วิเคราะห์เจาะลึก โควิด-19 กับนักไวรัสวิทยาชาวไทย

วิเคราะห์เจาะลึก โควิด-19 กับนักไวรัสวิทยาชาวไทย

สถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 (COVID-19) ที่กำลังลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก ประกอบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่พุ่งทะลุ 80,000 คน ไปแล้ว และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,800 ค

ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าการระบาดจะก้าวเข้าสู่ระดับการระบาดใหญ่ (Pandemic) หรือไม่ ขณะที่ประเทศไทยประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 เพื่อยกระดับมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มข้นมากขึ้น แต่ท่ามกลางการระบาดที่ยังคงลุกลามอย่างรุนแรง ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังไม่รู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับโรค โควิด-19 อย่างแท้จริง

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นักไวรัสวิทยา ที่วิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนามากกว่า 10 ปี ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบ Reverse Genetics ของไวรัสโคโรนาในสุกร และมีผู้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมาต่อยอดจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นผู้นำการวิจัยด้านไวรัสโคโรนาของประเทศไทย ซึ่งจะมาช่วยไขข้อข้องใจและอธิบายถึงองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับโรค โควิด-19

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ
  • โรคโควิด-19 เกิดจากอะไร?

โรคโควิด-19 หรือ Coronavirus Disease-2019 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า Virus SARS-CoV-2 (Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2) ซึ่งแม้จะเป็นโรคอุบัติใหม่ในมนุษย์ แต่เชื่อว่าไวรัสโคโรนาชนิดนี้น่าจะอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นมาก่อน (นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าเป็นค้างคาว) ภายหลังเกิดการแพร่มาสู่สัตว์ชนิดอื่นที่ยังไม่ทราบชนิดแน่นอนก่อนมาสู่คน ซึ่งแต่ละครั้งที่แพร่ข้ามสายพันธุ์ไวรัสได้เปลี่ยนแปลงพันธุกรรมไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น SARS-CoV-2 ที่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้

ตลาดค้าสัตว์ป่า, ไวรัสโคโรนา, ปักกิ่ง

ไวรัสโคโรนามีสารพันธุกรรม หรือจีโนม เป็นอาร์เอ็นเอขนาดยาวที่สุดในบรรดาไวรัสที่มีจีโนมเป็นอาร์เอ็นเอ (RNA virus) รูปทรงของไวรัสมีส่วนที่ยื่นออกมารอบๆ คล้ายมงกุฎ (crown) หรือรัศมีของดวงอาทิตย์ จึงเป็นที่มาของชื่อ Corona ที่แปลว่ามงกุฎหรือรัศมี ไวรัสโคโรนาพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิด เช่น สุกร สุนัข แมว อูฐ และค้างคาว รวมถึงสัตว์ปีก เช่น ไก่ นกในธรรมชาติ เชื้อสามารถถ่ายทอดจากสัตว์ไปสู่สัตว์ได้ และบางกรณีก็สามารถถ่ายทอดจากสัตว์สู่คนได้เช่นกัน ซึ่งที่รู้จักคุ้นเคยกันดีคือไวรัส SARS-CoV จากค้างคาวมาสู่ชะมดและมาถึงคน หรือ ไวรัส MERS-CoV ที่มาจากค้างคาวมาสู่อูฐแล้วก็มาถึงคน

สำหรับ SARS-CoV-2 ข้อมูลการถ่ายทอดจากสัตว์สู่คนยังไม่ชัดเจน เบื้องต้นข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรม พบว่าไวรัส SARS-CoV-2 มีความใกล้เคียงมากกว่าร้อยละ 95 กับรหัสพันธุกรรมที่แยกได้จากค้างคาวเกือกม้า ในเมืองยูนนาน ตั้งแต่ปี 2013 แต่ไวรัสดังกล่าวอาจแพร่ไปสู่สัตว์ตัวกลางก่อนมาสู่คน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบชนิดแน่นอน

  • ทำไมโรคโควิด-19 ถึงรุนแรงจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต?

