid) ซึ่งปัจจัยทางสภาพแวดล้อมส่งผลให้เกิดการย่อยสลายของใบไม้ วัชพืช หรือซากสิ่งมีชีวิตบนพื้นดิน รวมถึงการพังทลายของหน้าดินได้ง่าย ทำให้ดินในป่าไม้เขตร้อนมีธาตุอาหารต่ำ เนื่องจากการดูดซึมธาตุอาหารอย่างรวดเร็วของพืชที่มีการแข่งขันสูง ส่งผลให้ป่าไม้เขตร้อนมีต้นไม้หนาแน่น มียอดไม้สูงที่ทำให้แสงสว่างส่องลงมายังพื้นดินได้ยาก นอกจากนี้ ป่าไม้เขตร้อนยังเป็นสถานที่ซึ่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ไว้มากที่สุด โดยสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกมากกว่าร้อยละ 50 มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าไม้เขตร้อน

ประเภทของป่าไม้, ป่าฝนเขตร้อน, ป่าดิบเขา,

นอกจากนี้ ป่าไม้เขตร้อนยังจำแนกออกเป็นกลุ่มย่อยตามลักษณะเด่นทางภูมิประเทศและภูมิอากาศ เช่น ป่าดิบชื้น (Tropical Evergreen Rain Forest) ป่าดิบแล้ง (Seasonal Rain Forest/Dry Evergreen Forest) ป่าดิบเขา (Montane Rain Forest) และป่าสนเขา (Coniferous Forest/Pine Forest) เป็นต้น

2. ป่าไม้เขตอบอุ่น (Temperate Forest)

ป่าผลัดใบเขตอบอุ่น (Temperate Deciduous Forest) พบได้ในเขตละติจูดถัดออกไปจากเส้นศูนย์สูตร คือในแถบอเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และยุโรป เป็นป่าไม้ที่เผชิญครบทั้ง 4 ฤดูกาล รวมถึงฤดูหนาว โดยทั่วไปมีอุณหภูมิอยู่ในช่วงติดลบ 30 ถึง 30 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยราว 75 ถึง 150 เซนติเมตรต่อปี ส่งผลให้ต้นไม้ส่วนใหญ่มีการผลัดใบ มีหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งโดยเฉลี่ยป่าไม้เขตอบอุ่นมีต้นไม้ราว 3 ถึง 4 ชนิดต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ต้นไม้ที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ โอ๊ก (Oak) บีช  (Beech) เมเปิล  (Maple) และหลิว (Willow) สัตว์ที่อาศัยอยู่ทั่วไปในป่าประเภทนี้มักเป็นสัตว์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในฤดูหนาวที่หนาวจัดและฤดูร้อนที่มีอากาศอบอุ่นได้ดี เช่น กระรอก กวาง หมาป่า หมาจิ้งจอก และหมี

นอกจากนี้ ในแถบพื้นที่ตามแนวชายฝั่งซึ่งมีฝนตกชุกและมีฤดูหนาวที่ไม่หนาวจัด สามารถพบป่าสนเขตอบอุ่น (Temperate Coniferous Forest) เติบโตได้ดี เช่น ในประเทศจีน ญี่ปุ่น ยุโรปตะวันตก และนิวซีแลนด์ รวมถึงทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ซึ่งมี 4 ฤดูเช่นเดียวกัน แต่มีฝนหนักตลอดทั้งปี (ปริมาณน้ำฝนราว 130 ถึง 500 เซนติเมตรต่อปี) ดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีต้นสนเป็นพืชพรรณหลัก โดยไม้ยืนต้นส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่และสูงชะลูด สัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าประเภทนี้ ได้แก่ กวาง เหยี่ยว หมีดำ และนกฮูก

3. ป่าไม้เขตหนาว (Boreal Forest)

ป่าไม้เขตหนาวหรือ “ไทกา” (Taiga) เป็นป่าไม้ในอาณาเขตย่อยของโซนอาร์กติก (Sub-Arctic Zone) หรือในแถบภูมิภาคไซบีเรีย สแกนดิเนเวีย อะแลสกา และแคนาดา เป็นป่าไม้ที่เติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่มีเพียง 2 ฤดู คือฤดูร้อนช่วงเวลาสั้นๆ และฤดูหนาวอันยาวนาน โดยมีอุณหภูมิตั้งแต่ติดลบ 40 ไปจนถึง 20 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนจึงมักได้มาจากการละลายของหิมะ (ราว 40 ถึง 100 เซนติเมตรต่อปี) ทำให้ป่าไม้เขตหนาวมีหน้าดินบาง มีธาตุอาหารต่ำ มีต้นสน (Pine Tree) เป็นพืชพรรณหลัก สัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าประเภทนี้จึงเป็นสัตว์ที่ทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวอันยาวนานได้ เช่น กวางมูส หมี หมาป่า กวางเรนเดียร์ ค้างคาว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก

ประเภทของป่าไม้

ป่าไม้ถือเป็นสถานที่ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อความเป็นอยู่ของทุกสรรพชีวิต โดยเป็นทั้งแหล่งกำเนิด และถิ่นฐานที่อยู่อาศัยร่วมกันของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดทั่วโลก นอกจากนี้ ป่าไม้ยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศของโลก ทั้งต่อการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การหมุนเวียนแร่ธาตุและสสาร รวมไปถึงการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกรองจากมหาสมุทร ดังนั้น ป่าไม้จึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญยิ่งและควรได้รับการอนุรักษ์และปกปักรักษาจากการทำลายล้างและผลกระทบต่างๆจากกิจกรรมของมนุษย์ เพื่อคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ และอากาศ อันเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดต่อการดำรงชีวิต

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

Sonia Madaan – https://www.eartheclipse.com/environment/types-of-forests.html

FAO – http://www.fao.org/3/ap862e/ap862e00.pdf

University of California Museum of Paleontology – https://ucmp.berkeley.edu/exhibits/biomes/forests.php

The Environmental Literacy Council – https://enviroliteracy.org/land-use/forests/forest-types/

Elena Motivans – https://www.zmescience.com/other/did-you-know/different-types-forests/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: การปกป้องป่าคือสิ่งจำเป็นเพื่อโลกที่ยั่งยืนในอนาคต

อนุรักษ์ป่า

Recommend