แอมโมเนียมไนเตรตและเหตุระเบิด กรุงเบรุต เลบานอน

แอมโมเนียมไนเตรตและเหตุระเบิด กรุงเบรุต เลบานอน

เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ใน กรุงเบรุต (Beirut) เมืองหลวงของประเทศเลบานอน เมื่อช่วงเย็นตามเวลาท้องถิ่นของวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเหตุระเบิดรุนแรงบริเวณท่าเรือ กรุงเบรุต (Beirut’s Port) ณ ขณะนี้ ได้สร้างความเสียหายต่อท่าเรือหลัก สิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 78 ชีวิต รวมถึงการมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 4,000 คน

จากข้อสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ทางการระดับสูงในเลบานอน กล่าวว่าการระเบิด 2 ครั้งซ้อนที่ท่าเรือเบรุต เกิดจากวัตถุที่ก่อให้เกิดประกายไฟหรือสารไวไฟ (Flammable Materials) ที่ถูกเก็บรักษาอยู่ภายในโกดังของท่าเรือเบรุต การระเบิดครั้งแรกนั้นไม่รุนแรงนัก แต่กลายเป็นชนวนของการระเบิดครั้งที่ 2 ซึ่งรุนแรงยิ่งกว่า

โดยสำนักสำรวจธรณีวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ (USGS) หรือหน่วยงานตรวจจับแผ่นดินไหวทั่วโลกระบุว่าการระเบิดครั้งที่ 2 นี้ ได้สร้างคลื่นสั่นสะเทือนที่มีความรุนแรงเทียบเท่าแผ่นดินไหวขนาด 3.3 และก่อให้เกิดเมฆรูปดอกเห็ดสีชมพู-เหลือง ขนาดใหญ่แผ่ปกคลุมไปทั่วทั้งเมืองหลวง

สาเหตุของการระเบิดที่ยังไม่แน่ชัด

จนถึงขณะนี้ สาเหตุของการระเบิดยังไม่ได้รับการระบุอย่างแน่ชัด เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนการสืบสวนภายใน แต่ทางหัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัยของเลบานอน กล่าวว่าสาเหตุของการะเบิดมาจากแอมโมเนียมไนเตรต (Ammonium Nitrate) กว่า 2,700 ตันซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในโกดังของท่าเรือเบรุตนานถึง 6 ปี โดยปราศจากมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ

แอมโมเนียมไนเตรต (Ammonium Nitrate)

แอมโมเนียมไนเตรต, ระเบิดเมืองเบรุต, ระเบิด, ปู่ยเคมี, สารเคมี, กรุงเบรุต

แอมโมเนียมไนเตรต (NH4NO3) คือ สารประกอบที่มีลักษณะคล้ายผงผลึกสีขาว สามารถละลายน้ำได้ดี โดยทั่วไปเราอาจรู้จักแอมโมเนียมไนเตรตในชื่อของ “ดินประสิว” (Saltpetre) ซึ่งเป็นแร่ธรรมชาติที่มีแหล่งกำเนิดที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในทะเลทรายอาตากามา (Atacama Desert) ประเทศชิลี แต่ในปัจจุบัน แอมโมเนียมไนเตรตที่ใช้อยู่เกือบทั้งหมดเป็นสารสังเคราะห์ในอุตสาหกรรมที่ผลิตขึ้นจากการทำปฏิกิริยาระหว่างแอมโมเนีย (Ammonium) และกรดไนตริก (Nitric Acid)

แอมโมเนียมไนเตรตส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการเกษตร เป็นปุ๋ยไนโตรเจนสูงที่มีคุณสมบัติค่อนข้างเสถียร คงอยู่ในดินได้นาน และมีราคาไม่แพง นอกจากนี้ แอมโมเนียมไนเตรตยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัตถุระเบิดทางอุตสาหกรรมที่ใช้ในเหมืองแร่ เหมืองหิน และการก่อสร้างต่าง ๆ รวมไปถึงการนำไปใช้เป็นองค์ประกอบในการผลิตก๊าซหัวเราะหรือไนตรัสออกไซด์ (Nitrous Oxide) ที่ใช้เป็นยาสลบสำหรับการผ่าตัดและระงับอาการปวดทางทันตกรรมอีกด้วย

แอมโมเนียมไนเตรตและการระเบิด

โดยทั่วไป แอมโมเนียมไนเตรตเป็นสารประกอบที่มีความเสถียร ซึ่งไม่สามารถสร้างการระเบิดได้ด้วยตนเอง แต่แอมโมเนียมไนเตรตเป็น “สารออกซิไดซ์” (Oxidizer) ที่ช่วยเร่งการลุกไหม้หรือกระบวนการสันดาปได้ดียิ่งขึ้น การระเบิดสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อมีวัตถุไวไฟ ประกอบกับแอมโมเนียมไนเตรตสัมผัสถูกความร้อนหรือคลื่นระเบิด (Shock Wave) ถึงแม้จะอยู่ในสถานที่ปิดและปราศจากออกซิเจน แอมโมเนียมไนเตรตสามารถแตกตัวอย่างรวดเร็ว เกิดการระเหิดกลายเป็นไอ และปลดปล่อยออกซิเจนออกมาจำนวนมาก ซึ่งสามารถหล่อเลี้ยงและเพิ่มขนาดของเปลวเพลิงให้ลุกแรงอย่างต่อเนื่อง

แอมโมเนียมไนเตรตสามารถสูญเสียความเสถียร เมื่อเกิดการผสมปนเปกับสารชนิดอื่น ๆ (Contaminants) โดยเฉพาะสารประกอบคลอไรด์ (Chlorides) และโลหะต่าง ๆ (Metals) รวมไปถึงเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงหรือมีการลดลงของค่า pH หรือค่าความเป็นกรดด่าง ดังนั้น ในหลายประเทศทั่วโลก จึงมีการบัญญัติกฎระเบียบและมาตรการควบคุมการจัดเก็บแอมโมเนียมไนเตรตอย่างเคร่งครัด

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

Al Jazeera Media Network – https://www.aljazeera.com/news/2020/08/huge-explosion-rocks-lebanon-capital-beirut-live-updates-200804163620414.html

New York Times – https://www.nytimes.com/2020/08/04/world/middleeast/beirut-explosion-blast.html

Sky News UK – https://news.sky.com/story/beirut-explosion-what-is-ammonium-nitrate-and-why-is-it-so-dangerous-12042671

Workplace Health and Safety Queensland – https://www.worksafe.qld.gov.au/injury-prevention-safety/hazardous-chemicals/specific-hazardous-chemicals/ammonium-nitrate

Guardian News & Media Limited – https://www.theguardian.com/world/2020/aug/05/ammonium-nitrate-what-is-the-chemical-blamed-for-blast-in-lebanese-capital


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ประวัติกำเนิด อาวุธนิวเคลียร์ ยุทโธปกรณ์ที่เปลี่ยนโลกทั้งใบจนทุกวันนี้

อาวุธนิวเคลียร์, ทหารสหรัฐ

Recommend