ความรุนแรงของโรคโควิด-19 อาจเกิดจากคุณสมบัติของไวรัสเอง ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ไวรัสส่วนใหญ่ที่มีบรรพบุรุษมาจากค้างคาวมักก่อโรครุนแรงในมนุษย์ เช่น Ebola virus, SARS-CoV, MERS-CoV เนื่องจากค้างคาวมีภูมิต้านทานต่อไวรัสที่ดีมาก สามารถสร้างโปรตีนต้านไวรัสชนิดต่างๆ ปริมาณสูง ไวรัสที่อยู่รอดได้ในตัวค้างคาวมักเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงสูง เมื่อวันหนึ่งที่ไวรัสเหล่านี้หลุดจากค้างคาวมาติดในสัตว์ตัวกลางหรือมนุษย์ ซึ่งไม่มีภูมิต้านทานที่ดีเช่นค้างคาว หลายๆ ครั้งจึงทำให้ก่อโรคได้รุนแรง

ตลาดค้าสัตว์ป่า, ไวรัสโคโรนา, ปักกิ่ง, โควิด-19, covid-19

แต่สำหรับ โรคโควิด-19 ถือว่าเป็นโรคที่มีอัตราความรุนแรงน้อย เพราะมีอัตราผู้เสียชีวิตน้อยกว่าร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับ SARS และ MERS ที่มีอัตราผู้เสียชีวิตถึงร้อยละ 10 และ ร้อยละ 30 ตามลำดับ ทั้งนี้ผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำ แต่สำหรับคนปกติที่แข็งแรง มีภูมิต้านทานดี อาจแค่ติดเชื้อ มีไข้ และหายเป็นปกติได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีมากกว่า 90% และที่น่าสนใจคือมีข้อมูลว่าโควิด-19 ในเด็กพบได้น้อย และอาการไม่รุนแรง

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 แล้วมีอาการรุนแรง เกิดจากสาเหตุใด แต่ข้อมูลจากไวรัสโคโรนาชนิดอื่น เช่น SARS-CoV หรือ MERS-CoV บ่งชี้ว่า ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาแบบผิดเพี้ยน คือสูงมากเกินความจำเป็น จนทำให้เข้าทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะ เช่น ปอดหรือไต

  • เหตุใดโรคโควิด-19 ถึงระบาดเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว?

สาเหตุที่โควิด-19 ระบาดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ มีผลงานวิจัยหลายชิ้นออกมายืนยันว่า โปรตีน Spike (ส่วนที่ยื่นออกมาจากอนุภาคคล้ายหนาม) ของไวรัส SARS-CoV-2 มีความสามารถให้จับกับตัวรับ (receptor) ที่ชื่อ ACE2 (Angiotensin Converting Enzyme 2) ในร่างกายของคนได้แน่นมากกว่าไวรัสโคโรนาชนิดอื่น ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์เป้าหมายได้ดี และแพร่จากคนสู่คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการเปลี่ยนแปลงของโปรตีน Spike ที่ตำแหน่งอื่นอีก เช่น การเพิ่มกรดอะมิโนชนิดเป็นเบส 3 ตำแหน่งอยู่ติดกันทำให้ไวรัสถูกกระตุ้นให้ติดเชื้อโดยเอนไซม์ที่พบได้ในเซลล์มนุษย์ได้ดี และเพิ่มจำนวนได้ไว อีกปัจจัยสำคัญคือ โรคโควิด-19 มีความรุนแรงของโรคน้อย มีระยะฟักตัวนาน ทำให้ผู้ติดเชื้อใช้ชีวิตเดินทางออกไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้มาก จึงเกิดการติดต่ออย่างรวดเร็ว ดังเช่นคุณป้าที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่เดินไปทางไปทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกคนอื่นในโบสถ์ และสถานที่ต่างๆ จนกลายเป็น Superspreader ที่แพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ต่างจากโรคอีโบลาและซาร์สที่มีความรุนแรงของโรคสูง ผู้ป่วยมีอาการหนักและอยู่ในโรงพยาบาล โอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อจึงมีน้อย

ตลาดค้าสัตว์ป่า, ไวรัสโคโรนา, ปักกิ่ง, โควิด-19, covid-19

  • จริงหรือไม่ที่โควิด-19 สามารถเผยแพร่เชื้อผ่านทางฝอยละอองในอากาศ?

หากอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ที่มีจะเชื้อปนเปื้อนในฝอยละอองขนาดเล็กในอากาศ แต่มีโอกาสน้อยที่จะทำให้ติดเชื้อ เนื่องจากเวลาที่เราจามจะมีฝอยละอองหลายขนาด กลุ่มแรกคือ ‘ฝอยละออง (Droplet)’ ขนาดใหญ่ 50-100 ไมครอน ที่ปล่อยออกมาหลังจากผู้ป่วยไอ หรือ จาม และตกสู่พื้นภายใน 15-20 นาที ไม่ไกลจากผู้ป่วยเกิน 2 เมตร และกลุ่มที่สอง คือ ‘ฝอยละอองขนาดเล็กมาก (Droplet nuclei)’ ประมาณ 5 – 12 ไมครอน ที่ไม่ตกลงสู่พื้น แต่จะลอยอยู่ในอากาศไปได้ไกลเกิน 10 เมตร

