แพลทีเฮลมินธิส (Platyhelminthes) คือ 1 ใน 9 หมวด หรือ “ไฟลัม” (Phylum) ของอาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia) ในการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตตามอนุกรมวิธานวิทยา (Taxonomy) โดยสัตว์ในไฟลัมแพลทีเฮลมินธิสถูกเรียกรวมกันว่า “หนอนตัวแบน” (Flat Worms) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 20,000 ชนิด อาศัยอยู่ทั้งบนบกและในน้ำ โดยที่ส่วนใหญ่มีการดำรงชีวิตแบบปรสิต (Parasites) หรือที่เรียกกันว่า “พยาธิ” และบางชนิดดำรงชีวิตอย่างอิสระ (Free Living) เช่น พลานาเรีย (Planarian) เป็นต้น
[คำว่า “แพลที” (Platy) มีความหมายว่า “แบน” และ “เฮลมินธ์” (Helminth) มีความหมายว่า “หนอน” ในภาษากรีก]
ลักษณะสำคัญของสัตว์ในไฟลัม แพลทีเฮลมินธิส
มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง แต่ไม่มีอวัยวะหรือระบบต่างๆ ภายในร่างกายที่สมบูรณ์ :
-
- เริ่มมีการรวมตัวของอวัยวะต่าง ๆ ตรงส่วนหัว (Cephalization) คือ มีปมประสาทสมอง อวัยวะรับความรู้สึก และช่องปาก ซึ่งมารวมกันอยู่ทางด้านหน้าของลำตัว
- ไม่มีโพรงภายในลำตัว (Acoelomate) หรือไม่มีช่องว่างระหว่างผนังตัวด้านนอกกับผนังช่องทางเดินอาหาร
- ไม่มีอวัยวะที่สมบูรณ์ ทั้งในระบบหมุนเวียนโลหิตและระบบหายใจ ซึ่งหนอนตัวแบนที่ดำรงชีวิตแบบปรสิตส่วนใหญ่จะมีระบบการหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Respiration) คือ อาศัยหลักการของการแพร่ (Diffusion) ในการแลกเปลี่ยนก๊าซและปรับสมดุลของร่างกาย เช่นเดียวกับหนอนตัวแบนที่ดำรงชีวิตอย่างอิสระ ซึ่งมีระบบการหายใจแบบใช้ออกซิเจน (Aerobic Respiration) ที่อาศัยการแลกเปลี่ยนก๊าซผ่านผิวหนังหรือผนังลำตัว
- มีระบบทางเดินอาหารไม่สมบูรณ์ คือ มีปากแต่ไม่มีทวารหนัก ท่อทางเดินอาหารมีลักษณะปลายตันและมีการแตกแขนง เพื่อลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ขณะที่หนอนตัวแบนบางชนิด เช่น พยาธิตัวตืด ไม่มีกระทั่งช่องทางเดินอาหาร แต่อาศัยการแพร่ของสารอาหารเข้าสู่ร่างกายโดยตรง
- มีระบบระบบขับถ่ายที่ใช้เซลล์ชนิดพิเศษที่เรียกว่า “เฟลมเซลล์” (Flame Cell) ซึ่งแทรกอยู่ทั่วทั้งลำตัว ทำหน้าที่ขนส่งของเสียออกจากร่างกาย โดยอาศัยแฟลกเจลลัม (Flagellum) บริเวณปลายของเซลล์ช่วยโบกสะบัดนำทางของเสียส่งต่อไปยังท่อด้านข้างลำตัว (Excretory Canal) ก่อนขับออกสู่ภายนอกร่างกาย
- มีการพัฒนาของระบบประสาท คือ มีการรวมกลุ่มของเซลล์ประสาทตรงส่วนหัว (Cerebral Ganglion) มีเส้นประสาทใหญ่ตามยาว (Longitudinal Nerve Cord) จำนวน 2 เส้นที่ทอดไปตามแนวลำตัว และเส้นประสาทตามขวาง (Transverse Nerve) ที่เชื่อมเส้นประสาทใหญ่ทั้ง 2 เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ หนอนตัวแบนจะมีอวัยวะรับสัมผัสแบบเรียบง่าย อย่างเช่น การมี “จุดรับแสง” (Eye Spot) ซึ่งสามารถรับความรู้สึกเกี่ยวกับแสงสว่าง แต่ไม่สามารถรับภาพได้ เป็นต้น
มีรูปร่างมีสมมาตรแบบครึ่งซีกหรือสมมาตรแบบซ้ายขวา (Biradial Symmetry)
มีร่างกายแบนทั้งทางด้านหลังและด้านท้อง (Dorsoventrally Flattened) : ไม่มีข้อปล้อง ยกเว้นหนอนตัวแบนบางชนิด เช่น พยาธิตัวตืดซึ่งมีข้อปล้องที่เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณผิวลำตัวเท่านั้น
มีเนื้อเยื่อครบทั้ง 3 ชั้น (Triploblastic) :
- เนื้อเยื่อชั้นนอกหรือเอกโตเดิร์ม (Ectoderm) ทำหน้าที่เสมือนผิวหนังชั้นนอกของสัตว์
