ตอนนี้ไทยกำลังเกิด ไฟป่า 2 จังหวัด “พร้อมกัน” คือที่ จ.นครนายก และเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งยังลุกลามใหญ่โตและต่อเนื่อง!
ไฟป่า (Wildfire) คือไฟที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติ เช่น เศษดิน เศษหญ้า กิ่งไม้ และใบไม้แห้ง รวมไปถึงต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่ภายในป่า (Forest) หรือสวนป่า (Urban Forest) จนเกิดไฟลุกไหม้ที่ปราศจากการควบคุม สามารถลุกลามต่อเนื่องไปได้อย่างอิสรเสรี โดยไม่มีขอบเขต
ไฟป่านับเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ในสภาพอากาศแห้งแล้ง เมื่อมีประกายไฟจากฟ้าผ่า กิ่งไม้เสียดสีกัน เหตุภูเขาไฟระเบิด หรือเมื่อแสงแดดเกิดตกกระทบผลึกหินหรือส่องผ่านหยดน้ำ สามารถเป็นชนวนของการเผาไหม้และก่อให้เกิด “ไฟป่า” ขึ้นเองได้ในธรรมชาติ
องค์ประกอบของไฟป่า
- เชื้อเพลิง (Fuel) คืออินทรียสารทุกชนิดที่มีคุณสมบัติติดไฟได้ง่ายหรือวัสดุไวไฟทั้งหลาย เช่น หญ้าแห้ง วัชพืช กิ่งไม้ ต้นไม้ พุ่มไม้ และตอไม้ รวมไปถึงอาคารบ้านเรือน ดินอินทรีย์ (Peat Soil) และชั้นถ่านหินที่อยู่ใต้ผิวดิน (Coal Seam)
- อากาศ (Air) คือแหล่งสะสมออกซิเจน (Oxygen) ที่สนับสนุนกระบวนการเผาไหม้ (Combustion) ซึ่งปริมาณและสัดส่วนของออกซิเจนภายในป่า ณ จุดใดจุดหนึ่งอาจแปรผันตามทิศทางการเคลื่อนไหวและความเร็วลม
- แหล่งความร้อน (Heat Source) คือตัวจุดประกายไฟที่ทำให้เกิดไฟป่า ทั้งแหล่งความร้อนในธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า การเสียดสีของกิ่งไม้ หรือการระเบิดของภูเขาไฟ รวมไปถึงแหล่งความร้อนจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การตั้งแคมป์ไฟ การเผาหญ้า การเผาขยะ หรือการทิ้งก้นบุหรี่ข้างทาง เป็นต้น
องค์ประกอบของไฟป่าทั้ง 3 ประการนี้เรียกรวมกันว่า “สามเหลี่ยมไฟ” (Fire Triangle) ซึ่งหากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไป ไฟป่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นหรือดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
ชนิดของไฟป่า
1.ไฟใต้ดิน (Ground Fire) คือไฟป่าที่ลุกไหม้อินทรียวัตถุใต้พื้นดินของผืนป่า เป็นไฟป่าที่มักก่อตัวขึ้นในป่าเขตอบอุ่นบนพื้นที่สูง ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นและมีปริมาณอินทรียวัตถุสะสมอยู่บนหน้าดินหนาแน่น (Surface Litter) ทำให้ไฟป่าชนิดนี้สามารถเผาไหม้ลึกลงไปใต้พื้นดินและเคลื่อนที่ลุกลามไปอย่างเชื่องช้าใต้ผืนป่า โดยไม่เกิดเปลวไฟขนาดใหญ่ ดังนั้น ไฟใต้ดินจึงถือเป็นไฟป่าที่ตรวจพบและควบคุมได้ยากที่สุด อีกทั้งยังเป็นไฟป่าที่สร้างความเสียหายให้แก่ป่าไม้มากที่สุด เพราะการเผาไหม้ใต้ผืนป่าได้ทำลายรากไม้เสียหาย ต้นไม้ส่วนใหญ่จะยืนต้นตายในเวลาต่อมา
2. ไฟผิวดิน (Surface Fire) คือไฟป่าที่ลุกลามไปตามพื้นดิน โดยเผาไหม้เชื้อเพลิงบนพื้นป่า ทั้งใบไม้และกิ่งไม้แห้งที่ตกสะสมอยู่บนพื้นดิน รวมไปถึงพุ่มไม้ กอหญ้า และลูกไม้ต่างๆ ไฟผิวดินพบได้ทั่วไปในพื้นที่ป่าทุกภูมิภาคของโลก ความรุนแรงของไฟจึงขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของเชื้อเพลิง โดยทั่วไปไฟชนิดนี้จะไม่ทำอันตรายต้นไม้ใหญ่ถึงตาย แต่อาจทำให้อัตราการเจริญเติบโตของต้นไม้ลดลงหรืออ่อนแอจนเกิดโรคต่างๆ
3. ไฟเรือนยอด (Crown Fire) คือไฟป่าที่ลุกลามจากยอดไม้หรือไม้พุ่มต้นหนึ่งไปยังยอดของต้นไม้อีกต้นหนึ่ง เป็นไฟป่าที่มักก่อตัวขึ้นในป่าสนเขตอบอุ่น ไฟชนิดนี้มีอัตราการลุกลามรวดเร็วและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความสูงของเปลวไฟตั้งแต่ 10 ไปจนถึง 50 เมตร ในขณะเดียวกัน ลูกไฟจากเรือนยอดสามารถตกลงบนพื้นป่า ก่อให้เกิดเปลวไฟตามผิวดินไปพร้อมกันได้อีกด้วย