สิ่งสำคัญคือแม้จะมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ในฝอยละอองขนาดเล็กได้ แต่ปริมาณเชื้อนั้นอาจไม่มากเพียงพอที่จะก่อโรคได้ ซึ่งขณะนี้ข่าวที่ออกมาเป็นเพียงคำแถลงการณ์เท่านั้น ยังไม่มีผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์เป็นหลักฐานชัดเจน ด้านกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย และศูนย์ควบคุมป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (US-CDC) ยังยืนยันว่า โควิด-19 แพร่เชื้อผ่านทางฝอยละอองที่เกิดจากการไอหรือจามของผู้ติดเชื้อเท่านั้น

นอกจากการติดต่อผ่านทางเดินหายใจแล้ว วารสาร New England Journal of Medicine รายงานว่า มีการตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ในอุจจาระ ซึ่งบ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสอาจแพร่กระจายผ่านทางอุจจาระได้ เพราะผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการท้องเสียร่วมด้วย จึงถือเป็นอีกช่องทางการติดต่อของโรคที่ต้องระวัง

สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย

  • ประเทศไทยจะมีการระบาดในระดับ 3 หรือไม่?

การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ อยู่ในระยะที่ 2 คือมีการติดเชื้อจากคนสู่คนภายในประเทศ ซึ่งแม้ว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควบคุมโรคได้ดี แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 คือมีผู้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในวงกว้างได้ ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้ แต่ไม่อยากให้ตระหนกเกินไป เพราะอาจเป็นแค่การระบาดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้ก่อโรครุนแรง

สำหรับแนวทางการเตรียมรับมือ ในโมเดลด้านระบาดวิทยาจะมี 3 ส่วน คือการป้องกัน แก้ไข และควบคุมไม่ให้เกิดซ้ำ

การป้องกันต้องอาศัยการถอดบทเรียนที่ได้ผลดีจากประเทศจีนมาใช้ เช่น หากเกิดการระบาดรุนแรง ควรปิดเมืองหรือไม่ ส่วนการแก้ไขจะเป็นเรื่องการตรวจวินิจฉัยและการรักษา ณ ขณะนี้ หากประเทศจีนเปิดเผยข้อมูลว่าผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงและไม่รุนแรงแตกต่างกันอย่างไร ทีมวิจัยสามารถนำข้อมูลมาประกอบกับข้อมูลที่ศึกษาอยู่ และอธิบายได้ว่ายีนตัวไหนของไวรัสที่เกิดการกลายพันธุ์และทำให้เกิดโรครุนแรง เพื่อแจ้งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวัง รวมถึงการพัฒนาชุดตรวจเพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยแยกเคสที่รุนแรงออกจากเคสที่ไม่รุนแรงได้รวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และรับมือกับการบริหารจัดการในช่วงที่มีการระบาดเป็นวงกว้างได้ดีขึ้น

ตลาดค้าสัตว์ป่า, ไวรัสโคโรนา, ปักกิ่ง, โควิด-19, covid-19
ภาพถ่ายโดย MANUEL SILVESTRI, REUTERS

สำหรับการควบคุมไม่ให้เกิดซ้ำ ณ ขณะนี้ยังไม่พบสัตว์ตัวกลางที่เป็นพาหะนำโรค จึงยากต่อการควบคุม ต่างจากโรคซาร์สที่มีการตรวจพบว่าติดเชื้อมาจากชะมด ทำให้มีการควบคุมการรับประทานชะมด การยกเลิกทำฟาร์มชะมดอย่างเด็ดขาด ทำให้สามารถควบคุมโรคซาร์สได้อย่างดีและไม่เกิดการระบาดซ้ำจนถึงปัจจุบัน

แนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน?

แนวทางการรักษาขณะนี้จะมีการให้ ‘ยาต้านไวรัส’ ซึ่งล่าสุดประเทศจีนได้รับรองยาต้านไวรัส Favilavir ในการรักษาโควิด-19 อย่างเป็นทางการตัวแรก ขณะที่ประเทศไทยทดลองใช้ยาต้านไวรัส HIV ชนิด Protease Inhibitors เพื่อช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Protease ที่จำเป็นต่อการเพิ่มไวรัสในร่างกาย ซึ่งไวรัส SARS-CoV-2 ก็มีกระบวนการคล้ายๆ กันอยู่ นอกจากนี้ยังมียาต้านไวรัสที่ชื่อ Remdesivir (RDV) ที่กำลังถูกจับตาอย่างมาก เพราะเป็นยาที่ออกแบบมาสำหรับไวรัสโคโรนาโดยเฉพาะ สามารถยับยั้งการสร้างสาย RNA ของไวรัสได้โดยตรง อยู่ระหว่างการทดสอบในคน