- เนื้อเยื่อชั้นกลางหรือมีโซเดิร์ม (Mesoderm) ซึ่งพัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อภายในของสัตว์
- เนื้อเยื่อชั้นในหรือเอนโดเดิร์ม (Endoderm) ซึ่งพัฒนาไปเป็นเซลล์เยื่อบุผิวทางเดินอาหาร
มีการสืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ : หนอนตัวแบนมี 2 เพศในตัวเดียว (Hermaphrodite) ส่งผลให้มีทั้งการปฏิสนธิภายในตัวเอง (Self-Fertilization) และปฏิสนธิแบบข้ามตัว (Cross Fertilization) ในการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ขณะที่การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศจะอาศัยการงอกใหม่ (Regeneration)
สัตว์ในไฟลัมแพลทีเฮลมินธิส สามารถแบ่งออกเป็น 4 หมวดชั้น (Class) คือ
- เทอร์เบลลาเรีย (Turbellaria) เป็นกลุ่มหนอนตัวแบนที่ดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง ซึ่งมีอยู่ราว 4,500 ชนิด อาศัยอยู่ทั้งบนดินที่มีสภาพชื้นแฉะและในแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำจืดหรือแหล่งน้ำเค็ม มีขนาดลำตัวตั้งแต่ 5 เซนติเมตรไปจนถึง 50 เซนติเมตร เช่น พลานาเรีย หนอนตัวแบนขนาดเล็กบางชนิดสามารถว่ายน้ำโดยใช้การโบกสะบัดของซีเลีย (Cilia) หรือแฟลกเจลลัม
- โมโนกีเนีย (Monogenea) เป็นกลุ่มหนอนตัวแบนที่ดำรงชีวิตแบบปรสิต โดยอยู่ตามเหงือก ครีบ และผิวภายนอกของปลา โดยเฉพาะปลาน้ำจืด ซึ่งหนอนตัวแบนเหล่านี้ จะมีขอเกี่ยว (Hooks) หรือปุ่มดูด (Haptor) ที่ใช้สำหรับยึดเกาะโฮสต์ (Host) หรือผิวภายนอกของปลา ซึ่งตลอดชีวิตเพียงต้องการอาศัยโฮสต์เพียงประเภทเดียว
- ทรีมาโตดา (Trematoda) เป็นกลุ่มหนอนตัวแบนที่ดำรงชีวิตเป็นปรสิตอยู่ภายในร่างกายของโฮสต์ ซึ่งมีอยู่ราว 11,000 ชนิด และตลอดช่วงชีวิตของกลุ่มหนอนตัวแบนประเภทนี้ ต้องการโฮสต์ถึง 2 ประเภท คือ อาศัยสัตว์มีกระดูกสันหลังเป็นโฮสต์ลำดับแรก (Primary Host) ในการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ และอาศัยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นโฮสต์ลำดับที่ 2 (Intermediate Host) เพื่อสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เช่น พยาธิใบไม้ (Flukes)
- เซสโตดา (Cestoda) เป็นกลุ่มหนอนตัวแบนที่ดำรงชีวิตแบบปรสิตภายในร่างกายของสัตว์มีกระดูกสันหลัง แต่มีระยะตัวอ่อนอยู่ภายในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีอยู่ราว 3,400 ชนิด เช่น พยาธิตัวตืด (Tape Worm) ซึ่งบริเวณส่วนหัวจะมีปุ่มดูดและขอเกี่ยวที่เรียก “สโคเลกซ์” (Scolex) ใช้สำหรับยึดเกาะโฮสต์ ขณะที่ตามลำตัวจะแบ่งเป็นข้อปล้อง (Proglottid) ซึ่งบางชนิดอาจมีจำนวนปล้องนับพัน ทำให้ลำตัวของหนอนตัวแบนกลุ่มนี้อาจมีความยาวมากถึง 25 เมตร
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ
ข้อมูลอ้างอิง
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) – https://www.scimath.org/lesson-biology/item/7035-animal-kingdom-invertebrate
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ – https://biology.mwit.ac.th/Resource/BiodiverPDF/8_diver_animalia2.pdf
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ – http://zmku.sci.ku.ac.th/ZMKU%20image/lecture-Platyhelminthes.pdf
มหาวิทยาลัยบูรพา – https://www.academia.edu/39513928/อาณาจักรสัตว_Kingdom_Animalia_