รูปร่างของไฟป่า
การเกิดไฟป่ามักเกิดจากการติดไฟในจุดเล็กๆ ก่อนขยายตัวเป็นวงกว้างตามเชื้อเพลิงและทิศทางลม โดยไฟป่ามีจุดเริ่มต้นจาก
- หัวไฟ (Head) คือส่วนของไฟป่าที่ลุกลามไปตามทิศทางลมและความลาดชันของพื้นที่ เป็นส่วนของไฟที่ลุกลามรวดเร็ว รุนแรง และอันตรายมากที่สุด มีเปลวไฟมากที่สุด
- หางไฟ (Rear) คือส่วนของไฟที่ไหม้ในทิศตรงกันข้ามกับหัวไฟหรือสวนกับทิศทางลม ทำให้ลุกลามช้าและควบคุมได้ง่าย
- ปีกไฟ (Flank) คือส่วนที่ลุกลามขยายออกทางด้านข้าง โดยมีทิศทางตั้งฉากหรือขนานไปกับทิศทางหลักของหัวไฟ
- นิ้วไฟ (Finger) คือส่วนที่ลุกลามในแนวแคบออกจากตัวไฟหลัก โดยนิ้วไฟแต่ละนิ้วจะมีหัวและปีกไฟเป็นของตัวเอง
ผลกระทบจากไฟป่า
ไฟป่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพแวดล้อมของโลก เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีส่วนทำให้โลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยเฉพาะไฟป่าที่เกิดขึ้นทางเหนือในป่าไม้เขตหนาว (Boreal Forest) ซึ่งถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนสูงสุดในบรรดาระบบนิเวศบนบก (Terrestrial Ecosystem) ทั้งหลายของโลก ในทุกๆองศาที่โลกของเราร้อนขึ้น ป่าไม้ต้องการฝนหรือหยาดน้ำฟ้า (Precipitation) มากขึ้นราวร้อยละ 15 เพื่อชดเชยความชุ่มชื้นที่สูญเสียไป
มนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆล้วนได้รับผลกระทบจากการเกิดไฟป่า ในแต่ละปีมีผู้คนราว 339,000 คนทั่วโลกเสียชีวิตจากควันและไฟป่า โดยเฉพาะในแถบเอเชียและทะเลทรายซาฮารา รวมไปถึงฝุ่นและอนุภาคในอากาศ ซึ่งกลายเป็นมลพิษและเป็นภัยต่อร่างกาย นอกจากนี้ สัตว์ป่าต่างได้รับผลกระทบจากไฟป่า ทั้งการสูญเสียชีวิต สูญเสียที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร โดยเฉพาะสัตว์ที่มีขนาดเล็กและเคลื่อนไหวเชื่องช้า อย่างเช่น โคอาล่า ซึ่งมีสัญชาตญาณตามธรรมชาติคือการปีนป่ายขึ้นไปหลบบนยอดไม้เมื่อเกิดอันตราย ดังนั้น เมื่อเกิดไฟป่าขึ้น สัตว์เหล่านี้จึงหมดหนทางหลบหนีโดยสิ้นเชิง
ในอดีต ไฟป่านับเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาหรือวิวัฒนาการของป่าไม้ ทั้งช่วยคงสภาพโครงสร้างเดิมของป่า สนับสนุนการงอกเงยของเมล็ดและการเติบโตของกล้าไม้ทั้งหลาย รวมไปถึงการป้องกันการระบาดของโรคและแมลง แต่ในปัจจุบัน ไฟป่าส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ (ราวร้อยละ 85) ทั้งจากการเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ การหาของป่า การตั้งแคมป์ไฟ การเผาขยะ และการทิ้งก้นบุหรี่ไม่ถูกที่ถูกทางซึ่งทำให้ไฟป่าเกิดถี่ขึ้นในสถานที่ที่ไม่ควรเกิด เช่น เกิดไฟป่าในพื้นที่ของป่าดงดิบ ซึ่งต้นไม้ส่วนใหญ่ไม่มีกลไกป้องกันไฟป่า ทำให้ไฟป่าสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อทั้งสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ
ภาพถ่ายดาวเทียม: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
สืบค้นและเรียบเรียง: คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ
ข้อมูลอ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช – http://www.dnp.go.th/forestfire/FIRESCIENCE/lesson%201/lesson1_1.htm
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร – https://www.seub.or.th/
National Geographic Society – https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/wildfires/
National Geographic – https://www.nationalgeographic.com/news/2017/10/wildfire-california-danger-environment-spd/