พร้อมกันนี้ยังมีการใช้ ‘แอนติบอดี’ ของผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากการติดเชื้อมารักษาผู้ป่วยคนอื่น มีลักษณะเช่นเดียวกับเซรุ่มที่ฉีดตอนโดนงูกัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีข้อที่ต้องพึงระวังคือ ไวรัส SARS-CoV-2 อาจจะสามารถจับกับตัวรับหรือประตูเพื่อเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทาง ประตูบานแรกคือ ACE2 เมื่อผู้ป่วยได้รับแอนติบอดีในปริมาณที่มากพอจะช่วยบล็อกเชื้อไวรัสไม่ให้ผ่านประตูบานนี้ได้ แต่หากผู้ป่วยได้ปริมาณแอนติบอดีน้อยหรือคุณภาพไม่ดีพอ อาจเกิดการกระตุ้นให้แอนติบอดีจับกับเชื้อไวรัสแล้วพาเข้าสู่ประตูบานที่ 2 ที่มีชื่อว่า CD32A ซึ่งจะจับกับส่วนของแอนติบอดีที่ห้อมล้อมอนุภาคไวรัสนั้นไว้และนำไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ นั่นเท่ากับเป็นการเพิ่มช่องทางให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง ลักษณะเดียวกับผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2 ที่มีความรุนแรงมาก เพราะได้รับเชื้อเดงกี่ต่างสายพันธุ์จากครั้งแรก ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับคุณปอ-ทฤษฎี สหวงษ์ ดังนั้นการใช้แอนติบอดีในการรักษาในสถานการณ์เช่นนี้ต้องมีความระมัดระวัง

ตลาดค้าสัตว์ป่า, อู่ฮั่น, ไวรัสโคโรนา
ในตลาดค้าสัตว์ป่าในอู่ฮั่น สถานที่ซึ่งไวรัสโคโรนาเริ่มแพร่ระบาดเมื่อเดือนธันวาคม 2019 คนงานถือซาลาแมนเดอร์ออกไปหลังการสั่งปิดของตลาด ภาพถ่ายโดย FEATURE CHINA, BARCROFT MEDIA/GETTY
  • วิธีป้องกันโรคโควิด-19?

วิธีการป้องกันตนเองที่ดีที่สุดคือ ระวังการสัมผัสสารคัดหลั่งจากการไอ จาม ของผู้ติดเชื้อ แล้วนำมาสัมผัสบริเวณใบหน้า บริเวณตา จมูก ปาก เพราะเป็นช่องทางที่เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่มีคนแออัด รวมทั้งกินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือด้วยสบู่อย่างถูกวิธี หรือใช้แอลกอฮอล์เจลที่มีส่วนผสมของแอลกฮอล์มากกว่า 70% นอกจากนี้เมื่อเข้าห้องน้ำเสร็จให้ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำทุกครั้ง เพื่อลดการกระจายของเชื้อ และล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ

ในช่วงที่มีการระบาดในวงกว้าง การใส่หน้ากากอนามัยจะมีส่วนช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ แต่ต้องเข้าใจการใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี ซึ่งสามารถหาข้อมูลได้ในสื่อที่ประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานราชการ

ส่วนยาที่ดีที่สุดในการรักษาโควิด-19 คือ ภูมิคุ้มกันของเราเอง การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกาย สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย ซึ่งถ้าเราโชคร้ายรับเชื้อไวรัสเข้ามา ภูมิคุ้มกันที่เรามีอยู่อาจจะไม่ทำให้เราป่วย หรือ มีอาการไม่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาทั่วไป นอกจากนี้ต้องดูแลสภาพจิตใจไม่ให้เครียดเกินไป เพราะจะทำให้ภูมิต้านทานลดลง สิ่งที่ต้องระวังคือการเสพข่าวที่มุ่งไปแต่จำนวนของผู้เสียชีวิตจนทำให้กลัว ทั้งที่อัตราผู้เสียชีวิตยังถือว่าน้อยหากเทียบกับโรคอื่นๆ ที่เกิดจากไวรัสชนิดเดียวกัน

บทความนี้ได้รับความร่วมมือจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ความจริงของตลาดค้าสัตว์ป่าจีนในยุคไวรัสโคโรนา

ตลาดค้าสัตว์ป่า, อู่ฮั่น, ไวรัสโคโรนา

Recommend